เคยได้ยินใครบางคนบอกว่า ดนตรี เป็นเหมือนศาสนา ดังนั้น เขาจึงศรัทธาในเสียงดนตรีมากกว่าคำสอนของศาสดาองค์ใด เอาเถอะ ไม่ว่ากัน ยุคนี้ไม่ใช่ยุคดึกดำบรรพ์ เราต่างมีเสรีภาพที่จะคิดจะเชื่อกันอยู่แล้ว จริงไหม - จริง!
ถึงแม้ดนตรีจะยิ่งใหญ่และศักดิ์สิทธิ์ในความคิดความเชื่อของใครบางคนเพียงใด แต่ความจริงสำหรับใครอีกหลายคนก็คือ ดนตรีไม่ใช่ยาวิเศษ และยิ่งกับปัญหาภาวะโลกร้อนที่มนุษย์และสัตว์โลกทั้งปวงกำลังเผชิญอยู่นี้ ดนตรียิ่งไม่มีพรวิเศษที่จะเสกเป่าให้น้ำแข็งที่ขั้วโลกเหนือหยุดละลาย ไม่สามารถเป็นเขื่อนกั้นน้ำท่วมโลกได้ และยิ่งไม่สามารถลอยขึ้นไปบนฟ้าเปลี่ยนสถานะเป็นชั้นบรรยากาศเพื่อทำให้โลกเย็นลง และ ฯลฯ เสียงดนตรีไม่ได้มีอำนาจปาฏิหาริย์ถึงปานนั้น แต่สิ่งที่ดนตรีทำได้คือ ส่งเสียงไปถึงผู้คนให้รับรู้ ให้ตื่นตัว พร้อมกับปลูกจิตสำนึกให้ผู้คนเกิดความรัก ตระหนักถึงปัญหาภาวะโลกร้อน เลิกเห็นแก่ตัว แล้วหันมาช่วยกันเยียวยา แก้ไข ป้องกันไม่ให้โลกร้อนลุกลามไปมากกว่านี้ นั่นคือสิ่งที่ดนตรีพอจะทำได้...
...เช่นเดียวกับภารกิจของตำนานวงดนตรีเพื่อชีวิตที่ยังมีลมหายใจและห่วงใยโลกใบนี้ 'คาราวาน' กับคอนเสิร์ตโลกร้อนคนละลาย 2 ตอน หอมแผ่นดิน ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 25 ตุลาคม ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เราจึงได้โอกาสบุกเข้าไปพูดคุยกับแกนนำคาราวานทั้งสี่คนถึงห้องซ้อมดนตรี บนชั้นสองของตึกสำนักเทคโนโลยีการศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหง ในฐานะที่ทำคอนเสิร์ตดีๆ เพื่อโลกใบนี้
เราพบน้าหงา - สุรชัย จันทิมาธร กำลังนั่งอ่านหนังสือพิมพ์ที่หน้าห้องซ้อมดนตรี
"สวัสดีครับน้าหงา" เราเข้าไปแนะนำตัว น้าหงาเงยหน้าจากหนังสือพิมพ์แล้วตอบ "สวัสดีๆ นั่งก่อนสิ ที่นัดสัมภาษณ์ไว้ใช่ไหม"
"ครับ" เราตอบ
"เดี๋ยวรอแป๊บนะ" น้าหงาเดินเข้าไปในห้องซ้อมดนตรี แป๊บเดียวจริงๆ น้าหงาก็เดินออกมา "เข้าไปนั่งคุยข้างในดีกว่า" เราสะพายกระเป๋าพะรุงพะรังเดินตามหลังน้าหงาเข้าไปในห้องซ้อม ทันทีที่เปิดประตูเข้าไปเราก็ได้ยินเสียงเพลงนี้ ไปฟังกันเลยครับ...
"หาย... ยะนะ บางคนโกยทรัพย์ในดิน บางคนกัดกินป่าไม้ บางคนจุดเผาทำลาย บางรายสร้างเขื่อนกั้นน้ำ... หาย... ยะนะ" เสียงเพลง หายนะ ในท่วงทำนองแบบซานตาน่าของน้าหว่อง - มงคล อุทก กำลังบรรเลงในห้องซ้อมดนตรี ดูเหมือนน้าหว่องกำลังซ้อมจังหวะ หาคอร์ด หาคีย์ให้กับเพลงนี้กับมือเบสอีกคน
เรายกมือสวัสดี น้าหว่องพยักหน้า แกยังมีพิณคู่ใจอยู่เคียงข้างกายเหมือนเดิม, น้าอืด - ทองกราน ทานา กำลังปรับสายกีตาร์, ยังไม่เห็นน้าแดง - วีระศักดิ์ สุนทรศรี สงสัยยังไม่ขึ้นมา, ส่วนน้าหงาขอตัวไปเข้าห้องน้ำแป๊บนึง ...แป๊บนึงจริงๆ น้าหงาก็เดินเข้ามาพร้อมกับน้าแดง แล้วคาราวานก็ครบวง "เอ้า, มีอะไรก็ว่ามา" บรรดาน้าๆ กล่าวและยิ้ม...
หอมแผ่นดิน
เราถามถึงผลตอบรับจากการจัดคอนเสิร์ตโลกร้อนคนละลายครั้งที่ผ่านมา น้าหงาบอกว่า ปัญหาโลกร้อนเป็นปัญหาสากล เป็นปัญหาร่วมสมัย เป็นคำเตือนถึงสถานการณ์ของโลก แล้วคาราวานขานรับกระแสนี้ ส่วนผลตอบรับกลับมาน้าหงาบอกว่ามันก็ได้ผล
"ดูจากคน ดูยอดตั๋ว หรือว่าความสำเร็จของคอนเสิร์ตโลกร้อนฯ ครั้งที่ผ่านมา แม้กระทั่งการนำซีดีออกมาจำหน่ายในภายหลัง ถึงแม้จะไม่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็ได้ผลอย่างหนึ่ง อีกอย่างกระแสเรื่องโลกร้อนก็ไม่ใช่มีแต่เรา ก็มีองค์กร หน่วยงาน บริษัทต่างๆ หลายที่เขาก็ร่วมด้วย และบรรดาศิลปินต่างๆ ก็โลกร้อนกันเป็นแถว อันนี้เป็นกระแสเดียวกัน มันก็ขานรับกันและกัน ไม่จำกัดอยู่แต่พวกเราคาราวานเท่านั้น แต่เป็นกระแสขานรับร่วมกัน เรื่องแบบนี้มันยังไม่สิ้นสุด การเคลื่อนไหว เรียกว่าการเคลื่อนไหวก็แล้วกัน ..."
ส่วนคอนเสิร์ตโลกร้อนคนละลาย 2 ที่มีชื่อตอนว่า 'หอมแผ่นดิน' มาจากบทแพลงของน้าหว่อง ที่อยากให้ทุกคนคิดถึงธรรมชาติ คิดถึงสีเขียว คิดถึงความน่าอยู่ของธรรมชาติ คิดถึงสิ่งที่เคยได้รับจากผืนแผ่นดิน
"คอนเสิร์ตครั้งนี้เป็นการเรียกขานกัน ขานรับกันอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะตอนนี้ปัญหาความขัดแย้งในบ้านเมืองของเราก็เยอะ สังคมมีดีกรีความขัดแย้งค่อนข้างสูง เราอาจจะขานรับในเรื่องของความรักความผูกพันต่อผืนแผ่นดิน ให้มองแผ่นดินที่เราอยู่ ให้มองสังคมที่เราอยู่ ให้มันหอมหวานขึ้น ก็คงจะประกอบกับเพลงหอมแผ่นดิน ที่บอกเล่าเรื่องราวของภาคชนบท ภาคเกษตรกรรม ภาคชีวิตเรียบง่ายของชนบท ให้เราหวนระลึกถึงสิ่งเหล่านี้ ร่วมกันทบทวนอีกสักครั้งหนึ่ง เพื่อลดกระแสดีกรีความรุนแรง ความขัดแย้งที่มันอาจจะเกิดขึ้น ต้องเริ่มจากใจคนให้ แต่ให้ใฝ่หาเส้นทางบรรจบกัน หรือว่าเส้นทางที่จะคุยกันได้ แก้ปัญหาด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการปะทะกันที่ชายแดนไทย-เขมรปัจจุบันนี้ แถวศรีสะเกษ สุรินทร์ หลายๆ อย่างมันส่อเค้าว่าจะเป็นโลกร้อนคนละลายจริงๆ นี่คือกระแสของสังคมและการเมือง ไม่ใช่เรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ความรุนแรงที่มันอาจจะเกิดขึ้น เราน่าจะมีส่วนช่วยยับยั้งชั่งคิดให้กับสังคมเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้"
เพราะเมืองไทยทุกวันนี้โดนรุมเร้าอย่างหนักจากปัญหาเศรษฐกิจ การเมือง ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงปัญหาความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชา ปัญหาเหล่านี้ น้าหงาบอกว่ามันก็รวมเป็นโลกร้อนได้เหมือนกัน
"ร้อน, ร้อนระอุเลยล่ะ ก็ช่วยๆ กัน ผมยังคิดว่าจะเอาเพลงสันติภาพมาร้องในคอนเสิร์ตด้วยซ้ำ แต่ตอนนี้ยังประชุมกันอยู่ คอนเซ็ปต์เพลงมันเสริมได้ตลอด เสริมสิ่งที่ขาดได้"
ความจริงแล้วดนตรีก็ช่วยในเรื่องการปลูกจิตสำนึกของคนมาตลอด น้าหว่องบอกว่าบ้านเราก็ช่วยกันได้ มีกระแสการปลูกต้นไม้ มีกระแสอนุรักษ์ธรรมชาติ ก็ช่วยกันจนเขียวขึ้นมาได้ อย่างกรุงเทพฯ ก็ฟื้นกลับมาเขียวกับเขาด้วยเหมือนกัน
"อย่างการช่วยกันอนุรักษ์ป่า กระทั่งเกิดมีคนรักป่าขึ้นมาจริงๆ แล้ว ดังนั้น กระแสโลกร้อน ผมว่าคนไทยช่วยกันได้ แต่ว่าต้องมีอย่างนี้แหละ มีนักดนตรี มีหนัง มีนักวิชาการ มีอะไรหลายๆ อย่าง ไปปลูกจิตสำนึกเขาขึ้นมา ความจริงประชาชนคนธรรมดาเขารักโลกอยู่แล้ว เขาไม่ชอบความสกปรกอยู่แล้ว แต่อุตสาหกรรม หรือพวกทุนต่างๆ ไม่เคยรักโลกใบนี้เลย ใช้ทรัพยากรก็มาก โรงงานก็ผลิตควันมากกว่าเราตั้งเยอะ มันทำให้โลกร้อนขึ้นเยอะ อย่างคำว่าหอมแผ่นดิน ก็เป็นประสบการณ์จริงที่ผมได้ไปเจอ จริงๆ ชาวบ้านเขาอยู่กันมันไม่ค่อยเหม็น สังคมเมืองนั่นแหละทำให้โลกเหม็น เหม็นน้ำเน่ากันทั้งบ้านทั้งเมือง แล้วเราก็ต้องมาช่วยกันทำให้แผ่นดินของประเทศเราหอมขึ้น ทำให้มันน่าอยู่"
โซล่าร์เซลล์
ในคอนเสิร์ตโลกร้อนคนละลายครั้งที่ผ่านมา คาราวานไม่ได้ละเลยรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ อย่างการงดใช้กล่องโฟมบรรจุอาหารตลอดงาน การเลือกใช้ถุงผ้าใบน้อยแทนบัตร STAFF ซึ่งบางคนใช้เสียบปากกา ใส่โทรศัพท์มือถือ ใส่สตางค์ หรือกระทั่งสะพายเป็นย่ามใส่ขวดน้ำก็มี สิ่งเหล่านี้สื่อให้เห็นความจริงใจ เป็นสำนึกและความตั้งใจที่ไม่ได้นำมาโชว์บนเวที คอนเสิร์ตโลกร้อนคนละลาย 2 ครั้งนี้ก็ไม่ได้แตกต่างกัน แต่ความพิเศษที่เพิ่มเข้ามานั้นคือ คอนเสิร์ตครั้งนี้จะเป็นแบบอะคูสติก ที่พยายามใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าให้น้อยที่สุด การแสดงบนเวทีช่วงหนึ่งจะแสดงให้เห็นถึงการลดการใช้พลังงานแสงสีเสียง โดยได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนและกรีนพีซ นำแผงโซล่าร์เซลล์มาใช้บนเวทีอีกด้วย
"เราใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ นำมาใช้ในส่วนของพวกแสงในจุดต่างๆ คือเอาพลังงานจากโซล่าร์เซลล์ที่เขาบรรจุลงไปในแบตเตอรี่แล้วเอามาใช้กับแสงไฟบนเวที เขาให้มาประมาณสองหรือสามพันวัตต์นี่แหละ ซึ่งเราก็ต้องนำมาใช้ให้ได้มากที่สุด ใช้ในส่วนของภาคแสง เพราะแสงมันใช้พลังงานมาก อย่างโปรเจ็กเตอร์ก็จะเอาพลังงานจากโซล่าร์เซลล์ ส่วนเวทีที่ทำฉากทำอะไรเราก็จะไม่ใช้วัสดุฟุ่มเฟือย เอาวัสดุที่ใช้แล้วอย่างพวกกระป๋อง ขวดนม กระดาษเก่าๆ ลดการใช้ทรัพยากร ลดการใช้พลังงาน เริ่มความคิดไอเดียสร้างสรรค์ให้เกิดการใช้สิ่งที่มีอยู่แล้ว" น้าอืดบอก
อะคูสติก เหล็กกระทบไม้ ง่ายและกระชับ
อย่างที่บอก คอนเสิร์ตครั้งนี้คาราวานจะกลับมาแบบเดิมๆ คือแบบอะคูสติก กลับไปหาเสียงของธรรมชาติ กลับไปหาเสียงของคาราวาน มีส่วนเสริมเข้ามาเพื่อสร้างสีสันอย่างเครื่องดนตรีตะวันออก แต่ก็มีกลอง มีเบส มีเพอร์คัสชั่นเข้ามาเสริม ธีมก็คือเหล็กกระทบไม้ ง่ายและกระชับ
ส่วนศิลปินรับเชิญก็จะมีหลายคน อาทิ วิลิต เตชะไพบูลย์ คนที่เปลี่ยนตัวเองมาเป็นคนติดดิน ใช้ชีวิตแบบชาวนา ทำเกษตรอินทรีย์ และสนใจดนตรีตะวันออก, โชติรส วิบูลย์ลาภ เจ้าของเสียงเพลงรักข้ามขอบฟ้า ในโฆษณา KTC visa platinum วันนั้นไม่ได้มาร้องเพลง แต่จะมาเป็นมือเพอร์คัสชั่นให้คาราวาน และ'เร็กเก้เชื่อพ่อ รู้จักพอเพียง' จ๊อบ บรรจบ ศิลปินผู้ยืนหยัดโครงการอนุรักษ์พิทักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
"จ๊อบเขาเคลื่อนไหวเรื่องโลกร้อนมายาวนาน เราเคยใช้ชีวิตร่วมกัน เขาจะอยู่ตามเกาะ เกาะพีพี เกาะลิบง แล้วก็อยู่ที่ตรัง ภูเก็ต กระบี่ เขาจะอยู่แถวๆ นั้น แล้วก็นอนบนเรือ เขาเคลื่อนไหว ทำกิจกรรม เก็บขยะบริเวณทะเล รู้ไหม ตอนที่เขาไปเก็บขยะ ผู้ว่าฯ ลงมาพูดกับเขาว่า "ใครใช้ให้มาทำ!" อ้าว! ทำความดีแล้วถูกว่า ใครใช้ให้มาทำ แล้วทำไมต้องรอให้คนมาใช้ด้วยล่ะ จิตสำนึกดีๆ มันเกิดขึ้นได้เอง จ๊อบเขาก็ทำซีดีโลกร้อน เขาทำเกี่ยวกับสึนามิเราก็ไปช่วยเขา พอผมทำเขาก็มาช่วย เราก็ผูกพันกัน งานนี้ก็เลยเชิญเขามาร่วมแจม" น้าหว่องเล่าถึงเร็กเก้คนดี
คอนเสิร์ตครั้งนี้คาราวานจะมีเพลงใหม่ 4 เพลง คือ อยากจะเห็น, คนเดินทาง, เส้นทางเมล็ดข้าว และภูมิซรอล นอกนั้นจะเป็นเพลงเก่าๆ ที่ไม่ค่อยได้เล่นประมาณยี่สิบกว่าเพลง รวมแล้วประมาณสามสิบเพลง และความพิเศษสุดของคอนเสิร์ตครั้งนี้ น้าหงาบอกว่าน่าจะเป็นเรื่องของการนำรูปแบบอะคูสติกมาผสมผสานที่ค่อนข้างจริงจังเป็นพิเศษ ส่วนทางด้านเนื้อหาก็เป็นเรื่องทางโลก การตระหนักในภาวะของโลกที่เปลี่ยนไป
"ครั้งนี้เราเตรียมงานกันมานาน และซ้อมกันเยอะมากที่สุดเท่าที่เป็นคาราวานมา ซ้อมอาทิตย์ละสามสี่วัน แต่เราก็ค่อยๆ ซ้อมกันไปนะ" น้าอืดบอก
"ครั้งนี้จะเห็นภาวะดนตรีที่เปลี่ยนไป คือเล่นเหมือนเดิมก็จริง แต่รายละเอียดมันเปลี่ยนไปตามอายุ วัย และประสบการณ์ คือเส้นสายดนตรีจะมีการสร้างสรรค์มากขึ้น มันจะไม่เหมือนเดิมอยู่แล้ว แม้จะเล่นให้หวนหาอะไรเดิมๆ แต่การเล่นจะไม่เหมือนเดิม มันพอกพูนขึ้น ตามประสบการณ์ที่เพิ่มขึ้น และตามอายุวัย" น้าหงาอธิบาย
ดนตรีไม่สามารถหยุดโลกร้อนได้
ถามว่าคาราวานจะจัดคอนเสิร์ตโลกร้อนคนละลายอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ ใช่ไหม ได้รับคำตอบจากน้าอืดว่า ถ้าทำได้คาราวานก็จะทำต่อไป แต่อาจจะเปลี่ยนไปตามสถานการณ์หรืองบประมาณที่พอจะทำได้ หรือว่าการร่วมงานกับภาคเอกชนต่างๆ คาราวานคงจับกระแสนี้อยู่ เพราะว่าอีกไม่นานมันจะเป็นกระแสหลักที่ทุกคนไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
"ต้องเจอแน่นอน ไม่เกินสิบปี มันจะรุนแรงมากกว่านี้ แต่ก่อนที่มันจะรุนแรงเราก็น่าจะคิดอะไร แล้วถ้าร่วมมือกันได้ในส่วนของความเป็นมนุษย์ที่เราได้สร้าง ได้ใช้ และได้ทำลายทรัพยากรต่างๆ เราก็น่าจะคิดว่าจะช่วยกันบรรเทาเบาบางลงไปได้อย่างไร ให้ทุกคนได้ตระหนักร่วมกัน ซึ่งตอนนี้มันอาจจะไม่แจ่มชัดเท่าไหร่ หรือความรู้สึกที่จะตระหนักถึงปัญหาอาจจะยังไม่มากพอ เพราะไปเจอกับปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาการเมือง แต่จริงๆ แล้วปัญหาโลกร้อนคือปัญหาทุนนิยม เกิดจากทุนนิยม เพราะทุนนิยมคือการทำลาย การใช้ทรัพยากรมาก อันนี้มันสามารถที่จะคิดได้ว่าเราจะแก้ไขตรงนี้ได้อย่างไร"
"ดนตรีไม่สามารถหยุดโลกร้อนได้ แต่มันมีส่วนที่ทำให้คนได้ตระหนัก ได้คิด ดนตรีไม่ใช่ยาวิเศษ"น้าหงาว่า
"ดนตรีไม่เคยหยุดอะไรได้หรอก" น้าแดงกล่าวแทรกขึ้น "ดนตรีไม่ได้มีอำนาจที่จะครอบคลุมโลกได้"
"หยุดสงครามยังไม่ได้เลย" น้าหงากล่าวต่อ "แต่มันช่วยให้คนมองเห็น มันสะท้อน มันส่องทาง มันโน้มน้าว ปลูกจิตสำนึกได้ ดนตรีมันเยียวยาจิตใจ แต่ไม่ใช่โอสถรักษาโรค"
"โลกร้อนกระทบทุกคน และไม่ใช่ปัญหาเล็กๆ แต่เป็นปัญหาร่วมกัน" น้าอืดให้ความเห็น "และเรื่องแนวคิดของทุนนิยมที่กำหนดว่าโลกจะเป็นยังไง จะเสื่อมเร็วหรือว่าดีขึ้น มันอยู่ที่ทุนนิยมด้วย ถ้าทุนนิยมสามารถที่จะมาปรับตรงนี้ได้ มีจิตสำนึกได้ ผมว่ามันก็อาจช่วยให้โลกเย็นลง น่าอยู่มากขึ้น เห็นได้ชัดเลยตอนนี้จากเศรษฐกิจที่ล้มละลาย ที่บอกว่าทุนนิยม โลกร้อนคนละลาย ตอนนี้ทุนนิยมมันละลายไปแล้ว ไปทั้งยุโรปทั้งอเมริกา จะว่าไปแล้วมันก็ไปทั้งโลก มันเกิดจากอันนี้แหละ ที่ทำให้โลกร้อน คือทุนนิยม มันสามารถพิสูจน์ได้แล้วว่า คนที่เอาเปรียบจะต้องตระหนักให้มากขึ้น"
น้าแดงมองว่าโลกร้อนไม่ได้แก้ง่ายๆ... "เพราะประเทศมหาอำนาจใหญ่ๆ อย่างอเมริกา จีน พวกนี้เป็นตัวการเลย ทุนนิยมสามานย์ จิตใจคนมันต่ำช้าลงทุกวันๆ"
ส่วนน้าหว่องเชื่อมั่นในคนไทย เวลาเคลื่อนไหวอะไรที่เป็นเรื่องที่ดีต่อบ้านเมือง ต่อโลก ต่อชีวิต คนไทยขานรับกันตลอด... "ผมว่าคนบ้านเราพูดกันไม่ยาก คาราวานรณรงค์เรื่องนี้มายาวนาน และต่อเนื่องจากเรื่องอนุรักษ์ต้นน้ำลำธาร ป่าเขา แต่ภาวะตอนนี้มันเป็นเรื่องใหญ่ของคนทั้งโลก"
มาจนถึงวันนี้ คงไม่มีใครคิดว่าโลกร้อนเป็นเรื่องล้อเล่น ถ้าใครคิดเช่นนั้นจริงๆ ก็บ้าแล้ว และถึงแม้จะรู้ทั้งรู้ แต่ก็ยังได้ยินใครบางคนบอกกับเพื่อนว่า โลกมันก็ร้อนอยู่แล้วนี่ โลกร้อนก็ไปอาบน้ำสิ ถ้าใครมองโลก (ร้อน) ในแง่ดีก็ให้คิดเสียว่า ไม่ใช่เขาไม่มีจิตสำนึก เพียงแค่เขาอยากพูดเล่นๆ เพื่อไม่ให้เป็นที่วิตกกังวลใจ จนไม่เป็นอันทำอะไรกันพอดี, ดีกว่าได้ยินเขาพูดว่า "น้ำจะท่วมโลกแล้วนี่ ฉันไม่ทำอะไรแล้ว" เราคงไม่อยากให้ใครคิดแบบนี้กันใช่ไหม อย่างน้าหงาก็เคยเขียนเล่นๆ ว่า ถ้ากลางวันร้อน เราก็ทำงานกลางคืน เปลี่ยนชีวิตซะ อะไรทำนองนั้น
"แต่ความจริงมันคือความจริง คือภาวะโลกร้อนมันเกิดขึ้น ทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการรับรู้ แก้ไข หรืออะไรก็แล้วแต่ ผมว่าสิ่งที่ดีที่สุดคือเริ่มต้นจากตัวเอง ลดทอนการใช้ทรัพยากรของโลกให้น้อยลง ดูแล แล้วก็ฟื้นฟูภาวะของโลกให้มันมีชีวิตอย่างที่ผ่านๆ มา แล้วทำให้มีชีวิตอยู่ได้ ดูว่าตรงไหนดีก็ถนอมมันไว้ ทรัพยากร แม่น้ำลำธาร ต้นไม้เยอะๆ ธรรมชาติหลากหลายมากมี เรามีสิ่งดีๆ อยู่แล้ว เราจะทำลายมันทิ้งทำไม ดังนั้น เราต้องเริ่มต้นจากตัวเอง"
แม้ดนตรีไม่อาจหยุดโลกร้อนได้ แต่ดนตรีสามารถสร้างจิตสำนึกให้คนเกิดความรัก ตระหนัก และหันมาช่วยป้องกัน รักษา และทะนุถนอมโลกใบนี้ไว้คนละไม้คนละมือ ทีละคนสองคน จนแพร่กระจายไปทั่วโลก หากเป็นอย่างนี้ได้จริงๆ แม้ดนตรีไม่อาจหยุดโลกร้อนได้ ก็คงไม่เป็นไรใช่ไหม...
********
เรื่อง : สุรชัย พิงชัยภูมิ
**********
คอนเสิร์ตโลกร้อนคนละลาย 2 ตอน หอมแผ่นดิน จัดขึ้นในวันที่ 25 ตุลาคม ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ติดต่อซื้อบัตรได้ที่ ไทยทิคเก็ตเมเจอร์ ทุกสาขา สนใจดูรายละเอียดได้ที่ www.thaiticketmajor.com โทร. 0-2262-3456, 0-2573-2824, 0-2984-5129 รายได้ส่วนหนึ่งสมทบ 'กองทุนโลกร้อนคนละลาย' เพื่อรณรงค์สิ่งแวดล้อมป่าชายเลน
**********