xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัยไทยค้นพบ "กิ้งกือสายพันธุ์กระบอก" ชนิดใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าทีมวิจัยกิ้งกือไทย โครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย (โครงการ BRT) เปิดเผยว่า ทีมนักวิจัยได้พบกิ้งกือชนิดใหม่ของโลก ที่เป็นสายพันธุ์กระบอกจำนวน 12 ชนิด ซึ่งได้ส่งตัวอย่างไปตรวจสอบยังพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา ประเทศเดนมาร์ก และได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารทางด้านสัตววิทยา Zootaxa และได้ตั้งชื่อเป็นภาษาไทยแล้ว โดยส่วนใหญ่ 11 ชนิดพบทางภาคใต้ของประเทศไทยทั้งหมด ได้แก่ กิ้งกือเหลืองเท้าส้ม กิ้งกือน้ำตาลหลังส้ม กิ้งกือเทาหลังแดง กิ้งกือเหลืองเท้าชมพู กิ้งกือน้ำตาลเท้าส้ม กิ้งกือปลอกน้ำตาลแดง กิ้งกือดำเท้าชมพู กิ้งกือปลอกเหลืองน้ำตาล กิ้งกือเหลืองดำ กิ้งกือฮอฟแมน และกิ้งกือดีมาง และมีอีกชนิด คือ กิ้งกือน้ำตาลหลังเหลือง พบทางภาคกลาง อ.ทับทัน จ.อุทัยธานี ซึ่งบางชนิดพบบริเวณรากไม้ ขุดรูในดิน โคนต้นไม้ หรืออยู่ในกองขยะ
ทั้งนี้ กิ้งกือเป็นสัตว์ประเภทกินซาก จึงถือเป็นสัตว์ไม่มีพิษและไม่มีกลไกทำร้ายคน มีแต่ปล่อยสารเคมีออกมาจากร่างกายเพื่อป้องกันตัวเท่านั้น อย่างไรก็ตาม กิ้งกือถือเป็นทรัพย์ในดินซึ่งมีประโยชน์กับภาคการเกษตร เนื่องจากเหมือนโรงงานผลิตปุ๋ยขนาดย่อย คอยเปลี่ยนซากพืชเน่าเปื่อยให้เป็นปุ๋ย ทำให้ต้นไม้เจริญงอกงาม
นอกจากนี้ ทีมวิจัยได้เก็บตัวอย่างกิ้งกือที่คาดว่า เป็นชนิดสายพันธุ์ใหม่ของโลกอีก 30 ชนิด โดยได้ส่งตัวอย่าง เพื่อตรวจสอบความแน่ชัดที่ประเทศเดนมาร์ก ก่อนจะประกาศลงในวารสารนานาชาติ คาดว่า ภายในปีนี้จะได้กิ้งกือสายพันธุ์ใหม่เพิ่ม 50 ชนิด จากกิ้งกือทุกประเภทที่มีอยู่ทั้งประเทศ 500 ชนิด
กำลังโหลดความคิดเห็น