xs
xsm
sm
md
lg

เรียงความ "โลกร้อนสร้างวิกฤติ วิทย์ & เทคโน ช่วยได้" ระดับ ม.ต้นที่ได้รับรางวัล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รางวัลชนะเลิศ : ด.ญ.ศุภานิช ชุติจิรัฐิติกาล ชั้น ม.2 โรงเรียนชลกันยานุกูล จ.ชลบุรี

โลกร้อนสร้างวิกฤติ วิทย์ & เทคโน ช่วยได้?

“ภาวะโลกร้อน” คำนี้หลายคนคงจะได้ยินบ่อยขึ้นในปัจจุบัน เพราะสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นเพียงทฤษฎีและการคาดการณ์อีกต่อไป แต่กลายเป็นปัญหาที่กำลังสร้างวิกฤติการณ์ต่างๆ ให้เกิดขึ้นถึงขั้นอันตรายต่อไปในอนาคต ภาวะโลกร้อนเป็นมหันตภัยร้ายที่ทำลายโลก ซึ่งเกิดขึ้นเร็วกว่าที่นักวิทยาศาสตร์ ทั่วโลกได้คาดการณ์ไว้ เราสามารถนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีความเจริญก้าวหน้ามาช่วยแก้ไข เพื่อบรรเทาความรุนแรง และยืดเวลาของภาวะโลกร้อนได้ด้วยการร่วมมือร่วมใจของมนุษย์ทุกผู้ทุกนามที่อยู่บนโลกใบนี้

จะเห็นว่าในปัจจุบันโลกของเรามีการเปลี่ยนแปลงไปมาก ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศที่มีอุณหภูมิเพิ่มขึ้น ความคลาดเคลื่อนของฤดูกาลในแต่ละท้องถิ่น ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นจนทำให้พื้นที่ชายฝั่งทะเลบางส่วนจมหายไป และความแปรปรวนของสภาพดินฟ้าอากาศ ปัญหาเหล่านี้ล้วนเกิดจากภาวะโลกร้อนทั้งสิ้น

อุณหภูมิของโลก มีแนวโน้มจะสูงขึ้นต่อเนื่องอย่างช้า ๆ เป็นผลให้การละลายอย่างรวดเร็วของธารน้ำแข็งที่ขั้วโลก ทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดปัญหาอุทกภัยที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นและยังสร้างความเสียหายแก่ระบบนิเวศวิทยาชายฝั่ง แนวปะการังถูกทำลาย ปัญหาโลกร้อนนอกจากจะทำให้เกิดภัยพิบัติและความหายนะมากมายแล้ว ยังมีผลกระทบต่อมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าเป็นผลกระทบด้านสุขภาพ หรือผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและสังคม

ปัญหาโลกร้อนเป็นทั้งปัญหาจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และเกิดจากน้ำมือมนุษย์ที่พยายามพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เพื่อความอยู่รอดและความเป็นอยู่ที่ดี ทำให้มนุษย์สร้างมลพิษขึ้นมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งมลพิษทางอากาศที่มีผลต่อการเร่งให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ปัจจัยเสี่ยงจากการใช้เชื้อเพลิงของมนุษย์ที่ยังคงมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ย่อมเป็นปัจจัยเร่งทำให้ภาวะโลกร้อนรุนแรงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มจำนวนผู้เสียชีวิตจากภัยธรรมชาติ การเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเล การเกิดอุทกภัย การเกิดคลื่นความร้อนที่รุนแรง ภาวะฝนแล้ง การเกิดไฟป่า การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตบางสายพันธุ์

ดังนั้นเราควรจะอาศัยหลักการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาช่วยชะลอให้ภาวะโลกร้อนมีผลกระทบต่อมนุษย์น้อยที่สุด โดยการใช้เทคโนโลยีเพื่อกักเก็บก๊าซเรือนกระจก และแยกก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ พร้อมควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่ให้อยู่ระดับที่สูง เช่น ให้โรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานถ่านหินเปลี่ยนมาใช้ก๊าซแทน และการใช้พลังงานทดแทนหรือพลังงานหมุนเวียน ได้แก่ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ พลังงานคลื่น พลังงานจากกระบวนการทางชีวภาพที่อาศัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีคิดค้นหาวิธีผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพจากพืชพรรณธรรมชาติ เช่น ข้าวโพด ถั่วเหลือง ปาล์ม น้ำมันหุงต้ม เศษขยะ ได้เป็นก๊าซเอธานอลและไบโอดีเซล เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ทดแทนพลังงานจากน้ำมัน ลดการใช้พลังงานฟอสซิล รวมทั้งการใช้พลังงานสะอาด เช่น พลังงานลม พลังงานนิวเคลียร์ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ เพราะพลังงานเหล่านี้ เป็นแหล่งพลังงานที่หาได้ง่ายและจัดเป็นพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม สิ่งเหล่านี้ต้องนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาผสมผสานกัน จึงจะเกิดความปลอดภัยและความมั่นคง และสามารถลดภาวะโลกร้อนได้อีกทางหนึ่ง

จะเห็นว่าหากเราการนำวิทยาศาสตร์มาช่วยในด้านต่าง ๆ เช่น การใช้เชื้อเพลิงชีวภาพปรับปรุงเทคโนโลยีให้ทันสมัยในภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตร ภาคการจัดการของเสียโดยการเผาไหม้ การจัดการน้ำเสีย ตลอดจนการใช้พลังงานหมุนเวียน และพลังงานทดแทนจะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อันเป็นตัวการสำคัญที่ก่อเกิดภาวะโลกร้อน อีกวิธีหนึ่งที่จำเป็นมากคือ ต้องร่วมมือกันตั้งแต่ระดับครอบครัว ท้องถิ่น ประเทศ ภูมิภาค และระดับโลก โดยการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ให้เกิดประโยชน์สูงสุด การปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้น การลดปริมาณขยะ การประหยัดพลังงานไฟฟ้า การใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก เพราะการผลิตถุงพลาสติกใช้น้ำมันปิโตรเลียม ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ทำให้เกิดก๊าซกระจก กรซักและอบผ้าให้แห้ง ใช้พลังงานถึง ๖๐ % เราอาจนำหลักการวิทยาศาสตร์มาช่วย โดยการซักผ้าด้วยน้ำอุ่นเป็นน้ำเย็น หรือซักผ้าด้วยมือโดยไม่ต้องใช้เครื่องอบผ้า ให้เปลืองพลังงานและทำลายสิ่งแวดล้อม การจัดบ้านให้สอดคล้องกับทิศทางลม การชำระค่าประปา ค่าไฟฟ้า ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ทางอินเตอร์เน็ต จะช่วยวิกฤติโลกร้อนได้เป็นอย่างมาก อย่างน้อยก็ช่วยลดการใช้กระดาษ ทำให้การตัดไม้ทำลายป่าลดลง และยังช่วยลดความสิ้นเปลืองพลังงานจากการขนส่งกระดาษ เปิดหน้ารับลมแทนการเปิดแอร์ ปิดคอมพิวเตอร์ทุกครั้งเมื่อใช้งานเสร็จ ปิดไฟทุกครั้งหลังเสร็จงาน หลีกเลี่ยงการบริโภคเนื้อสัตว์ให้น้อยลง เพื่อลดการแพร่ของก๊าซเรือนกระจก มารับประทานอาหารมังสวิรัติแทน นับว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีส่วนสำคัญต่อการศึกษามากในปัจจุบัน เพราะกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้การสนับสนุน พร้อมทั้งส่งเสริมให้มีกิจกรรมต่างๆ ที่สอดคล้องกับวิทยาศาสคร์และเทคโนโลยีแก่เยาวชน

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ก่อให้เกิดอันตรายในโลกนี้ ถ้าหากทุกคนตระหนักถึงปัญหา และมีจิตสำนึกที่จะร่วมกันจรรโลงโลกของเราให้พ้นวิกฤติไปได้ โดยนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีช่วยต่ออายุโลกใบนี้ของเราให้ยืนยาวไปอีกนานเท่านาน เพื่อให้มนุษย์ในรุ่นต่อ ๆ ไป ไม่ต้องค้นหาดาวดวงใหม่ทดแทนอีกทั้งสามารถอยู่ในโลกใบเดิมอย่างมีความสุขตลอดไป ดังคำว่า “โลกร้อนสร้างวิกฤติ วิทย์ & เทคโนโลยีช่วยได้”




รองชนะเลิศอันดับ 1 : ด.ช.ศิวกร ปั้นกระจ่าง ชั้น ม.1 โรงเรียนมัธยมสาธิตวัดพระศรีมหาธาตุ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร กรุงเทพฯ

โลกร้อนวิกฤติ วิทย์&เทคโนช่วยได้?

ภาวะโลกร้อนทำให้ธารน้ำแข็งโลกละลาย ปริมาณน้ำทะเลขยายตัว ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นจนท่วมพื้นที่ชายฝั่ง ก่อให้เกิดภาวะขาดแคลนอาหาร โรคระบาดการแย่งชิงแหล่งน้ำ ความหลากหลายทางธรรมชาติของพืชพันธุ์และสัตว์ป่าทั่วโลกลดลงนอกจากนี้ยังทำให้เกิดพายุที่รุนแรงขึ้น และเกิดภาวะแห้งแล้งบ่อยขึ้น ภาวะนี้กำลังดำเนินไปอย่างรุนแรงและกว้างขวางจนเข้าสู่ภาวะวิกฤตแล้ว ทางแก้ไขมีทางเดียว คือ ทั่วโลกจะต้องช่วยกันเร่งดำเนินการลดภาวะโลกร้อนอย่างเร่งด่วน

สาเหตุหลักของภาวะโลกร้อนนี้มาจากการปล่อยก๊าซก่อปฏิกิริยาเรือนกระจกของมนุษย์นั่นเอง เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาก็คือการลดการปล่อยก๊าซเหล่านี้ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการใช้พลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลจากโรงงานผลิตไฟฟ้าถ่านหิน โรงงานอุตสาหกรรม และการเผาไหม้น้ำมันเชื้อเพลิงจากการขนส่ง วิธีการง่ายๆ ก็คือการสร้างจิตสำนึกร่วมมือกันลดการใช้พลังงานเหล่านี้ลง โดยใช้หลักสี่ประการคือ หลีกเลี่ยง ลดการใช้ นำกลับมาใช้ใหม่ และรีไซเคิล แต่คงยังไม่เพียงพอที่จะหยุดภาวะโลกร้อนได้ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีคงเป็นอีกคำตอบหนึ่งที่จะช่วยได้

การใช้เทคโนโลยีที่มีประโยชน์มากคือการใช้พลังงานจากดวงอาทิตย์มาแทนการใช้พลังงานไฟฟ้าจากถ่านหิน เรารู้ว่าพืชเปลี่ยนแสงอาทิตย์เป็นพลังงานทางเคมีโดยใช้การสังเคราะห์ด้วยแสง แต่เราสามารถใช้เซลล์แสงอาทิตย์ผลิตไฟฟ้าจากแสงได้ สารกึ่งตัวนำที่ใช้กันมากที่สุดในเซลล์แสงอาทิตย์คือซิลิกอน ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่พบโดยทั่วไปในทราย เซลล์แสงอาทิตย์ทุกชิ้นมีสารกึ่งตัวนำดังกล่าว ๒ ชั้น ชั้นหนึ่งถูกชาร์จที่ขั้วบวก อีกชั้นหนึ่งถูกชาร์จที่ขั้วลบ เมื่อแสงส่องมายังสารกึ่งตัวนำ สนามไฟฟ้าที่แล่นผ่านส่วนที่ ๒ ชั้นนี้ตัดกันทำให้ไฟฟ้าลื่นไหลทำให้เกิดกระแสไฟฟ้า การสร้างหลังคาบ้านด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ และออกแบบบ้านให้เหมาะสมจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้พอใช้ โดยไม่ต้องพึ่งไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหินเลย มีหลายประเทศที่ได้ดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจังแล้ว เช่น ประเทศเยอรมันนีได้ออกกฏหมายว่าผู้ที่จะขายบ้านจะต้องมีหลังคาที่ทำจากเซลล์แสงอาทิตย์เท่านั้นจึงจะขายได้ ในรัฐแคลิฟอเนียและนิวเจอร์ซีย์มีมาตรการลดหย่อนภาษีสูงถึง ๒,000 ดอลล่าร์สำหรับครัวเรือนที่ใช้พลังงานนี้ ช่วยกระตุ้นให้ชาวอเมริกันเปลี่ยนใจมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์แพร่หลายมากขึ้น ในประเทศไทยก็มีหลายโครงการ เช่น โครงการบ้านพลังแสงอาทิตย์ในพระราชดำริ โครงการอาคารสีเขียว

การใช้เทคโนโลยีทีกำลังเป็นที่สนใจของนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกอีกอย่างหนึ่ง คือ การใช้พลังงานจากไฮโดรเจนและการใช้เทคโนโลยีเซลล์พลังงาน ก๊าซไฮโดรเจนถือได้ว่าเป็นเชื้อเพลิงสะอาด เนื่องจากไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเมื่อเกิดการเผาไหม้กับก๊าซออกซิเจน โดยจะมีเพียงไอน้ำเป็นผลพลอยได้ซึ่งแตกต่างจากเชื้อเพลิงอื่นๆ ที่ให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นผลพลอยได้ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งกลุ่มควันและฝุ่นละอองที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ เชื้อเพลิงสะอาดนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับงานที่ต้องใช้พลังงานแบบเดิมได้ เช่น ใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับครัวเรือน เครื่องยนต์สันดาปภายใน และเครื่องไอพ่น นอกจากนี้ยังสามารถนำก๊าซไฮโดรเจนไปผลิตกระแสไฟฟ้าโดยป้อนเข้าเซลล์เชื้อเพลิงซึ่งขณะนี้มีการวิจัยทั่วโลกเป็นอย่างมากในการพัฒนาเซลล์เชื้อเพลิงมาประยุกต์ใช้ในด้านต่าง ๆ เนื่องจากประสิทธิภาพของเซลล์เชื้อเพลิงมีค่าสูงกว่าการผลิตไฟฟ้าแบบอื่นๆ มาก ค่าพลังงานเชื้อเพลิงที่ได้จากไฮโดรเจนจะมากกว่าค่าพลังงานเชื้อเพลิงไฮโดรเจนคาร์บอน และเชื้อเพลิงจากแอลกอฮอล์ เช่น เมทานอลและเอทานอลถึง ๒.๕ และ ๕ เท่าตามลำดับ

เทคโนโลยีใหม่อีกอย่างหนึ่งคือการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาจากโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ โดยการขุดโพรงหรือสร้างหลุมใต้ดินแบบมีที่ปิดอย่างแน่นหนาปลอดภัย ควบแน่นก๊าซให้กลายเป็นของเหลวแล้วอัดฉีดเข้าไปในโพรงหรือหลุมใต้ดิน ลักษณะการเรียงตัวของชั้นหินใต้ดินในหลุมนั้นจะทำหน้าที่คล้ายกับฟองน้ำขนาดมหึมาซึ่งคอยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์เหลวที่ผ่านการควบแน่นแล้วไว้ได้เป็นเวลานานหรืออาจจะตลอดไป ประเทศที่เริ่มดำเนินการไปแล้วได้แก่ออสเตรเลียที่มีโรงเก็บก๊าซใต้ดินขนาดใหญ่ที่รัฐวิคตอเรียกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาจากโรงงานไฟฟ้าไว้ลึกลงไปราว ๒ กิโลเมตรใต้พื้นผิวโลก

นักวิทยาศาสตร์ได้พยายามคิดหาเทคโนโลยีต่างๆ มาช่วยทั้งการลดการใช้พลังงานและการหาพลังงานสะอาดมาทดแทนเพื่อลดปัญหาก๊าซเรือนกระจก และช่วยหยุดภาวะโลกร้อนได้ แต่สิ่งสำคัญที่สุดยังคงอยู่ที่จิตสำนึกของเราทุกคนไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่หรือเด็ก ที่จะช่วยกันการลดการใช้พลังงานด้วยวิธีที่สามารถปฏิบัติได้ง่ายๆ การแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนนี้ไม่ใช่หน้าที่ใครคนหนึ่ง หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง หรือประเทศหนึ่งต้องรับผิดชอบ แต่มันเป็นหน้าที่ของเราทุกคน และพึงรำลึกไว้ว่า

โลกร้อนวิกฤต วิทย์&เทคโนช่วยได้
อย่านิ่งดูดาย จะสายเกินไป




รองชนะเลิศอันดับ 2 : ด.ช.จันทร์ทรา แก้วสุขแท้ ชั้น ม.3 โรงเรียนวัดอุดมรังสี กรุงเทพฯ

โลกร้อนสร้างวิกฤติ วิทย์ & เทคโนฯ ช่วยได้?

แผ่นดินไหว คลื่นยักษ์สึนามิ น้ำแข็งขั้วโลกละลาย น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมฉับพลัน แผ่นดินถล่ม ทะเลสาบหายสาบสูญ ควันพิษ และการแพร่ระบาดของเชื้อโรคสายพันธุ์ใหม่ ล้วนเป็นภัยพิบัติที่มนุษยโลกต่างยอมรับว่าเป็นผลกระทบมาจากวิกฤติการณ์ภาวะโลกร้อน ซึ่งนับวันก็จะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของมนุษย์และสรรพสัตว์ทุกชนิดอย่างต่อเนื่อง ยาวนาน โดยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ สภาวะโลกร้อนเป็นสาเหตุสำคัญสำหรับประเทศต่างๆ ต้องรีบขวนขวายหาวิธีการแก้ไขพร้อมลงมือปฏิบัติทันทีเพื่อให้วิกฤติโลกร้อนผ่อนคลายและหมดสิ้นลงไปอย่างรวดเร็วในที่สุด ซึ่งหนทางหนึ่งที่จะสามารถบรรเทา ปัญหานี้ได้คือการใช้หลักความรู้อันชาญฉลาดทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเคียงคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างกลมกลืน

สภาวะโลกร้อน เป็นปรากฏการณ์ที่สืบเนื่องจากโลกไม่สามารถระบาย ถ่ายเท ความร้อนอันมหาศาลที่ได้รับจากดวงอาทิตย์ออกนอกชั้นบรรยากาศอย่างที่เคยเป็นได้ จึงทำให้อุณภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งการที่อุณภูมิเพิ่มสูงมีต้นเหตุมาจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงจากเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรม จากเครื่องยนต์ของยานพาหนะทุกชนิด ไอร้อนจากเครื่องปรับอากาศ ควันจากการเผาไหม้ วัตถุต่างๆ ประกอบกับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเกินของเขต เช่นการตัดไม้ทำลายป่าจำนวนมหาศาล เพื่อการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกสบายให้แก่มนุษย์ล้วนเป็นสาเหตุแห่งการเกิดมลภาวะ ในที่สุดจึงก่อตัวเป็น ภาวะเรือนกระจก หมายถึง ภาวะที่ถูกปกคลุมด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทำให้มวลอากาศบนพื้นโลกกับชั้นบรรยกาศไม่สามารถถ่ายเทถึงกันอย่างสะดวก เป็นผลทำให้กลไกในการดึงเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกไปจากระบบบรรยากาศถูกลดทอนประสิทธิภาพลง ผลลัพธ์ที่ทุกคนได้กระทำต่อโลกจึงหวนกลับมาสู่มนุษย์และสรรพสัตว์ในลักษณะของ สภาวะโลกร้อนอันเป็นความหายนะรุนแรงที่สุดในโลกใบนี้

ในปัจจุบันสภาวะโลกร้อนเกิดความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศทำให้ฤดูกาลเปลี่ยนแปลงไป ปรากฏการณ์ธรรมชาติต่างๆ ที่มิเคยเกิดก็เกิด เช่นอากาศหนาวอย่างที่สุด อากาศร้อนอย่างที่สุด หิมะตกมากหรือไม่ตกเลย เกิดพายุอย่างร้ายแรง ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างยิ่งใหญ่แก่มนุษยชาติ จึงทำให้นานาประเทศพยายามดิ้นรนหาวิธีแก้ไขเพื่อบรรเทาเบาบางการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเป็นชนวนสำคัญของการลดภาวะโลกร้อน โดยส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น พลังงานชีวมวล พลังงงานน้ำ พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น การใช้พลังงานชีวมวลหรือพลังงานชีวภาพเป็นการผนวกกระบวนการวิทยาศาสตร์กับทรัพยากรสิ่งแวดล้อม วัสดุที่สามารถเปลี่ยนแปลงเป็นพลังงานได้เช่น กากอ้อย ซากพืช ซากสัตว์ เศษไม้ เศษเหลือทิ้งจากเกษตรกรรมมาเป็นเชื้อเพลิงในการปั่นกระแสไฟฟ้า โดยใช้เทคโนโลยีการสะสมก๊าซ การเปลี่ยนเป็นก๊าซ การเผาไหม้และการย่อยสลายซึ่งกระบวนการเหล่านี้ทำให้ได้พลังงานไฟฟ้าแต่ไม่ทำให้เกิดก๊าซอันเป็นองค์ประกอบนำไปสู่ภาวะโลกร้อน การเลือกซื้อ เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มาจากกระบวนการผลิตทางธรรมชาติ เช่น กระเป๋าผ้า วัสดุที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ การเลือกใช้พลาสติกที่มีกรรมวิธีผลิตจากกระบวนการชีวเคมี โดยมีส่วนผสมจุลินทรีย์จากดินทำให้ได้พลาสติกรูปแบบต่างๆ ที่มีการย่อยสลายง่าย การใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีบรรจุภัณฑ์ที่สารมารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ การใช้ผลิตภัณฑ์ประหยัดไฟฟ้า เช่น เครื่องปรับอากาศ พัดลม ตู้เย็นหลอดไฟนานาชนิด สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นกระบวนการความคิดทางวิทยาศาสตร์ที่ช่วยลดสภาวะโลกร้อนได้ทั้งสิ้น ปัจจุบันวิกฤติสภาวะโลกร้อนครอบคลุมไปในอาณาเขตทั่วโลก ประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนอันนำมาสู่ความสูญเสียหลายครั้ง หลายคราว แต่นับเป็นโชคดีของชาวไทยที่มีพระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระอัจฉริยภาพ ด้านงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีคือองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชซึ่งทรงมีพระราชดำริเกี่ยวกับพลังงานทดแทนจำนวนมากหลายโครงการเอื้อต่อการลดสภาวะโลกร้อน เช่น โครงการผลิตเชื้อเพลิงอัดแท่ง โครงการผลิตไบโอดีเซล และโครงการแก๊สโซฮอล์ เป็นต้น ซึ่งโครงการผลิตเชื้อเพลิงอัดแท่ง เป็นการนำขี้เถ้าแกลบจากการสีข้าวมาอัดเป็นแท่งและแปรสภาพไปเป็นเชื้อเพลิง ที่ไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแต่ยังคงให้ความร้อนที่มีประสิทธิภาพอีกด้วย จึงนับได้ว่าพระองค์ท่านทรงเป็นแบบอย่างในการใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีช่วยลดสภาวะที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ทำให้พลเมืองที่เป็นข้าใต้เบื้องพระยุคลบาทบรรเทาความวิกฤติจากสภาวะมลพิษจากสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน

ถ้ามนุษย์ตั้งสติทบทวนด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ก็จะพบว่าสรรพสิ่งที่นำพาให้เกิดวิกฤติแก่โลกเรานี้ล้วนมีสาเหตุจากความเจริญทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งสิ้น แต่เราก็ต้องยอมรับว่าทุกสิ่งในโลกนี้มีผลดีย่อมมีผลเสีย วิทยาศาสตร์สร้างความเจริญแก่มวลมนุษย์แต่ผลกระทบที่ก่อให้เกิดข้างเคียงย่อมมีเป็นของคู่กัน ฉะนั้นวิกฤติภาวะโลกร้อนที่กำเนิดจากกระบวนการทางวิทยาศาสตร์จะสามารถดับสิ้นลงได้ด้วยการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีผนวกเข้ากับแนวความคิดที่มีคุณธรรม จริยธรรมโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แล้วในที่สุดสภาวะโลกร้อนจะค่อย ๆ เบาบางลงความสมดุลทางธรรมชาติก็จะกลับคืนมา เป็นความผาสุกของมวลมนุษยโลกที่ยั่งยืนสืบไป ดังคำกล่าวที่ว่า

สภาวะโลกร้อนสะท้อนคิด กระบวนวิทย์และเทคโนล้ำสมัย
มิอาจนำโลกสู่สุขพ้นทุกข์ภัย สร้างสิ่งใดต้องเคียงธรรมนำโลกเย็น




รางวัลชมเชย : ด.ญ.ชยนา ชุมะศารทูล ชั้น ม.3 โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนด์ กรุงเทพฯ

“โลกร้อนสร้างวิกฤติ วิทย์ & เทคโนช่วยได้”

ในปัจจุบันนี้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการดำเนินชีวิตประจำวันของมนุษย์มากขึ้น มนุษย์ได้สร้างวิวัฒนาการ สิ่งประดิษฐ์ต่างๆขึ้นมาอำนวยความสะดวกต่อการดำเนินชีวิตประจำวันมากมาย แต่หารู้ไม่ว่าวิวัฒนาการจากสิ่งประดิษฐ์เหล่านั้นเป็นตัวทำลายชั้นโอโซนบรรยากาศของโลก เป็นสาเหตุของการเกิดภาวะเรือนกระจก (Greenhouse Effect) และภาวะโลกร้อน (Global Warming) อีกทั้งมนุษย์ยังได้ทำลายทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้ต่างๆให้สูญหายไปอย่างน่าเสียดาย แต่อย่างไรก็ตามยังมีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ให้ประโยชน์และอำนวยความสะดวกต่อการดำรงชีวิตประจำวันของมนุษย์อีกมากมาย เราจึงควรเลือกใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างถูกต้องเหมาะสม และชาญฉลาด เพื่อป้องกันและแก้ไขการเกิดภาวะเรือนกระจก (Greenhouse Effect) และภาวะโลกร้อน (Global Warming) นั่นเอง

ภาวะเรือนกระจก (Greenhouse Effect) คือ ปรากฏการณ์ที่ชั้นบรรยากาศของโลกทำตัวเสมือนเป็นเรือนกระจกขนาดใหญ่ห่อหุ้มโลกไว้ โดยยอมให้แสงแดด หรือ แสงอัลตราไวโอเลต (Ultraviolet) จากดวงอาทิตย์ส่องผ่านไปยังพื้นผิวโลกได้บางส่วน และเก็บกักอุณหภูมิความร้อนไว้อีกส่วนหนึ่ง ทำให้อุณหภูมิในชั้นบรรยากาศของโลกเพิ่มสูงขึ้น จนทำให้เกิด “ภาวะโลกร้อน” หรือชื่อภาษาอังกฤษว่า “Global Warming” ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจกนั้นก็มาจาก ชั้นบรรยากาศมีปริมาณก๊าซบางชนิดมากเกินไป จนเกินความสมดุลของธรรมชาติ (เรียกว่า “ก๊าซเรือนกระจก”) ซึ่งก๊าซเหล่านี้จะกักเก็บความร้อนไว้ ทำให้อุณหภูมิในชั้นบรรยากาศเพิ่มสูงขึ้น โดยก๊าซเหล่านี้เกิดจากการกระทำและการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างไม่ถูกต้องของมนุษย์ทั้งสิ้น เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เกิดจาก การเผาไหม้เชื้อเพลิงของโรงงานอุตสาหกรรม การตัดไม้ทำลายป่า , ก๊าซมีเทน เกิดจาก การเผาไหม้ของเชื้อเพลิงต่างๆ (ถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ) , ก๊าซไนตรัสออกไซด์ เกิดจาก อุตสาหกรรมที่ใช้กรดไนตริกในการผลิต (การผลิตเส้นใยไนล่อน การผลิตพลาสติกบางชนิด อุตสาหกรรมเคมี) , ก๊าซที่มีสารประกอบคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (Chlorofluoro Carbon)หรือที่รู้จักกันดีว่า สาร “CFC” ที่ถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ใช้เป็นสารดับเพลิง สารผสมในการผลิตโฟม สารทำความเย็นในตู้เย็น และเครื่องปรับอากาศ ก๊าซดับขันในกระป๋องสเปรย์ เป็นต้น ซึ่งการเกิดภาวะเรือนกระจกทำให้เกิดปัญหาต่างๆกับการดำรงชีวิตประจำวันของมนุษย์ขึ้นมากมาย เช่น เป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะโลกร้อนเนื่องจากไม่มีชั้นโอโซนในบรรยากาศช่วยดูดกลืนรังสีอัลตราไวโอเลต (Ultraviolet) ที่มาจากดวงอาทิตย์ , ไม่มีอะไรช่วยป้องกันอันตรายจากอนุภาคที่มาจากนอกโลก , ทำให้อุณหภูมิช่วงกลางวันและกลางคืนต่างกันมาก , ฝนตกไม่ตามฤดูกาล ทำให้การประกอบอาชีพเกษตรกรได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก เป็นต้น โดยเราทุกคนไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่าพวกเรามนุษย์ทุกคนนั่นเองที่เป็นคนสร้างปัญหานี้ขึ้นมา

นักวิทยาศาสตร์ได้พยายามเตือนเราเรื่องการจะเกิดภาวะโลกร้อนมาหลายปีแล้ว แต่ทุกคนก็ยังเพิกเฉยต่อปัญหาที่จะเกิดขึ้น ปล่อยให้ปัญหาลุกลามใหญ่โตเกินจะแก้ไข ถึงเวลาแล้วที่พวกเรามนุษย์ทุกคนควรมาช่วยกันแก้ไขปัญหานี้ร่วมกัน โดยการอนุรักษ์รักษาทรัพยากรต่างๆใช้ทรัพยากรอย่างชาญฉลาด ให้เกิดประโยชน์ต่อมหาชนมากที่สุด ให้ใช้ได้ยาวนานที่สุด ให้สูญเสียทรัพยากร โดยเปล่าประโยชน์น้อยที่สุด โดยนำความรู้ของแต่ละคน , วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ เช่น การทำกระดาษจากกระดาษที่ใช้แล้ว การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ทดแทนการใช้พลังงานจากน้ำมัน การใช้เอทิลแอลกอฮอล์ทดแทนน้ำมันเบนซิน หรือการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ทดแทนสิ่งที่เป็นอันตรายต่อบรรยากาศของโลก และทรัพยากรของโลกที่กำลังจะหมดสิ้นไป เช่น การคิดค้นวัสดุที่สามารถนำมาใช้ทดแทนโฟมได้ คิดค้นสารเคมีที่ใช้ทดแทนสาร “CFC”ได้ เป็นต้น หรือแม้แต่การนำความรู้ภูมิปัญญาแต่ดั้งเดิมมาใช้ก็ตาม เช่น การใช้ใบตองห่ออาหารแทนการใช้โฟม หรือ พลาสติก เป็นต้น

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีส่วนช่วยในการลดปัญหาสภาวะโลกร้อนเป็นอย่างมาก เนื่องจากข้อมูลต่างๆที่ได้รู้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเกิดภาวะเรือนกระจกนั้นก็มาจากการใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งนั้น พวกเรามนุษย์ทุกคนควรรู้จักเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และตระหนักเห็นถึงคุณค่าและความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อการดำเนินชีวิตประจำวันต่อมนุษย์ และนำความรู้หลักการที่ได้นั้นมาประยุกต์ใช้ สร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์ต่อมวลมนุษย์ให้มากที่สุด ไม่ใช่เพียงแค่การแก้ไขปัญหาสภาวะโลกร้อนในครั้งนี้เท่านั้น แต่เป็นในทุกๆโอกาสที่สามารถทำได้นั่นเอง

จะเห็นได้ชัดว่าเมื่อเกิดปัญหาขึ้นแล้ว ทำให้มนุษย์ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรมากขึ้น มีหน่วยงานต่างๆรณรงค์ช่วยลดสภาวะโลกร้อน โดยการแจกถุงผ้าไว้ใช้แทนถุงพลาสติก การร่วมมือกันปลูกป่าปลูกต้นไม้ การร่วมกันเก็บขยะตามสถานที่สาธารณะต่างๆ การนำสิ่งของที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ และยังมีการรณรงค์ให้คนตระหนักและรู้ถึงสภาวะโลกร้อนว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ใครเป็นคนทำ มีโทษอย่างไร แก้ไขได้อย่างไร เป็นต้น ถือเป็นตัวอย่างที่ดีมาก พวกเราทุกคนควรร่วมมือกันมากขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหานี้ให้โลกกลับมาน่าอยู่เหมือนเดิม อย่ามัวแต่เพิกเฉยต่อปัญหา เห็นแก่ตัว คิดว่าไม่ใช่เรื่องของตนเป็นอันขาด

เราจะทำอย่างไรถ้าวันหนึ่งไม่มีอากาศที่บริสุทธิ์ให้หายใจ ไม่มีน้ำสะอาดให้ดื่มใช้ ไม่มีพืชผักให้ออกซิเจนและประกอบอาหาร ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติที่ร่มรื่นสวยงาม ไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวที่งดงามให้ได้พักผ่อน ไม่มีพลังงานให้ใช้ มีเพียงมลพิษทางอากาศที่เสีย น้ำที่ขุ่นมัว ซากของพืชผักที่แห้งแล้ง มีเพียงเสียงที่บอกกล่าวคนรุ่นหลังว่าโลกเราแต่ก่อนนั้นน่าอยู่เพียงใด??




รางวัลชมเชย : ด.ช.วัชรภัทร ด่านคงรักษ์ ชั้น ม.2 โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จ.นครศรีธรรมราช

โลกร้อนสร้างวิกฤติ วิทย์ & เทคโนช่วยได้ ?

“...เรื่องโลกร้อนเป็นวิกฤติที่เร่งด่วนที่สุดและอันตรายที่สุด นักวิทยาศาสตร์ชั้นแนวหน้าหลายคนบอกว่า เราอาจเหลือเวลาให้ลงมือแก้ไขอีกไม่ถึงสิบปีแล้วอย่างถ้าน้ำแข็งที่ขั้วโลกเหนือละลายและไหลทะลักลงสู่มหาสมุทรจะเกิดอะไรขึ้น...” (อัล กอร์)

จากบทสัมภาษณ์ของนายอัล กอร์ ผู้ที่เคยลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา สะท้อนให้เห็นว่า ในเวลานี้มนุษยชาติกำลังเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลก ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิของโลกที่ร้อนขึ้น และภัยพิบัติต่าง ๆ ที่กำลังจะตามมาในไม่ช้า

ปรากฏการณ์อันเนื่องจากการที่โลกไม่สามารถระบายความร้อนออกไปได้ จึงทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น ปัจจุบันโลกของเรากำลัง ถูกปกคลุมด้วยก๊าซเรือนกระจกที่มากเกินสมดุลของธรรมชาติ เรียกว่า ภาวะโลกร้อน ซึ่งก๊าซเรือนกระจกจะเก็บกักความร้อนไม่ให้สะท้อนออกนอกผิวโลก ทำให้อุณหภูมิพื้นผิวโลกเพิ่มสูงขึ้น สาเหตุหลักที่ทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น ประกอบด้วยก๊าซมีเทน ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซไนตรัสออกไซด์ และคลอโรฟลูโอโรคาร์บอน (CFC) ซึ่งล้วนมาจากการดำเนินกิจกรรมของมนุษย์ ได้แก่ การใช้ไฟฟ้า การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในการขนส่ง และการดำเนินกิจกรรมทางอุตสาหกรรม เป็นต้น

ผลกระทบจากสภาวะโลกร้อน นับวันจะยิ่งรุนแรงมากขึ้นทุกขณะในทั่วภูมิภาคของโลก ไม่ว่าจะเป็นความแปรปรวนของภูมิอากาศและภัยพิบัติ เช่น ภาวะแห้งแล้งยาวนานในแอฟริกาเหนือ การเกิดคลื่นความร้อนในทวีปยุโรป ฝนตกหนัก น้ำท่วมหนัก ฤดูกาลผิดปกติในหลายส่วนของโลก รวมถึงการเกิดพายุไซโคลนนาร์กีสที่ทำลายบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิระวดีและนครย่างกุ้งของประเทศพม่า คร่าชีวิตผู้คนกว่า ๓ หมื่นคน และสูญหายอีกเป็นจำนวนมาก แม้กระทั่งประเทศจีนที่เกิดแผ่นดินไหว ๗.๙ ริกเตอร์ ณ มณฑลเสฉวน ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า ๔ หมื่นคน นับเป็นสัญญาณเตือนภัยจากธรรมชาติที่ได้ส่งมาถึงมนุษยชาติ ก่อนที่โลกจะถึงกาลอวสาน

ความรู้เกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต ซึ่งพิสูจน์ได้ว่าถูกต้องเป็นความจริง รวมทั้งมีการจัดที่เป็นระเบียบ ปราศจากอคติ มีขั้นตอนเป็นหมวดหมู่ และสามารถสรุปได้เป็นกฎเกณฑ์สากล เป็นความหมายของคำว่า “วิทยาศาสตร์” ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการดำรงชีวิตของมนุษย์มาเป็นเวลานาน และเป็นสิ่งที่มนุษย์ใช้แก้ปัญหาพื้นฐานในการดำรงชีวิต เช่น การเพาะปลูก ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค เป็นต้น ส่วนการนำเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาใช้ในการประดิษฐ์สิ่งของต่าง ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในทางปฏิบัติแก่มวลมนุษยชาตินั้น เรียกว่า “เทคโนโลยี” แม้ในระยะแรกเทคโนโลยีที่นำมาใช้ จะเป็นเพียงเทคโนโลยีพื้นฐาน ที่ไม่สลับซับซ้อนเหมือนดังปัจจุบัน แต่ด้วยการเพิ่มของประชากร ข้อจำกัดด้านทรัพยากรธรรมชาติ และการพัฒนาความสัมพันธ์กับต่างประเทศ จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการนำและพัฒนาเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านอุตสาหกรรม เกษตรกรรม การสื่อสาร เทคโนโลยีชีวภาพ วิศวกรรม การแพทย์ และวัสดุศาสตร์ นี่เป็นเพียงตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า เทคโนโลยีกับวิทยาศาสตร์นั้นมีความสัมพันธ์กันมาก ทำให้การพัฒนาเทคโนโลยีเจริญก้าวหน้าไปพร้อมกับวิทยาการทางวิทยาศาสตร์

ในปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ ได้พยายามพัฒนาวิทยาการทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้สามารถลดปัญหาสภาวะโลกร้อน ดังเห็นได้ผลิตภัณฑ์สมัยใหม่ที่ตอบรับถึงปัญหาโลกร้อน เช่น ผลิตภัณฑ์นาโน ได้แก่ เสื้อนาโน ผ้าเช็ดตัวนาโน และผ้าปูที่นอนนาโน ฯลฯ โดยพัฒนาเส้นใยสังเคราะห์ผสมซิลเวอร์ ทำให้วัสดุมีคุณสมบัติไม่เปียกน้ำ อนุภาคนาโนฆ่าเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัส เช็ดคราบสกปรกออกได้ โดยไม่ต้องซัก ป้องกันฝุ่นละอองไม่ให้มาติดกับพื้นผิวของวัสดุภัณฑ์ และยังเป็นการช่วยลดพลังงานไฟฟ้าที่ใช้สำหรับการซักผ้าและปั่นแห้งด้วย รวมทั้งยังมีแฟชั่นเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ไม่ทำลายชั้นบรรยากาศของโลก อาทิ กางเกงยีนที่ทำจากผ้าฝ้ายชีวภาพ ๑๐๐ % พื้นรองเท้าที่ทำจากยางธรรมชาติ เสื้อกันหนาวทำจากขวดพลาสติกรีไซเคิล เป็นต้น

การคิดค้นนำพลังงานทดแทนที่มีอยู่ทั่วไปตามธรรมชาติมาใช้ ก็เป็นการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในบรรยากาศที่เป็นต้นเหตุของภาวะโลกร้อนได้อีกทางหนึ่ง เช่น ไบโอดีเซล ก๊าซชีวภาพ แก๊สโซฮอล์ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) และก๊าซธรรมชาติแบบบีบอัด (NGV) ซึ่งการเผาไหม้ของพลังงานทดแทนจำพวกนี้ก็จะสะอาดกว่าน้ำมันเชื้อเพลิง ส่วนการประดิษฐ์กังหันลม เพื่อนำเอาพลังงานลมที่มีอยู่ตามธรรมชาติมาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า ก็เป็นการช่วยลดภาวะโลกร้อนเช่นกัน เนื่องจากพลังงานลมไม่จำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายในการผลิตและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในขณะผลิตกระแสไฟฟ้า อีกทั้งการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าแทนรถจักรยานยนต์ที่ใช้น้ำมัน ก็ช่วยลดการใช้ปริมาณพลังงานเชื้อเพลิงที่มีอยู่อย่างจำกัดและลดการเผาไหม้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากเครื่องยนต์ ซึ่งตัวอย่างการคิดค้นข้างต้นนี้เป็นเพียงแนวทางการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

เป็นที่ทราบกันดีว่า สังคมปัจจุบันได้มีการพัฒนาและก้าวหน้าไปอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของคนในชุมชน ล้วนมาจากพื้นฐานการพัฒนาและความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่ในทางกลับกัน สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติกลับดูเสื่อมโทรมมากยิ่งขึ้น และกำลังจะส่งผลกระทบต่อมวลมนุษยชาติ โดยเฉพาะภาวะโลกร้อนที่แม้ว่าอุณหภูมิโดยเฉลี่ยของโลกจะเพิ่มขึ้นไม่มากนัก แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะส่งผลต่อเป็นทอด ๆ และจะมีผลกระทบกับมวลมนุษยชาติในที่สุด ฉะนั้นการพัฒนา “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” ให้มีความเหมาะสมและช่วยลดสภาวะโลกร้อน ก็นับเป็นทางเลือกทางหนึ่งที่จะกู้วิกฤติสภาวะของโลกในปัจจุบันให้สามารถอยู่อย่างปกติสุขต่อไปตราบนานเท่านาน




รางวัลชมเชย : ด.ญ.บงกชกร มนตรีวิวัฒน์ ชั้น ม.3 โรงเรียนเฉลิมขวัญสตรี จ.พิษณุโลก

“ โลกร้อนสร้างวิกฤติ วิทย์ & เทคโนช่วยได้ ”

“ มนุษย์เป็นผู้สร้างปัญหา ดังนั้นมนุษย์จึงต้องเป็นผู้แก้ปัญหาเอง ” คำกล่าวของนายแบรนสัน มหาเศรษฐีชาวอังกฤษ ที่กล่าวถึงปัญหาโลกร้อนเกิดจากมนุษย์ ซึ่งฉันเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง มนุษย์ใช้ทรัพยากรในการประดิษฐ์คิดค้นอะไรได้มากมายโดยไม่ระมัดระวังถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทำให้เกิดปัญหาตามมาภายหลัง ดังเช่นวิกฤติโลกร้อนที่มนุษย์กำลังเผชิญปัญหาอยู่ในขณะนี้และมนุษย์คือผู้ที่จะต้องคิดหาวิธีการแก้ปัญหาจากผลกระทบเหล่านี้ การเข้าใจ รู้จักใช้เทคโนโลยีและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่จะสามารถช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนได้ในภาวะเช่นนี้

ภาวะโลกร้อนกำลังเป็นปัญหาใหญ่และเป็นภัยคุกคามโลกที่สร้างความเสียหายให้แก่มนุษยชาติและธรรมชาติในปัจจุบันเป็นอย่างมาก ซึ่งปัญหาหลักของภาวะโลกร้อนมาจากก๊าซเรือนกระจกคือการที่บนโลก มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือมีเทนที่ช่วยเก็บกักความร้อนบางส่วนไว้บนโลกเพื่อไม่ให้สะท้อนกลับสู่ชั้นบรรยากาศทั้งหมดซึ่งช่วยให้โลกอุ่นพอเหมาะแก่การดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิต คล้ายกับเรือนกระจกที่ช่วยกรองพลังงานแสงอาทิตย์ แต่ถ้าหากบนโลกมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือมีเทนมากเกินกว่าปกติก็จะเกิดความร้อนเพิ่มมากขึ้น อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อมนุษย์และธรรมชาติ เกิดปัญหาตามมามากมาย การขาดแคลนอาหารและน้ำดื่ม ความแห้งแล้ง คลื่นความร้อน รวมถึงโรคระบาดต่าง ๆ สร้างวิกฤติให้แก่โลก หลายประเทศกำลังประสบปัญหาภัยพิบัติที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติอยู่ในขณะนี้และรุนแรงมากขึ้นทุกวัน ทั้งการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล การเกิดไฟป่าในพื้นที่ต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นและบ่อยครั้ง เกิดภาวะแล้งและน้ำท่วมเป็น วงกว้าง น้ำแข็งขั้วโลกละลายทำให้น้ำทะเลสูงขึ้น แผ่นดินเริ่มหายไปกลายเป็นผืนน้ำแทนที่ เกิดแผ่นดินไหวพายุน้ำท่วมรุนแรงเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน เกิดโรคต่าง ๆ ที่ยังหาทางรักษาไม่หายทำให้คนตายเพิ่มจำนวนมากขึ้น พืชและสัตว์อาจสูญพันธุ์ได้ในที่สุด เหตุการณ์เหล่านี้นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้นจนเป็นวิกฤติอยู่ในขณะนี้ สาเหตุสำคัญที่ทำให้โลกร้อนขึ้นคือการใช้พลังงานอย่างมากมายจนไม่รู้คุณค่าและไม่ระมัดระวัง

ทุกคนจึงต้องมีส่วนรับผิดชอบร่วมกันในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซที่เป็นตัวการทำให้โลกร้อนมากขึ้นและรณรงค์ลดภาวะโลกร้อน การนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้นับว่าช่วยได้มากทีเดียว การรู้จักพอเพียงและใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างรู้ค่าเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด อย่างประหยัด หาพลังงานทดแทนในส่วนที่ขาดแคลนและใช้ไป การประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานหมุนเวียน ใช้อย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพเป็นวิธีที่ทุกคนสามารถกระทำได้ในการร่วมมือกัน ในทางเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์นั้น การพัฒนานวัตกรรมที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งประเทศไทยเราได้มีโครงการต่าง ๆ เกิดขึ้น เช่น โครงการนวัตกรรม
ชีวมวลและพลังงานชีวภาพที่นำของเหลือทิ้งจากการเกษตรมาใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนการใช้น้ำมันและถ่านหิน จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ การนำของเสียต่าง ๆ น้ำเสียหรือแม้แต่ขยะมูลฝอยนำมาผลิตให้เป็นพลังงานโดยผ่านกระบวนการวิทยาศาสตร์ ทำให้เกิดเป็นก๊าซ “ชีวภาพ” หรือ “ไบโอแก๊ส” เพื่อใช้ในการหุงต้ม ซึ่งของเสียต่าง ๆ ขยะหรือน้ำเสียเหล่านี้หากเราปล่อยทิ้งไปก็จะเป็นปัญหาให้เกิดของเสียสู่สภาพแวดล้อม เกิดมลพิษทางกลิ่นและเกิดเป็นก๊าซมีเทนขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน การดัดแปลงการผลิตน้ำมันจากพืช การผลิตเส้นใยเทียมจากธรรมชาติ เช่น ใบจาก ใบสับปะรดหรือจากหญ้าแฝก เพื่อใช้เป็นไม้เทียมแทนไม้จริงจากต้นไม้จะช่วยลดการตัดไม้ทำลายป่าที่เป็นผู้ช่วยดูดซับก๊าซพิษเหล่านี้ การปลูกต้นไม้เพิ่มและปลูกทดแทนที่ใช้ไปเสียไป รวมถึงปลูกต้นไม้ยืนต้นในพื้นที่ร้างทั่วประเทศเพื่อให้มีพื้นที่สีเขียวเพิ่มมากขึ้นก็จะเป็นการช่วยเพิ่มการลดก๊าซได้เป็นอย่างดี การงดเผาตอซังข้าวหรือเศษวัสดุที่เหลือใช้ในไร่นา เร่งฟื้นฟูพื้นที่เสื่อมโทรมเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน การปลูกพืชคลุมดินช่วยรักษาความชื้นในดินและดูดซับน้ำตามธรรมชาติให้สูงขึ้นช่วยให้พื้นดินเกิดความชุ่มชื้นมากขึ้น ปัจจุบันนี้หลายประเทศทั่วโลกเกิดการตื่นตัวที่จะลดภาวะโลกร้อน ลดการปล่อยก๊าซและหาวิธีดูดซับก๊าซเรือนกระจกโดยใช้ทั้งเทคโนโลยีใหม่ ๆ กระบวนการทางวิทยาศาสตร์และธรรมชาติที่เกี่ยวข้อง ลดภาวะมลพิษในอากาศและเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานต่าง ๆ ให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น การผลิตรถไฟเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่สามารถเดินบนรางและบนถนนได้ การผลิตรถยนต์ไฮบริดและรถยนต์ที่ใช้เซลล์เชื้อเพลิงมาบริการเพื่อรองรับวิกฤตโลกร้อน ทุกฝ่ายจึงหันมาพึ่งเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ในการแก้ปัญหา แต่การพึ่งเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์ต้องมีความระมัดระวังโดยเฉพาะการดัดแปลงพันธุกรรม (จี เอ็ม โอ) ในการช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรเพราะปัญหาคือมีความเสี่ยงหลายด้าน อาทิ การปนเปื้อนไปยังระบบนิเวศในธรรมชาติทำให้มีการถ่ายยีนไปสู่พืชอื่น ทำให้พืชนั้น ๆ กลายเป็นวัชพืชได้ ที่สำคัญยังอาจถ่ายทอดยีนจนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับจุลินทรีย์กลายเป็นเชื้อโรคใหม่ ๆ เป็นเรื่องที่อันตรายมาก เช่นเดียวกับนาโนเทคโนโลยีซึ่งเป็นเทคโนโลยีทดแทนในการนำมาช่วยแก้ปัญหาด้านต่าง ๆ ทั้งการรักษาโรค การปรับปรุงพันธุ์พืชให้เจริญ-งอกงามอาจมีความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์ได้ มีการคิดค้นการใช้บรรจุภัณฑ์สำหรับบรรจุอาหารที่มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีการผลิตด้วยเยื่อกระดาษชานอ้อยที่ผ่านกระบวนการโดยไม่ใช้คลอรีนในการฟอกสี ผ่านการฆ่าเชื้อด้วยแสงยูวีและไร้สารก่อมะเร็ง ปลอดภัยต่อผู้บริโภค สามารถย่อยสลายหลังการฝังกลบในดินภายใน 45 วัน หากฝังกลบพร้อมกับเศษอาหารที่เหลือติดอยู่จะช่วยย่อยสลายได้เร็วขึ้นและบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อยสามารถเก็บได้นานถึง 10 ปี นอกจากนี้ยังมีการประดิษฐ์ “หุ่นยนต์ลดโลกร้อน” ที่ช่วยจัดการและแก้ปัญหาในการช่วยลดภาวะโลกร้อนได้อีกวิธีหนึ่ง

โลกร้อนสร้างวิกฤตให้แก่มนุษย์และธรรมชาติอยู่ในขณะนี้จนกลายเป็นภัยอันตรายที่เราทุกคนต้องตระหนักและมีจิตสำนึกในการร่วมมือกันแก้ปัญหา การดำรงชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง ลดความสะดวกสบายส่วนตัว การประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า รวมถึงการใช้เทคโนโลยีและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในการสร้างนวัตกรรมที่จะช่วยลดโลกร้อน เป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกคนต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังและปฏิบัติให้ได้ หากเราทุกคนร่วมมือกันย่อมช่วยแก้วิกฤติโลกร้อนได้อย่างแน่นอน

โลกร้อนทำลายมนุษย์และธรรมชาติ เพราะประมาทไม่ประหยัดคอยเผาผลาญ
ทั้งทรัพยากร สิ่งแวดล้อม พลังงาน ภัยคืบคลานคุกคามเนิ่นนานมา
บัดนี้ถึงเวลาแก้วิกฤติ เทคโน- วิทย์ เราจึงคิดเร่งศึกษา
วิธีการ นวัตกรรม ช่วยพัฒนา แก้ปัญหาสร้างโลกใหม่ให้ปลอดภัย
กำลังโหลดความคิดเห็น