นักวิทยาศาสตร์ฟันธงโค้งสุดท้าย โลกจะร้อนขึ้นกว่านี้ไม่ได้อีกแล้ว ระบุมนุษย์ยังไม่เลิกเพิ่มคาร์บอนให้ชั้นบรรยากาศ แถมปลดปล่อยออกมามากกว่าแต่ก่อน หวั่นอุณหภูมิโลกพุ่งสูงดังคาด เป็นเหตุให้เกิดภัยพิบัติรุนแรงกว่าที่คิด ขนาดแค่เพิ่มยังไม่ถึง 1 องศา ก็มีมาทั้งสารพัดพายุใหญ่และคลื่นความร้อนแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน
คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ หรือ ไอพีซีซี (Intergovernmental Panel on Climate Change : IPCC) ได้คาดการณ์ไว้ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยเหนือพื้นผิวโลกจะเพิ่มขึ้นประมาณ 1-2 องศาเซลเซียส จากในปี 2533 ด้านศูนย์ข้อมูลสภาพภูมิอากาศแห่งชาติของสหรัฐฯ (National Climatic Data Center) รายงานว่าตั้งแต่ปี 2533 อุณหภูมิเพิ่มขึ้นแล้วราว 0.12 องศาเซลเซียส
เอพีระบุว่า จากรายงานผลการวิจัยเมื่อไม่นานมานี้ของโจเอล บี สมิธ (Joel B. Smith) และคณะ จากบริษัท สเตรตัส คอนซัลติง (Stratus Consulting Inc.) มลรัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา พบว่า นับตั้งแต่ปี 2533 อุณหภูมิเฉลี่ยเริ่มสูงขึ้น แม้ยังไม่ถึง 1 องศาเซลเซียส แต่ก็ทำให้เกิดผลกระทบด้านลบมาแล้วนับไม่ถ้วน เกิดภัยแล้ง คลื่นความร้อน และอุทกภัยที่รุนแรงมากขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก
อีกทั้งยังมีแนวโน้มว่ากิจกรรมของมนุษย์จะมีส่วนทำให้เกิดคลื่นความร้อน พายุฝน, หิมะ และลูกเห็น และพายุไซโคลนในเขตร้อน ที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในอนาคต เช่น เหตุการณ์คลื่นความร้อนที่เกิดในปี 2546 และคร่าชีวิตประชากรไปหลายหมื่นคนนั้น อาจขึ้นได้อีกและรุนแรงมากกว่า จากการที่ก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศมีความเข้มข้นสูงขึ้น
ด้านคริสโตเฟอร์ ฟิลด์ (Christopher Field) นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิทยาศาสตร์คาเนกี (Carnegie Institution for Science) กล่าวในที่ประชุมประจำปีของสมาคมวิทยาศาสตร์ขั้นสูงแห่งสหรัฐฯ (American Association for the Advancement of Science) ว่าทุกวันนี้มนุษย์ก็ยังเพิ่มคาร์บอนให้ชั้นบรรยากาศอย่างต่อเนื่องและเพิ่มขึ้นรวดเร็วกว่าในช่วงปี 2533-2543 เสียด้วย
ฟิลด์ ให้ข้อมูลว่า ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ ส่วนใหญ่ในชั้นบรรยากาศมาจากอุตสาหกรรมและกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ ซึ่งส่งผลให้อุณหภูมิเหนือพื้นผิวโลกเพิ่มสูงขึ้น และทำให้สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไปจากปกติ
ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่าตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้น 3.5% ต่อปี ขณะที่ก่อนหน้านั้นย้อนกลับไป 10 ปี มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นเพียง 0.9% ต่อปี
นอกจากนั้น ยังพบหลักฐานว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบกับประชากรเฉพาะกลุ่ม เช่น กลุ่มประชากรที่มีฐานะยากจน และกลุ่มผู้สูงอายุ ทั้งในประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาแล้ว
นักวิทยาศาสตร์ยังได้รายงานถึงตัวอย่างเหตุการณ์ พายุเฮอร์ริเคนแคทรินาในสหรัฐฯ เมื่อปี 2548 และคลื่นความร้อนในยุโรปเมื่อปี 2546 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความรุนแรงของภัยธรรมชาติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่ยังเปลี่ยนไปไม่มาก เท่ากับที่เราคาดการณ์กันเอาไว้
ฉะนั้นก็เป็นไปได้มากทีเดียวว่าสิ่งที่เราคาดการณ์ไว้นั้น อาจส่งผลกระทบรุนแรงกว่าที่เราคาดคิดไว้มาก ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ต่างก็คิดกันว่าโลกไม่ควรจะร้อนขึ้นจนถึงขีดที่ไอพีซีซีคาดการณ์ไว้ เพราะไม่เช่นนั้นแล้วก็คงเกิดผลเลวร้ายต่อสิ่งมีชีวิตบนโลกอย่างที่ไม่อยากจะคาดคิด.