xs
xsm
sm
md
lg

เตือนอย่าห่วงแต่ H5 ให้เฝ้าระวังหวัดนกทุกสายพันธุ์อาจพัฒนาสู่คนได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชื้อไข้หวัดนกไม่ได้มีแค่สายพันธุ์ H5N1 เท่านั้นที่แพร่สู่คนได้ ยังมีสายพันธุ์อื่นอีกแต่อาจไม่รุนแรงเท่า นายกสมาคมไวรัสเตือนอย่าประมาท ต้องเฝ้าระวังทุกสายพันธุ์ที่แพร่สู่คน เพราะเชื้ออาจกลายพันธุ์และระบาดเงียบโดยไม่ทันรู้ตัว ขณะที่วัคซีนป้องกันโรคสามารถทำได้แค่ระดับปฏิบัติการ เทคนิคไม่ใช่ปัญหา ทว่าขาดงบลงทุน

ศ.นพ.ประเสริฐ เอื้อวรากุล คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล และนายกสมาคมไวรัสวิทยา เปิดเผยระหว่างการประชุมวิชาการนานาชาติด้านไข้หวัดนกที่โรงแรมดุสิตธานี เมื่อวันที่ 24 ม.ค.51 ว่าเชื้อไข้หวัดในนกมีหลายสายพันธุ์ ขณะที่มีบางสายพันธุ์สามารถแพร่สู่คนได้ แต่ที่ตื่นตัวกันก็คือเชื้อเอช5เอ็น1 (H5N1) เพราะทำให้เกิดโรครุนแรงในคน

เชื้อไวรัสสายพันธุ์เอช (H) ที่ทำให้เกิดโรคในสัตว์ปีกมีมากกว่า 10 ชนิด โดยที่ H5, H7 และ H9 เป็นสายพันธุ์ที่รุนแรงในนก แต่มีเพียงสายพันธุ์ H5 เท่านั้นที่ทำให้เกิดโรครุนแรงในคนได้ ซึ่งเชื้อ H5N1 ติดต่อสู่คนและทำให้มีอาการรุนแรงได้เช่นกัน ผู้ป่วยที่ติดเชื้อ 60% เสียชีวิต จึงทำให้มีการตื่นตัวเรื่องไข้หวัดนก” ศ.นพ.ประเสริฐ เผย

ทว่าเชื้อไข้หวัดนกที่ติดต่อสู่คนได้ไม่ได้มีเฉพาะ H5N1 เท่านั้น ซึ่งเคยมีรายงานในต่างประเทศมาแล้วว่าพบผู้ป่วยติดเชื้อ H7N7 และ H9N2 ทว่าไม่มีอาการรุนแรงนัก

“มีความเป็นไปได้ที่เชื้อไข้หวัดนกทุกชนิดอาจกลายพันธุ์สู่คนได้ แต่ที่กังวลกันอยู่ตอนนี้คือ H5N1 เพราะก่อโรครุนแรงในคน ขณะที่ชนิดอื่นที่ไม่รุนแรงเท่าแต่ติดต่อสู่คนได้เหมือนกันจะเฝ้าระวังยากกว่า ผู้ป่วยมีอาการเพียงเล็กน้อย อาจไม่มีใครรู้ว่าติดเชื้อไข้หวัดนกมาแล้ว และเชื้อก็ค่อยๆ ปรับตัวจนระบาดจากคนสู่คนได้ กรณีนี้ก็อันตรายมากเช่นกันที่อาจเกิดระบาดขึ้นโดยที่เราไม่ทันเฝ้าระวัง” นายกสมาคมไวรัสฯ กล่าว ซึ่งเขาเสนอว่าทางที่ดีเราต้องเฝ้าระวังการกลายพันธุ์และติดตามการระบาดของเชื้อไข้หวัดนกทุกสายพันธุ์ และวัคซีนป้องกันก็น่าจะได้ผลดี

ทั้งนี้ ศ.นพ.ประเสริฐ บอกว่า มีนักวิจัยทั่วโลกหลายกลุ่มที่กำลังพัฒนาวัคซีนป้องกันไข้หวัดนก แต่ยังไม่มีรายไหนที่ผลิตออกมาใช้กันจริงๆ ส่วนในประเทศไทยก็มีหลายสถาบันที่ศึกษาวิจัยเรื่องนี้อยู่

ปัญหาของการทำวัคซีนไม่ได้อยู่ที่เทคนิคทางวิทยาศาสตร์ แต่อยู่ว่าจะผลิตยังไงให้มีพอใช้หรือผลิตได้ทันเวลาก่อนระบาด เพราะเท่าที่มีรายงานการวิจัยก็พบว่าวัคซีนได้ผลดีในระดับทดลอง ส่วนในประเทศไทยก็มีหลายห้องปฏิบัติการที่สามารถสร้างไวรัสและเพาะเลี้ยงสำหรับงานวิจัยได้ หรือจะปรับเปลี่ยนไวรัสให้เป็นสายพันธุ์สำหรับวัคซีนก็ได้ แต่จะมีปัญหาเรื่องกระบวนการผลิตในระดับอุตสาหกรรมที่ต้องให้ได้มาตรฐาน ซึ่งต้องลงทุนสูง และต้องพิจารณาถึงความคุ้มค่าว่าควรจะเตรียมการรับมืออย่างไร” ศ.นพ.ประเสริฐกล่าว

อย่างไรก็ดี ศ.นพ.ประเสริฐ เสริมว่า เชื้อไวรัสเปลี่ยนแปลงเร็วและอาจกลายพันธุ์จนสามารถแพร่จากคนสู่คนได้ แต่ต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงในยีนหลายตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับโปรตีนฮีแมกกลูตินิน (hemagglutinin) ที่เคยจำเพาะกับเซลล์ของสัตว์ปีกให้จับกับตัวรับ (receptor) ในเซลล์ของคนได้ ซึ่งต้องอาศัยการติดต่อจากคนสู่คนหลายๆ ครั้ง

แต่ที่ผ่านมาพบการกลายพันธุ์เพียงครึ่งๆ กลางๆ เท่านั้น ไวรัสจึงยังไม่สามารถแพร่จากคนสู่คนได้ แต่ก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่มันถึงจะกลายพันธุ์ได้สมบูรณ์แบบ ซึ่งเคยพบเชื้อกลายพันธุ์ในผู้ป่วยที่ติดเชื้อมาจากไก่เพียงกรณีเดียวในประเทศไทย แต่โชคดีที่ไม่มีการติดต่อไปสู่ผู้อื่น แต่มีรายงานพบผู้ติดเชื้อในคนกลุ่มใหญ่ในอินโดนีเซีย แต่ก็ยังไม่พบว่าเชื้อกลายพันธุ์แต่อย่างใด ทว่าที่น่าเป็นห่วงก็คือหากเชื้อกลายพันธุ์และเกิดการระบาดจากคนสู่คนขึ้นจริงแล้วเจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยไม่ทัน
กำลังโหลดความคิดเห็น