xs
xsm
sm
md
lg

ตะลึง!! ส.ส.ชายลงพุง 66%-เสี่ยงเส้นเลือดหัวใจตีบรุนแรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พบ ส.ส.ชาย ประสบภาวะโรคอ้วนลงพุง 66% แพทย์รามา เตือนเสี่ยงภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบรุนแรง-เบาหวาน ชี้สุขภาพ ส.ส.-ส.ว.ไม่ต่างจากผู้บริหารระดับสูงในองค์กรเอกชน สะท้อนสุขภาพผู้บริหารของไทยกำลังเกิดปัญหา แนะรัฐบาลเห็นความสำคัญเรื่องสุขภาพ

นายสง่า ดามาพงษ์ ผู้จัดการแผนงานโภชนาการเชิงรุก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงผลการตรวจสุขภาพ ส.ส.และ ส.ว. ว่า จากที่ สสส.ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และองค์กรด้านสุขภาพ จัดกิจกรรมตรวจ “สถานีสุขภาพ ตรวจความฟิต ส.ส.และ ส.ว.” ระหว่างวันที่ 19-21 มีนาคม 2551 พบว่า มีผู้รับบริการทั้งสิ้น 530 คน ประกอบด้วย ส.ส.และ ส.ว.130 คน อายุระหว่าง 28-85 ปี เจ้าหน้าที่รัฐสภา 274 คน สื่อมวลชน 57 คน และบุคคลทั่วไป 69 คน

นายสง่า กล่าวต่อว่า ผลการตรวจสุขภาพด้วยเครื่อง INBODY ในกลุ่ม ส.ส.และ ส.ว.โดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ส.ส.ชาย มีเส้นรอบเอวเกินเกณฑ์มาตรฐาน (มากกว่า 90 ซม.) จำนวน 83 คน คิดเป็นร้อยละ 66 ของกลุ่ม ส.ส.และ ส.ว.ที่มาเข้ารับบริการทั้งหมด ซึ่งสูงกว่าปกติ 2 เท่า และมีระดับไขมันในช่องท้องเกินเกณฑ์สูงถึงร้อยละ 76 ซึ่งจัดอยู่ในภาวะโรคอ้วนลงพุง ไขมันที่สะสมในช่องท้องถือเป็นไขมันอันตราย พร้อมแตกตัวเป็นกรดไขมันอิสระ ทำให้เกิดภาวะดื้ออินซูลิน ส่งผลให้เสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน 3-5 เท่า และเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ

นพ.ฆนัท ครุธกูล ผู้จัดการศูนย์หัวใจ หลอดเลือด และเมแทบอลิซึม คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า สำหรับผลการตรวจสุขภาพ RAMA-EGAT-Score ซึ่งประเมินสุขภาพจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ในภาพรวม พบว่า ส.ส.และ ส.ว.มีไขมันสะสมมากเกินเกณฑ์ คิดเป็นร้อยละ 91 ของกลุ่ม ส.ส.และ ส.ว.ที่มาเข้ารับบริการทั้งหมด และยังพบว่ามีดัชนีมวลกายเกินเกณฑ์ (> 25 kg/m2) ซึ่งจัดว่าอยู่ในกลุ่มที่เป็นโรคอ้วน คิดเป็นร้อยละ 60 ของกลุ่ม ส.ส.และ ส.ว.ที่มาเข้ารับบริการทั้งหมด ซึ่งในกลุ่มนี้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน ร้อยละ 45 ของกลุ่ม ส.ส.และ ส.ว.ที่มาเข้ารับบริการทั้งหมด นอกจากนี้ ยังพบว่าในกลุ่มที่อ้วนและมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานสูงนั้น จะมีโอกาสเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจตีบรุนแรงในระยะเวลา 10 ปี คิดเป็นร้อยละ 35 ของกลุ่ม ส.ส.และ ส.ว.ที่มาเข้ารับบริการทั้งหมด

“ผลที่ได้นี้ไม่แตกต่างกับกลุ่มผู้บริหารจากองค์กรอื่นๆ ที่เคยสำรวจ สะท้อนให้เห็นว่า ผู้บริหารระดับสูงในประเทศไทยมีภาวะความเสี่ยงทางสุขภาพ รัฐบาลจึงควรให้ความสำคัญ และใส่ใจกับสุขภาพของผู้บริหารอย่างจริงจัง โดยการสร้างเสริมสุขภาพในด้านต่างๆ เช่น การปรับสิ่งแวดล้อมภายในองค์กรที่เอื้อต่อสุขภาพ โดยจัดอาหารเมนูสุขภาพประเภทผักและปลาขาย ลดอาหารว่างระหว่างการประชุม ส่งเสริมการออกกำลังกายในองค์กร มีมุมพักผ่อนในที่ทำงานเพื่อคลายเครียด และลดการดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ ซึ่งจะทำให้เกิดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค” นพ.ฆนัท กล่าว และว่า สสส.ได้จัดทำคู่มือ 7 โรคยอดฮิตในกลุ่มผู้บริหารระดับสูง เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับสัญญาณของการเกิดโรคต่างๆ ในกลุ่มผู้บริหาร และวิธีรักษาสุขภาพ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคตั้งแต่เบื้องต้น ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อรับได้ที่สำนักงาน สสส.
กำลังโหลดความคิดเห็น