xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมของบ 4,000 ล้านปลุกศูนย์นิวเคลียร์องครักษ์ หวังไม่ผิดซ้ำสอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผอ.สถาบันวิจัยนิวเคลียร์ปลื้ม “วุฒิพงศ์” ส่งนโยบายปลุกยักษ์เตาปฏิกรณ์วิจัยแห่งที่ 2 ของประเทศที่ อ.องครักษ์ หลังติดคดีทุจริตนับทศวรรษ ชี้มติ ครม.ทักษิณเปิดช่องให้ทำได้ ไม่ต้องรอคดีความยุติ ระบุสานต่อโครงการในพื้นที่เดิม แต่ต้องจัดการบริษัทที่ปรึกษา ก่อนเดินหน้าเปิดประมูลใหม่ พร้อมชงเรื่องเข้า ครม.หมักของบ 4,000 ล้านบาท หลังจ่ายค่าโง่ไปแล้วกว่า 2,000 ล้าน คาดเร็วสุด 3 ปีโครงการสำเร็จ ยันยึดบทเรียนในอดีตเพิ่มความเข้มงวดไม่ให้ผิดซ้ำสอง

เข้าสู่สัปดาห์ที่ 3 ของการเป็นรัฐมนตรีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) คนใหม่ “นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง” ก็ได้จุดกระแสการสานต่อโครงการก่อสร้างเตาปฏิกรณ์วิจัยขึ้นอีกหนที่ อ.องครักษ์ จ.นครนายก ในโอกาสเยี่ยมชมและรับทราบนโยบายการทำงานของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) บางเขน กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 25 ก.พ.51

หากการก่อสร้างสำเร็จจะถือเป็นเตาปฏิกรณ์วิจัยเครื่องที่ 2 ของประเทศ ทดแทนเครื่องเก่าขนาด 2 เมกะวัตต์ที่ ปส.บางเขน ที่มีอายุใช้งานมาเกือบ 50 ปี โดยปลายปี 2532 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติโครงการจัดตั้งศูนย์วิจัยนิวเคลียร์องครักษ์เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี เพื่อจัดสร้างเตาปฏิกรณ์วิจัยขนาด 10 เมกะวัตต์ขึ้นมาครั้งหนึ่ง แต่แม้จะล่วงเลยไป 18 ปี โครงการก็ยังไม่แล้วเสร็จ อีกยังมีความไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นจนต้องสอบสวนหาตัวผู้รับผิด

ดร.สมพร จองคำ ผอ.สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน.เปิดเผยถึงความพยายามครั้งใหม่โดย รมว.วิทยาศาสตร์ฯ คนล่าสุดเมื่อวันที่ 26 ก.พ.51 ว่า สามารถทำได้ทันที เนื่องจากมติ ครม.ของรัฐบาล พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ได้เปิดช่องไว้ให้แยกการฟ้องร้องดำเนินคดีระหว่าง ปส.และ บ.เจเนรัล อะตอมมิกส์ (จีเอ) ซึ่งเป็นบริษัทรับเหมาโครงการเป็นกรณีหนึ่งให้ ปส.ดำเนินการ และแยกเรื่องการก่อสร้างเตาปฏิกรณ์วิจัยเครื่องใหม่เป็นอีกเรื่องหนึ่งโดยมี สทน.รับผิดชอบ

ทว่าในรัฐบาลที่ผ่านมา ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รมว.วิทยาศาสตร์ฯ คนก่อนต้องการให้สะสางเรื่องคดีความให้แล้วเสร็จก่อนจึงเริ่มการก่อสร้างได้ จึงไม่มีการดำเนินการใดๆ

ดร.สมพร กล่าวว่า หากมีการก่อสร้างจริงจะสามารถใช้พื้นที่ก่อสร้างเดิม ณ ต.ทรายมูล อ.องครักษ์ จ.นครนายก ได้ โดยอาคารสำนักงานและอาคารปฏิบัติการทั้ง 18 หลัง ได้ก่อสร้างเสร็จ 100% แล้ว ปัจจุบัน สทน.ได้นำบุคลากรเข้าใช้พื้นที่กว่า 100 คน

อย่างไรก็ตาม ต้องรอให้ รมว.วิทยาศาสตร์ฯ นำเรื่องเสนอต่อ ครม.เพื่อขอความเห็นชอบในการสรรหาเอกชนรายใหม่เพื่อก่อสร้างอาคารปฏิกรณ์วิจัย ระบบผลิตไอโซโทปรังสี และส่วนกำจัดกากกัมมันตภาพรังสีซึ่งที่ผ่านมาจีเอยังไม่ได้เริ่มก่อสร้างใดๆ เลย

เบื้องต้นคาดว่าจะต้องใช้งบประมาณก่อสร้างครั้งใหม่ราว 4,000 ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้างไม่เกิน 4 ปีหรืออาจเร่งให้เหลือ 3 ปีก็จะแล้วเสร็จ โดยอาจต้องศึกษาเทคโนโลยีเพิ่มเติมเล็กน้อยเท่านั้น เพราะมีการติดตามมาโดยตลอดอยู่แล้ว

พร้อมกันนี้ ผอ.สทน.ชี้ว่า จะต้องหารือกับนายเชาวน์ รอดทองคำ เลขาธิการ ปส. ก่อนเพื่อให้มีการยกเลิกหรือฟ้องร้องบริษัทอิเล็กทรอวัตต์ คอนซัลติง เซอร์วิสเซส (อีดับเบิลยูอี) ในฐานะบริษัทที่ปรึกษาโครงการอย่างใดอย่างหนึ่งเนื่องจากไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้อีกต่อไป ทั้งนี้เพื่อเปิดช่องให้สรรหาบริษัทที่ปรึกษาและบริษัทที่ดำเนินการก่อสร้างรายใหม่ได้

ส่วนมาตรการรองรับไม่ให้เกิดความผิดพลาดซ้ำรอยอีก ดร.สมพร ชี้ว่า จากบทเรียนความผิดพลาดในอดีต สทน.จะไม่ปล่อยให้เกิดความผิดพลาดอีก จุดสำคัญอยู่ที่คณะกรรมการกำกับโครงการที่ต้องมีความเข้มงวด ต่างจากในอดีตที่มีการปล่อยปละละเลยให้เกิดความยืดเยื้อ โดยเฉพาะเรื่องใบอนุญาตก่อสร้างเตาปฏิกรณ์วิจัยที่เอกชนจะต้องนำมาแสดงอย่างชัดเจน

ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างศูนย์วิจัยนิวเคลียร์องครักษ์เกิดขึ้นภายใต้วงเงินงบประมาณว่าจ้างจีเอเริ่มแรก 2,750 ล้านบาท ต่อมามติครม.เมื่อ 26 มิ.ย.2540 ได้พิจารณาเพิ่มเงินงบประมาณเป็น 3,335 ล้านบาท จากนั้นเมื่อมีการประกาศลอยตัวค่าเงินบาทในวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ทำให้มูลค่าโครงการเพิ่มเป็น 4,500 ล้านบาท

ที่ผ่านมา ปส.ได้จ่ายเงินค่าจ้างให้แก่จีเอแล้วประมาณ 1,800 ล้านบาท และจ่ายเงินค่าที่ปรึกษาโครงการแก่อีดับเบิลยูอีประมาณ 247 ล้านบาท รวมกว่า 2,000 ล้านบาท ขณะที่ ดร.สมพร ชี้ว่าหากเริ่มโครงการใหม่จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเฉพาะเตาปฏิกรณ์วิจัย ระบบผลิตไอโซโทป และส่วนกำจัดกัมมันตภาพรังสีอีกประมาณ 4,000 ล้านบาท

กำลังโหลดความคิดเห็น