xs
xsm
sm
md
lg

หมดห่วงติดหวัดนกซ้ำ นักวิจัยเผยร่างกายมีภูมิคุ้มกันสายพันธุ์เดิม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักวิจัยทุนซีดีซีระบุเชื้อหวัดนกในแต่ละประเทศต่างกัน วัคซีนจากต่างประเทศอาจไม่เหมาะกับคนไทย ต้องปรับก่อนใช้ ส่วนผู้ที่ได้รับเชื้อแล้วร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานป้องกันการติดเชื้อซ้ำอีกครั้งได้ แต่ต้องเป็นเชื้อชนิดเดียวกัน หรือกลายพันธุ์เล็กน้อยและแต่ยังอยู่ในกลุ่มเดียวกัน

ศ.ดร.พิไลพันธ์ พุทธวัฒนะ ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล เปิดเผยระหว่างการประชุมวิชาการนานาชาติด้านไข้หวัดนกเมื่อวันที่ 24 ม.ค.51 ว่า 1 ปีที่เฝ้าติดตามการแพร่กระจายของโรคไข้หวัดนกโดยการติดเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียมในนกปากห่าง ยังไม่พบบริเวณใดมีการระบาด ส่วนผลการศึกษาภูมิคุ้มกัน พบว่าผู้ที่เคยติดเชื้อมาแล้วครั้งหนึ่งจะมีภูมิคุ้มกันเชื้อที่กลายพันธุ์ไม่มากได้

“จากข้อสงสัยที่ว่านกอพยพอาจเป็นพาหะนำเชื้อไข้หวัดนกจากที่หนึ่งไปสู่ที่หนึ่ง เราจึงได้ติดเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียมไว้ที่นกปากห่างฝูงหนี่งและปล่อยสู่ธรรมชาติ จากนั้นเฝ้าติดตามดูว่านกฝูงนี้บินผ่านไปบริเวณใดบ้าง พอครบเวลาราว 2-3 เดือนก็ไปตรวจสอบว่านกฝูงนี้ได้รับเชื้อบ้างหรือยัง ซึ่ง 1 ปีที่ติดตามมาก็ยังไม่พบว่าได้รับเชื้อแต่อย่างใด ซึ่งในตอนแรกก็คาดว่านกฝูงนี้จะบินออกนอกประเทศ แต่ขณะนี้ก็ยังอยู่ในประเทศไทย” ศ.ดร.พิไลพันธ์ เผย

อีกงานวิจัยหนึ่ง ศ.ดร.พิไลพันธ์ ศึกษาการตอบสนองของภูมิคุ้มกันในร่างกายคนต่อเชื้อไข้หวัดนก พบว่า ผู้ที่เคยได้รับเชื้อไวรัสไข้หวัดนกมาแล้ว จะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสเมื่อได้รับเชื้ออีกครั้ง แต่ต้องเป็นเชื้อชนิดเดิมหรือหากเชื้อกลายพันธุ์ก็ต้องอยู่ในกลุ่มเดียวกันถึงจะป้องกันได้ หากคนผู้นั้นไปติดเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์อื่นเขาก็อาจไม่มีภูมิคุ้มกัน ซึ่งการศึกษาการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสยังเป็นแนวทางในการพัฒนาวัคซีนที่เหมาะสมได้อีกด้วย

ศ.ดร.พิไลพันธ์ กล่าวต่อว่า เชื้อไวรัสไข้หวัดนกเปลี่ยนแปลงเร็ว และเชื้อในแต่ละประเทศก็อาจไม่เหมือนกัน คนที่มีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อสายพันธุ์ในประเทศไทยอาจไม่มีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์ของประเทศลาว ขณะเดียวกันวัคซีนป้องกันไข้หวัดนกที่ผลิตในต่างประเทศอาจใช้ไม่ได้ผลในประเทศไทยก็ได้ ก็ต้องนำมาปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับเชื้อในประเทศของเราก่อนที่จะนำไปใช้งาน แต่ขณะนี้วัคซีนยังอยู่เพียงขั้นทดลอง ยังไม่มีนักวิจัยที่ไหนผลิตออกมาใช้จริง

อย่างไรก็ดี จากการเฝ้าติดตามการแพร่กระจายของไข้หวัดนกในคนในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมากว่า 3,000 คน พบผู้ติดเชื้อไม่ถึง 1% ซึ่งก็น่าจะประเมินได้ว่าการแพร่กระจายของเชื้อในคนยังอยู่ในระดับต่ำ

ศ.ดร.พิไลพันธ์ บอกอีกว่า พันธุกรรมของแต่ละคนก็อาจมีส่วนส่งเสริมให้เชื้อไวรัสสำแดงฤทธิ์เมื่อเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งนักวิจัยก็ศึกษาอยู่ว่าเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน และเคยมีรายงานผลการศึกษาการติดเชื้อและการแสดงอาการในหนู 10 สายพันธุ์ ก็พบว่ามีบางสายพันธุ์เท่านั้นที่อาการรุนแรง

นอกจากนี้ ศ.ดร.พิไลพันธ์ ยังวิจัยหายาต้านเชื้อไวรัสจากพืชสมุนไพรซึ่งร่วมมือกับนักวิจัยหลายสถาบัน ซึ่งก็พบว่าสมุนไพรบางตัวมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อไวรัสไข้หวัดนกได้ดีในห้องปฏิบัติการ แต่ยังไม่เป็นที่เปิดเผย เพราะยังไม่รู้วิธีการผลิตให้นำมาใช้ได้ และอาจถูกขโมยไปจดสิทธิบัตรเหมือนหลายกรณีที่ผ่านมาที่ต่างชาตินำสมุนไพรไทยไปจดสิทธิบัตร

ทั้งนี้ ศ.ดร.พิไลพันธ์ ยังได้ทุนวิจัยระดับนานาชาติจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐฯ (US-CDC) เมื่อปี 2550 ร่วมกับกลุ่มนักวิจัยของ ม.หมิดล กระทรวงสาธารณสุข กรมปศุสัตว์ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รวมถึง ศ.นพ.ประเสริฐ เอื้อวรากุล นายกสมาคมไวรัสวิทยาประเทศไทย เพื่อดำเนินการจัดตั้งศูนย์ประสานงานการวิจัยไข้หวัดนกเพื่อการศึกษาปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนและสัตว์ และการวิจัยเรื่องการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกและการติดต่อระหว่างคนและสัตว์ ซึ่งทุนนี้มีระยะเวลา 3 ปี จำนวนเงิน 2.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 85 ล้านบาท)
กำลังโหลดความคิดเห็น