xs
xsm
sm
md
lg

เรียนรู้ "มหัศจรรย์แห่งชีวิต" กับชนิดพันธุ์ใหม่ของโลกที่พบในไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นิทรรศการภาพถ่ายของสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ของโลกที่พบในไทย เช่น จำปีช้าง, กิ้งก่าหัวยาวเขานัน, กิ้งกือมังกรชมพู เป็นต้น
ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว แล้วในป่ามีปูได้ยังไง? ทำไมกิ้งกือไทยถึงโด่งดังไกลไปทั่วโลก? "พุ" กับ "พรุ" ต่างกันอย่างไร? แล้วหอยมรกตแห่งเกาะตาชัยทำไมไม่เหมือนหอยทั่วไปในแผ่นดินใหญ่? และอีกสารพัดข้อสงสัยเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพที่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ อยากชวนทุกคนไปร่วมค้นหาคำตอบในนิทรรศการ "ค้นพบใหม่...มหัศจรรย์แห่งชีวิต"

"กิ้งกือมังกรสีชมพู" ของไทยโด่งดังไกลไปทั่วโลก จากการติดอันดับใน 10 การค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ที่สำคัญของโลกในปี 2551 แต่ยังมีสิ่งมีชีวิตอีกกว่า 600 ชนิด ที่เป็นชนิดใหม่ของโลกและถูกค้นพบในประเทศไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเช่นเดียวกัน แม้จะโด่งดังไม่เท่าเจ้ากิ้งกือ แต่คุณค่าและความสำคัญก็ไม่ได้ด้อยกว่ากันเลย

เพื่อให้เยาวชนและทุกคนที่สนใจได้มีโอกาสสัมผัสและเรียนรู้เรื่องราวของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้และความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทย โครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย หรือโครงการบีอาร์ที (โครงการ BRT) จึงร่วมกับอุทยานการเรียนรู้ (TK park) จัดนิทรรศการ "ค้นพบใหม่...มหัศจรรย์แห่งชีวิต" ให้ชมกัน

กำเนิดของสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ ยังเป็นปริศนาที่เร้นลับ แต่นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่าสิ่งมีชีวิตแรกเกิดขึ้นบนโลกเมื่อราว 3,500 ล้านปีก่อน คือ สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน และผ่านกระบวนการวิวัฒนาการเรื่อยมาจนเกิดเป็นสิ่งมีชีวิตที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น จนมีความหลากหลายของชนิดพันธุ์นับไม่ถ้วน และประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อน มีสภาพทางภูมิศาสตร์ที่หลากหลาย ตั้งแต่ชายฝั่งทะเล ที่ราบลุ่มแม่น้ำ ที่ราบสูง เนินเขา และภูเขาสูง จึงก่อเกิดเป็นระบบนิเวศที่มีความหลากหลายของพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์นานาชนิด

หลายคนเคยได้ยินชื่อป่าพรุ แต่อาจยังไม่รู้จักป่าพุ ก็จะได้รู้จักในงานนี้ และรู้ด้วยว่า "พรุ" กับ "พุ" ต่างกันอย่างไร

พรุ เป็นบริเวณที่ลุ่มชื้นแฉะ ที่เกิดจากการขังของน้ำฝน ซากพืช ซากสัตว์ทับถมกันอยู่มากจนเกิดการเน่าเปื่อย ทำให้น้ำที่ขังอยู่มีสีฝาดหรือสีน้ำตาล และมีฤทธิ์เป็นกรด

พุ เกิดจากการผุดของน้ำใต้ดิน ไหลผ่านรอยแยกของชั้นหินปูน จนเกิดน้ำขังกลายเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ เนื่องจากมีการไหลเวียนของน้ำสม่ำเสมอ ทำให้น้ำในพุใสบริสุทธิ์ และเต็มไปด้วยสัตว์น้ำหลายชนิด ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ "พุ" มี "ปูราชินี" เป็นดาวเด่น และได้ชื่อว่าเป็นปูป่าที่มีสีสันสวยงามที่สุด ทั้งยังมีพฤติกรรมแปลกๆที่น่าสนใจอีกด้วย นั่นคือ ปูอาบน้ำ

ในป่าพุยังมีกล้วยไม้และใบเฟิร์นเป็นพรรณไม้เด่นประจำป่า โดยเฉพาะเฟิร์นใบบาง ที่เป็นดัชนีชี้วัดความชุ่มชื้นและอุดมสมบูรณ์ของป่าได้ และกล้วยไม้ผีเสื้อน้อย กล้วยไม้หายากแต่กลับพบได้ทั่วไปในป่าพุ และป่าพุนี้ก็จัดเป็นระบบนิเวศเฉพาะของจังหวัดกาญจนบุรีด้วย

หากเลยขึ้นไปในป่าทางเหนือตอนล่างก็มี "กิ้งกือมังกรชมพู" ที่แสดงให้เห็นถึงความสวยงามโดดเด่นของกิ้งกือ สัตว์อาภัพที่คนส่วนใหญ่เกลียดกลัว แต่หารู้ไม่ว่ากิ้งกือสีสันสวยงามก็มี และกิ้งกือทุกชนิดมีความสำคัญต่อระบบนิเวศอย่างมหาศาล

เมื่อวกกลับลงใต้ไปที่เกาะตาชัย จ.พังงา จะพบ "หอยมรกต" ที่แตกต่างไปจากหอยตระกูลเดียวกันบนแผ่นดินใหญ่อย่างสิ้นเชิง และแสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตและการเกิดชนิดพันธุ์ใหม่ได้อย่างชัดเจนในช่วงระยะเวลาหลายพันปีที่ผ่านมา เป็นตัวอย่างหนึ่งที่สอดคล้องกับทฤษฏีวิวัฒนาการของ ชาร์ลส ดาร์วิน

นอกจากนี้ภายในนิทรรศการ ยังมีการจัดแสดงภาพถ่ายของสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ของโลกที่ค้นพบในประเทศไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เช่น จำปีช้าง, มหาพรหม, ปูราชินี, กบสังขละ และกิ้งก่าหัวยาวเขานัน เป็นต้น รวมถึงนิทรรศการภาพถ่ายกิ้งกือกระบอก 12 ชนิดใหม่ของโลกที่พบในไทย และการจำลองสภาพธรรมชาติจากป่าเมฆ, ป่าสน และป่าพุ

นิทรรศการ "ค้นพบใหม่...มหัศจรรย์แห่งชีวิต" เปิดให้เข้าชมกันได้ตลอดเดือน มิ.ย. 52 ที่ TK park โดยในวันที่ 13-14 มิ.ย. จะมีกิจกรรมเวิร์กช็อป "รู้จักและสัมผัสกับหลากหลายสิ่งมีชีวิตในประเทศไทย" และในวันที่ 20 มิ.ย. จะมีกิจกรรม "รู้จักโลกของกิ้งกือมังกรสีชมพู" ผู้สนใจหรือพ่อแม่ผู้ปกครองสามารถพาบุตรหลานไปสัมผัสกับเรื่องราวน่ารู้ของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ได้ตามวันเวลาและสถานที่ดังกล่าว.
กิ้งกือกระบอกชนิดใหม่ของโลกที่พบในไทย 12 ชนิด ที่เพิ่งแถลงข่าวไปเมื่อวันที่ 11 มิ.ย. ที่ผ่านใน
มุมหนึ่งของนิทรรศการ ค้นพบใหม่...มหัศจรรย์แห่งชีวิต ที่จัดขึ้น ณ อุทยานการเรียนรู้ (TK park) เซ็นทรัล เวิลด์
รู้จัก ป่าพุ และ ปูราชินี ได้ที่มุมนี้
ป่าจำลองในนิทรรศการ ค้นพบใหม่...มหัศจรรย์แห่งชีวิต สำหรับกิจกรรมเวิร์คช็อปค้นหาขุมทรัพย์ในป่า
กิ้งกือมังกรชมพู
ปูราชินี
กำลังโหลดความคิดเห็น