xs
xsm
sm
md
lg

หวั่นสิ้นศตวรรษเกิดมหันตภัย "คลื่นความร้อน" พุ่ง 50 องศา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปรากฏการณ์คลื่นความร้อนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วที่อุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียส ก็ทำให้มีผู้เสียชีวิตนับหมื่น แต่สิ้นศตวรรษนี้คลื่นความร้อนอาจมีอุณหภูมิสูงถึง 50 องศาเซลเซียส แล้วจะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอีกเป็นเท่าไหร่? (ภาพจาก AP)
ปรากฏการณ์ "ฮีตเวฟ" ที่ผ่านๆ มา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตนับหมื่นราย อาจกลายเป็นเรื่องขี้ประติ๋วไปเลยก็ได้ เมื่อเทียบกับ "คลื่นความร้อน" ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะนักวิจัยดัตช์คำนวณออกมาแล้ว พบว่าสิ้นศตวรรษนี้ อาจมีคลื่นความร้อน ที่อุณหภูมิสูงพุ่งสูงถึง 50 องศาเซลเซียส

แอนเดรียส สเติร์ล (Andreas Sterl) นักวิจัยของราชบัณฑิตยสถาน ด้านอุตุนิยมวิทยา เนเธอร์แลนด์ (Royal Netherlands Meteorological Institute) ได้ศึกษาจากแบบจำลองคอมพิวเตอร์ และคำนวณการเกิดคลื่นความร้อน (heat wave) พบว่า ปลายศตวรรษนี้หลายเมืองใหญ่ทั่วโลก มีแนวโน้มที่จะเกิดคลื่นความร้อนที่มีอุณหภูมิสูงถึง 50 องศาเซลเซียส ซึ่งเพิ่มจากปัจจุบันเกือบ 10 องศาเซลเซียส และได้ตีพิมพ์ในวารสารจีโอฟิสิคัล รีเสิร์ช เลตเตอร์ส (Geophysical Research Letters) และสำนักข่าวเอพีนำมารายงาน

สเติร์ลให้ข้อมูลว่า เมื่อปี 2538 คลื่นความร้อนในเมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา มีอุณหภูมิสูงถึง 41.1 องศาเซลเซียส และเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 600 ราย ต่อมาในปี 2546 คลื่นความร้อนได้คร่าชีวิตประชากรในยุโรป ไปนับหมื่นคน

เฉพาะแค่ในฝรั่งเศส ซึ่งวัดอุณหภูมิได้สูงถึง 40 องศาเซลเซียส และมีผู้เสียชีวิตไปราว 15,000 คน แต่หากพิจารณาย้อนหลังไปในช่วงทศวรรษที่ 50 จะเห็นว่าในคลื่นความร้อนที่เคยเกิดขึ้นในฝรั่งเศส มีอุณหภูมิสูงที่สุด 32.7 องศาเซลเซียส

ทว่าในอนาคตอีกราว 50 ปีข้างหน้า คลื่นความร้อนในฝรั่งเศสจะมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นเป็น 43.8 องศาเซลเซียส และจะเพิ่มขึ้นอีกเป็น 47.7 องศาเซลเซียสในช่องปลายของศตวรรษนี้

"ในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า เมื่อเราหันมามองย้อนกลับถึงเหตุการณ์คลื่นความร้อนที่คร่าชีวิตผู้คนเมื่อครั้งที่ผ่านๆ มา เราอาจจะต้องได้หัวเราะออกมาเป็นแน่ เพราะเมื่อถึงเวลานั้นแล้ว อุณหภูมิของคลื่นความร้อนในตอนนี้ที่เราเคยคิดว่าร้อนแสนสาหัส แต่มันจะเป็นอุณหภูมิที่จัดว่าเย็นสบายในช่วงเวลาแห่งอนาคตกันเลยทีเดียว" สเติร์ล กล่าว

สเติร์ลใช้แบบจำลองคอมพิวเตอร์ศึกษาพบว่าสิ้นศตวรรษนี้ โลกจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นและที่ทำให้เกิดคลื่นความร้อนที่รุนแรงได้มากถึง 2 ครั้งในแต่ละวัน ยกตัวอย่างในรัฐชิคาโก ซึ่งจะมีอุณหภูมิพุ่งสูงถึง 46.1 องศาเซลเซียสในปี 2643 ขณะที่อุณหภูมิในปารีสจะเพิ่มเป็น 42.7 องศาเซลเซียส ส่วนเมืองลียง ในฝรั่งเศส อุณหภูมิพุ่งเฉียด 45.5 องศาเซลเซียส

การคาดการณ์ของสเติร์ลกำลังถูกกระตุ้นให้เกิดขึ้นได้จากความแห้งแล้งในปัจจุบันอันเป็นผลมาจากที่โลกร้อนขึ้น ขณะที่งานวิจัยเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนเกือบทั้งหมดมุ่งเน้นไปที่การคำนวณอุณหภูมิเฉลี่ยของแต่ละวันที่อาจเพิ่มขึ้นในอนาคต ทั้งที่จริงๆ แล้วคลื่นความร้อนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตนั้นส่งผลกระทบรุนแรงกว่ามาก

ผลการศึกษาของสเติร์ล พบว่าในปี 2643 อุณหภูมิสูงสุดในลอสแองเจลิสอยู่ที่ 47.2 องศาเซลเซียส ในแอตแลนตาจะอยู่ที่ 43.3 องศาเซลเซียส ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันราว 3 องศาเซลเซียส ส่วนในแคนซัสจะมีอุณหภูมิสูงถึง 46.6 องศาเซลเซียส ขณะที่ตามรายงานของศูนย์ข้อมูลสภาพภูมิอากาศแห่งชาติสหรัฐฯ (National Climactic Data Center) ระบุว่าสถิติอุณหภูมิสูงสุดในขณะนี้ของแคนซัสอยู่ที่ 42.7 องศาเซลเซียสเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม เมืองฟีนิกซ์ (Phoenix) ในมลรัฐแอริโซนา ที่ครั้งหนึ่งเคยมีอุณหภูมิพุ่งสูงถึง 50 องศาเซลเซียสมาแล้ว และเคยเกิดคลื่นความร้อนที่อุณหภูมิ 48.8 องศาเซลเซียส มาแล้วราวหนึ่งหรือสองครั้ง แต่ในอนาคตจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นไม่มากเท่าไหร่ แต่จะเปลี่ยนตามอุณหภูมิของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายแห่งที่อุณหภูมิจะสูงขึ้นและคาดว่ามีผลรุนแรงด้วย เช่น เมืองเดลี ประเทศอินเดีย อุณหภูมิจะสูงถึง 48.8 องศาเซลเซียส ส่วนเมืองเบเลม ในบราซิล อุณหภูมิจะเพิ่มขึ้นเป็น 49.4 องศาเซลเซียส และที่กรุงแบกแดด ในอิรัก จะสูงถึง 50 องศาเซลเซียส

ทั้งนี้ เคน คุนเคล สุดยอดนักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศแห่งตะวันออกกลางของสหรัฐฯ และรัษาการผู้อำนวยการอิลลินอยส์ เสตต วอเตอร์เซอร์เวย์ (Illinois State Water Survey) แสดงความเห็นว่าข้อมูลวิจัยของเสติร์ลนั้นมีความเป็นไปได้มากทีเดียว

ส่วน ดร.โจนาธาน แพตซ์ (Dr. Jonathan Patz) ผู้เชี่ยวชาญสาขาอนามัยสิ่งแวดล้อม (environmental health) มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน กล่าวว่า หากอุณหภูมิพุ่งสูงขึ้นตามที่นักวิจัยได้คาดการณ์ไว้ จะก่อให้เกิดอันตรายอย่างยิ่ง โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบของหัวใจ ขณะเดียวกันผู้สูงอายุก็จัดว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากว่าร่างกายตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิได้ไม่ดีเท่าที่ควร.
นักวิชาการเตือนว่าหากเกิดคลื่นความร้อนที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างที่คาดการณ์ไว้ในอนาคต จะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวง และผู้ป่วยโรคหัวใจกับผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่เสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากคลื่นความร้อนมากที่สุด (ภาพจาก Reters)
กำลังโหลดความคิดเห็น