xs
xsm
sm
md
lg

“หอฯปัตตานี” ยันไม่ทิ้ง “นิคมอุตสาหกรรมฮาลาล”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศิริชัย ปิติเจริญ กรรมการบริษัทฟาตอนี อินดัสตรี จำกัด ซึ่งรับผิดชอบการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมฮาลาล และประธานหอการค้าจังหวัดปัตตานี
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ – “ศิริชัย ปิติเจริญ” ประธานหอการค้าจังหวัดปัตตานี ยันปล่อยนิคมฯฮาลาล ร้าง ล่าสุด คืบแล้วกว่า 30% โดยทุ่มเม็ดเงินราว 500 ล้าน พัฒนาระบบสาธารณูปโภคน้ำ ไฟฟ้า ประปา ถนนพร้อม แต่ยังไร้เงานักลงทุนเข้านิคมฯ เหตุยังไม่มีการรับรองความปลอดภัยและสิทธิประโยชน์ ไม่แตกต่างจากที่ได้ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ลั่นค้านนโยบาย “หมัก นอมินี” หนุนทหารร่วมเอกชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ชี้มีแต่สร้างภาพเสียต่อความเชื่อมั่น แนะให้ทหารดูแลความปลอดภัยให้เต็มที่ดีกว่า

ด้วย 3 จังหวัดชายแดนใต้ มีประชากรมุสลิมเป็นส่วนใหญ่ ผลักดันให้ จ.ปัตตานี กลายเป็นเจ้าของพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งแรกของประเทศไทย ที่จะผลิตอาหารมุสลิม ภายใต้เครื่องหมายฮาลาล สู่ตลาดโลกซึ่งประชากรมุสลิมทั่วโลกไม่น้อยกว่า 1.5 พันล้านคน มูลค่าตลาดโลกไม่ต่ำกว่าปีละ 8.0 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยนำวัตถุดิบจาก 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้และใช้แรงงานในพื้นที่เป็นหลัก

ทว่า หลังจากนิคมอุตสาหกรรมฮาลาล จ.ปัตตานี เดินหน้ามาได้ระยะหนึ่ง กลับประสบเหตุความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน ทั้งการก่อเหตุยิงชาวบ้าน ข้าราชการทุกวัน และก่อเหตุเผา-ทำลาย วางระเบิด ทรัพย์สินสาธารณะ และธุรกิจเอกชนให้ได้รับความเสียหาย และเสียชีวิต และสถานการณ์ทางการเมืองไม่นิ่ง ทำให้ความคืบหน้าไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

อย่างไรก็ตาม นายศิริชัย ปิติเจริญ กรรมการบริษัท ฟาตอนี อินดัสตรี จำกัด ซึ่งรับผิดชอบการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมฮาลาล และประธานหอการค้าจังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า แม้ว่าโครงการนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลจะล่าช้าร่วม 4 ปีแล้วก็ตาม แต่ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น นิคมอุตสาหกรรมฮาลาลก็จะเดินหน้าต่อไปอย่างแน่นอน เพียงแต่ต้องดูจังหวะและโอกาส เนื่องจากยังมั่นใจในศักยภาพของพื้นที่ จ.ปัตตานี ว่า มีความเหมาะสมต่อการเป็นศูนย์กลางฮาลาลของประเทศไทย

ทั้งนี้ ความคืบหน้าของโครงการปัจจุบันเดินหน้ากว่า 30% มีการจัดหางบประมาณลงมาสนับสนุนในด้านสาธารณูปโภคแล้ววงเงินประมาณ 500 ล้านบาท แบ่งเป็นระบบไฟฟ้าภายในนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ประมาณ 250 ล้านบาท การจัดหาแหล่งน้ำและระบบประปาประมาณ 140 ล้านบาท ส่วนที่เหลือ 110 ล้านบาทเป็นระบบถนนเพื่อรองรับการคมนาคมขนส่ง ทั้งในส่วนที่ต้องตัดสายใหม่และปรับปรุงเส้นทางเดิม

“ภาครัฐและเอกชน พยายามที่จะสร้างความมั่นใจเพื่อให้โครงการนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลเดินหน้าต่อไปได้ โดยหอการค้าฯ ได้เข้าปรึกษาและพูดคุยกับหน่วยที่เกี่ยวข้องและฝ่ายกลาโหม แต่จนถึงขณะนี้แม้ว่าระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานจะมีความพร้อมรองรับแล้ว ก็ยังไม่มีนักลงทุนเข้ามาในนิคมฯ เนื่องจากทั้งปัญหาความไม่สงบและยังขาดสิทธิประโยชน์ที่พิเศษกว่าสิทธิประโยชน์ของเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ 5 จชต. ซึ่งเห็นว่านิคมอุตสาหกรรมฮาลาลควรจะได้สิทธิประโยชน์ที่มากกว่าพื้นที่อื่น” นายศิริชัย กล่าวต่อและว่า

อย่างไรก็ตาม ภายใต้การนำของ ครม.นายสมัคร สุนทรเวช ซึ่งได้มีท่าทีชัดเจนต่อการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ว่า จะให้ทหารเข้าร่วมกับภาคเอกชนเพื่อดำเนินการต่างๆ ในภาคใต้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมีการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมทหารในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ โดยทหารจะเข้าหุ้น 51% ภาคเอกชนถือหุ้น 49% คล้ายกับรัฐวิสาหกิจนั้น รวมถึงการให้ทหารเป็นผู้คุ้มกันและดำเนินโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่

นายศิริชัย กล่าวว่า โดยส่วนตัวแล้วยังไม่อยากให้รัฐบาลชุดนี้เข้ามาดูแลในพื้นที่มากนัก เนื่องจากที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีอะไรคืบหน้า และไม่เห็นด้วยกับการให้ทหารเข้ามาเกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจ เพราะความเชื่อมั่นของนักลงทุนจะเกิดขึ้นได้ต้องมาจากภาพการลงทุนของภาคธุรกิจเอง โดยมีฝ่ายทหารรับรองความปลอดภัยและดูแลอย่างดีที่สุด และหากให้ทหารมาทำด้านนี้แล้ว หน้าที่การดูแลความปลอดภัยก็จะอ่อนลง เมื่อเกิดจุดอ่อนให้ฝ่ายตรงข้ามโจมตีได้จะยิ่งตอกย้ำภาพความน่ากลัวในพื้นที่ และชี้ให้เห็นว่านักลงทุนไม่สามารถจัดการบริหารได้เองแต่ต้องพึ่งทหาร

“ทิศทางของนิคมอุตสาหกรรมฮาลาล ทุกฝ่ายเห็นด้วยว่าต้องเดินหน้าต่อไปให้สำเร็จลุล่วง แต่กำลังพิจารณาดูถึงวิธีการที่จะเดินต่อไปว่าจะทำอย่างไร เพราะถ้าพูดถึงปัตตานีนี้แล้ว เส้นเลือดจากประมงที่เคยหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจก็ทรุดเพราะพิษราคาน้ำมัน ถ้าไม่เร่งนิคมอุตสาหกรรม จ.ปัตตานีก็จะไม่เหลืออะไรแล้ว” นายศิริชัย กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลเกิดขึ้นตามแผนแม่บท โดยมีพื้นที่รองรับประมาณ 939 ไร่ ในพื้นที่คาบเกี่ยวของ 2 อำเภอ คือ อ.ปานาเระ และ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เฟสแรกเริ่มด้วยเนื้อที่ประมาณ 176 ไร่ ส่วนที่เหลืออีกเกือบ 800 ไร่จะแบ่งเป็นเฟสต่อๆ ไป โดยในแผนที่ 1 มีระยะเวลา 5 ปีเริ่มตั้งแต่ปี 2544-2549

นอกจากความล่าช้าจากเหตุความไม่สงบแล้ว หลังจากครบกำหนดแผน 5 ปี ในปี 2549 เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ทำให้ในปี 2550 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ไม่ได้มีการจัดสรรงบประมาณให้แก่กระทรวง ทบวงกรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินแผนงาน สนับสนุนส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาลาลในระยะต่อไป

ภายใต้รัฐบาลนอมินี ซึ่งสังคมสับสนและเคลือบแคลงต่อการเข้ามาบริหารงาน ก็น่าจับตามองว่า ท้ายที่สุดแล้วโครงการพัฒนาเศรษฐกิจใต้ และการแก้ปัญหาความไม่สงบจะสามารถเดินหน้าควบคู่กันหรือไม่ และอย่างไร หรือความหวังทั้งหมดจะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีรัฐบาลชุดใหม่
กำลังโหลดความคิดเห็น