ศูนย์ข่าวภูเก็ต - กทช.เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากคนภาคใต้ต่อบริการคงสิทธิเลขหมายเพื่อการให้บริการด้านโทรคมนาคมที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นเรื่อยๆ ประเดิมดำเนินการโทรศัพย์มือถือที่มีคนใช้เป็นจำนวนมาก
วันนี้ (1 ส.ค.) คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อบริการคงสิทธิเลขหมาย หรือ (MNP) โดยมีหน่วยงานเกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่ภูเก็ตและภาคใต้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก โดยมี พลเอกชูชาติ พรหมพระสิทธิ์ ประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการประชุม ณ.โรงแรมเมอร์เคียว ป่าตอง จ.ภูเก็ต
ทั้งนี้ เพื่อให้องค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ ค่าบริการ และการประชาสัมพันธ์ ที่เกี่ยวกับบริการคงสิทธิเลขหมายให้ประชาชนได้รับทราบอย่างทั่วถึง รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากตัวแทนทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อให้มีการคุ้มครองประชาชนผู้ใช้บริการโทรศัพท์อย่างแท้จริง
พลเอกชูชาติ พรหมพระสิทธิ์ ประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กล่าวว่า การจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อบริการคงสิทธิเลขหมาย ดำเนินการทั้งในส่วนของผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม เพื่อปรับปรุงระบบโทรคมนาคมและระบบฐานข้อมูลที่จำเป็นต่อการบริการคงสิทธิเลขหมายเข้าด้วยกัน
ทั้งนี้ ส่วนใหญ่แล้วผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมยินดี ให้ความร่วมมือในการดำเนินการให้มีบริการคงสิทธิเลขหมาย ส่วนการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อบริการคงสิทธิเลขหมายในส่วนประชาชนผู้ใช้บริการโทรศัพท์ นั้น กทช.ได้ดำเนินการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นฯ ในครั้งที่ 1 ที่ภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น และในวันนี้ ที่จังหวัดภูเก็ต และจะรับฟังความคิดเห็นครั้งสุดท้ายที่กรุงเทพฯในวันศุกร์หน้า
พลเอกชูชาติ กล่าวว่า ภูเก็ตเป็นเมืองศูนย์กลางพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีเศรษฐกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง ผลมาจากการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ ที่มุ่งเน้นให้เป็นประตูเปิดสู่อันดามัน ตามโครงการพัฒนาแนวพื้นที่เศรษฐกิจในแถบอันดามัน ดังนั้นโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมให้การลงทุนการค้ามีความสะดวก คล่องตัว
การดำเนินการเพื่อผลักดันการบริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Number Portability) ที่ กทช.ดำเนินการอยู่นี้เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์หลักด้านการบริหารจัดการทรัพยากรโทรคมนาคม ตามแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม ฉบับที่ 2 (พ.ศ 2551-2553) ซึ่ง กทช. จะต้องส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เหมาะสม และการบริหารจะต้องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตลอดจนต้องคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้บริโภคได้อย่างเต็มที่ โดยหวังว่าการบริการคงสิทธิเลขหมายนี้ สอดคล้องและสามารถส่งเสริมหลักยุทธศาสตร์จังหวัดภูเก็ตที่ต้องการให้เมืองเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงเครือข่ายการค้า การลงทุน การบริการ และการคมนาคมขนส่งในภูมิภาคสู่สากล ได้เช่นกัน
กทช.ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการแสดงความคิดเห็นจึงได้กำหนดแนวทางการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อบริการคงสิทธิเลขหมาย โดยมีการจัดให้มีการบรรยายองค์ความรู้จากผู้เชียวชาญเฉพาะด้านและอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิที่ทำการวิจัยในเรื่องนี้ มีการจัดแสดงนิทรรศการ มีการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อบริการคงสิทธิเลขหมายทั้งผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมที่เกี่ยวข้องและผู้ใช้บริการโทรศัพท์ นักวิชาการ หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภค และ NGO ที่จะจัดขึ้นในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดย กทช.ยินดีรับฟังความคิดเห็นเพื่อนำมากำหนดในแผนการดำเนินการต่อไป
การประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อบริการคงสิทธิเลขหมายในส่วนภูมิภาคครั้งนี้ กทช. ได้ประชาสัมพันธ์ด้วยวิธีการต่างๆ อย่างทั่วถึงในทุกส่วนของภาคใต้ โดยผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้แทนจากส่วนงานราชการ ผู้แทนจากสถาบันการศึกษาทุกจังหวัด ประชาชนทั่วไป ตลอดจนเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคภาคใต้ ซึ่งจะมีการให้ความคิดเห็นที่หลากหลายเกี่ยวกับการคิดค่าบริการ และสิทธิของผู้ใช้บริการ
โดยในเบื้องต้นจะบริการคงสิทธิเลขหมายที่เป็นโทรศัพย์เคลื่อนที่ หรือโทรศัพท์มือถือก่อน เนื่องจากจะเกิดประโยชน์กับประชาชนในวงกว้าง เพราะขณะนี้มีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือถึง 5 ล้านเลขหมาย หลังจากนั้นก็จะขยายไปสู่โทรศัพท์พื้นฐานต่อไป
ขณะที่ ศาสตราจารย์ประสิทธิ์ ประพิณมงคลการ กรรมการกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่า จากการที่ทาง กทช.ได้รับฟังความคิดเห็นประชาชนในหลายพื้นที่ในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นว่าประชาชนที่เข้าร่วมประชุมเข้าใจในสิทธิการคงเลขหมาย ซึ่งการสิทธิการคงเลขหมายนั้นประชาชนสามารถที่จะใช้หมายเลขโทรศัพท์มือถือเบอร์เดิมได้ในทุกเครือข่าย แต่จะต้องเสียค่าธรรมเนียมในการดำเนินการ ซึ่งขณะนี้ได้กำหนดไว้ที่ 300 บาท เพราะจากการที่ได้ให้ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทำการสำรวจพบว่าประชาชนรับได้กับค่าธรรมเนียม 300 บาทในการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์ รวมทั้งการคงสิทธิเลขหมายในเบื้องต้นของการดำเนินการน่าที่จะใช้เวลาประมาณ 3 วัน และหากใช้ไปประมาณ 1-2 ปี จะทำให้สามารถดำเนินการได้ภายใน 24 ชั่วโมง และคาดว่าจะสิ้นสุดกระบวนการต่างๆประกาศใช้ได้ประมาณปลายปี 2552 ที่จะถึงนี้
“การคงสิทธิเลขหมายนั้นคิดว่าผู้บริโภคจะได้ประโยชน์ในหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการที่มีคุณภาพสูงขึ้นจากผู้ประกอบการที่ต้องมีการแข่งขันกันสูง ความสะดวกของผู้ใช้บริการที่ไม่ต้องแจ้งการเปลี่ยนหมายเลขโทรศัพท์หากมีการเปลี่ยนเครือข่ายการใช้”