xs
xsm
sm
md
lg

พิษน้ำมัน-เงินเฟ้อ...ฉุดเงินลงทุนต่างชาติหดตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปฏิเสธได้อยากว่า การลงทุนของต่างชาติยังคงเป็นเรื่องสำคัญต่อประเทศไทยในช่วงที่ผ่าน แต่ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญกับความผันผวน โดยราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศเพิ่มสูงสุดในรอบกว่า 1-2 ทศวรรษ อีกทั้งเศรษฐกิจโลกทั้งของประเทศคู่ค้าและประเทศผู้ลงทุนที่สำคัญของไทยมีแนวโน้มชะลอตัว จะทำให้สถานการณ์การลงทุนของต่างชาติเป็นอย่างไรต่อไป?

การลงทุนในไทยของต่างชาติปี 2551 หดตัว
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยรายงาน การลงทุนของต่างชาติในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาว่า ตัวเลขการขอรับส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอโดยภาพรวมในช่วงระหว่างเดือนม.ค.-มิ.ย 2551 ลดลงร้อยละ 13.3 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยมีมูลค่าโครงการลงทุนประมาณ 203.7 พันล้านบาทหรือประมาณ 6.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเมื่อพิจารณาถึงโครงสร้างการลงทุนจากต่างประเทศพบว่าการลงทุนมีมูลค่าลดลงร้อยละ 34.8 โดยการลงทุนจากประเทศผู้ลงทุนหลัก คือ ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ มีการลดลงค่อนข้างมาก ซึ่งสถิติการขอรับส่งเสริมการลงทุนนี้อาจเป็นเครื่องชี้ล่วงหน้าได้ว่าการลงทุนจริงที่จะเกิดขึ้นในระยะข้างหน้าจะมีแนวโน้มอ่อนแรงลงมากขึ้น

ทั้งนี้ คาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 จะไม่มีโครงการขนาดใหญ่ของต่างชาติเข้ามาลงทุนเพิ่มเติม ทำให้มูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวมในปี 2551 อาจจะอยู่ที่ประมาณ 400-500 พันล้านบาท ซึ่งต่ำกว่ามูลค่าเป้าหมายที่ 600 พันล้านบาท โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่ากระแสเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิรวมในปี 2551 จะปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากปีก่อนหน้าร้อยละ 10-20 หรือคิดเป็นมูลค่าระหว่าง 5.9-6.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

น้ำมัน-เงินเฟ้อ.. ผลต่อการแข่งขันดึงดูดการลงทุนในภูมิภาค
ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลโดยตรงต่อต้นทุนการขนส่งสินค้าและวัตถุดิบ ซึ่งประเทศที่ระบบการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ยังไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควรจะได้รับผลกระทบ โดยไทยยังมีต้นทุนโลจิสติกส์ในประเทศค่อนข้างสูง สาเหตุเพราะว่าไทยมีการพึ่งพาเส้นทางขนส่งทางบกเป็นหลัก ท่ามกลางภาวะที่ราคาเชื้อเพลิงปรับตัวสูงขึ้นมาก ทำให้อุตสาหกรรมที่ทำการผลิตอยู่ในไทยค่อนข้างเสียเปรียบเนื่องจากต้องแบกรับต้นทุนค่าขนส่ง เนื่องจากทางเลือกอื่นๆ เช่น ระบบราง ในไทยยังมีข้อจำกัด

ขณะที่เงินเฟ้อก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจในประเทศที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต ตลาดและความน่าลงทุนของประเทศ ในประเทศไทยตัวเลขของดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนมิ.ย. 2551 เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 8.9 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้าซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 10 ปี ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ต่างก็ประสบกับภาวะที่เงินเฟ้อในประเทศที่เพิ่มขึ้นจากเดิมมากเช่นเดียวกัน

ภาวะเงินเฟ้อไม่เพียงแต่มีนัยต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังมีผลถึงความน่าลงทุนของประเทศในภูมิภาคซึ่งค่าจ้างแรงงานที่ต่ำกว่าโดยเปรียบเทียบเป็นเหตุผลหนึ่งที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจเข้ามาลงทุน เนื่องจากเมื่อเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก แรงงานจะเรียกร้องให้มีการปรับค่าจ้างให้สอดคล้องกับค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น

ระดับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นแรงกดดันต่อเงินเฟ้อและต่อค่าจ้างแรงงาน โดยตั้งแต่ช่วงปลายปี 2550 หลายประเทศได้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำขึ้น ซึ่งค่าจ้างที่แพงขึ้นเป็นต้นทุนที่ธุรกิจต้องแบกรับและเป็นหนึ่งในปัจจัยที่กำหนดสถานะการแข่งขันของประเทศ ปัจจุบันเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำของไทยถือว่าอยู่

ทั้งนี้หากการคาดการณ์เงินเฟ้อยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต ย่อมจะเป็นแรงกดดันให้ค่าจ้างแรงงานปรับตัวสูงขึ้นอีก และทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า wage-price spiral ดังนั้นจึงเป็นเรื่องของการบริหารเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพ การดูแลเงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยน และพยายามกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจในขณะเดียวกัน ซึ่งรัฐบาลต้องให้ความสำคัญ

ไทยประเทศที่ยังน่าลงทุน
ปัจจัยด้านเงินเฟ้อเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงระยะหนึ่งและเป็นปัญหาที่ทุกๆประเทศได้รับผลกระทบแม้ว่าจะในระดับมากน้อยต่างกันไป แต่ปัจจัยระยะยาวที่บริษัทข้ามชาติส่วนใหญ่ให้ความสำคัญในการตัดสินใจเลือกแหล่งที่ตั้งของการลงทุนยังคงขึ้นอยู่กับนโยบายส่งเสริมการลงทุน ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน และปัจจัยพื้นฐานอื่นๆ ของประเทศนั้นๆ ที่มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับกลยุทธ์เครือข่ายการผลิตระหว่างประเทศ

โดยเมื่อพิจารณาถึงปัจจัยพื้นฐานแล้ว ไทยยังเป็นที่น่าสนใจในการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ จากรายงานของเจโทรที่ทำการสำรวจบริษัทญี่ปุ่นที่มีการลงทุนในต่างประเทศ พบว่าไทยเป็นประเทศที่มีบริษัทญี่ปุ่นเข้าไปลงทุนตั้งฐานการผลิตมากที่สุดเป็นอันดับสองรองจากจีน โดยบริษัทญี่ปุ่นมองไทยว่ามีปัจจัยที่ได้เปรียบจีน อินโดนีเซีย เวียดนาม และอินเดียในด้านโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน ระบบกฎหมาย การคุ้มครองสิทธิทางปัญญา และการให้สิทธิประโยชน์ในการลงทุน ความพร้อมของคลัสเตอร์และอุตสาหกรรมสนับสนุน การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและบริการ การเปิดกว้างของตลาด และข้อพิพาทด้านแรงงานที่มีน้อยกว่าประเทศอื่นโดยเปรียบเทียบ

ขณะที่ไทยมีข้อเสียเปรียบในด้านขนาดและศักยภาพการเติบโตของตลาด ต้นทุนธุรกิจ โดยการเมืองภายในประเทศจะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้ไทยเสียโอกาสในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้เช่นกัน

กล่าวโดยสรุปคือ แม้ว่าโดยภาพรวมภาวะการลงทุนที่ขอรับการส่งเสริมในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2551 ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากปีก่อนหน้ามากนัก และการลงทุนในช่วงที่เหลือของปี 2551 มีแนวโน้มชะลอตัวลง แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ปัญหาที่กำลังเผชิญทั้งในเรื่องของราคาน้ำมัน และเงินเฟ้อ อาจมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงความได้เปรียบ-เสียเปรียบของประเทศในภูมิภาคเอเชีย และประเทศไทยยังมีข้อได้เปรียบกว่าอีกหลายประเทศในภูมิภาคเดียวกัน

โดย เสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเมือง ความได้เปรียบของปัจจัยการผลิต (ทั้งในด้านปริมาณ คุณภาพและราคา) ความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน เหล่านี้เป็นสิ่งหลักๆ ที่นักลงทุนข้ามชาติให้ความสำคัญและใช้เป็นเกณฑ์พิจารณาตัดสินใจเลือกลงทุนในที่ใดที่หนึ่ง

ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ ประเทศไทยควรมีการบริหารจัดการโดยใช้เครื่องมือทางการเงินและการคลังเพื่อดูแลอัตราเงินเฟ้อและในขณะเดียวกันต้องพยายามรักษาอัตราการขยายตัวทาง

นอกจากนี้รัฐบาลควรต้องเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างเร่งด่วน เช่น โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ (Southern Seaboard) และโดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขนส่ง อาทิ การขยายเครือข่ายระบบรางให้ครอบคลุมและเชื่อมต่อกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเพื่อลดการพึ่งพาการขนส่งทางบก และการลดต้นทุนโลจิสติกส์ 
กำลังโหลดความคิดเห็น