xs
xsm
sm
md
lg

เรียงความ "โลกร้อนสร้างวิกฤติ วิทย์ & เทคโน ช่วยได้" ระดับ ม.ปลาย ที่ได้รับรางวัล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รางวัลชนะเลิศ : นางสาวช่อทิพย์ รักธรรม ชั้น ม.6 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาภาคใต้ จ.นครศรีธรรมราช

“โลกร้อนสร้างวิกฤติ วิทย์และเทคโน ช่วยได้”

“ ปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับสภาวะแวดล้อม อันเนื่องมาจากมลพิษ หรือความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ใดที่หนึ่งก็ตากย่อมส่งผลกระทบไปถึงที่อื่นๆด้วยเหตุนี้ ทุกคนทุกประเทศในโลกจึงย่อมมีส่วนรับผิดชอบอยู่ด้วยกัน ทั้งในการแก้ไข ลดปัญหา และปรับปรุงสร้างเสริมสภาวะแวดล้อม ให้กลับคืนมาสู่สภาพอันจะเอื้อต่อการมีชีวิตอยู่อย่างเป็นสุขของตนเองและเพื่อมนุษย์....” (พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว)

จากพระราชดำรัสข้างต้น แสดงให้เห็นว่า ปัจจุบันสภาพแวดล้อมของโลกใบนี้กำลังเปลี่ยนไปจากฝีมือมนุษย์ ไม่ว่าใครเป็นผู้กระทำหรือเกิดขึ้นที่ใด ก็ย่อมส่งผลไปทั่วโลก เช่นเดียวกับภาวะโลกร้อนที่เรากำลังประสบอยู่ทุกวันนี้ อาจเกิดจากความไม่ตั้งใจของมนุษย์ แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วเราทุกคนบนโลกจะต้องช่วยกันหาทางแก้ไข เพื่อให้โลกใบนี้คงอยู่ต่อไป

ภาวะโลกร้อนเป็นภาวะที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นจากปรากฏการณ์เรือนกระจก ซึ่งต้นเหตุทั้งหมดก็มาจากฝีมือมนุษย์ ที่เพิ่มปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงการขนส่ง และการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมรวมไปถึงเพิ่มก๊าซกลุ่มไนตรัสออกไซด์และคลอโรฟลูออโรคาร์บอน ก๊าซเหล่านี้คงไม่มีผลกระทบต่อโลกถึงเพียงนี้ ถ้าหากมนุษย์ไม่ไปตัดไม้ทำลายป่า อันเป็นเหตุให้การดึงเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกไปจากระบบบรรยากาศถูกลดทอนประสิทธิภาพลง ในที่สุดสิ่งที่เรากระทำ ก็ส่งผลมาสู่ตัวเราเอง กับสถานการณ์ปัจจุบันที่ต้องเผชิญต่อภาวะโลกร้อน

ภาวะโลกร้อนได้ส่งผลกระทบในหลายๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านนิเวศวิทยา อาทิ น้ำแข็งขั้วโลกละลาย สภาพอากาศแปรปรวน อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น อย่างประเทศไทยในช่วง 40 ปีที่ผ่านมาอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น 1 องศาเซลเซียส และมีการคาดการณ์ว่าอีก 90 ปีข้างหน้า อุณหภูมิผิวโลกจะสูงขึ้นจากปัจจุบันราว 4.5 องศาเซลเซียส นอกจากนี้ภาวะโลกร้อนยังส่งผลกระทบในด้านเศรษฐกิจด้วย เช่น ธุรกิจท่องเที่ยวที่สำคัญบนเกาะเล็กๆของทวีปอเมริกา ต้องสูญเสียรายได้จากการที่น้ำทะเลสูงขึ้นและกัดกร่อนชายฝั่ง หรือจะเป็นทวีปเอเชีย ที่เกิดฝนกระหน่ำและมรสุมอย่างรุนแรง รวมถึงความแห้งแล้งในฤดูร้อนที่ยาวนาน ส่งผลต่อความเสียหายทางเศรษฐกิจภาวะโลกร้อนยังส่งผลไปถึงสุขภาพของมนุษย์ทั่งโลกอีกด้วยเนื่องจากโลกร้อนเป็นสภาวะที่เชื้อโรคเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว

โลกในปัจจุบัน เป็นโลกแห่งยุคโลกาภิวัฒน์ มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามามากมาย รวมไปถึงความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ หลายคนอาจมองว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้โลกใบนี้ต้องประสบกับภาวะโลกร้อน แต่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลับช่วยให้ภาวะโลกร้อนทุเลาลง ผู้สร้างอาจเป็นผู้ทำลายได้ ในขณะเดียวกันผู้ทำลายก็กลายเป็นผู้สร้างได้เช่นกัน เรามาสามารถที่จะทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนได้ ถ้าหากไม่มีกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง นักวิทายาศาสตร์ทั่วโลกต่างพยายามศึกษาผลกระทบที่เกิดจากภาวะโลกร้อนเพื่อหาแนวทางบรรเทาและแก้ไขปัญหาดังกล่าว หากไร้ซึ่งพวกเขาเหล่านี้แล้ว ใครกันเล่าที่จะเป็นผู้ช่วยเหลือโลกใบนี้

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสามารถช่วยบรรเทาภาวะโลกร้อนได้ หากเรานำมาประยุกต์ใช้อย่างตรงประเด็นและถูกวิธี อาทิการนำสบู่ดำมาผลิตไบโอดีเซล เราต้องใช้กระบวนการวิทยาศาสตร์ในการวิเคราะห์ถึงสรรพคุณของสบู่ดำ ว่าสบู่ดำสามารถดัดแปลงมาใช้ประโยชน์ด้านใดได้บ้าง และใช้เทคโนโลยีในกรรมวิธีการผลิตเพื่อให้ได้ผลตามเป้าหมาย นั่นคือ ไบโอดีเซล การนำขยะมาใช้เป็นปุ๋ยหรือนำไปรีไซเคิลก็เช่นเดียวกันต้องใช้วิทยาศาสตร์ในการศึกษาและทดลองว่าขยะแต่ละประเภทสามารถนำไปดัดแปลงเป็นอะไรได้บ้าง และใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เป็นตัวแปรรูปหรือผลิต หรือจะเป็นในเรื่องของการผลิตพลังงาน อาทิพลังงานที่ใช้ในการขับเคลื่อนเครื่องยนต์ เช่น การนำน้ำมันปาล์มมาผลิตไบโอดีเซล หรือการหมักพืชอย่างมันสำปะหลังและอ้อยอันนำไปสู่การผลิตแก๊สโซฮอล์ ในการวิจัยสรรพคุณของมันสำปะหลังและอ้อย รวมไปถึงการคิดพัฒนาไปสู่แก๊สโซฮอล์ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้วิทยาศาสตร์เข้ามาช่วย และใช้เทคโนโลยีในกระบวนการแปรรูปมันสำปะหลังและอ้อยให้เป็นเอทานอล ก่อนนำไปผลิตเป็นแก๊สโซฮอล์ 95 และแก๊สโซฮอล์ 91 ซึ่งสามารถใช้แทนหรือผสมกับน้ำมันเบนซิน 95 และ 91 ได้ แก๊สโซฮอล์เป็นพลังงานสะอาด จะปล่อยมลพิษทางท่อไอเสียต่ำกว่าเบนซินทั่วไป ดังนั้นแก๊สโซฮอล์จึงเป็นผลดีต่อสุขภาพของเรา และช่วยลดปัญหาโลกร้อนได้

นอกจากที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว เรายังสามารถนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาช่วยสร้างผู้พิทักษ์โลก นั่นก็คือ “ต้นไม้” ได้อีกด้วย ต้นไม้คือสิ่งเดียวที่ช่วยกลั่นกรองอากาศเสียอย่างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นอากาศดีอย่างออกซิเจนได้ ซึ่งในปัจจุบันจำนวนพื้นที่ป่าของไทยเหลืออยู่เพียง 167,590,98 ตารางกิโลเมตร หรือ 33 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นสิ่งเดียวที่จะช่วยฟื้นฟู และขยายพันธุ์พืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราต้องใช้วิทยาศาสตร์ในการคิดค้นปรับปรุงพันธุ์พืช ให้ได้พันธ์พืชที่ทนต่อสภาพแวดล้อม มีส่วนในการเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปเป็นก๊าซออกซิเจนที่ค่อนข้างสูง และใช้เทคโนโลยี ในกระบวนการผลิตพันธุ์พืชเพื่อให้ได้พันธุ์พืชที่ดี มีคุณภาพ จะเห็นว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ต้องควบคู่กันไป หากขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ไม่อาจช่วยบรรเทาโลกร้อนได้

ถึงแม้ว่าเราจะมีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการช่วยแก้ไขปัญหาโลกร้อน แต่ผู้ที่เป็นเจ้าแห่งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คือ มนุษย์ดังนั้นทุกคนที่อยู่ร่วมกันบนโลกใบนี้จะต้องร่วมมือกันแก้ไข หยุด ละ เลิก เป็นผู้ทำลาย เพราะสุดท้ายแล้วผลกระทบทั้งหมดก็ตกมาสู่ตัวเราเอง ใช้ประโยชน์จาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในทางที่สร้างสรรค์และคุ้มค่า เพื่อโลกของเราจะได้คงอยู่สืบไป




รองชนะเลิศอันดับ 1 : น.ส.พิณนรี เตี่ยมังกรพันธุ์ ชั้น ม.5 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กรุงเทพฯ

โลกร้อนสร้างวิกฤติ วิทย์ & เทคโนช่วยได้?

ทุกวันนี้เราได้รับข่าวสารเกี่ยวกับภัยธรรมชาติมากมาย ไม่ว่าจะเป็นพายุ น้ำท่วม แผ่นดินไหว ซึ่งสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของมนุษย์เป็นอย่างมาก อันที่จริงภัยธรรมชาติเหล่านี้เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำทุกปี ทว่าเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราจะสังเกตได้ว่า ภัยธรรมชาติเหล่านี้เกิดบ่อยครั้งขึ้นและแต่ละครั้งก็ทวีความรุนแรงมากขึ้น แล้วอะไรคือสาเหตุที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์เช่นนี้ คำตอบที่เรามักจะได้รับจากนักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ และสื่อต่าง ๆ ก็คือ ภาวะโลกร้อน

ภาวะโลกร้อนคืออะไร

ภาวะโลกร้อนก็คือ การที่โลกของเรามีอุณหภูมิสูงขึ้น ทั้งอากาศ พื้นดิน และผืนน้ำ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมา อาทิ ฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลงไป สภาพภูมิอากาศที่ผิดปกติ เกิดภัยธรรมชาติต่าง ๆ บางทีก็แห้งแล้ง บางแห่งก็น้ำท่วม สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนไปนี้ยังมีผลกระทบต่อสัตว์ต่าง ๆ เช่น กบในประเทศแถบอเมริกากลางที่เปลี่ยนสีเพื่อปรับตัวให้เข้ากับอุณหภูมิที่สูงขึ้น บางพันธุ์ปรับตัวไม่ได้ก็สูญพันธุ์ไป การเกิดคลื่นความร้อนในประเทศแถบยุโรปและอินเดีย จนมีคนเสียชีวิตจำนวนมาก นอกจากนี้ หากอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นมาก ๆ ร่างกายของมนุษย์ซึ่งกลไกภายในร่างกายจะทำงานได้ปกติที่อุณหภูมิคงที่นั้นอาจจะปรับตัวไม่ทัน ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพขึ้นได้ หรืออีกเหตุการณ์หนึ่งที่ผู้คนต่างพากันหวาดกลัว แต่ก็เชื่อว่าจะเกิดขึ้นก็คือ ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น น้ำแข็งที่ขั้วโลกละลาย อันจะทำให้น้ำท่วมโลกได้

แล้วอุณหภูมิของโลกสูงขึ้นได้อย่างไร อุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้นนั้นเกิดจากปรากฏการณ์ 2 อย่างที่ดำเนินไปพร้อม ๆ กัน ร่วมแรงร่วมใจกันเพิ่มความร้อนให้แก่โลก นั่นคือ ปรากฏการณ์เรือนกระจก และการเกิดรอยรั่วของชั้นโอโซนในชั้นบรรยากาศ

ปรากฏการณ์เรือนกระจกนั้น สามารถอธิบายได้ว่า ธรรมดาแล้วโลกของเรามีการรับรังสีพลังงานมาจากดวงอาทิตย์ในรูปของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (เช่น แสง ความร้อน) เมื่อรังสีเหล่านี้เข้ามายังโลก ส่วนหนึ่งสิ่งมีชีวิตบนโลกจะนำไปใช้ เช่น พืชใช้แสงในการสร้างอาหาร คนใช้พลังงานความร้อน ใช้คลื่นไมโครเวฟ วิทยุ ส่วนหนึ่งจะถูกสะท้อนที่ชั้นบรรยากาศกลับออกไปนอกโลก และอีกส่วนหนึ่ง จะถูกสะท้อนที่ผิวโลกกลายเป็นคลื่นอินฟราเรด หรือคลื่นความร้อน ซึ่งผ่านชั้นบรรยากาศของโลกไปได้ไม่มาก ก็สะท้อนกลับมาอยู่ในโลกเป็นการกักเก็บความร้อนไว้ให้โลกมีอุณหภูมิพอเหมาะ อบอุ่นพอสำหรับสิ่งมีชีวิต เมื่อมนุษย์เริ่มมีโรงงานอุตสาหรรมเพื่อผลิตวัสดุต่าง ๆ และมีการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลนั้นให้ผลิตภัณฑ์เป็นน้ำและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซนี้เมื่อขึ้นไปสะสมที่ชั้นบรรยากาศของโลก จะดูดซับคลื่นอินฟราเรดเอาไว้ ทำให้คลื่นอินฟราเรดที่ออกจากโลกได้ยากอยู่แล้ว ออกได้ยากยิ่งขึ้น เมื่อคลื่นความร้อนนี้สะสมอยู่ในโลกมากขึ้น ๆ อุณหภูมิของโลกก็สูงขึ้น อีกทั้งโลกของเรายังมีมาตรฐานว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วคือประเทศอุตสาหกรรม จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมโลกถึงร้อนขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากทุกประเทศต่างก็แข่งกันเผาไหม้เชื้อเพลิง ก๊าซที่ทำให้คลื่นความร้อนออกไปได้ยากขึ้นนอกจากคาร์บอนไดออกไซด์แล้วก็มี ก๊าซมีเธน ก๊าซไนตรัสออกไซด์ สารจำพวกฟลูออโรคาร์บอน เป็นต้น เราเรียกก๊าซเหล่านี้ว่าก๊าซเรือนกระจก เพราะโดยสภาวะของก๊าซเปรียบเสมือนกระจกในเรือนกระจกที่เป็นที่ปลูกพืชเมืองร้อนของชาวตะวันตก และที่เรียกปรากฏการณ์นี้ว่าปรากฏการณ์เรือนกระจกก็เพราะว่ามีหลักการเหมือนกับเรือนกระจกสำหรับปลูกพืชเมืองร้อนในที่หนาวนั่นเอง

ส่วนการเกิดรอยรั่วของโอโซนในชั้นบรรยากาศนั้นเกิดขึ้นดังนี้ โลกของเราจะมีชั้นของก๊าซโอโซนห่อหุ้มอยู่ในชั้นบรรยากาศหนึ่ง รังสีที่เราได้รับจากดวงอาทิตย์ก็มีมากมายดังที่กล่าวไว้แล้ว ซึ่งก๊าซโอโซนจะป้องกันไม่ให้รับรังสีที่มีพลังงานสูง (ความยาวคลื่นน้อย) เกินไปเข้ามาได้ รังสีที่เราคุ้นเคยกันดีก็คือรังสีอัลตราไวโอเล็ตหรือรังสียูวี ซึ่งจะทำให้เกิดโรคมะเร็งผิวหนังได้ แต่เมื่อประมาณ 50 ปีที่ผ่านมา เราได้มีการใช้สารจำพวกคลอโรฟลูออโรคาร์บอนในกระบวนการผลิตสิ่งต่าง ๆ เช่น สเปรย์ เครื่องทำความเย็น และเมื่อเราใช้อุปกรณ์เหล่านี้ สารนี้ซึ่งเป็นก๊าซที่มีน้ำหนักเบาและไม่ไวต่อปฏิกิริยาจะระเหยขึ้นไป จนถึงชั้นของโอโซนได้แล้วมันก็ทำปฏิกิริยากับโอโซน โอโซนจะเปลี่ยนเป็นสารอื่น อีกทั้งปฏิกิริยานี้ยังเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ที่สามารถเกิดกับโอโซนตัวอื่นไปได้เรื่อย ๆ นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า คลอโรฟลูออโรคาร์บอนหรือซีเอฟซี 1 โมเลกุล สามารถทำลายโอโซนได้นับแสนโมเลกุล ดังนั้น ชั้นโอโซนจึงเกิดรอยรั่วขึ้น รังสียูวีเข้ามาได้มากขึ้น ทำให้โลกมีพลังงานความร้อนมากขึ้นนั่นเอง แต่เป็นเรื่องที่น่ายินดี ที่ได้มีการห้ามใช้สารจำพวกซีเอฟซีแล้ว ปัญหารูรั่วของโอโซนจึงค่อยทุเลาลง

สำหรับสาเหตุสำคัญของปัญหานี้ก็คือมนุษย์ มนุษย์ทั้งตัดต้นไม้ที่ช่วยดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปใช้ เผาผลาญเชื้อเพลิงน้ำมัน ทำอุตสาหกรรมโดยมิได้คำนึงถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้น จึงเป็นหน้าที่ของมนุษย์ที่ต้องช่วยกันแก้ปัญหา ปัจจุบันเรามีวิทยาการและเทคโนโลยีเจริญขึ้น มีการค้นพบนวัตกรรมต่าง ๆ ใหม่ ๆ มากมาย ซึ่งเราสามารถนำความก้าวหน้านี้มาช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนได้ เช่น การใช้พลังงานทดแทน เนื่องจากว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกิดจากการที่เราใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล นักวิทยาศาสตร์จึงพยายามหาแหล่งพลังงานที่ไม่ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ พลังงานที่มีคุณสมบัตินี้ได้แก่ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นพลังงานสะอาด โดยในประเทศที่มีลมแรงและพัดสม่ำเสมออย่างเช่น ประเทศเนเธอร์แลนด์ ก็ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีการใช้พลังงานลมได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับบ้านเรามีแสงอาทิตย์มาก ควรส่งเสริมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปก็คือ เซลล์แสงอาทิตย์หรือโซลาร์เซลล์ ซึ่งได้เริ่มมีการใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้นเมื่อเทียบกับสมัยที่เพิ่งคิดค้นมาใหม่ ๆ แต่ต้นทุนยังมีราคาแพง และยังไม่กระจายสู่ระดับชุมชน คาดว่าในอนาคตเทคโนโลยีนี้ จะได้รับการพัฒนาจนเข้ามาแทนที่การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลได้ ส่วนพลังงานนิวเคลียร์นั้นกำลังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่มาก เพราะว่าขั้นตอนในการผลิตใช้สารกัมมันตรังสีซึ่งมีอันตราย จึงต้องมีการค้นคว้าพัฒนาเทคโนโลยีของพลังงานนิวเคลียร์ให้เป็นพลังงานที่สะอาดและปลอดภัยอย่างแท้จริง

รถยนต์ก็เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ในปัจจุบันได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน- ไดออกไซด์ โดยออกแบบเป็นรถยนต์ไฮบริดที่มีการใช้พลังงานไฟฟ้าควบคู่ไปกับการใช้น้ำมัน การใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนก็เป็นอีกนวัตกรรมที่น่าสนใจ เชื้อเพลิงไฮโดรเจนนี้แทนที่จะให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เหมือนเชื้อเพลิงปกติ ก็จะให้น้ำแทน ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ และกำลังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาวิจัยอยู่ นอกจากนี้ ยังได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ไม่ว่าจะเป็นการใช้สารเคมีบางตัวที่ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ หรือการตรึงคาร์บอนไดออกไซด์ลงสู่ทะเลแล้วเปลี่ยนเป็นสารประกอบคาร์บอเนตซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้น มิได้ใช้ในการคิดวิธีแก้ปัญหาเพียงอย่างเดียว ขั้นตอนตั้งแต่การตรวจสอบ เก็บข้อมูลสภาพภูมิอากาศของโลกที่ทำให้เรารู้ว่าโลกร้อนขึ้น การวิเคราะห์สาเหตุ การประเมินสถานการณ์ ตลอดจนการสร้างแบบจำลองเหตุการณ์ทำนายสภาพของโลกเราในอนาคต ล้วนอาศัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งสิ้น วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงเป็นสิ่งสำคัญในการแก้ปัญหาโลกร้อน ทั้งนี้ การใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้นต้องใช้อย่างมีคุณธรรมและจริยธรรม จะเห็นได้ว่าการที่เราใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในทางที่ผิดได้ก่อให้เกิดผลเสียมากมาย เช่น สงคราม ปัญหามลภาวะ ปัญหาสิ่งแวดล้อม หรือแม้กระทั่งวิกฤติโลกร้อนที่เรากำลังเผชิญอยู่ก็เช่นเดียวกัน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงเป็นสิ่งที่มีคุณอนันต์และมีโทษมหันต์ จะให้คุณหรือโทษขึ้นอยู่กับมนุษย์ที่จะเลือกวิธีใช้

นอกจากการแก้ปัญหาโดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแล้ว เราควรจะแก้ปัญหาด้วยวิธีการอื่น ๆ ด้วย เช่น การประหยัดพลังงาน การปลูกต้นไม้ การลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จะเห็นได้ว่าประชาคมโลกได้เริ่มเห็นความสำคัญของปัญหาและเริ่มหาทางแก้ไข ทว่าปัญหานี้เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบถึงกันทั่วโลก ดังนั้นประเทศต่าง ๆ จะต้องร่วมมือกันและช่วยเหลือกัน ประเทศที่ร่ำรวยควรช่วยเหลือประเทศที่ยากจน ประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีควรนำเทคโนโลยีของตนไปเผยแพร่ให้กับประเทศที่กำลังพัฒนา มีการจัดเก็บภาษีเพื่อนำไปปลูกป่า เนื่องจากบางประเทศมีเงินแต่ไม่มีพื้นที่ ในขณะที่อีกประเทศมีพื้นที่แต่ไม่มีเงิน นอกจากนี้ เรายังควรค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต จากการดำเนินชีวิตอย่างบริโภคนิยม พยายามที่จะตอบสนองความต้องการของตนเองในทุก ๆ เรื่อง มาเป็นการดำเนินชีวิตอย่างพอเพียงตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ลดความ “อยาก” และรู้จักคำว่า “พอ” หากเรามีความอยาก เราก็จะดิ้นรนที่จะตอบสนองความอยากของตัว ไปเบียดเบียนทรัพยากรธรรมชาติมาใช้จนธรรมชาติเสียสมดุล แต่ถ้าเรารู้จัก “พอ” เราก็ไม่ต้องดิ้นรนไปเอาทรัพยากรธรรมชาติมาใช้จนเกินควร และสามารถอยู่กับธรรมชาติอย่างมีความสุขได้ โลกดำรงมาได้ห้าพันล้านปีทรัพยากรเพิ่งจะมาร่อยหรอตอนที่มนุษย์เริ่มทำอุตสาหกรรมกันอย่างบ้าคลั่งโดยไม่เคารพธรรมชาติเมื่อไม่กี่ร้อยปีมานี้เอง

วิกฤติโลกร้อนเป็นปัญหาที่ซับซ้อน แก้ไขยาก ต้องอาศัยความรู้ความสามารถของนักวิทยาศาสตร์ในการสร้างนวัตกรรมเพื่อกอบกู้วิกฤติ การให้ความรู้ ให้เกิดความเข้าใจโดยทั่วกัน รวมทั้งสร้างความสามัคคี มีความร่วมมือร่วมใจของทุกคนในการแก้ปัญหา และต้องทำอย่างต่อเนื่อง โดยใช้สติ รู้จักพอเพียง คิดให้รอบคอบ เชื่อว่าโลกใบนี้จะต้องเย็นลงอย่างแน่นอน และทรัพยากรธรรมชาติก็จะมีเพียงพอสำหรับโลกในอนาคต มนุษย์โลกจะดำรงชีวิตได้ด้วยความสุขตลอดไป




รองชนะเลิศอันดับ 2 : นายฐาปกรณ์ เกษะประกร ชั้น ม.6 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กรุงเทพฯ

“โลกร้อนสร้างวิกฤติ วิทย์ & เทคโนช่วยได้?”

โลกของเราปัจจุบันมีวิวัฒนาการก้าวหน้ามาอย่างต่อเนื่อง ตั้งเเต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ได้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อ 4600 ล้านปีมาแล้ว ในช่วงยุคก่อนประวัติศาสตร์ มนุษย์เริ่มรู้จักการนำเอาทรัพยากรทางธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ รู้จักบริหารจัดการธรรมชาติ มีการค้นพบโลหะ เเละนำมาทำเป็นสิ่งประดิษฐ์เครื่องมือ เครื่องใช้ ตลอดจนเครื่องประดับ เพื่อใช้ในการดำรงชีวิต รู้จักการอยู่ร่วมกันในสังคม เมื่อพัฒนาเข้าสู่ยุคสมัยประวัติศาสตร์ มนุษย์ได้เรียนรู้ และค้นพบสิ่งใหม่ๆ มากมาย ที่เป็นประโยชน์ต่อโลกในปัจจุบัน การปฏิวัติวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เเละการปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้โลกก้าวหน้าสู่ความทันสมัย เเละจะยังคงพัฒนาอยู่ตลอดไม่มีวันสิ้นสุด แต่การพัฒนาอย่างต่อเนื่องนั้น ทำให้โลกของเราเริ่มเข้าสู่การเปลี่ยนเเปลง มนุษย์นำทรัพยากรทางธรรมชาติมาใช้เป็นจำนวนมาก เเละผลิตสังเคราะห์สารเคมีที่มีผลกระทบต่อธรรมชาติ ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สูงขึ้นในชั้นบรรยากาศ เเละอื่นๆ เป็นปัจจัยที่สำคัญที่มีผลต่อการเปลี่ยนเเปลงโลก โดยมีมนุษย์เป็นผู้กระทำ ผลจากการเปลี่ยนเเปลงนี้ ทำให้ประเทศทั่วโลกประสบปัญหากับความผิดปกติของปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด น้ำแข็งขั้วโลกละลาย กระแสน้ำเปลี่ยนทิศทาง เเละมีอุณหภูมิที่สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจนมนุษย์กำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์รุนเเรงที่สำคัญนั้นคือปัญหาภาวะโลกร้อน

ภาวะโลกร้อน (global warming ) คือสภาวะของโลกที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นอันเนื่องมาจากภาวะเรือนกระจก เเละปัจจัยอื่นๆ ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลอยไปสู่ชั้นบรรยากาศมากขึ้น สารCFC ทำลายโอโซนในชั้นบรรยากาศ ทำให้เมื่อเเสงรังสีจากดวงอาทิตย์ส่องมาถึงโลก โอโซนในขั้นบรรยากาศถูกทำลาย ไม่สามารถปกป้อง หรือกรองเเสงรังสีจากดวงอาทิตย์ได้ เมื่อรังสีสะท้อนกลับออกจากโลก ก็ไมสามารถระบายได้ ความร้อนจึงอยู่ภายในโลกของเรา ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น เเละผลกระทบจากวิกฤติภาวะโลกร้อนเป็นเหตุให้เกิดปัญหาตามมาหลายประการ อาทิ ปัญหาภัยธรรมชาติ เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในประเทศจีนมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากพายุนาร์กีสสร้างความเสียหายในประเทศพม่า

วิกฤติภาวะโลกร้อนถึงแม้ว่าจะมีแต่ข้อเสีย มีปัญหาสร้างความเสียหายเป็นจำนวนมาก แต่ถ้าเรามองอีกมุมหนึ่ง ข้อดีวิกฤติการณ์ภาวะโลกร้อนก็มีเช่นกันคือ มนุษยชาติ ประเทศทั่วโลกจะร่วมมือกันในการเเก้ไขปัญหา ความขัดแย้งระหว่างประเทศอาจบรรเทาลง เเละทุกคน ทุกประเทศ ทุกเชื้อชาติจะหันมาช่วยเหลือกัน เเละรักกัน เเนวทางการเเก้ไขปัญหาวิกฤติการณ์ภาวะโลกร้อนอาจไม่สามารถเเก้ไขให้กลับไปเป็นเช่นเดิมได้ เเต่สิ่งที่พวกเราทำได้คือการ ช่วยกันสร้างโลกของเราให้เป็นสีเขียว ลดการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของสาร CFC หรือวัสดุที่ยากต่อการทำลาย หรือส่งผลกระทบต่อชั้นบรรยากาศ ช่วยกันประหยัดพลังงานธรรมชาติ เพราะกระบวนการผลิตพลังงานธรรมชาติ โลกต้องใช้เวลาหลายล้านปี เช่นก๊าซธรรมชาติ น้ำมันดิบ พลังงานฟอสซิล ควรหันมาเพิ่ม เเละสนันสนุนพลังงานทดแทนที่ไม่เป็นศัตรูกับธรรมชาติ เช่น การใช้พลังงานจากลม พลังงานกลจากกระแสน้ำในเขื่อน พลังงานเเสงอาทิตย์ซึ่งในปัจจุบันเริ่มนำมาใช้กับยานพาหนะ ช่วยกันปลูกต้นไม้ สร้างพื้นที่สีเขียว เพื่อเพิ่มปริมาณออกซิเจนในชั้นบรรยากาศ อีกทั้งสร้างภูมิประเทศให้มีความร่มรื่น การคัดเเยกขยะ นำขยะที่สามารถใช้ได้ นำกลับมาใช้ใหม่ เเละลดการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำลายได้ยาก เช่น โฟม พลาสติก ควรหันกลับมาใช้วัสดุทางธรรมชาติ เเละอีกประการหนึ่งที่มีความสำคัญคือการปลูกฝังความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาโลกร้อนให้กับเยาชน เเละทุกๆ คน เพื่อเข้าใจถึงปัญหาสาเหตุ การเเก้ไข ที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วม ปัจจุบันเเต่ละชุมชน โรงเรียนเริ่มให้ความสำคัญกับปัญหาภาวะโลกร้อนมาก ซึ่งโรงเรียนของผมก็จัดกิจกรรมที่สอดคล้องกับการเเก้ไขปัญหาโลกร้อน ให้นักเรียนได้คิดโครงการที่สามารถช่วยเเก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนได้ มีกิจกรรมต่างๆ เช่น เดินรณรงค์ในช่วงพักกลางวันที่โรงอาหาร การคัดเเยกขยะ การนำขวดพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งโครงการต่างๆ ที่นักเรียนมีส่วนร่วมในการคิด ออกเเบบ เเละสร้างสรรค์ก็เป็นส่วนหนึ่งของโลกได้ในการช่วยกันเเก้ไขปัญหา เพราะถ้าเราเริ่มจากหน่วยงาน หรือชุมชนเล็กๆ ขยายสู่สังคมใหญ่ ประเทศ เเละโลก เราก็จะสามารถช่วยกันเเก้ไขปัญหาได้ วิทยาศาสตร์กับเทคโนโลยีสามารถเเก้วิกฤติโลกร้อนได้อย่างไร

ปัจจุบันความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เเละเทคโนโลยีก้าวหน้าเป็นอย่างมาก มีนักวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ ได้คิดค้น ค้นพบสิ่งใหม่ๆ มากมาย เเละการพัฒนาขององค์กรที่เกี่ยวข้องในประเทศ เช่น กระทรวงวิทยาศาสตร์ เเละเทคโนโลยี สสวท. ซึ่งสร้างนักคิด พัฒนา สนับสนุนการศึกษาเเละวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ สามารถนำเอาวิทยาศาสตร์ในสาขาต่างๆ กับเทคโนโลยีมาประยุกต์เพื่อใช้เเก้ไขปัญหาในระดับประเทศได้

การพัฒนาหุ่นยนต์ ประเทศไทยมีเยาวชนที่สามารถสร้างสรรค์หุ่นยนต์กู้ภัย สร้างชื่อเสียงมาสู่ประเทศไทยในการเเข่งขันระดับโลก ถ้าเราส่งเสริม เเละสนับสนุนการพัฒนา เเละกองทุนวิจัย เราก็จะมีหุ่นยนต์กู้ภัยที่สามารถใช้ประโยชน์ในยามเกิดเหตุภัยพิบัติได้ การพัฒนาด้านพลังงานทดเเทน การผลิตพลังงานทดเเทนซึ่งได้มาจากธรรมชาติ เช่น พลังงานเเสงอาทิตย์ พัฒนาโซลาเซลล์มาใช้กับรถยนต์ เเละบ้าน เพื่อการประหยัดพลังงาน การพัฒนาเทคโนโลยีทางอากาศ การนำความรู้ทางเทคโนโลยีทางอากาศนั้น จะสามารถช่วยเราได้เป็นอย่างมาก เพราะสามารถถ่ายภาพจากอวกาศลงมาที่สถานี ทำให้รู้เกี่ยวกับการเคลื่อนที่ของเมฆ พายุ สภาพอากาศ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากในปัจจุบัน เเละสามารถพัฒนาต่อไปเพื่อตรวจสอบปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศได้ เเละการพัฒนาด้านองค์ความรู้ เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ เเละเทคโนโลยี ในระดับชุมชน มีเเนวคิดในการประยุกต์วิทยาศาสตร์ กับเทคโนโลยี มาใช้ในการเเก้ปัญหาภาวะโลกร้อน ดังนี้

1. สถานีขยะมหัศจรรย์ โดยในชุมชน หรือโรงเรียน จัดตั้งขึ้นมีจุดประสงค์เพื่อการคัดเเยกขยะตามเเต่ละประเภท ขยะเศษอาหาร นำมาผ่านกระบวนการทำขยะหอม ใช้เป็นปุ๋ยบำรุงต้นไม้ให้เจริญเติบโต ขยะประเภท รีไซเคิล ก็นำกลับมาใช้ใหม่ ส่วนขยะที่มีพิษ หรือยากต่อการทำลายก็จะส่งเพื่อผ่านกระบวนการต่อไป ซึ่งจะทำให้ให้ง่ายต่อการจัดการกับขยะ อันเป็นปัจจัยหนึ่งของปัญหาโลกร้อน

2. หุ่นยนต์อเนกประสงค์ พัฒนาหุ่นยนต์ให้สามารถตรวจวัดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศได้ สามารถวัดความชื้นของอากาศ วัดความหนาเเน่นของพื้นที่สีเขียว เเละให้ความรู้ ความเข้าใจในทรัพยากรทางธรรมชาติ อาจตั้งอยู่บริเวณสวนหย่อม บริเวณต้นไม้ หรือบริเวณท้องถนน เพราะทุกวันรถจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นไปบนอากาศในปริมาณมาก

3. ชุมชนพลังงานเเสงอาทิตย์ ออกเเบบโครงสร้างในชุมชน ให้สามารถรับเเสงอาทิตย์ในตอนเช้าได้ ประหยัดพลังงานไม่ต้องเปิดไฟ เเละเก็บพลังงานเเสงอาทิตย์ไว้ใช้ โดยติดตั้งแผงโซลาเซลล์ไว้ เเละปลูกต้นไม้ให้ร่มรื่น

ปัญหาสภาพภาวะวิกฤติการณ์โลกร้อนในปัจจุบัน เป็นเรื่องเร่งด่วนที่คนทั่วโลกต้องให้ความสนใจ การอนุรักษ์พลังงาน เเละทรัพยากรธรรมชาติเป็นสิ่งสำคัญ การใส่ใจในพลังงาน การอนุรักษ์พื้นที่สีเขียวเพื่อสร้างความอุดมสมบูรณ์ เเละเพิ่มปริมาณก๊าซออกซิเจนในอากาศ เเละการพัฒนาหน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้องในการพัฒนา เพื่อนำวิทยาศาสตร์ กับเทคโนโลยีมาประยุกต์เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการเเก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนในระดับประเทศ เเละโลก ส่วนในระดับชุมชน สังคม ทุกคนมีส่วนร่วมในการคิด สร้างสรรค์ ประยุกต์เเละพัฒนามาเเก้ไขปัญหาในระดับชุมชนได้เช่นกัน เราทุกคนสามารถรวมกำลังกัน ช่วยกันที่จะดับโลกร้อน เพื่อโลกของเราที่สดใส เเละยั่งยืนต่อไปในอนาคต




รางวัลชมเชย : น.ส.ธัญลักษณ์ ยะสะกะ ชั้น ม.4 โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม

โลกร้อนสร้างวิกฤติ วิทย์&เทคโน ช่วยได้?

ภาวะโลกร้อน (Global Warming) หมายถึง การที่ภูมิอากาศของโลกเปลี่ยนแปลงไป (Climate Change) โดยที่อุณหภูมิโลกมีแนวโน้มสูงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละปี มีสาเหตุจากกลุ่มก๊าซที่เรียกว่าก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse gases) ซึ่งทำหน้าที่คล้ายฉนวนปิดกั้นความร้อนไว้ในโลกไม่ให้สะท้อนกลับสู่บรรยากาศทั้งหมด กลุ่มก๊าซที่ว่านี้ประกอบด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซมีเทน เป็นส่วนใหญ่ ลักษณะการเก็บกักความร้อนไว้ในโลกคล้ายกับเรือนกระจกที่ใช้สำหรับปลูกพืชในบางพื้นที่ที่แห้งแล้งหรือในทะเลทราย จึงเรียกปรากฏการณ์โรคร้อนนี้ว่าปรากฏการณ์เรือนกระจก (Greenhouse Effect) เมื่อมีการเพิ่มปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศมากขึ้นเรื่อยๆ จากการกระทำของมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นโรงงานอุตสาหกรรม รถยนต์ กระบวนการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ต่างๆ เช่น ถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และสารประกอบไฮโดรคาร์บอนอื่นๆ ประกอบกับมีการตัดไม้ทำลายป่าซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ จึงทำให้ระดับปริมาณก๊าซคาร์บอน ไดออกไซด์ในอากาศสูงเกิน 300 ส่วนในล้านส่วน (300 ppm) ทำให้เพิ่มการกักเก็บความร้อนไว้ในโลกสูงขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดเป็นภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน

ภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในโลก โดยก่อให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์และระบบนิเวศ ทำให้น้ำแข็งในบริเวณขั้วโลกละลาย ชั้นดินเยือกแข็ง (Permafrost) มีอุณหภูมิสูงขึ้น ปะการังในทะเลเริ่มลดจำนวนลง ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น บางพื้นที่ของโลกเกิดคลื่นความร้อนที่ทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ สัญญาณอันตรายจากภาวะโลกร้อนดังกล่าวนี้ไม่เพียงแต่นักวิทยาศาสตร์เท่านั้นที่สังเกตได้ แต่มนุษย์ทั่วไปอาจรับรู้สัมผัสถึงของความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ ตั้งแต่ชนเผ่าอินูท์ในทวีปอาร์กติกทางตอนเหนือสุดไปจนถึงชาวเกาะใกล้เส้นศูนย์สูตร ต่างก็ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ซึ่งผลกระทบดังกล่าวเป็นเพียงขั้นเริ่มต้นเท่านั้น หากภาวะโลกร้อนยังคงดำเนินต่อไปเช่นนี้ จะส่งผลให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากธารน้ำแข็งที่กำลังละลายและมีแนวโน้มที่จะละลายลงทั้งหมด อุณหภูมิทั่วโลกจะสูงขึ้นจากการขยายตัวทางความร้อนของน้ำในมหาสมุทร กระแสน้ำอุ่นในมหาสมุทรแอตแลนติกจะไหลช้าลง เปลี่ยนทิศทางหรือหยุดไหล ทำให้ระบบการไหลเวียนของมหาสมุทรผิดปกติ เกิดการปล่อยก๊าซมีเทนอย่างมหาศาลจากมหาสมุทรทำให้เพิ่มปริมาณในบรรยากาศอย่างรวดเร็ว และส่งผลให้โลกร้อนขึ้น ก๊าซเรือนกระจกจะถูกปล่อยออกมามหาศาลจากชั้นดินเยือกแข็งและป่าที่กำลังตาย โลกมีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะเกิดสภาพอากาศแปรปรวนรุนแรง เช่น คลื่นความร้อน ความแห้งแล้งและน้ำท่วม ซึ่งในปัจจุบันความแห้งแล้งทั่วโลกได้เพิ่มสูงขึ้นมากกว่าใน 30 ปีที่ผ่านมาถึง 2 เท่า ผลกระทบรุนแรงในระดับภูมิภาค ตัวอย่างเช่น ในทวีปยุโรปจะเกิดน้ำท่วมจากแม่น้ำเพิ่มขึ้นในพื้นที่ส่วนมากของทวีปและตามพื้นที่ชายฝั่ง จะเกิดการกัดเซาะและการสูญเสียพื้นที่ในทะเลเพิ่มขึ้นอย่างมาก เกิดพายุรุนแรงในหลายพื้นที่ โดยล่าสุดในประเทศพม่าเกิดพายุถล่มทำเกิดความเสียหายอย่างรุนแรง ระบบทางธรรมชาติซึ่งได้แก่ ธารน้ำแข็ง ปะการัง ป่าชายเลน ระบบนิเวศของทวีปอาร์กติก ระบบนิเวศของเทือกเขาสูง ป่าสนแถบหนาว ป่าเขตร้อน เขตลุ่มน้ำในทุ่งหญ้าและเขตทุ่งหญ้าในท้องถิ่นจะถูกคุกคามอย่างรุนแรง สัตว์สายพันธุ์ต่างๆ เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มากขึ้น และเกิดความสูญเสียด้านความหลากหลายทางชีวภาพ เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคต่างๆ และทำให้ผลผลิตภาคการเกษตรต่ำลง หากไม่ร่วมมือกันหยุดภาวะโลกร้อน อาจทำให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อมวลมนุษยชาติในอนาคตอันใกล้นี้

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะเข้ามาช่วยในการแก้ปัญหาวิกฤติจากภาวะโลกร้อนได้ กล่าวคือ ในด้านพลังงาน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะเป็นคำตอบในการผลิตคิดค้นพลังงานทดแทนหรือการนำพลังงานสะอาดจากธรรมชาติมาใช้ ซึ่งจะนำมาใช้ทดแทนเพื่อลดการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลอันเป็นต้นเหตุสำคัญอย่างหนึ่งของภาวะโรคร้อน พลังงานหมุนเวียนที่จะนำมาใช้ทดแทน เช่น พลังงานชีวมวลซึ่งได้จากผลิตภัณฑ์เหลือใช้ในชีวิตประจำวัน รวมทั้งแหล่งพลังงานอื่นๆ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลมและพลังน้ำขนาดเล็ก ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานสะอาดที่ใช้ได้สม่ำเสมอ นำมาใช้งานได้ง่ายและมีใช้อย่างเหลือเฟือ จากรายงานฉบับล่าสุดจากคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ยืนยันว่าเทคโนโลยีหลายพันชนิดสามารถใช้งานได้ในราคาต้นทุนที่ต่ำมาก เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเป็นหายนะต่อสภาพภูมิอากาศ จำเป็นต้องศึกษาวิจัยค้นคว้าอย่างจริงจังเพื่อสามารถนำมาใช้งานได้จริงในชีวิตประจำวัน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การประหยัดพลังงาน เช่น การประดิษฐ์คิดค้นเครื่องยนต์ประหยัดพลังงานรุ่นใหม่ เครื่องใช้ไฟฟ้าประยัดพลังงาน เสื้อผ้าที่ไม่ต้องซักรีดบ่อย รวมทั้งเครื่องอุปโภคบริโภคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ตลอดจนการนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ (recycle, reuse) เพื่อลดกระบวนการผลิตและลดการทำลายสิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะช่วยในการลดมลภาวะจากภาคอุตสาหกรรม ยานยนต์ และเครื่องจักรกลต่างๆ ทำให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศจากกระบวนการเผาไหม้เชื้อเพลิง
ในด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะระบบนิเวศที่จะเป็นกลไกสำคัญในการช่วยลดภาวะโลกร้อน ช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจกไม่ให้ขึ้นสู่บรรยากาศมากเกินไป วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะช่วยในการสร้างทดแทนหรือคงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะเทคโนโลยีในการผลิตพืชและการปลูกป่าทดแทน เป็นต้น นอกจากนั้น ยังช่วยในการกำหนดนโยบายของภาครัฐ การบัญญัติกฎหมายทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ในการปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อม

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะให้ทางเลือกที่ถูกต้องและเหมาะสมกับสภาพสังคมไทย ทั้งในการเลือกใช้พลังงานโดยหันมาใช้พลังงานที่ไม่สร้างมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม ลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศ การรักษาระบบนิเวศให้มีความสมดุลและคงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพโดยเฉพาะป่าไม้ ซึ่งจะช่วยในการดูดซับก๊าซเรือนกระจกและยังช่วยรักษาความสมบูรณ์ของธรรมชาติทำให้บรรยากาศร่มรื่น นอกจากนั้น ยังช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อโรคและเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร และที่สำคัญที่สุดคือ การพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยี หากทุกภูมิภาคของโลกร่วมมือกันนำมาประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จะนำไปสู่การลดปัญหาภาวะโลกร้อนและลดผลกระทบที่จะเกิดตามมาอย่างยั่งยืนสืบไป




รางวัลชมเชย : น.ส.ธรรมิตาว์ เกษมสำราญกุล ชั้น ม.5 โรงเรียนเทพศิรินทร์ นนทบุรี จ.นนทบุรี

โลกร้อนสร้างวิกฤติ วิทย์&เทคโนโลยีช่วยได้?

ภาวะโลกร้อน (global warming) คือ การที่อุณหภูมิโดยเฉลี่ยของโลกสูงขึ้น ทั่วไป จะหมายความถึงผลจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ ซึ่งโดยปกติแล้ว การใช้ชีวิตในอดีตของมนุษย์เป็นการดำรงชีวิตโดยพึ่งพาธรรมชาติ พึ่งพาแรงงานจากมนุษย์และสัตว์ ในการผลิตอาหารและของใช้เป็นหลัก จึงมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ ในปริมาณที่ไม่มาก ทั้งยังมีจำนวนป่าไม้ มีพื้นที่สีเขียวมาก การหมุนเวียนของก๊าซเรือนกระจากจึงสมดุล โลกมีอุณภูมิที่พอเหมาะ

ในยุคปัจจุบัน หลังจากการปฏิบัติอุตสาหกรรม มนุษย์ค้นพบ ประดิษฐ์ และพัฒนา เทคนิคและวิธีการผลิต เป็นการนำ เครื่องจักรมาใช้แทนแรงงานของมนุษย์ และสัตว์ ที่มนุษย์เห็นว่าเป็นการเพิ่มความเร็วและประสิทธิภาพในการผลิตให้ได้มากกว่าเดิม ซึ่งเครื่องจักรที่นำมาใช้ รวมไปถึงสิ่งอำนวยความสะดวกของมนุษย์ในชีวิตประจำวัน มีการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหิน น้ำมันรถยนต์ การเผาไหม้เชื้อเพลิงในเครื่องจักรกลที่มนุษย์ใช้นั้นทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศในปริมาณที่มหาศาล การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมาก ผนวกกับการตัดไม้ทำลายป่า เพื่อนำพื้นที่ไปใช้สำหรับการสร้างอาคารบ้านเรือน ที่อยู่อาศัย สถานที่ทำงาน รวมไปถึงสถานที่ท่องเที่ยว และอื่นๆ ทำให้พื้นที่ป่าไม้ลดลง เมื่อมีต้นไม้ที่เป็นตัวดูดซับปริมาณ คาร์บอนไดออกไซด์ ที่เป็นก๊าซเรือนกระจกสำคัญและมีปริมาณมาก จึงทำให้ปริมาณของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมไปถึงก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ มีปริมาณมากขึ้นกว่าเดิม เป็นจำนวนมาก อันส่งผลให้โลกมีการดูดซับรังสีความร้อนไว้ในชั้นบรรยากาศมากจนเกินไป จึงเกิดสภาวะโลกร้อน เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และปัญหาต่างๆ ก็จะเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่เพาะปลูกทั่วโลก เกิดปัญหาภัยแล้ง เกิดคลื่นความร้อนสูง ในทวีปเขตอบอุ่นและเขตหนาว ภัยธรรมชาติรุนแรงมากขึ้น และเห็นได้อย่างชัดเจน น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ซึ่งส่งผลต่ออีกหลายขั้น ทั้งหมีขาวไม่มีที่อยู่อาจทำให้หมีขาวสูญพันธุ์ได้ และระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้น น้ำท่วมในที่ที่ไม่เคยท่วม เป็นต้น เราเห็นได้ชัดเจนว่าทุก ๆ วันมนุษย์ทุกคนมีส่วนที่ทำให้โลกของเรามีอุณภูมิสูงขึ้น ไม่เว้นแม้กระทั่งการหายใจ ในเมื่อมนุษย์ เป็นผู้สร้างปัญหา มนุษย์จึงต้องพยายามคิดหาวิธีแก้ปัญหา พร้อมๆ กับการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ตนในชีวิตประจำวัน ทุกวันนี้มีการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ วิทยาการ ที่อำนวยความสะดวกแก่มวลมนุษย์มากมาย หลายประการ แต่ก็ยังปล่อยก๊าซเรือนกระจก ออกมาสู่บรรยากาศ ไม่มีการป้องกัน พลังงานที่นำมาใช้ใช่ว่าจะถ่านหิน น้ำมันปิโตรเลียม หรืออื่นๆ ก็ยังเป็นตัวการสำคัญ ที่ส่งผลให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจกมีมากเกินไป ตัวดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก็ยิ่งถูกทำลายลง ขาดความสมดุลของปริมาณก๊าซในธรรมชาติ และส่งผลกระทบร้ายแรงตามมาไม่ช้าก็เร็ว นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่มีชาวโลกบางคน บางหน่วยงาน มีแนวคิดที่จะลด ช่วยแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนที่ส่งผลกระทบให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน ให้โลกกลับมาสดใส กลับมาอยู่ในสภาพที่สมดุลในปัจจุบันจะเห็นว่ามีการคิดค้น หาวิธีที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากการใช้ชีวิตประจำวัน โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตตามปกติของมนุษย์ และอาจช่วยให้มีความสะดวกสบายเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย หน่วยงานทางด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ ก็ให้ความสำคัญกับปัญหาโลกร้อนด้วย และยังมีการเผยแพร่ข้อมูลให้ทุกคนรับทราบถึงปัญหาและสาเหตุของภาวะโลกร้อน รวมไปถึงวิธีง่ายๆ ที่จะสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อีกด้วย การแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนทำได้หลากหลายวิธี หนึ่งในนั้นคือ การนำวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี มาเป็นส่วนช่วยในการแก้ไขปัญหาโลกร้อน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็เป็นส่วนหนึ่ง ในการพัฒนา การผลิตเพิ่มผลผลิตทางด้านต่างๆ เช่น การอุตสาหกรรม เกษตรกรรม เครื่องมือต่างๆ ก็ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาเป็นส่วนมาก แต่หากเรานำวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี มาพัฒนาช่วยในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และพัฒนาสร้างสรรค์ การอุตสาหกรรม รวมถึง เครื่องมือ อุปกรณ์ และพาหนะที่ใช้พลังงานสะอาด เช่น นำมาพัฒนารถยนต์ พัฒนาน้ำมันเชื้อเพลิง ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้น้อยที่สุด นำเทคโนโลยีมาผลิตวัตถุดิบที่ทันสมัย และมีประสิทธิภาพ สำหรับการสร้างบ้านที่ใช้พลังงานน้อย ตามแนวคิดบ้านอนุรักษ์พลังงาน เช่น ทำกระจกกันความร้อน พัฒนาให้มีราคาถูกลงกว่าปัจจุบัน ผลิตวัสดุสำหรับทำผนังบ้าน ที่เป็นฉนวนความร้อนไม่ดูดซับความร้อน ให้มีราคาถูกลง ซึ่งจะส่งผลให้มีผู้ใช้มากขึ้น และเมื่อบ้านอนุรักษ์พลังงาน มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น การใช้พลังงานไฟฟ้าก็น้อยลงตามไปด้วย จึงเป็นส่วนช่วยในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากการผลิตกระแสไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหิน ซึ่งปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ออกมา เก็บสะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศหรืออาจนำ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี มาสร้างกระแสไฟฟ้า ที่ไม่ส่งผลกระทบโดยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งก็มีหลากหลายวิธี เช่น การผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ ทั้งแรงน้ำจากเขื่อน หรือคลื่น การผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลม แต่ก็ต้องใช้พลังงานลม แต่ก็ต้องใช้พลังลมที่มาก ซึ่งประเทศไทยยังไม่แพร่หลาย การผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต้องมีการผลิตอุปกรณ์ ที่ใช้รับแสงอาทิตย์ รวมไปถึงเทคโนโลยี การผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีขั้นสูง จะเห็นได้ว่าวิทยาศาสตร์มีส่วนช่วยในการลดวิกฤตโลกร้อนที่สำคัญ

ภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาที่ใหญ่ระดับโลก ซึ่งการแก้ไขปัญหานี้ไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่ปัญหานี้เป็นปัญหาของทุกคน ทุกคนเป็นสาเหตุ ทุกๆ คนจึงต้องมีส่วนร่วมช่วยกันในการแก้ไขปัญหา ซึ่งการแก้ไขเริ่มทำได้ทุกๆ วัน และเป็นวิธีที่ง่ายในชีวิตปัจจุบัน หากเพียงแค่ว่าเราทุกคนปรับเปลี่ยนแนวคิด และเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น หันมาใช้หลอดประหยัดพลังงานแทนการใช้หลอดไส้ ที่ให้พลังงานความร้อนมากกว่าแสงไฟ ปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศ ที่ 25 C ซึ่งการปรับอุณหภูมิให้มีอุณหภูมิสูงกว่า 25 C จะช่วยลดการใช้พลังงานถึงร้อยละ 10 ทุกๆ 1 องศา หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีหีบห่อหลายชั้น เป็นการลดปริมาณขยะ ลดพลังงานในการใช้ทำลายขยะ ทานอาหารให้หมดจาน ซึ่งช่วยลดปริมาณขยะอินทรีย์ ลดก๊าซมีเทนจากหลุมฝังกลบ ลดการใช้ถุงพลาสติก ที่ช่วยลดทรัพยากร และพลังงานในการผลิตได้ หันมาใช้ถุงผ้าที่มีความทนทาน ซักได้ ไม่เพิ่มปริมาณขยะ บริโภคผลผลิตที่ผลิตเองได้ในท้องถิ่น ลดการใช้พลังงาน และลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการขนส่งผลิตภัณฑ์ หรือการปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับโลก ให้ต้นไม้ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซตัวการสำคัญที่ก่อให้ เกิดภาวะเรือนกระจก การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย ไม่เดือดร้อนไม่ส่งผลกระทบกับการดำเนินชีวิตประจำวันของเราแต่อย่างใด และในปัจจุบันนั้น กระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติ กำลังเป็นที่นิยม และมีการให้การการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การรักษาโลกไม่ใช่เรื่องอยาก และเป็นหน้าที่ของเราทุกคน




รางวัลชมเชย : น.ส.ปริยา สิทธิคง ชั้น ม.6 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กรุงเทพฯ

โลกร้อนสร้างวิกฤติ วิทย์และเทคโนช่วยได้?

ภาวะโลกร้อนเป็นวิกฤติหนึ่งที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ ภาวะโลกร้อนนี้คือภาวะที่โลกไม่สามารถระบายความร้อนได้เนื่องจากปริมาณแก๊สเรือนกระจกที่มากเกิน โดยปกตินั้นแก๊สเรือนกระจกและโอโซนในชั้นบรรยากาศจะทำหน้าที่เสมือนผ้าห่มคอยรักษาอุณหภูมิผิวโลกให้เหมาะสมแก่การดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิต แต่หลังจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 18 แล้ว มนุษย์ก็มัวแต่หลงระเริงกับวิทยาการที่ก้าวหน้า มุ่งแต่จะพัฒนาอุตสาหกรรม เพิ่มผลผลิตต่างๆ จนมิได้สนใจกับหายนะที่ทวีกำลังความรุนแรงก่อปัญหาให้แก่โลกของเรา

วิกฤติการณ์โลกร้อนนี้ไม่เพียงแต่จะทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นเท่านั้น หากแต่ยังทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ทำให้หมีขั้วโลกไร้ที่อยู่ และยังส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมในส่วนอื่นๆของโลกอีกด้วย สัตว์หลายชนิดต้องอพยพขึ้นไปทางตอนเหนือของโลกเพื่อเลี่ยงอุณหภูมิที่สูงขึ้น ทำให้แหล่งอาหารไม่เพียงพอหากไม่สามารถปรับตัวได้ก็จะล้มตายและสูญพันธุ์ไปในที่สุด นอกจากนั้นอุณหภูมิผิวน้ำทะเลก็เพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้ปะการังในเขตน้ำตื้นรวมถึงแพลงตอนพืชและแพลงตอนสัตว์ที่อยู่บริเวณผิวน้ำตายด้วย มีผลกระทบต่อระบบห่วงโซ่อาหารและสายใยอาหารทำให้เสียสมดุลระบบนิเวศ นอกจากนี้วิกฤติดังกล่าวยังเพิ่มความรุนแรงของภัยธรรมชาติอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ทั้งพายุนาร์กีสในพม่า เฮอริเคนแคทรีนาในสหรัฐอเมริกา น้ำท่วมใหญ่ในอังกฤษและโบลิเวีย พายุหิมะในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา คลื่นความร้อนที่คร่าชีวิตในหลายประเทศ ตลอดจนวิกฤติการณ์อาหารโลกที่ส่งผลกระทบต่อประเทศต่างๆเกือบทั่วทุกมุมโลกจนถึงกับมีการจลาจลแย่งชิงอาหารกันในหลายประเทศ

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีกลายเป็นผู้ร้ายในการทำให้โลกร้อนขึ้น แต่หากพิจารณาให้ดีแล้ววิทยาการต่างๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้นมาตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันล้วนมีประโยชน์และช่วยมนุษย์แก้ปัญหาต่างๆจำนวนมาก แล้วเหตุใดเทคโนโลยีจะช่วยมนุษย์ให้พ้นจากหายะครั้งนี้ไม่ได้ วิทยาการและเทคโนโลยีจะก่อให้เกิดประโยชน์หรือโทษนั้นขึ้นอยู่กับมนุษย์ว่าจะใช้วิทยาการนั้นอย่างไร อุตสาหกรรมรถยนต์ในหลายประเทศนั้นตระหนักถึงมหันตภัยจากการปล่อยควันพิษของรถยนต์ที่จะไปเพิ่มปริมาณแก๊สเรือรนกระจก ทำให้หลายบริษัทพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตรถยนต์ที่มีการเผาไหม้ด้วยเชื้อเพลิงที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติ เช่น รถยนต์ อี 20 อี 85

นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกตระหนักถึงความรุนแรงของภาวะโลกร้อนโดยเฉพาะเรื่องการขาดแคลนพลังงาน จึงทำการวิจัยและพัฒนาแหล่งพลังงานมาทดแทนน้ำมันดิบซึ่งเป็นสาเหตุของการเพิ่มปริมาณแก๊สเรือนกระจก แหล่งพลังงานที่กำลังเป็นจุดสนใจคือ พลังงานแสงอาทิตย์ที่ใช้แผงเซลล์สุริยะมารับแสงอาทิตย์แล้วเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้า เซลล์สุริยะนี้จะช่วยลดปริมาณแก๊สเรือนกระจกจากโรงงานอุตสาหกรรม ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ได้ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพัฒนาแผงเซลล์สุริยะที่เดิมมีประสิทธิภาพเพียงร้อยละ 16 ให้กลายเป็นแผงเซลล์สุริยะที่มีผิวโค้งเว้ารับแสงอาทิตย์ได้ทุกทิศทางและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากผลิตพลังงานไฟฟ้าแล้ว แสงอาทิตย์ยังใช้เป็นกลไกสำคัญในการผลิตเชื้อเพลิงเอทานอลและแก๊สโซลีนได้ด้วยภายใต้โครงการ “ Solar to Petrol” กลไกนี้ทำงานเหมือนการกลับข้างการสันดาปโดยอาศัยความร้อนสูงมาสังเคราะห์เชื้อเพลิงเหลวออกมาจากคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งตรงกันข้ามกับกระบวนการปกติ ที่การสันดาปจะสร้างคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่อากาศ ส่วนในประเทศที่ไม่ได้รับแสงอาทิตย์มากพอ ก็ได้พัฒนาแหล่งพลังงานทดแทนชนิดอื่นๆ เช่น ประเทศฮอลแลนด์ใช้พลังงานลม ประเทศฝรั่งเศสใช้พลังงานจากปรากฏการณ์น้ำขึ้นน้ำลง ประเทศลาวใช้พลังงานจากกระแสน้ำ บางประเทศใช้พลังงานนิวเคลียร์ พลังงานจากเชื้อเพลิงชีวภาพและพลังงานความร้อนจากใต้พิภพ ทั้งนี้พลังงานทดแทนที่เหมาะสมในแต่ละประเทศนั้นขึ้นอยู่กับภูมิประเทศ ภูมิอากาศ เงินทุน และที่ขาดไม่ได้คือความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีและความร่วมมือจากประชาชนในประเทศ

นอกจากทั่วโลกจะต้องช่วยกันใช้พลังงานอย่างประหยัดแล้ว การแก้ไขปัญหาวิกฤติโลกร้อนจะต้องอาศัยความร่วมมือกันระหว่างประเทศอย่างจริงจัง ในพิธีสารเกียวโต ซึ่งมี 141 ประเทศทั่วโลกร่วมเซ็นสัญญาที่นครเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2544 นั้นกำหนดให้ประเทศอุตสาหกรรม 37 ประเทศลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์และแก๊สชนิดอื่นๆ ให้ได้อย่างน้อย 5 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2555 และในการประชุมภาวะโลกร้อนที่บาหลีซึ่งมีการกล่าวถึงการลดแก็สเรือนกระจก การถ่ายโอน clean technologyให้กับประเทศกำลังพัฒนา การป้องกันการตัดไม้ทำลายป่า และการช่วยเหลือประเทศยากจนแม้ว่าผลการประชุมจะยังไม่ประสพความสำเร็จแต่ช่วยปลุกกระแสความคิดในการลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกได้ เช่นเกิดกลไกการพัฒนาที่สะอาด (ซีดีเอ็ม)ซึ่งช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนามีแรงจูงใจมากขึ้นในการสรรหาวิธีใหม่ๆ เพื่อช่วยลดปริมาณการปล่อยแก๊สเรื่อนกระจกมากขึ้นเนื่องจากปริมาณแก๊สเรือนกระจกที่ลดได้สามารถนำไปคิดเป็นคาร์บอนเครดิตและขายให้กับประเทศหรือบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นการสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง

แม้กระแสไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงพลังงานหมุนเวียนต่างๆ เหล่านี้จะเพิ่มมากขึ้น แต่ยังไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับพลังงานที่คนทั้งโลกใช้อยู่ ดังนั้นรัฐบาลจะต้องสนับสนุนและส่งเสริมพัฒนาการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์เพื่อศึกษาค้นคว้า สร้างสรรค์เทคโนโลยีวิทยาการใหม่ๆใช้ความรู้ที่มีเปลี่ยนผู้ร้ายให้เป็นพระเอกแก้ปัญหาโลกร้อนและ ปัญหาอื่นๆ ในอนาคตต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น