xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัยหวั่นหวัดนกระบาดทำหวัดใหญ่ลามทั่วโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไข้หวัดนกยังเป็นโรคระบาดในสัตว์ปีกที่แพร่สู่สัตว์อื่นและคนอย่างต่อเนื่องและยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคนี้ในคน ซึ่งนักวิจัยต่างกังวลว่าเชื้อไวรัสอาจกลายพันธุ์และระบาดจากคนสู่คนได้เหมือนไข้หวัดใหญ่ (ภาพจากไบโอเทค)
นักวิจัยหวั่นไข้หวัดนกระบาดส่งผลไข้หวัดระบาดทั่วโลก เพราะพบการกระจายสู่คนในประเทศต่างๆ มากขึ้น พร้อมระบุพบการกลายพันธุ์ครึ่งๆ กลางๆ ในหวัดนกแล้วและกำลังเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดด้วยการศึกษาพันธุกรรมและการเปลี่ยนแปลงของไวรัส

ประเทศไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการนานาชาติด้านไข้หวัดนกปลายเดือน ม.ค.นี้ เพื่อเปิดโอกาสให้นักวิจัยทั่วโลกนำเสนอผลงานวิจัยและแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องไข้หวัดนกที่แพร่จากสัตว์สู่คนได้และยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคนี้ในคน

รศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รอง ผอ.ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) เปิดเผยว่า แม้ที่ผ่านมาการระบาดของไข้หวัดนกในประเทศไทยจะยังไม่มากนักหากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซียหรือเวียดนาม ซึ่งหลังจากมีการตรวจพบเชื้อไข้หวัดในคนเป็นครั้งแรกของประเทศไทยเมื่อปี 2547 พบผู้ป่วยทั้งสิ้น 25 ราย เสียชีวิต 17 ราย

“นักวิชาการกังวลกันว่าการระบาดของไข้หวัดนกอาจนำไปสู่การระบาดของไข้หวัดใหญ่ทั่วโลกได้ เพราะเริ่มพบการแพร่กระจายของเชื้อไข้หวัดนกสู่คนในประเทศต่างๆ มากขึ้นเช่นที่ปากีสถานเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นอาจส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศได้ ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดในตอนนี้คือต้องเร่งพัฒนาวัคซีนป้องกันการติดเชื้อในคน ส่วนชุดตรวจก็สำคัญเช่นกัน เพราะจะทำให้รู้ผลเร็วและหาทางป้องกันการระบาดได้ทันท่วงที

รศ.นพ.ประเสริฐ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่าขณะนี้รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณให้องค์การเภสัชกรรมแล้ว 1,400 ล้านบาท สำหรับสร้างโรงงานผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดนกในคน ซึ่งตอนนี้กำลังดำเนินการออกและก่อสร้าง คาดว่าจะใช้เวลาราว 4 ปีจึงเสร็จสมบูรณ์

ส่วน ศ.นพ.ประเสริฐ เอื้อวรากุล นายกสมาคมไวรัสวิทยา ที่ศึกษาเรื่องไข้หวัดนกมาตลอดตั้งแต่พบการระบาดในประเทศไทยรั้งแรก และวิจัยวัคซีนไข้หวัดนกต้นแบบสายพันธุ์ไทย กล่าวว่า ปัญหาของประเทศไทยในขณะนี้คือเรื่องของการพัฒนาวัคซีนป้องกันและยารักษา ซึ่งยังคงตามหลังต่างประเทศอยู่มากและมีนักวิจัยด้านนี้น้อย

“ในทางทฤษฎี เชื้อไวรัสไข้หวัดนกสามารถกลายพันธุ์เพื่อปรับตัวเข้าหาคนได้ โดยการระบาดจากคนสู่คนหลายๆ ครั้ง ซึ่งน่าจะเกี่ยวข้องกับการที่เชื้อจะเลือกจับกับตัวรับบนผิวเซลล์ เพราะเซลล์ของนกต่างกับของคน และต้องปรับตัวให้สามารถเพิ่มจำนวนได้มากที่อุณหภูมิต่ำลงด้วย อุณหภูมิร่างกายของนกอยู่ที่ 42 องศาเซลเซียส ส่วนในร่างกายคน 37 องศาเซลเซียส” ศ.นพ.ประเสริฐ อธิบาย

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมานักวิจัยพบการกลายพันธุ์ของเชื้อไข้หวัดนกเพียงครึ่งๆ กลางๆ เท่านั้น ยังไม่พบการกลายพันธุ์อย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งนักวิจัยก็เฝ้าระวังและติดตามดูอย่างใกล้ชิด โดยศึกษาพันธุกรรมของไวรัสและการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น

ด้าน ศ.ดร.พิไลพันธ์ พุธวัฒนะ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ซึ่งทำงานวิจัยด้านการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการและการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันของมนุษย์เมื่อติดเชื้อไวรัส กล่าวเสริมว่า พบเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่ดื้อยาบ้างแล้ว เพราะยารักษายังมีไม่มาก ส่วนไข้หวัดนกนั้นที่ผ่านมายังไม่พบว่าเชื้อมีการดื้อยา แต่อย่างไรก็ตามต้องเร่งศึกษา พัฒนายาและวัคซีน เพื่อเตรียมพร้อมรับการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ทั้งนี้ ไบโอเทคจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการนานาชาติด้านไข้หวัดนก ปี 2551 “Bangkok International Conference on Avian Influenza 2008: Integration from Knowledge to Control” ระหว่างวันที่ 23 – 25 ม.ค. 2551 ณ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ เพื่อให้นักวิจัยจากทั่วโลกได้แลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการด้านไข้หวัดนก ซึ่งจะเป็นแนวทางสำหรับป้องกันการระบาดต่อไป
รศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์
ศ.ดร.พิไลพันธ์ พุธวัฒนะ (ซ้าย) และ ศ.นพ.ประเสริฐ เอื้อวรากุล (ขวา)
กำลังโหลดความคิดเห็น