xs
xsm
sm
md
lg

ไดโนเสาร์ปากเป็ดพันธุ์ใหม่! ฉายยุคดึกดำบรรพ์ในอเมริกาเหนือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไลฟ์ไซน์/เอพี - เผยฟอสซิลไดโนเสาร์ปากเป็ดที่พบในเม็กซิโกเป็นพันธุ์ใหม่ ช่วยเติมเต็มความรู้เกี่ยวกับไดโนเสาร์ในยุคครีเตรเซียสที่มีองค์ความรู้อยู่น้อยนิด โดยก่อนหน้านั้นไม่เคยพบซากสิ่งมีชีวิตในใจกลางอเมริกาเหนือมาก่อน เนื่องจากพื้นที่เป็นชั้นหินและทนต่อการกัดกร่อน

ฟอสซิลของไดโนเสาร์ปากเป็ดที่ขุดพบในเม็กซิโกเมื่อ 12 ปีที่ผ่านมาได้รับการระบุว่าเป็นสปีชีส์ใหม่คือ "เวลาฟรอนส โกฮุยเลนซิส" (Velafrons coahuilensis) หรือ "วี โกฮุยเลนซิส" นับเป็นไดโนเสาร์กินพืชขนาดใหญ่ของกลุ่มไดโนเสาร์ปากเป็ดที่เรียกว่า "ฮาโดรซอร์" (hadrosaur) โดยตัวอย่างที่ขุดพบนั้นได้รับการวิเคราะห์ว่ามีชีวิตอยู่ในช่วง 71.5-72.5 ล้านปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ในปลายยุคครีเตเซียส (Cretaceous)

สำหรับชื่อของไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่นี้ตั้งตามเมืองโกฮุยลา (Coahuila) ของเม็กซิโกอันเป็นถิ่นที่พบซากฟอสซิล และเป็นชื่อแรกที่ตั้งให้กับไดโนเสาร์ที่พบในเม็กซิโก ทั้งนี้ทีมวิจัยมีความรู้เพียงน้อยนิดเกี่ยวกับพื้นที่ของพืชและสัตว์โบราณดังกล่าว เนื่องจากอัตรากัดกร่อนต่ำภายในพื้นที่ได้เก็บซ่อนฟอสซิลไว้ใต้ชั้นหิน หากแต่วี โกฮุยเลนซิสและฟอสซิลอื่นๆ ที่พบนั้นได้ช่วยฉายแสงให้กับประวัติศาสตร์ดึกดำบรรพ์ในส่วนที่มืดมัวของอเมริกาเหนือ

"ไดโนเสาร์จากช่วงเวลาจำเพาะนี้มีความสำคัญเพราะในช่วงเวลาดังกล่าวสัมพัทธ์กับความเข้าใจที่มีอยู่น้อยนิด" ดอน บริงก์แมน (Don Brinkman) หนึ่งในทีมวิจัยจากพิพิธภัณฑ์บรรพชีวินวิทยารอยัลไทร์เรลล์ (Royal Tyrrell Museum of Paleontology) แห่งแคนาดา โดยเขาไม่เคยพบกระดูกไดโนเสาร์ในพื้นที่ดังกล่าวมาก่อน หรือแม้กระทั่งสัตว์อื่นๆ อย่างเต่า ปลาและสัตว์เลื้อยคลาน ซึ่งการพบฟอสซิลไดโนเสาร์ในครั้งนี้เขากล่าวว่าช่วยเติมเต็มความรู้ที่ขาดไปมากเกี่ยวกับปลายยุคครีเตรเซียส

ระหว่างยุคนั้นทะเลที่อบอุ่นและไม่ลึกนักได้ปกคลุมพื้นที่ตรงกลางของอเมริกาเหนือซึ่งอยู่ต่ำแล้วแยกแผ่นดินใหญ่ออกเป็น 2 ส่วน และการพบกองกระดูกไดโนเสาร์ที่ทับถมกันปริมาณมากนั้นแสดงให้เห็นว่าไดโนเสาร์เหล่านั้นตายพร้อมๆ กันในช่วงที่เกิดพายุอันทรงพลังพัดถล่ม เหมือนกับที่เกิดขึ้นกับตอนใต้ของแอฟริกาและอเมริกาใต้ในปัจจุบัน

จากพัฒนาการของกระดูกฟอสซิลที่พบซึ่งมีความยาวเพียง 25 ฟุตนั้น นักบรรพชีวินวิทยาเชื่อว่าตัวอย่างที่เห็นนั้นยังไม่โตเต็มวัย โดยหากโตเต็มที่จะมีความยาว 30-35 ฟุตซึ่งใกล้เคียงกับไดโนเสาร์กินเนื้ออย่าง "ไทแรนนอซอรัส เรกซ์" (Tyrannosaurus rex) หรือ "ที เรกซ์" และต่างจากสัตว์ชนิดอื่นที่กระดูกจมูกวางอยู่ด้านหน้าของดวงตา แต่จมูกของไดโนเสาร์ปากเป็ดที่พบนี้อยู่ส่วนบนของกะโหลก

"ไดโนเสาร์ปากเป็ดมีโหนกนี้เป็นตัวอย่างที่พิเศษของวิวัฒนาการในสัตว์มีกระดูกสันหลัง" เทร์รี เกทส์ (Terry Gates) หนึ่งในทีมวิจัยจากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยายูทาห์ (Utah Museum of Natural History) กล่าว ทั้งนี้นักวิทยาศาสตร์ยังไม่แน่ใจว่าโหนกรูปพัดลมที่อยู่บนหัวของวี โกฮุยเลนซิส มีไว้เพื่อใช้ประโยชน์อะไร แต่บางคนคิดว่าอาจเป็นอวัยวะที่ช่วยดึงดูดเพศตรงข้าม โดยใช้เป็นอวัยวะทำให้เกิดเสียงผ่านทางจมูก

นักวิจัยยังเชื่อว่าการค้นพบฟอสซิลไดโนเสาร์ในครั้งนี้ช่วยเติมเต็มช่องว่างภาพของไดโนเสาร์ตระกูลฮาโดรซอร์ซึ่งอาจมีไดโนเสาร์ปากเป็ดมากกว่า 10 ชนิดในอเมริกาเหนือ โดยทางเหนือของแคนาดาก็พบไดโนเสาร์ที่มีลักษณะคล้ายกันนี้ซึ่งเกทส์เชื่อว่าอาจเชื่อมโยงรูปแบบการอพยพของไดโนเสาร์ได้ และเร็วๆ นี้นักวิจัยยังค้นพบกระดูกของไดโนเสาร์ปากเป็ดชนิดที่ 2 ที่คล้ายไดโนเสาร์กินพืชไทรซีราทอป (Triceratop) ผสมไทแรนนอซอรัสและไดโนเสาร์นักล่าเวโลซิแรปเตอร์ (Velociraotor) ทั้งยังเป็นไดโนเสาร์ที่ใหญ่ที่สุดที่พบในเม็กซิโก

กำลังโหลดความคิดเห็น