xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เรียกทูตทั่วโลกแจงหวัดไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.นัดทูตทั่วโลกชี้แจงคนไทยติดเชื้อหวัดพันธุ์ใหม่ พร้อมเชิญผู้แทนสายการบินไทยและการท่าอากาศยานร่วมปรับปรุงแนวทางปฏิบัติบนเครื่องบินและสนามบิน และวางมาตรการเฝ้าระวัง สั่งรับมือทัพนักกีฬา 1 พันคนที่จะมาแข่งยกน้ำหนักที่เชียงใหม่ หวั่นเทอร์โมสแกนไม่พอรับมือ ด้านวอร์รูมระดมสมองปรับแผนให้ยาโอเซลทามิเวียร์เหตุฮูเตือนอาจทำเชื้อดื้อยา เล็งซื้อยาตัวใหม่ “ซานามิเวียร์” สำรอง ด้านองค์การเภสัชฯ เผยประสานฮูขอแบ่งเชื้อไวรัสมาศึกษาวิจัยแล้ว คาดต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี พัฒนาวัคซีน “มาร์ค”ยอมรับคนไทยติดหวัดกระทบท่องเที่ยว ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อล่าสุดมีทั้งสิ้น 5,728 ราย ใน 33 ประเทศ

นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า ในวันนี้(14 พ.ค.) กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ จะจัดการชี้แจงสถานการณ์ สรุปแนวทางการควบคุมป้องกันโรคของประเทศไทย และความคืบหน้าในการดำเนินงานแก่ผู้แทนสถานทูตประเทศต่างๆ ประจำประเทศไทย โดยผู้ทรงคุณวุฒิของทั้ง 2 กระทรวง เพื่อให้ความมั่นใจในมาตรการดำเนินงานของไทย
ส่วนวันที่ 15 พ.ค. จะเชิญผู้แทนสายการบินไทยและการท่าอากาศยานมาหารือ ปรับปรุงแนวทางการปฏิบัติที่เหมาะสมเพื่อการป้องกันโรคที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางระหว่างประเทศ ทั้งที่ต้องดำเนินการบนเครื่องบินและที่สนามบิน ก่อนจัดประชุมชี้แจงแก่ผู้แทนจากสายการบินต่างๆ เพื่อปฏิบัติเป็นแนวทางเดียวกันในสัปดาห์หน้า

ลั่นพร้อมรับมือนักกีฬายกน้ำหนัก

นพ.มล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมรับมือทัพนักกีฬาในการแข่งขันยกน้ำหนักยุวชนชิงแชมป์โลก ที่จังหวัดเชียงใหม่ ในระหว่างวันที่ 19 -24 พ.ค.ว่า การจัดแข่งขันครั้งนี้จะมีนักกีฬาและทีมงานทั้งหมดประมาณ 1,000 คน เข้าร่วม โดยคาดว่านักกีฬาทีมแรกจะเดินทางมาถึงประเทศไทยในวันที่ 16 พ.ค. ก่อนการแข่งขัน 3 วัน ดังนั้นกรมควบคุมโรค และสมาคมยกน้ำหนักแห่งประเทศไทย จึงจะได้จัดการประชุมก่อนเพื่อรับมือในวันที่ 15 พ.ค.ทั้งนี้การเดินทางของทัพนักกีฬาน่าจะมีการบินตรงมายังสนามบินนานาชาติจังหวัดเชียงใหม่ และบินมาต่อเครื่องที่สนามบินสุวรรณภูมิ 
สำหรับมาตรการป้องกันยังคงมีเช่นเดิม ทั้งการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายที่สนามบิน การกรอกประวัติและรับบัตรคำเตือนสุขภาพ ทั้งนี้ยังได้ขอความร่วมมือกับนักกีฬาที่จะเดินทางเข้าไทยว่า ให้แสดงบัตรตรวจสุขภาพที่ตรวจมาจากต้นทาง และติดชื่อที่เดินทางมาด้วย ส่วนการพักในประเทศไทยตลอดการแข่งขันให้ เจ้าหน้าที่ให้ตรวจสุขภาพนักกีฬาทุกเช้า

ระดมสมองปรับแผนให้ยาต้าน

  นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้ผู้เชี่ยวชาญทีมงานวิชาการของสธ.อยู่ระหว่างการหารือว่าจะปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ในการให้ยาโอเซลทามิเวียร์กับผู้เข้าข่ายเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เพราะเกรงว่าจะเป็นการให้ยามากเกินไปหรือไม่ ซึ่งขณะนี้องค์การอนามัยโลก(WHO) ได้ส่งสัญญาณมาว่า หากใช้ยาเกินความจำเป็นจะทำให้ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่2009 เกิดการดื้อยา โดยต้องมีแผนสำรองในการรักษาว่าจะใช้ยาชนิดใดต่อไป
  “เดิมแพทย์ให้ยาโอเซลทามิเวียร์กับผู้เข้าข่ายเฝ้าระวัง หากเริ่มมีอาการไข้ และมีประวัติสัมผัสกับผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาด อาจเปลี่ยนเป็นการให้ยาสำหรับผู้ที่มีผลจากห้องปฏิบัติการยืนยันว่าป่วย จึงจะให้ยา เพื่อป้องกันการใช้ยามากเกินไปจนทำให้ผลเสียตามมาคือการดื้อยาเร็วขึ้น”นพ.ไพจิตร์ กล่าว

เตรียมสำรองยาซานามิเวียร์เพิ่ม

  นพ.มล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวภายหลังการประชุมทีมวิชาการด้านการแพทย์ว่า ได้หารือเกี่ยวกับการสำรองยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ และยาต้านไวรัสซานามิเวียร์ ชนิดพ่น ใช้ในกรณีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 และผู้ป่วยไข้หวัดนกดื้อยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ โดยนักวิชาการได้ให้คำแนะนำว่า การสำรองยาต้านไวรัส โอเซลทามิเวียร์ในขณะนี้จำนวน 4.2 ล้านเม็ด รองรับผู้ป่วย 4.2 แสนคน ถือว่าเพียงพอแล้ว แต่หากได้เพิ่มอีก 2 ล้านเม็ดตามที่ตั้งเป้าไว้ ก็จะสร้างความมั่งคงในการดูแลผู้ป่วยในประเทศอย่างมาก ซึ่งสธ. ได้เสนอครม.ของบประมาณ 80 ล้านบาท ในการสั่งซื้อวัตถุดิบในการผลิตยาในส่วนนี้แล้ว คาดว่าครม. จะพิจารณาในสัปดาห์หน้า
  สำหรับยาต้านไวรัส ซานามิเวียร์ นักวิชาการได้เสนอว่า ไทยควรมีการสำรองยาดังกล่าว แต่ไม่จำเป็นต้องสำรองจำนวนมาก เนื่องจากเป็นยาที่ใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยดื้อยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์เท่านั้น ซึ่งสัดส่วนการดื้อยาโอเซลทามิเวียร์ยังไม่มีมากเพราะเป็นเชื้อชนิดใหม่ ประกอบกับไทยมีผู้ที่ทานยาโอเซลทามิเวียร์จำนวนน้อยมาก และยังไม่มีการดื้อยาแต่อย่างใด
  “บางประเทศได้มีการสำรองยาโอเซลทามิเวียรและซานามิเวียร์ ในสัดส่วน 80/20 หรือ 90/10 แต่ประเทศไทยคงไม่จำเป็นถึงขนาดนั้น เนื่องจากยาดังกล่าวมีราคาแพง ราคาชุดละ 900 บาท และยังไม่มีความต้องการในการใช้มาก โดยไทยอาจจะสั่งซื้อยาสำรองรองรับผู้ป่วยหลักพันหรือหลักหมื่นคนเท่านั้น ผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาซานามิเวียร์ จะต้องพ่นยา วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ติดต่อกัน 4 วัน จึงจะถือว่ารักษาครบชุด” นพ.มล.สมชาย กล่าว
  อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีบริษัทยาเพียงแห่งเดียวเท่านั้นที่สามารถผลิตยาซานามิเวียร์ได้ โดยเบื้องต้น กรมควบคุมโรคจะเชิญบริษัทยาดังกล่าวมาเจรจาต่อรองราคายา คาดว่าจะลดลงมาได้ไม่ถึง 500 บาทต่อชุด งบประมาณในการจัดซื้อยาทั้งหมดไม่เกิน 4-5 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะได้ข้อสรุปเรื่องราคาและปริมาณการสั่งซื้อได้ภายในสัปดาห์หน้า สำหรับงบประมาณในการสั่งซื้ออาจจะใช้จากงบที่ครม. อนุมัติให้ใช้ในแผนป้องกันและควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 จำนวน 100 ล้านบาท

เผยแกะรอยไวรัสได้ 60%

นพ.มล.สมชาย กล่าวต่อว่า สำหรับการผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ขณะนี้คณะกรรมการด้านวัคซีนขององค์การอนามัยโลกยังไม่ได้ประกาศให้ทำการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 แต่อย่างใด เนื่องจากการศึกษาแกะรอยเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ทำได้เพียง 60% เท่านั้น ซึ่งยังไม่เพียงพอ เพราะการผลิตวัคซีนได้จะต้องทราบองค์ประกอบของเชื้อไวรัสได้ครบ 100% ซึ่งจากข้อมูลขณะนี้ยังไม่มีบริษัทยาใดทำการผลิตวัคซีน
  “ส่วนวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลปกติ ก็ยังไม่มีการสั่งซื้อ เพราะต้องรอให้คณะกรรมการด้านวัคซีนขององค์การอนามัยโลกประกาศสายพันธุ์ของไวรัสที่จะระบาดในปีหน้าก่อน โดยคาดว่า ไทยจะสั่งซื้อวัคซีนไข้หวัดใหญ่ฤดูกาลปกติทั้งหมด 2.2 ล้านโด๊ส สำหรับประชาชนกลุ่มเสี่ยงและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและปศุสัตว์ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ใช้เพียง 8 แสนโด๊สเท่านั้น”นพ.มล.สมชาย กล่าว

หวั่นเทอร์โมสแกนไม่พอรับมือ
นพ.มล.สมชาย กล่าวต่อว่า ส่วนการดูแลนักกีฬาและผู้ติดตามที่จะเดินทางมาทำการแข่งขันยกน้ำหนักยุวชนชิงแชมป์โลก ขณะนี้ที่ จ.เชียงใหม่มีปัญหาในส่วนของเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิหรือเครื่องเทอร์โมสแกนที่มีเพียง 1 เครื่อง ซึ่งอาจจะไม่เพียงพอ จึงจะเสนอให้มีการซื้อมาเพิ่มที่สนามบินนานาชาติเชียงใหม่อีก 1 เครื่อง แต่หากไม่สามารถซื้อเพิ่มเติมได้ ก็จะใช้วิธีการตรวจวัดไข้ที่สนามบินแทน
“ผมเชื่อว่านักกีฬาไม่น่าจะมีไข้ เพราะร่างกายย่อมแข็งแรงกว่าคนทั่วไป อย่างไรก็ตาม จะมีการจับตาเป็นพิเศษสำหรับนักกีฬาที่มาจาก 5 ประเทศที่มีการระบาดของโรค ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เม็กซิโก แคนาดา และสเปน หากพบว่ามีไข้จะให้หยุดทำการแข่งขันและเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลทันที”นพ.มล.สมชายกล่าว 

นักวิชาการชี้ยา 2 ชนิดรับมือได้ทั้งคู่
  นพ.ธีรวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลกไวรัสสู่คน กล่าวว่า เชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ เอช 1 เอ็น 1  ไวต่อยาโอเซลทามิเวียร์และยาซานามิเวียร์ เพราะยาทั้ง 2 รายการเป็นยากลุ่มเดียวกัน แต่ยาซานามิเวียร์เป็นยาชนิดพ่นแต่โอเซลทามิเวียร์เป็นยาชนิดกิน ทั้งนี้ยาซานามิเวียร์มีราคาสูงกว่า และประเทศไทยไม่สามารถผลิตได้เอง เพราะเป็นยาที่ติดสิทธิบัตรอยู่
  “ขณะนี้มีหลายประเทศเริ่มพบว่ามีรายงานว่า ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลเริ่มที่จะดื้อต่อยาโอเซลทามิเวียร์ จึงคาดว่าสธ.คงมีการเตรียมแผนสำรองยาซานามิเวียร์เพื่อที่จะเป็นแผนสอง แม้ว่าในประเทศไทยจะยังไม่มีการใช้โอเซลทามิเวียร์กับผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล เพราะยาชนิดดังกล่าวไม่พบรายงานว่าดื้อต่อเชื้อไข้หวัดใหญ่เอช 1 เอ็น1” นพ.ธีรวัฒน์ กล่าว
   นพ.ประเสริฐ เอื้อวรากุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสและอาจารย์ประจำภาควิชา จุลชีววิทยาคณะ แพทยศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช กล่าวว่า การใช้ซานามิเวียร์รักษาโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 อาจมีข้อดีกว่าโอเซลทามิเวียร์คือยังไม่พบว่ามีรายงานการดื้อยา แต่ข้อเสียก็มีคือการใช้ยากกว่า เพราะต้องพ่น แต่โอเซลทามิเวียร์เป็นยาเม็ดรับประทาน

อภ.ขอเชื้อไวรัสวิจัยทำวัคซีน
นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า ขณะนี้อภ.อยู่ระหว่างการพัฒนาวัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิด เอ เอช 1 เอ็น 1  ที่ห้องปฏิบัติการคณะเภสัชศาสตร์ ม.ศิลปากร จ.นครปฐม โดยได้ประสานผ่านทางกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ไปยังองค์การอนามัยโลก (WHO) ให้ส่งเสริมในการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ โดยในการประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลกในสัปดาห์หน้าจะขอความอนุเคราะห์ขอให้แบ่งเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิด เอ เอช 1 เอ็น 1 เพื่อนำมาผลิตวัคซีน โดยตามขั้นตอนจะต้องมีการศึกษาวิจัยในระดับสัตว์ทดลอง จากนั้นจึงทดลองในมนุษย์ หากประสบผลสำเร็จจึงจะขอขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยคาดว่า จะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี เพื่อรองรับหากมีการระบาดของไวรัสไข้หวัดใหญ่พันธุ์ใหม่รอบที่ 2 หรือรอบที่ 3 ในช่วงต้นปี 2553    
นอกจากนี้ อภ.ได้ปรับปรุงสถานที่ห้องปฏิบัติการที่คณะเภสัชศาสตร์ ม.ศิลปากร เพื่อให้ได้มาตรฐานจีเอ็มพี โดยตัวแทนจากองค์การอนามัยโลกได้เดินทางมาตรวจสอบแล้ว เมื่อการทดลองวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นผลสำเร็จจะสามารถผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่บริการประชาชนไทยได้ทันที โดยมีกำลังผลิตได้ 2.8 ล้านโดสต่อเดือน โดยเป็นชนิดเชื้อเป็น ซึ่งจะสามารถผลิตได้ครั้งละเป็นจำนวนมากและเร็วเพื่อรองรับในการระบาดใหญ่
 “อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่อภ.ยังไม่สามารถผลิตวัคซีนได้และไม่แน่นอน อภ.ได้เตรียมที่จะเจรจากับบริษัท ซาโนฟี่ ปาสเตอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนกับอภ.ในการผลิตวัคซีนให้เป็นผู้บรรจุวัคซีนเพื่อจัดจำหน่ายในประเทศไทย ซึ่งยังไม่ทราบกำลังการผลิตว่าเป็นจำนวนเท่าใดแต่เชื่อว่าน่าจะมีศักยภาพเพียงพอในการดูแลประชาชนในประเทศ”นพ.วิทิตกล่าว

“มาร์ค”ยอมรับกระทบท่องเที่ยว
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงข้อซักถามเรื่อง 2 คนไทยติดเชื้อจะกระทบถึงการท่องเที่ยวหรือไม่ว่า ขณะนี้ต้องทำความเข้าใจว่าองค์การอนามัยโลกไม่ได้ห้าม ไม่ได้แนะนำไม่ให้เดินทางระหว่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีผู้ติดเชื้อ ผลกระทบทางการท่องเที่ยวโดยรวมมีอยู่แล้ว เพราะพอเกิดเหตุคนทั่วไป จะมีความลังเลในการเดินทางระหว่างประเทศมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เราจะพยายามทำความเข้าใจว่ากรณีของเราได้มีการติดตามเฝ้าระวัง ดูแล และแก้ไขปัญหาอย่างไร ในภาพรวมของทั่วโลกตอนนี้ตัวเลขค่อนข้างเริ่มคงที่มากขึ้น ฉะนั้นคิดว่าความตื่นตระหนก จะเริ่มลดลง

ฮูชี้ไม่ควรใช้ยาต้านไวรัสพร่ำเพรื่อ
ดร. นิกกิ ชินโด ผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลกหรือฮูออกมาระบุว่า ยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ทั้ง 2 ชนิด คือ ยา “ทามิฟลู” และ “เรเลนซา” ควรจะถูกนำมาใช้อย่างจำกัด และควรสงวนไว้ใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการเรื้อรัง ผู้ป่วยที่เป็นสตรีที่ตั้งครรภ์ และผู้ป่วยที่มีร่างกายอ่อนแอเท่านั้น
ชินโด ออกมาเปิดเผยเมื่อวันอังคาร (12) โดยระบุว่า หน่วยงานสาธารณสุขของประเทศต่างๆ ควรจ่ายยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ทั้ง 2 ชนิดให้กับผู้ป่วย เฉพาะในกรณีที่มีความจำเป็นจริงๆ เท่านั้น เพื่อให้ยาสามารถออกฤทธิ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด เนื่องจากมีความเป็นไปได้ว่าเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ซึ่งอาจมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นหากเกิดการระบาดรอบใหม่ จะสามารถทนทานต่อฤทธิ์ของยาทั้ง 2 ชนิดได้ หากตัวยาถูกใช้อย่างพร่ำเพรื่อเกินความจำเป็น
การออกมาเปิดเผยของผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลกในครั้งนี้ มีขึ้นหลังจากที่บริษัท โรช เอจี ยักษ์ใหญ่ด้านการผลิตยาจากสวิตเซอร์แลนด์ออกมาเปิดเผยว่า เตรียมผลิตยา “ทามิฟลู” ล็อตใหม่จำนวน 5.65 ล้านชุดให้กับองค์การอนามัยโลก เพื่อเตรียมไว้ใช้รับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ซึ่งทางผู้บริหารระดับสูงขององค์การอนามัยโลกเคยออกมาทำนายว่า อาจมีผู้ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้มากถึง 2,000 ล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของประชากรโลกหากเกิดการแพร่ระบาดขั้นร้ายแรง
ชินโด ระบุว่า การผลิตยาเพิ่มขึ้นไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้อง สำหรับรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ เพราะการใช้ยาอย่างแพร่หลายในปริมาณมากจะทำให้เชื้อไวรัสดื้อยา ซึ่งจะทำให้โลกต้องอยู่ในความเสี่ยงที่จะเกิด “ ความหายนะครั้งใหญ่ ” หากเชื้อไวรัสชนิดนี้กลับมาระบาดอีกในอนาคตโดยที่เชื้อมีความรุนแรงมากกว่าเดิม
ชินโด ย้ำว่า ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ส่วนใหญ่ ไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยตัวยาทั้ง 2 ชนิดดังกล่าว และจากการสำรวจก็พบว่าผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่สามารถฟื้นตัวได้เองหากได้รับการดูแลที่เหมาะสม เช่น ให้ผู้ป่วยพักผ่อนอย่างเพียงพอ และการดูแลไม่ให้ร่างกายผู้ป่วยขาดน้ำ นอกจากนั้น การที่มีผู้ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่เพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่ต้องเข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาลก็ยิ่งแสดงให้เห็นว่า ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องจ่ายยาทามิฟลู หรือ ยาเรเลนซา ให้กับผู้ติดเชื้อทุกราย
โดยชินโดแนะว่า วิธีการที่ดีที่สุดในการรับมือกับการระบาดระลอกใหม่ของเชื้อไวรัสชนิดนี้ คือ การเร่งเดินหน้าพัฒนาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพซึ่งสามารถรับมือกับเชื้อไวรัสที่มีความรุนแรงมากขึ้น ไม่ใช่การเร่งผลิตยาต้านไวรัสอย่างในขณะนี้
นอกจากนั้น ชินโด ยังเปิดเผยว่า ประเทศต่างๆ ในยุโรป มีแนวโน้มที่จะใช้ยาต้านไวรัสอย่างกว้างขวางและเกินความจำเป็น ซึ่งแตกต่างกับในสหรัฐฯ และเม็กซิโก ที่มีการพบผู้ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่เป็นจำนวนมากกว่าในยุโรปหลายเท่า แต่กลับมีการจ่ายยาต้านไวรัสอย่างเหมาะสม คือ มีการใช้ยาดังกล่าวเฉพาะกับผู้ติดเชื้อที่มีอาการรุนแรงเท่านั้น

หวัดพันธุ์ใหม่มีแนวโน้มกลายพันธุ์
ดร. แอนน์ ชิวแชท แห่งศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ หรือ ซีดีซี ออกมาระบุว่า ผลการศึกษาในเบื้องต้นของซีดีซีพบว่า เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 มีแนวโน้มที่จะกลายพันธุ์สูง และมีความเป็นไปได้ที่อาจเกิดการผสมกับเชื้อไข้หวัดใหญ่ในมนุษย์ ในหมู รวมทั้ง เชื้อไข้หวัดในสัตว์ปีกซึ่งจะทำให้เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่มีความรุนแรงและเป็นอันตรายต่อมนุษย์มากขึ้นหากเกิดการระบาดระลอกใหม่ในอนาคต
ขณะเดียวกัน ชิวแชท ยังเปิดเผยว่า จากการศึกษาของซีดีซีพบว่า สตรีที่ตั้งครรภ์ถือเป็นบุคคลที่มีความเสี่ยงมากที่สุดที่จะติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 และถือเป็นกลุ่มบุคคลที่ต้องได้รับการรักษาอย่างทันทีทันใดหากติดเชื้อ เนื่องจากร่างกายมีสภาวะที่เปราะบางต่อเชื้อไวรัสชนิดนี้มากที่สุด
โดยชิวแชทเปิดเผยว่า ขณะนี้ทางศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติของสหรัฐฯ กำลังศึกษากรณีที่มีรายงานว่า พบผู้หญิงตั้งครรภ์ประมาณ 20 รายติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในสหรัฐฯ จากการระบาดในรอบนี้
ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อในสหรัฐฯ ล่าสุดที่ได้รับการยืนยันแล้วได้เพิ่มจำนวนเป็น 3,009 ราย ใน 45 มลรัฐ และยังมีผู้ต้องสงสัยว่าอาจติดเชื้ออีกประมาณ 600 รายด้วยกัน

ยอดติดเชื้อทั่วโลกใกล้ถึง 6,000 ราย
องค์การอนามัยโลกแถลงที่เมืองเจนีวา ในสวิตเซอร์แลนด์ ได้ยืนยันตัวเลขผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ทั่วโลกว่ามีทั้งสิ้น 5,728 ราย ใน 33 ประเทศ กับอีก 1 เขตปกครองพิเศษ ได้แก่ เม็กซิโก สหรัฐอเมริกา แคนาดา สเปน สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมัน นิวซีแลนด์ อิสราเอล อิตาลี บราซิล เกาหลีใต้ เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น เอลซัลวาดอร์ ออสเตรีย สวิตเซอร์แลนด์ โคลอมเบีย คอสตาริกา เดนมาร์ก กัวเตมาลา ไอร์แลนด์ โปแลนด์ โปรตุเกส สวีเดน อาร์เจนตินา ปานามา นอร์เวย์ ออสเตรเลีย จีน คิวบา ฟินแลนด์ ไทย และเขตปกครองพิเศษฮ่องกง
ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ล่าสุด มี 61 ราย โดยเป็นผู้เสียชีวิตในเม็กซิโก 56 ราย ในสหรัฐฯ 3 ราย ในคอสตาริกาและแคนาดาอีกประเทศละ 1 ราย

ระบาดถึงขั้วโลกเหนือแล้ว
รายงานข่าวล่าสุดจากแคนาดาระบุว่า เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ได้แพร่ระบาดเข้าไปถึงดินแดนเหนือสุดของแคนาดา ซึ่งอยู่ติดกับบริเวณขั้วโลกเหนือเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขแคนาดายืนยันว่า พบสตรีคนหนึ่งในดินแดนยูคอนติดเชื้อไวรัสชนิดนี้
รายงานข่าวระบุว่า สตรีคนดังกล่าว เพิ่งเดินทางกลับมาจากการไปท่องเที่ยวในเม็กซิโกได้กลายเป็นผู้ติดติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 เป็นรายแรกของดินแดนยูคอนของแคนาดา ซึ่งเป็นดินแดนที่อยู่ติดกับขั้วโลกเหนือและมลรัฐอะแลสกาของสหรัฐฯ
ทางการแคนาดารายงานว่าพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั่วประเทศเพิ่มขึ้นอีก 28 ราย ส่งผลให้ในขณะนี้แคนาดามียอดผู้ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ทั้งสิ้น 358 คน โดยมีเพียงรัฐนิวฟันด์แลนด์ เท่านั้นที่ยังไม่พบการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009
กำลังโหลดความคิดเห็น