เอเอฟพี - นักวิทยาศาสตร์พากันตื่นเต้นเมื่อมีรายงานการค้นพบตัว "เซงกิ" กลางป่าแอฟริกา เป็นสัตว์ตัวจิ๋วหน้าตาคล้ายหนูแต่มีจมูกยาวเหมือนงวงช้าง ซ้ำยังมีความใกล้ชิดทางสายวิวัฒนาการกับสัตว์มีงวงขนาดยักษ์นั้นด้วย นับเป็นครั้งแรกใน 126 ปีที่มีการค้นพบสปีชีส์ใหม่ของสัตว์กลุ่มนี้
2 นักสัตววิทยา กาเลน ราธบัน (Galen Rathbun) จากบัณฑิตยสภาวิทยาศาสตร์แห่งแคลิฟอร์เนีย (California Academy of Sciences) และฟรานเซสโก โรเวอโร (Francesco Rovero) จากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา (Museum of Natural Sciences) เมืองเตรนโต (Trento) อิตาลี ค้นพบสัตว์ชนิดใหม่เรียกว่า "เซงกิ" (sengi)
ส่งมีชีวิตใหม่ที่ค้นพบนี้เป็นสัตว์คล้ายหนูแต่มีจมูกยาวเหมือนงวงช้าง อาศัยอยู่ในใจกลางป่าในประเทศแทนซาเนีย ทางตะวันออกของแอฟริกา ทั้งยังได้รายงานลงในวารสารซูโลจี (Zoology) ของอังกฤษฉบับเดือน ก.พ. นี้
ตัวเซงกิเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก คล้ายหนูเช่นเดียวกับ "ชรู" (shrew) มีจมูกยาวคล้ายงวงช้าง อาศัยอยู่ตามพื้นดินในป่า กินแมลงเป็นอาหาร บางครั้งเรียกว่า "ชรูงวงช้าง" (elephant-shrew) เป็นสัตว์รักเดียวใจเดียว มีคู่ชีวิตเพียงตัวเดียวตลอดชีวิต และพบเฉพาะในแอฟริกาเท่านั้น
เซงกิที่รู้จักกันในปัจจุบันมีเพียง 15 ชนิดเท่านั้น ทว่านักสัตววิทยามั่นใจว่าตัวเซงกิที่เพิ่งพบนี้เป็นชนิดใหม่แน่นอน
"นับเป็นการค้นพบที่น่าตื่นเต้นที่สุดตลอดชีวิตการทำงานของผมเลยทีเดียว" ราธบัน นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาและเฝ้าดูตัวเซงกิมากนานกว่า 30 ปี เปิดเผยความรู้สึก ซึ่งตัวเซงกิที่พบนี้นับเป็นเซงกิชนิดใหม่ และเป็นการพบเซงกิชนิดใหม่ครั้งแรกในรอบกว่า 126 ปี
เจ้าหนูมีงวงตัวจิ๋วนี้ได้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า "รินโคไซออน อุดซุงเวนซิส" (Rhynchocyon udzungwensis) มีหน้าตาเป็นสีเทา สะโพกส่วนท้ายมีสีดำ น้ำหนักตัวประมาณ 700 กรัม ซึ่งใหญ่กว่าเซงกิชนิดอื่นๆ ราว 25%
ทั้งนี้ เซงกิชนิดใหม่ถูกพบเห็นครั้งแรกในปี 2548 ซึ่งโรเวอโรตั้งกล้องตรวจจับและบันทึกภาพได้ในป่าบริเวณเทือกเขา อุดซุงก์วา (Udzungwa) ในประเทศแทนซาเนีย และในเดือน มี.ค. 2549 โรเวอโรและราธบันกลับไปที่ป่าแห่งนั้นอีกครั้ง คราวนี้สามารถจับตัวเซงกิได้ถึง 4 ตัว โดยใช้บ่วงพื้นเมืองของแอฟริกาที่ทำเป็นกับดักไว้ 40 จุด ทว่าน่าเสียดายที่พบประชากรเซงกิชนิดใหม่เพียงแค่ 2 ตัวเท่านั้นในอาณาบริเวณ 300 ตารางกิโลเมตรของป่าที่พวกมันอาศัยอยู่
อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบระดับโมเลกุลในห้องปฏิบัติการพบว่าประชากรเซงกิที่พบนี้มีความใกล้ชิดกับช้างมากกว่าชรู โดยเซงกิจัดเป็นสัตว์ที่อยู่ในอันดับใหญ่ แอโฟรธีเรีย (Afrotheria) ที่มีวิวัฒนาการอยู่ในแอฟริกามากว่า 100 ล้านปีแล้ว ส่วนชรูเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ลักษณะคล้ายหนู แต่จมูกยาวกว่า และไม่ใช่สัตว์ฟันแทะ จัดอยู่ในอันดับ โซริโคโมฟา (Soricomorpha) ขณะที่หนูอยู่ในอันดับโรเดนเทีย (Rodentia) หรือสัตว์ฟันแทะ