xs
xsm
sm
md
lg

คนละเรื่องเดียวกัน ว่าด้วยนิยามประชาธิปไตย

เผยแพร่:   โดย: สุนทร แก้วลาย

ประมาณสิบกว่าปีมาแล้ว คำว่า “คนละเรื่องเดียวกัน” มีใช้กันแพร่หลาย แม้ศัพท์นี้จะจางไปแล้ว แต่สภาวะในสังคมไทยที่อธิบายได้เป็นอย่างดีตามนัยของศัพท์คำนี้ ยังมีอยู่เสมอ กรณีนี้สามารถนำมาอธิบายเกี่ยวกับความขัดแย้งในสังคมปัจจุบันนี้ได้เป็นอย่างดี และน่าจะเป็นบทเรียนสำคัญที่สุดที่สังคมไทยจะต้องจารึกเอาไว้ และไม่ให้ประเด็นนี้เป็นเหตุแห่งปัญหาในเรื่องสำคัญๆ ของประเทศ

ประเด็นที่ผู้เขียนเสนอในที่นี้ก็คือ ความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่าประชาธิปไตยในหมู่ประชาชนทั่วไป รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช และพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกับผู้ให้การสนับสนุนการชุมนุมนั้นมีความแตกต่างกันตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงกับตรงกันข้าม พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 แปลคำว่าประชาธิปไตยไว้ว่า (1) ระบอบการปกครองที่ถือมติปวงชนเป็นใหญ่ (2) การถือเสียงข้างมากเป็นใหญ่ ซึ่งเป็นความหมายที่ถูกใช้อ้างอิงการกระทำใดๆ ที่มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าวว่าเป็นการกระทำที่เป็นประชาธิปไตยหรือไม่ โดยเข้าใจกันเองว่าเป็นการพูดถึงสิ่งเดียวกันในความหมายที่ตรงกัน ผู้เขียนกลับเห็นว่าไม่เป็นดังที่เข้าใจกัน โดยให้พิจารณาจากความจริงที่เกิดขึ้นต่อไปนี้

ประการแรก เมื่อกล่าวถึงการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ความเข้าใจของคนทั่วไปก็คือผู้ที่ครองเสียงส่วนใหญ่ หรือชนะเลือกตั้งเป็นผู้มีความชอบธรรมในการตั้งรัฐบาล แม้ว่าการเลือกตั้งนั้นจะไม่ชอบธรรม เพราะว่ามีการซื้อเสียงหรือฉ้อโกงด้วยวิธีการต่างๆ ก็ตาม ผู้วิพากษ์วิจารณ์หรือต่อต้านผู้มีเสียงข้างมากซึ่งไม่ชอบธรรมนี้ก็อาจถูกติเตียนว่าเล่นไม่เลิก ไม่รู้แพ้รู้ชนะ โดยเฉพาะนักการเมืองผู้ชนะมักใช้จุดนี้เป็นการตอบโต้ฝ่ายตรงกันข้ามกับตน ประชาชนทั่วไปก็มักจะยอมจำนนและยอมรับโดยปริยาย เนื่องจากไม่มีเครื่องมือใดๆ ที่จะใช้ในการต่อสู้ นิยามประชาธิปไตยในข้อแรกนี้มีวิวัฒนาการมาตั้งแต่ประเทศไทยเริ่มนำระบอบการปกครองนี้มาใช้เมื่อกว่า 75 ปีมาแล้ว นับว่าใช้ได้ดีกับระบบการจัดรูปแบบการปกครองในลักษณะ “ควบคุมและครอบครอง” การหยั่งรากลึกของประชาธิปไตยแบบควบคุม และครอบครองเกิดขึ้นโดยปัจจัยเอื้อของการจัดระบบราชการอันยาวนานจนถึงปัจจุบัน ระบบราชการกับระบอบการปกครองของประเทศเหมือนกับเป็นสิ่งเดียวกัน

กล่าวโดยสรุปแล้วประชาชนทั่วไปไม่เคยมีส่วนเป็นเจ้าของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอย่างจริงจัง จึงเป็นที่มาของคำกล่าวที่ว่าประชาชนได้แสดงความเป็นประชาธิปไตย 4 วินาที ทุก 4 ปี (ถ้ารัฐบาลอยู่ครบวาระ)

ผู้เขียนเห็นว่าพฤติกรรมของสมัคร สุนทรเวช ในฐานะที่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งสูงสุดทางการบริหาร น่าจะเป็นตัวอย่างสะท้อนนิยามระบอบประชาธิปไตยในประการแรกนี้ได้ดี ความเข้าใจของสมัคร สุนทรเวช ที่มองประชาธิปไตยในรูปแบบการควบคุมและครอบครองนั้นเด่นชัด เป็นความคิดความเชื่อที่ตกผลึกอยู่ในจิตใต้สำนึก สมัคร สุนทรเวช เห็นว่าประเทศไทยในยุค 2551 นี้ ก็ไม่ได้แตกต่างจากปี 2519 ท่านอยากจะกล่าวอะไรเป็นจริงหรือไม่ก็สามารถทำได้ เพราะตนเป็นผู้มีอำนาจ เป็นผู้รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว ท่าทีในวันที่ 31 พฤษภาคม 2551 ในการที่จะจัดการขั้นแตกหักกับผู้ชุมนุมก็ดี การพยายามจะหาทางใช้กฎหมายต่างๆ เข้ามาจัดการก็ดี ย่อมสะท้อนจิตสำนึกของสมัคร สุนทรเวช ได้เป็นอย่างดีว่าเมื่อมีอำนาจแล้วจะต้องใช้อำนาจนั้นโดยไม่ต้องคิดอะไรมาก เพราะตนเป็นนายกรัฐมนตรี ฝ่ายที่สนับสนุนสมัคร สุนทรเวช ดูเหมือนจะยอมรับความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยในลักษณะดังกล่าวด้วย

ความคิดเรื่องประชาธิปไตยของสมัคร สุนทรเวช น่าจะพัฒนามาได้ไม่เกินปี 2540 เนื่องจากบุคคลผู้นี้ปฏิเสธรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งเปิดศักราชนิยามระบอบประชาธิปไตยเสียใหม่ ไม่นับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ซึ่งมีความก้าวหน้าขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง รัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับนี้ก้าวจากระบบควบคุมและครอบครอง เป็น “การคุ้มครอง ดูแล และมีส่วนร่วม” ซึ่งระบบการปกครองโดยเฉพาะระบบบริหารราชการยังตามไม่ทัน จะต้องมีการปฏิรูปกันยกใหญ่ ประเทศจึงจะรอดพ้นจากวิกฤตความขัดแย้งที่ไม่จำเป็นนี้

เนื่องจากทุกวันนี้เรายอมรับโดยมติเสียงส่วนใหญ่ให้รับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 เป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ การนิยามเรื่องประชาธิปไตยก็ต้องให้สอดคล้องกับที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญโดยไม่บิดเบือน ในสมัยผู้เขียนเรียนอยู่มหาวิทยาลัย มักได้ยินอธิการของสถาบันแห่งนั้นย้ำเสมอว่ารูปแบบประชาธิปไตยที่ถูกต้องประกอบด้วยองค์ 3 คือ หนึ่ง คารวะธรรม อันได้แก่การเคารพให้เกียรติซึ่งกันและกัน สอง สามัคคีธรรม อันได้แก่ความกลมเกลียวเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และสาม ปัญญาธรรม การตัดสินใจร่วมกันโดยใช้สติปัญญาและความรู้ที่ถูกต้อง นับว่าเป็นหลักการที่ยังทันสมัย

ในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 ได้สะท้อนหลักการนี้อยู่หลายหมวด โดยเฉพาะหมวดสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย มี 44 มาตรา หมวดหน้าที่ของชนชาวไทย มี 5 มาตรา หมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ มี 13 มาตรา หมวดจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ มี 2 มาตรา เป็นต้น

ความจริงทุกมาตราต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยที่ถูกยอมรับอย่างเป็นทางการโดยมติของประชาชนไทยในเวลานี้ ผู้ใดก็ตามเมื่อจะอ้างความเป็นประชาธิปไตยต้องไม่บิดเบือนอ้างตามอำเภอใจตน เพราะระบอบประชาธิปไตยของไทยนั้นได้มีการตกลงกันไว้เป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว และประกาศให้เป็นที่ทราบกันทั่วตั้งแต่ 24 สิงหาคม 2550 หากผู้ใดบิดเบือนย่อมเป็นการชอบธรรมที่ประชาชนผู้มีจิตสำนึกจะออกมาต่อต้านด้วยวิธีการที่ยอมรับไว้ในรัฐธรรมนูญ และเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่จะช่วยกันทำให้ประชาธิปไตยลายลักษณ์อักษรในรัฐธรรมนูญนี้มีชีวิตเป็นประชาธิปไตยภาคปฏิบัติ.
กำลังโหลดความคิดเห็น