xs
xsm
sm
md
lg

“ไชยา” ตั้งเป้าลดอ้วน 3 ล้านคน เผยหญิงอ้วนกว่าชาย 3 เท่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ไชยา” ออกนโยบายเร่งลดภัยจากโรคอ้วน ให้ทุกจังหวัดทำองค์กรต้นแบบไร้พุง ในปี 2551 นี้ มุ่งลดอ้วนให้ได้ 3 ล้านคน เริ่มที่อ่างทองเป็นแห่งแรก เผยรอบ 5 ปี พิษความอ้วนทำให้คนไทยป่วยเป็นโรคหัวใจ เบาหวาน มะเร็ง สูงขึ้นกว่า 2 เท่าตัว ในปี 2549 มีคนไทยเสียชีวิตจาก 3 โรคนี้เกือบ 1 แสนราย เฉลี่ย 1 รายทุก 6 นาที ขณะนี้มีคนอ้วนลงพุงมากถึง 17 ล้านคน ผู้หญิงอ้วนมากกว่าชาย 3 เท่าตัว

วันนี้ (14 มี.ค.) ที่หอประชุมสงฆ์ วัดอ่างทองวรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดอ่างทอง นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมเปิดงาน “จังหวัดอ่างทองไร้พุง ถวายพ่อหลวง พ.ศ.2551-2552” และลงนามบันทึกความร่วมมือ 11 ภาคีเครือข่ายสุขภาพในจังหวัดอ่างทอง ประกอบด้วย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัด สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สสส. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจังหวัดอ่างทอง ประธานเครือข่ายคนไทยไร้พุง องค์การบริหารส่วนจังหวัดอ่างทอง นายกเทศมนตรีเมืองอ่างทอง องค์การบริหารส่วนตำบลอ่างทอง อาสาสมัครสาธารณสุขจังหวัดอ่างทอง พร้อมมีการจัดนิทรรศการด้านการบริโภคอาหาร การออกกำลังกายที่ถูกต้องด้วย

นายไชยา กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกได้รายงานเมื่อเร็วๆ นี้ ระบุว่าโรควิถีชีวิต โดยเฉพาะโรคอ้วน กำลังเป็นสาเหตุการป่วยและเสียชีวิตหลายโรค ที่สำคัญได้แก่ โรคหัวใจ เบาหวาน มะเร็ง โดยเป็นสาเหตุตายของคนในประเทศกำลังพัฒนาร้อยละ 66 ของการตายทั้งหมด และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างน่าวิตก โดยสาเหตุที่ทำให้คนอ้วนเกิดจากการบริโภคอาหารไม่เหมาะสม ขาดการออกกำลังกาย โรคดังกล่าวมีผลกระทบใหญ่หลวงต่อระบบเศรษฐกิจโลก มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ในส่วนของไทยในรอบ 5 ปีมานี้ พบผู้ป่วย พิการและเสียชีวิตจากโรควิถีชีวิตเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว เสียชีวิตทั้งหมด 96,354 ราย เฉลี่ยตาย 1 รายทุก 6 นาที ส่วนอัตราป่วยมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นกว่า 2 เท่า เช่น โรคหัวใจเพิ่มจาก 318 ราย เป็น 682 รายต่อประชากรแสนคน โรคเบาหวาน เพิ่มจาก 278 เป็น 587 รายต่อประชากรแสนคน และโรคมะเร็งจาก 80 ราย เป็น 124 รายต่อประชากรแสนคน ซึ่งโรคดังกล่าวมีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงปีละกว่า 5,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา คนไทยอายุ 20-29 ปี มีภาวะโรคอ้วนเพิ่มขึ้นเกือบ 8 เท่า ในกลุ่มอายุ 40-49 ปี เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า ส่วนเด็กอนุบาลถึงเด็กประถม พบอ้วนร้อยละ 13 ผลสำรวจครั้งสุดท้ายในปี 2550 พบคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป อ้วนลงพุงเฉลี่ยร้อยละ 42 หรือประมาณ 17 ล้านคน โดยพบในผู้ชาย ร้อยละ 24 ส่วนผู้หญิงพบเกือบร้อยละ 61 หรือมากกว่าชายเกือบ 3 เท่า ในการลดปัญหาดังกล่าว ในปีนี้มีนโยบายให้ทุกจังหวัดนำร่ององค์กรต้นแบบลดความอ้วน ในเบื้องต้นให้ดำเนินการจังหวัดละ 40,000 คน โดยประสานความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียน และองค์กรทั่วไปทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เกิดผลอย่างจริงจัง หากดำเนินการได้ในขั้นต้นจะสามารถจำนวนคนอ้วนลงได้อย่างน้อย 3 ล้านคน ได้มอบหมายให้กรมอนามัยดำเนินการ

ด้านนพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดขนาดรอบเอวเป็นตัวชี้วัดสุขภาพที่สำคัญของคนไทย สามารถใช้ทำนายและวางแผนป้องกันปัญหาสุขภาพในอนาคตได้ โดยในผู้ชายกำหนดเส้นรอบเอวไม่เกิน 90 เซนติเมตร ผู้หญิงไม่เกิน 80 เซนติเมตร หากใครเกินนี้ จัดว่าอ้วนลงพุง มีไขมันพอกที่พุงจำนวนมาก จะมีความเสี่ยงป่วยเป็นโรคต่างๆ ได้ โดยพบว่าขนาดเอวที่เพิ่มขึ้นทุก 5 เซนติเมตร จะเพิ่มโอกาสเป็นโรคเบาหวาน 3-5 เท่าตัว เสี่ยงต่อโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตัน 5 เท่าตัว ทั้งนี้ผลสำรวจที่จังหวัดอ่างทอง ในปี 2550 พบว่าในกลุ่มสมาชิกชมรมสร้างสุขภาพ ลงพุงร้อยละ 26 ส่วนกลุ่มข้าราชการในเขตอำเภอเมืองอ่าทอง อ้วนลงพุงร้อยละ 32 เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าภาวะอ้วนลงพุงกำลังคุกคามประชาชน

ใน พ.ศ.2550 กระทรวงสาธารณสุขได้ทำโครงการระดับประเทศ คือ โครงการสาธารณสุขร่วมใจทำดีเพื่อพ่อ ระยะที่ 1 ซึ่งดำเนินงานทั้งในระดับส่วนกลางและระดับจังหวัด โดยการสนับสนุนงบประมาณจาก สสส.จังหวัดละ 200,000 บาท เพื่อสร้างกระแสสังคม ลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และจะจับมือกับ สสส.ในระยะที่ 2 ในระหว่างปี พ.ศ.2551-2552 โดยเน้นการสร้างองค์กรต้นแบบไร้พุง และมุ่งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทร่วม มาตรการสำคัญคือ การส่งเสริมให้ออกกำลังกาย โดยเดินออกกำลังกายวันละไม่ต่ำกว่า 45 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน ควบคู่กับการการปรับการกินอาหารให้พออิ่ม ลดอาหารรสหวาน มัน เค็ม และเพิ่มการกินผักผลไม้ให้มากขึ้นในแต่ละมื้อ เริ่มดำเนินการพร้อมกันทั่วประเทศตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2551 เป็นต้นไป หากองค์กรหรือส่วนราชการ โรงเรียน ทั้งรัฐเอกชนใดที่สนใจ สามารถติดต่อสมัครได้ที่ กรมอนามัย หมายเลขโทรศัพท์ 0-2590-4327 กรมอนามัยจะสนับสนุนเทคโนโลยี องค์ความรู้ต่างๆ ให้
กำลังโหลดความคิดเห็น