xs
xsm
sm
md
lg

นักวิทย์รางวัลเจ้าฟ้ามหิดลแนะทั่วโลกผนึกกำลังป้องกันหวัดนกแทนฆ่าไก่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สัตว์ปีกเคราะห์ร้ายตายเป็นเบือเพราะเชื้อไข้หวัดนก แถมบางตัวต้องพลอยถูกฆ่าไปด้วยเพื่อกันการระบาดเพราะอาจมีเชื้อร้ายแฝงตัวอยู่ ขณะที่เชื้อมรณะยังกบดานอยู่ในธรรมชาติ คนก็ยังไม่เลิกกินไก่ นักวิทย์รางวัลเจ้าฟ้ามหิดลปี 41 เสนอแนะว่าทั่วโลกควรผนึกกำลังและมีเป้าหมายชัดเจนในการยับยั้งไข้หวัดนกโดยหาวิธีที่ดีกว่าการฆ่าสัตว์ปีก

ศาสตราจารย์เคนเนดี เอฟ ชอร์ตริดจ์ (Kennedy F. Shortridge) นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งฮ่องกง (The University of Hong Kong, P.R.China) ซึ่งเป็นบุคคลแรกๆ ที่ทำวิจัยเรื่องไข้หวัดนก และได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาสาธารณสุข ในปี 2541 จากการวิจัยเพื่อควบคุมการระบาดของเชื้อเอช5เอ็น1 (H5N1) ในฮ่องกงเมื่อปี 2540 ให้เกียรติบรรยายพิเศษในงานประชุมวิชาการนานาชาติไข้หวัดนก 2551 ณ โรงแรมดุสิต ธานี เมื่อวันที่ 24 ม.ค.51

รศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รอง ผอ.ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) กล่าวถึงเนื้อหาที่ ศ.ชอร์ตริดจ์บรรยายว่า ปัญหาของโรคในขณะนี้อยู่ที่มีเชื้อไข้หวัดนกแฝงตัวอยู่ในนกและไก่จำนวนมากในแถบตอนใต้ของประเทศจีนและในธรรมชาติทั่วไป ซึ่งการระบาดก็ไม่ได้เกิดขึ้นให้เห็นบ่อยครั้งและไม่รู้ว่าจะมีการระบาดใหญ่เกิดขึ้นเมื่อใด

“ศ.ชอร์ตริดจ์บอกว่าไข้หวัดนกเป็นปัญหาเรื้อรัง เพราะเชื้อยังซ่อนตัวอยู่ในธรรมชาติ ไก่ นก หรือสัตว์ปีกในธรรมชาติก็มีมากมาย คงเป็นไปไม่ได้ที่จะกำจัดเชื้อให้หมดไปโดยการฆ่าสัตว์ปีกให้หมด ขณะที่คนก็ยังบริโภคไก่กันอยู่ เพราะไก่เป็นแหล่งโปรตีนจากเนื้อสัตว์ที่ราคาถูกที่สุดในโลก จำเป็นต่อประชากรโลกอย่างยิ่ง 85% ของสัตว์ปีกที่บริโภคกันทั่วโลกก็คือไก่” รศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

รอง ผอ.ไบโอเทค ยังเผยอีกว่า ศ.ชอร์ตริดจ์ระบุว่าเรื่องไข้หวัดนกนี้ถือเป็นปัญหาระดับนานาชาติที่ทั่วโลกควรร่วมกันเป็นหนึ่งเดียวเพื่อแก้ปัญหาเหมือนเช่นการแก้ปัญหาโรคไข้ทรพิษหรือโรคโปลิโอดังเช่นที่ผ่านมา

อีกทั้งขณะนี้นักวิจัยของประเทศต่างๆ ก็มีผลงานที่ดี แต่ยังขาดความร่วมมือและวิสัยทัศน์ที่ไปทางเดียวกัน จึงควรผนึกกำลังทั่วโลกกำหนดแนวทางป้องกันและตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนร่วมกันเพื่อต่อสู้กับเชื้อไข้หวัดนกไม่ให้เกิดการระบาดขึ้นอีก

ทั้งนี้ ศ.ชอร์ตริดจ์เสนอว่าแนวทางหนึ่งก็คือการศึกษาระบบนิเวศวิทยาของสัตว์ปีก เชื้อไวรัส และคน ซึ่งยังไม่ค่อยมีใครศึกษาเรื่องนี้กันนัก และเชื่อว่าต่อไปคงเลี่ยงไม่ได้แน่ถ้าเรายังบริโภคสัตว์ปีกกันอยู่

กำลังโหลดความคิดเห็น