xs
xsm
sm
md
lg

ผลกระทบจากการปิดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิต่อลอจิสติกส์ของไทย

เผยแพร่:   โดย: ยุทธศักดิ์ คณาสวัสดิ์

การพัฒนาเศรษฐกิจเกิดขึ้นจากการคมนาคมขนส่งที่สะดวกสบาย โดยในอดีตมีคลื่นเกี่ยวกับการคมนาคมขนส่ง 4 ลูก คือ ท่าเรือ แม่น้ำ ทางรถไฟ และทางหลวง ส่วนคลื่นที่กำลังจะมาแรงในปัจจุบัน คือ ท่าอากาศยาน ซึ่งจะช่วยให้การขนส่งสินค้ารวดเร็วมากกว่า 4 คลื่นเดิม และจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการมูลค่าเพิ่มสูงบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงท่าอากาศยาน

จากความสำคัญของท่าอากาศยานดังกล่าวข้างต้น ทำให้ประเทศต่างๆ พยายามส่งเสริมให้ตนเองเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศ เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบในการแข่งขันของประเทศ เป็นต้นว่า สิงคโปร์นับเป็นผู้ส่งออกกล้วยไม้รายใหญ่อันดับต้นๆ ของโลก ทั้งสิงคโปร์มีพื้นที่จำกัด แต่อาศัยความได้เปรียบในด้านเทคโนโลยีพันธุ์กล้วยไม้รวมถึงความยอดเยี่ยมด้านลอจิสติกส์ขนส่งทางอากาศ

นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังเป็นประเทศที่ส่งออกปลาที่มีชีวิตสำหรับเลี้ยงเพื่อความสวยงามรายใหญ่ที่สุดในโลก โดยส่งออกเป็นปริมาณมากถึง 2 เท่าของมาเลเซีย และเป็น 3 เท่าของญี่ปุ่น เนื่องจากมีการเก็บบรรจุปลาในถุงพลาสติกใส่เข้าไปในเครื่องบิน และขนส่งอย่างรวดเร็วไปยังยุโรปและสหรัฐฯ โดยปลาไม่เสียชีวิต

สำหรับการส่งออกปลาของมาเลเซียไปยังต่างประเทศ เดิมจะต้องถูกตรวจสอบอย่างล่าช้าโดยกรมประมงและกรมศุลกากรของมาเลเซีย ใช้เวลายาวนานถึง 6 ชั่วโมง ผู้ส่งออกของมาเลเซียจึงหันไปใช้บริการท่าอากาศยานชางกีของสิงคโปร์ เนื่องจากใช้เวลาด้านพิธีการศุลกากรเพียงแค่ 2 ชั่วโมง เพื่อแก้ไขปัญหาข้างต้น รัฐบาลมาเลเซียได้ปรับปรุงพิธีการศุลกากรและขั้นตอนการตรวจสอบสินค้าในท่าอากาศยานของกรุงกัวลาลัมเปอร์ครั้งใหญ่ ส่งผลทำให้สามารถลดเวลาลงเหลือเพียง 2 ชั่วโมง เทียบเท่ากับสิงคโปร์ เพื่อดึงให้ผู้ประกอบการกลับมาใช้บริการท่าอากาศยานกัวลาลัมเปอร์

ขณะที่เมมฟิสเป็นเมืองขนาดกลางของสหรัฐฯ แต่ท่าอากาศยานเมมฟิสกลับมีปริมาณการขนถ่ายสินค้าทางอากาศมากที่สุดในโลก เนื่องจากเป็นศูนย์กระจายสินค้าหลักของบริษัท FedEx ซึ่งได้มีการคำนวณว่าความสำเร็จในการเป็นฐานของบริษัท FedEx ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของนครเมมฟิสในปี 2550 เป็นเงินมากถึง 330,000 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทต่างๆ นิยมมาตั้งฐานการผลิตและคลังสินค้าใกล้กับท่าอากาศยานแห่งนี้เพื่อให้สะดวกในการขนส่งทางอากาศ

ส่วนท่าอากาศยานเท็ดสตีเวนของนครแอนชอเรจในมลรัฐอลาสก้าของสหรัฐฯ ซึ่งกำลังมาแรง โดยก้าวกระโดดจากอันดับ 5 ของโลกในปี 2545 มาเป็นอันดับ 3 ของโลก ในปี 2550 แม้ว่าทำเลที่ตั้งอยู่บริเวณห่างไกลที่มีอากาศหนาวใกล้ขั้วโลกเหนือ โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยต่ำถึง -6 องศาเซลเซียส ในช่วงฤดูหนาว และมีหิมะตกมากถึง 150 มม./ปี แต่จุดเด่นสำคัญ คือ เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง

ยิ่งไปกว่านั้น การบริหารจัดการนับว่าดีเยี่ยม โดยในช่วงระยะเวลานับสิบปีที่ผ่านมา แม้จะมีพายุหิมะมากมายขนาดไหน แต่ท่าอากาศยานเท็ดสตีเวนไม่เคยต้องปิดสนามบินเนื่องจากกรณีภัยธรรมชาติแม้แต่เพียงครั้งเดียว แตกต่างจากท่าอากาศยานแห่งอื่นๆ ที่มีลักษณะภูมิอากาศใกล้เคียงกัน ต้องปิดการให้บริการจากปัญหาพายุหิมะบ่อยครั้ง

สำหรับกรณีของประเทศไทย ความสำคัญในการเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางอากาศมีแนวโน้มลดลงตามลำดับ กล่าวคือ ในปี 2545 ท่าอากาศยานดอนเมืองมีปริมาณการขนถ่ายมากเป็นอันดับที่ 17 ของโลก ต่อมาในปี 2546 ได้ลดลง 2 อันดับ เป็นอันดับที่ 19 ของโลก และมีปริมาณขนถ่ายเป็นอันดับ 19 ของโลก ติดต่อมาตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปี 2550

สำหรับในอนาคตแม้กรณีไม่มีเหตุการณ์ปิดท่าอากาศยานเกิดขึ้นก็ตาม ได้มีแนวโน้มว่าในปี 2551 ท่าอากาศสุวรรณภูมิจะถูกท่าอากาศยานกรุงปักกิ่งแซงหน้าขึ้นไป ทำให้หล่นไปอยู่อันดับที่ 20 ของโลก ประกอบกับการปิดสนามบินในช่วงที่ผ่านมาอาจส่งผลกระทบทำให้อันดับของสนามบินสุวรรณภูมิตกลงไปหลายอันดับก็เป็นได้

ท่าอากาศยานขนส่งสินค้ามากที่สุด 20 อันดับแรกของโลกในปี 2550

อันดับท่าอากาศยานเมืองประเทศปริมาณขนถ่ายสินค้า(ตัน)

1ท่าอากาศยานนานาชาตินครเมมฟิสเมมฟิสสหรัฐฯ3,840,574
2ท่าอากาศยานนานาชาติเช็กแล็บก๊อกฮ่องกงจีน3,772,673
3ท่าอากาศยานเท็ดสตีเวนแอนชอเรจสหรัฐฯ2,826,499
4ท่าอากาศยานนานาชาติอินชอนอินชอนเกาหลีใต้2,555,582
5ท่าอากาศยานนานาชาติผู่ตงเซี่ยงไฮ้จีน2,294,808
6ท่าอากาศยานชาร์สเดอโกลล์ปารีสฝรั่งเศส2,297,896
7ท่าอากาศยานนานาชาตินาริตะโตเกียวญี่ปุ่น2,252,654
8ท่าอากาศยานนานาชาติแฟรงก์เฟิร์ตแฟรงก์เฟิร์ตเยอรมนี2,169,025
9ท่าอากาศยานนานาชาติหลุยส์วิลล์หลุยส์วิลล์สหรัฐฯ2,078,290
10ท่าอากาศยานนานาชาติไมอามีไมอามีสหรัฐฯ1,922,982
11ท่าอากาศยานนานาชาติชางกีสิงคโปร์สิงคโปร์1,918,159
12ท่าอากาศยานนานาชาติลอสแองเจลิสลอสแองเจลิสสหรัฐฯ1,877,876
13ท่าอากาศยานนานาชาติดูไบดูไบสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์1,668,506
14ท่าอากาศยานนานาชาติ Schipholอัมสเตอร์ดัมเนเธอร์แลนด์1,605,681
15ท่าอากาศยานนานาชาติเตาหยวนไทเปไต้หวัน1,698,808
16ท่าอากาศยานนานาชาติ JFKนิวยอร์กสหรัฐฯ1,595,577
17ท่าอากาศยาน O’hareชิคาโกสหรัฐฯ
1,524,419
18ท่าอากาศยานฮีทโธรว์ลอนดอนสหราชอาณาจักร1,395,909
19ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิกรุงเทพมหานครไทย1,220,001
20ท่าอากาศยานนานาชาติปักกิ่งปักกิ่งจีน1,191,048

แหล่งข้อมูล : “Top 50 Airports,” AirCargoWorld July 2008

แม้จะมีการเปิดใช้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิแล้ว แต่คาดว่าน่าจะต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูความเสียหายระยะหนึ่ง กว่าที่ปริมาณผู้โดยสารและสินค้าจะกลับมามีปริมาณมากเท่าเดิมเหมือนก่อนเกิดเหตุการณ์ เนื่องจากมีความเสียหายเกิดขึ้นหลายประการ

ประการแรก เป็นความเสียหายระยะสั้นในช่วงปิดสนามบิน เป็นต้นว่า พืชผักผลไม้เน่าเสียไม่สามารถขนส่งได้ หรือเครื่องบินจอดทิ้งไว้ในสนามบิน ไม่สามารถหารายได้ หรือห้องพักในโรงแรมปล่อยทิ้งว่างไว้ในช่วงปิดสนามบิน ไม่มีแขกเข้าพัก ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายจำนวนมากนับหมื่นล้านบาท แต่ไม่ใช่ความเสียหายหลัก

ประการที่สอง เป็นความเสียหายในอนาคตซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงต่อจากนี้ไปอีกอย่างน้อย 1 ปีข้างหน้า จากความไม่มั่นใจของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ทำให้ยกเลิกการเดินทางมายังประเทศไทย ซึ่งจะเป็นมูลค่าหลายแสนล้านบาท

สำหรับในด้านอุตสาหกรรมเช่นเดียวกัน จะทำให้ผู้ซื้อต่างประเทศ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ขนส่งทางอากาศ ไม่มั่นใจว่าผู้ผลิตในประเทศไทยจะส่งสินค้าได้ทันตามกำหนดเวลาหรือไม่ เนื่องจากการผลิตในปัจจุบันเป็นแบบทันเวลาพอดี (JIT) โดยเก็บสต๊อกไว้น้อยมาก หากไม่สามารถส่งชิ้นส่วนใดชิ้นส่วนหนึ่งได้ทันตามกำหนด ก็จะกระทบต่อสายการผลิตทั้งหมดต้องหยุดทำการผลิต

จากความเสี่ยงข้างต้น มีแนวโน้มว่าผู้ซื้อจะสนใจสั่งซื้อชิ้นส่วนนั้นๆ จากประเทศไทยลดลง ส่งผลกระทบไม่เฉพาะทำให้ต้องสูญเสียรายได้เงินตราต่างประเทศจากการส่งออกเท่านั้น แต่ยังส่งผลทำให้โรงงานต้องปรับลดพนักงานลง หากไม่สามารถหาคำสั่งซื้อมาทดแทนสิ่งที่สูญเสียไปได้ นอกจากนี้ โครงการที่กำลังตัดสินใจจะลงทุนในประเทศไทย อาจจะต้องชะลอโครงการเพื่อรอดูสถานการณ์ก่อน

ประการที่สาม เป็นผลกระทบต่อฐานะทางการเงิน สำหรับผู้ประกอบการไทยที่มีฐานะทางการเงินไม่ดีนัก โดยเฉพาะในธุรกิจด้านการบิน โรงแรม รวมถึงบริษัทนำเที่ยว เป็นต้นว่า บมจ.การบินไทย ต้องสูญเสียรายได้เกิน 500 ล้านบาท/วัน ทั้งในส่วนของการขนส่งผู้โดยสารและสินค้า รวมถึงยังต้องนำเงินสดสำรองจ่ายการยกเลิกตั๋ว เปลี่ยนตั๋ว ซื้อตั๋วสายการบินอื่นให้ผู้โดยสารเดินทาง ซึ่งมีมูลค่าอีกมหาศาล

หากสถานการณ์ตกต่ำของธุรกิจท่องเที่ยวเป็นไปอย่างยาวนาน ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องจะต้องสูญเสียรายได้จำนวนมาก ขณะที่รายจ่ายค่าดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นทุกวัน จะทำให้ฐานะทางการเงินของบริษัทไม่มั่นคง บางรายอาจจะต้องล้มละลาย หรือถูกธนาคารยึดกิจการ หรือมิฉะนั้น จะต้องขายหุ้นหรือขายกิจการให้แก่บริษัทต่างชาติที่มีฐานะทางการเงินดีกว่า โดยเฉพาะนักลงทุนสิงคโปร์ที่ปัจจุบันกำลังไล่ซื้อธุรกิจสายการบินและโรงแรมในประเทศต่างๆ จำนวนมาก

เหตุการณ์ปิดสนามบินครั้งนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าประเภทไม่คงทน เช่น อาหาร ผลไม้ ดอกไม้สด ที่ต้องอาศัยการส่งออกทางเครื่องบินเท่านั้น สินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์เป็นอีกกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก เพราะต้องอาศัยความรวดเร็วในการเคลื่อนย้ายวัตถุดิบและสินค้าที่ผลิตจากประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่ง จึงต้องอาศัยการขนส่งทางเครื่องบินเป็นหลัก หรือประมาณร้อยละ 90 ทีเดียว เพราะเท่าที่ทราบบริษัทเหล่านี้หากมีความล่าช้าในการจัดส่งสินค้า จะถูกปรับชั่วโมงละนับแสนเหรียญสหรัฐ ทีเดียว

ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ บีโอไอได้รับการร้องขอความช่วยเหลือจากกลุ่มผู้ประกอบการจำนวนมาก และได้ประสานงานกับกรมศุลกากรและบริษัทการบินไทยฯ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้ ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดียิ่ง ทำให้สามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ที่มีความเร่งด่วนในการนำเข้าและส่งออกไปได้ระดับหนึ่ง แม้จะไม่สามารถช่วยเหลือได้อย่างเต็มที่ แต่ก็คงทำให้พวกเขารู้สึกมีกำลังใจขึ้นบ้างในยามนั้น

พวกเราชาวไทยทุกคน ได้แต่ภาวนาว่าเหตุการณ์ปิดสนามบินที่เกิดขึ้นนี้ จะเป็นบทเรียนที่ทุกคนจดจำไปอีกนาน และหวังว่าเหตุการณ์เช่นนี้ จะไม่เกิดขึ้นอีก เพราะเศรษฐกิจของเราบอบช้ำมากเกินพอแล้ว

ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่ศูนย์บริการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2537-8161 หรือที่ head@boi.go.th
กำลังโหลดความคิดเห็น