xs
xsm
sm
md
lg

ไทยผลิต “กลูโคซามีน” รักษาข้อเสื่อมได้เอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ประเทศไทยนำเข้ายาจากต่างประเทศแต่ละปีเป็นจำนวนมากและคิดเป็นมูลค่ามหาศาล เพื่อลดการนำเข้าและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างชาติ นับเป็นโอกาสทองให้คนไทยได้พัฒนางานวิจัยและต่อยอดไปถึงการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม

“กลูโคซามีน” ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารราคาแพงในต่างประเทศ แต่เป็นยารักษาโรคข้อเสื่อมที่ผลิตโดยฝีมือคนไทยและใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ในประเทศ เป็นนวัตกรรมใหม่ในวงการแพทย์ไทยเพื่อลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศและเป็นโอกาสพัฒนาอุตสาหกรรมยาในไทยอย่างครบวงจร

นายเชิญพร เต็งอำนวย กรรมการผู้จัดการโรงงานเภสัชกรรม เกร๊ทเตอร์ฟาร์ม่า จำกัด กล่าวว่า ในต่างประเทศทั้งสหรัฐอเมริกา และยุโรป ใช้กลูโคซามีน (Glucosamine) เป็นอาหารเสริมกันอย่างแพร่หลายมานานแล้ว ส่วนไทยใช้เป็นยารักษาโรคข้อเสื่อม ซึ่งต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ แต่ขณะนี้เราสามารถผลิตได้เองแล้ว

“เราสามารถสกัดกลูโคซามีนได้จากเปลือกหอย กุ้ง ปู ที่หาได้ง่ายในประเทศ เป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมยาของประเทศไทยที่ใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ในประเทศ ช่วยลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศได้” นายเชิญพร กล่าวและเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยต้องนำเข้ายามูลค่ามหาศาล และนำเข้ามากกว่าส่งออก ทั้งยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งรัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเกือบทั้งหมด การที่เรามีเทคโนโลยีทางการแพทย์ใหม่ๆ สามารถช่วยให้ประเทศชาติประหยัดเงินตราได้ และจะทำให้เกิดความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ นายเชิญพรเสริมว่า ประเทศไทยต้องดูทิศทางของอนาคตและต้องกล้าบุกเบิก ซึ่งเป็นโอกาสให้เราได้พัฒนาศักยภาพทางการแพทย์ แม้ว่าอาจต้องเจอคู่แข่งอย่างจีนและอินเดียที่อาจผลิตยาและขายถูกกว่าเราได้ แต่ถ้าเราไม่กล้าเสี่ยงก็จะไม่ก้าวไปข้างหน้า

การตรวจสุขภาพระดับยีนก็เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีใหม่ในประเทศไทยที่มีแนวโน้มว่าจะมีความสำคัญมากขึ้น ขณะที่หลายประเทศมีมานานแล้ว

บางโรคอาจยังไม่มีวิธีรักษา แต่เราสามารถป้องกันไม่ให้เกิดโรคได้ด้วยการตรวจยีน ที่สามารถตรวจได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เพื่อดูว่ามียีนผิดปกติหรือไม่ ตำแหน่งใด และอาจเสี่ยงต่อโรคอะไร เพื่อที่เราจะได้ปฏิบัติตนอย่างถูกต้องในการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่อโรคนั้นๆ เช่น มียีนผิดปกติที่ทำให้เสี่ยงเป็นเบาหวาน เราก็จะได้เลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลมาก เป็นต้น” รศ.ดร.คล้ายอัปสร พงษ์รพีพร ประธานที่ปรึกษา บริษัท ฮาร์ท เจเนติกส์ จำกัด ให้ข้อมูล

รศ.ดร.คล้ายอัปสร ยังกล่าวด้วยว่า การตรวจสุขภาพระดับยีนนี้ยังไม่เป็นที่รู้จักในประเทศไทย แต่ในออสเตรเลียมีอยู่กว่า 200 แห่ง ทั้งนี้เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่ค่อยสนับสนุนการลงทุนในด้านการแพทย์มากนักทั้งที่มีงานวิจัยมากมาย จึงคิดว่าหากมีการสนับสนุนด้านนี้มากขึ้นจะเป็นโอกาสให้เราได้พัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ได้

ด้าน น.ส.วลัยทิพย์ โชติวงศ์พิพัฒน์ ผอ.ฝ่ายสนับสนุนการวิจัย พัฒนา และวิศวกรรม ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) กล่าวถึงทิศทางการพัฒนานวัตกรรมของวงการแพทย์ไทยในอนาคตว่า ไม่กี่ปีที่ผ่านมามีโรคระบาดร้ายแรงเกิดขึ้นใหม่อย่างไข้หวัดนก ซาร์ส หรือวัณโรคที่กลับมาระบาดใหม่อีกครั้ง รวมทั้งโรคระบาดและโรคทางพันธุกรรมอื่นๆ ที่ยังไม่มีวิธีรักษา ดังนั้นการพัฒนาชุดตรวจโรค วัคซีนป้องกัน รวมไปถึงการศึกษาพันธุกรรมและเฝ้าติดตามดูการกลายพันธุ์ของเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรค คือสิ่งสำคัญที่ต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง พิจารณาถึงวัตถุดิบที่นำมาใช้ พัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีเพื่อรองรับการขยายผลในอนาคตได้


กำลังโหลดความคิดเห็น