xs
xsm
sm
md
lg

พบกิ้งกือ 12 ชนิดใหม่ของโลกในไทย ยังมีอีกกว่า 50 รอระบุสายพันธุ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กิ้งกือกระบอกหางแหลมชนิดหนึ่ง
เผยโฉมกิ้งกือพันธุ์ใหม่ของโลก 12 ชนิด ที่พบในไทย ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารนานาชาติแล้ว แต่คาดว่าน่าจะพบชนิดใหม่ได้อีกไม่ต่ำกว่า 50 ชนิด จากตัวอย่างชุดเดียวกัน กิ้งกือสายพันธุ์ใหม่ส่วนใหญ่พบบนเกาะ เตรียมศึกษาเจาะลึกถึงดีเอ็นเอ เปรียบเทียบวัฒนาการกิ้งกือบนเกาะกับแผ่นดินใหญ่ พร้อมวิจัยปุ๋ยมูลกิ้งกือร่วมกับลาดกระบัง นักวิจัยเผย กิ้งกือเป็นสัตว์ที่มีประโยชน์มหาศาลต่อธรรมชาติ และไม่เป็นอันตรายกับคนอย่างที่คิด


โครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย (โครงการบีอาร์ที) แถลงข่าวเปิดตัว “กิ้งกือกระบอก 12 ชนิดใหม่ของโลก ขุมทรัพย์ชีวภาพแหล่งใหม่ของไทย” ณ อุทยานการเรียนรู้ทีเคปาร์ก (TK park) เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.2552 โดยมีงานการจัดแสดงนิทรรศการ “ค้นพบใหม่...มหัศจรรย์แห่งชีวิต” ร่วมด้วยไปจนถึงสิ้นเดือนนี้

ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จากการสำรวจและเก็บตัวอย่างกิ้งกือกระบอกจากทั่วประเทศกว่าหลายร้อยชนิดในปี 2551 สามารถจำแนกเป็นกิ้งกือกระบอกหางแหลม (หรือก้นแหลม) ชนิดใหม่ของโลกได้แล้ว 12 ชนิด โดยส่วนใหญ่เป็นชนิดที่เก็บตัวอย่างมาจากภาคใต้ของไทย ในเขตจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง สตูล ภูเก็ต กระบี่ และมีชนิดหนึ่งที่ได้จากจังหวัดอุทัยธานี โดย 8 ชนิดได้ตีพิมพ์ไปแล้วในวารสารนานาชาติด้านสัตววิทยา ซูแท็กซา (ZOOTAXA) เมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา และอีก 4 ชนิดกำลังจะได้รับการตีพิมพ์ในวารสารดังกล่าวเร็วๆ นี้

กิ้งกือกระบอกหางแหลมชนิดใหม่ของโลกทั้ง 12 ชนิด ได้แก่ กิ้งกือเหลืองเท้าส้ม, กิ้งกือน้ำตาลหลังส้ม, กิ้งกือเทาหลังแดง, กิ้งกือเหลืองเท้าชมพู, กิ้งกือน้ำตาลเท้าส้ม, กิ้งกือปลอกน้ำตาลแดง, กิ้งกือดำเท้าชมพู, กิ้งกือปลอกเหลืองน้ำตาล, กิ้งกือเหลืองดำ, กิ้งกือน้ำตาลหลังเหลือง, กิ้งกือฮอฟแมน และกิ้งกือดีมาง และนอกจากนั้น ยังคาดว่า จะสามารถจำแนกกิ้งกือที่พบว่าเป็นชนิดใหม่ของโลกได้อีกกว่า 50 ชนิด

สำหรับวิธีการจำแนกนั้น ดูจากสัณฐานวิทยาของอวัยวะสืบพันธุ์เป็นหลัก หากเป็นกิ้งกือคนละชนิดกันจะไม่สามารถผสมพันธุ์กันได้ และหลังจากนี้ นักวิจัยจะศึกษาดีเอ็นเอของกิ้งกือทุกชนิดที่พบ เพื่อศึกษาจำแนกสายพันธุ์ และการวิวัฒนาการ ว่า มีความใกล้ชิดกันมากน้อยแค่ไหน และเกิดขึ้นในช่วงเวลาใด ซึ่งมีกิ้งกือชนิดใหม่บางชนิดที่พบพบเกาะราบ เกาะตะรุเตา และเกาะยาวน้อย ต้องศึกษาว่าเหมือนหรือต่างกันหรือไม่อย่างไรกับกิ้งกือที่พบบนแผ่นดินใหญ่ และมีการแยกสายวิวัฒนาการออกไปตั้งแต่เมื่อไหร่

อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจเกลียดกลัวและเข้าใจว่ากิ้งกือเป็นอันตราย กัดคนได้และมีพิษ แต่ ศ.ดร.สมศักดิ์ ชี้แจงว่า ที่จริงแล้วกิ้งกือมีฟันแค่สำหรับกัดแทะซากสิ่งมีชีวิตเท่านั้น ไม่สามารถกัดคนจนเป็นอันตรายได้ และกิ้งกือแทบทุกชนิดจะมีกลไกการป้องกันตัวโดยการปล่อยสารเคมีบางอย่างออกจากร่างกายในปริมาณเพียงเล็กน้อยที่ไม่เป็นอันตรายกับคน เช่น สารเบนโซควิโนน และสารไซยาไนด์ แต่อาจเป็นอันตรายสำหรับคนที่มีแผลตามร่างกายอยู่แล้วหรือคนที่แพ้สารดังกล่าว แต่ยังไม่เคยมีรายงานว่ากิ้งกือทำให้คนเสียชีวิตได้ และเชื่อว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ด้วยเช่นกัน

“กิ้งกือเป็นสัตว์ที่มีประโยชน์มากและในประเทศไทยยังไม่ค่อยมีใครศึกษา ที่ผ่านมาเคยมีชาวต่างชาติเข้ามาศึกษาและรายงานกิ้งกือชนิดใหม่ที่พบในประเทศไทยแล้ว 105 ชนิด โดยเป็นกิ้งกือกระบอกหากแหลม 12 ชนิด แต่คาดว่าหากสำรวจกันอย่างจริงจังแล้วจะพบกิ้งกือชนิดใหม่ในไทยไม่ต่ำกว่า 500 ชนิด” ศ.ดร.สมศักดิ์ กล่าว

นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังได้ร่วมกับคณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เพื่อศึกษาวิเคราะห์มูลกิ้งกือในการใช้เป็นปุ๋ย เพราะมีแร่ธาตุอาหารไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพทัสเซียม รวมอยู่มาก แต่ต้องการศึกษาเพื่อให้ได้ข้อมูลที่แน่ชัด และจะส่งเสริมให้เกษตรกรนำไปใช้ทดแทนปุ๋ยเคมีต่อไป รวมทั้งใช้ในการกำจัดขยะอินทรีย์ ซึ่งขณะนี้มีบางจังหวัดนำกิ้งกือไปช่วยในการย่อยขยะบ้างแล้ว

สำหรับกิ้งกือชนิดอื่นที่พบในไทย ได้แก่ กิ้งกือยักษ์ กิ้งกือมังกร กิ้งกือตะเข็บ กิ้งกือกระสุน กิ้งกือเหล็ก และกิ้งกือขน ซึ่งกิ้งกือแต่ละชนิดล้วนมีประโยชน์ต่อระบบนิเวศที่พวกมันอาศัยอยู่ทั้งสิ้น เนื่องจากกินซากพืช ซากสัตว์ ลูกไม้ และผลไม้ที่เน่าเปื่อยเป็นอาหาร ทำหน้าที่เป็นเทศบาลกำจัดขยะ แล้วแปรเปลี่ยนเป็นสารอาหารกลับคืนสู่ระบบนิเวศ ช่วยให้กล้าไม้ในป่าเจริญเติบโต ผลิดอกออกผลมาเป็นต่อเนื่องเป็นเวลายาวนานแล้ว

ทั้งนี้ ศ.ดร.สมศักดิ์ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านหอย และเพิ่งเริ่มศึกษากิ้งกือเมื่อปี 2549 โดยได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการบีอาร์ที และก่อนหน้านี้นักวิจัยเคยค้นพบกิ้งกือชนิดใหม่ของโลกในประเทศไทยแล้ว 2 ชนิด ได้แก่ กิ้งกือหัวขาว และ กิ้งกือมังกรสีชมพู ที่ติด 1 ใน 10 อันดับการค้นพบครั้งสำคัญของโลกเมื่อปี 2551 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายของกิ้งกือในประเทศไทย และจุดประกายให้คนสนใจกิ้งกือกันมากขึ้น
ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา กับกิ้งกือดำเท้าชมพู 1 ใน 12 กิ้งกือกระบอกหางแหลมชนิดใหม่ของโลกที่เพิ่งรายงานการค้นพบครั้งแรกในไทยเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

คลิกที่ไอคอน Manager Multimedia เพื่อรับชมภาพ กิ้งกือกระบอก 12 ชนิดใหม่ของโลก พบในไทย

ดูภาพชุดจาก Manager Multimedia

กิ้งกือดำเท้าชมพู
กิ้งกือน้ำตาลเท้าส้ม เป็นกิ้งกือกระบอกชนิดใหม่ของโลกที่พบในไทย
กิ้งกือตะเข็บส้ม
กิ้งกือกระสุนเท้าดำ (ซ้าย) และกิ้งกือตัวแบน (ขวา)
กิ้งกือกระสุนน้ำตาล และกิ้งกือกระสุนส้ม
กิ้งกือดำเท้าชมพู กิ้งกือชนิดใหม่ของโลก
กิ้งกือน้ำตาลเท้าส้ม กิ้งกือชนิดใหม่ของโลก
นิทรรศการภาพกิ้งกือกระบอกชนิดใหม่ของโลก 12 ชนิด จัดแสดงภายใน TK park
กำลังโหลดความคิดเห็น