xs
xsm
sm
md
lg

หวั่นรัฐยัด "นิวเคลียร์" ให้รากหญ้า แถมไร้หลักประกันความเสี่ยง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตัวแทนภาคประชาชนหวั่นไม่ไว้ใจภาครัฐ มัดตราสังข์ยัด "โรงไฟฟ้านิวเคลียร์" ให้รากหญ้าแบบไร้ส่วนร่วมและหลักประกันในชีวิต-ทรัพย์สิน ยก "ฝนเหลืองแม่แมาะ" เป็นอุทาหรณ์ จี้แม้แต่นักวิชาการยังไม่ตกผลึกความคิดแต่เหตุไฉนหวังให้ชาวบ้านไร้การต่อต้าน เผยกลัวซ้ำรอย "มาร์กอส" มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นอนุสรณ์คอรัปชั่น ด้านนักวิชาการ ม.นเรศวร เผยพลังงานแสงอาทิตย์เป็นทางออกปลอดนิวเคลียร์ของคนไทย

ในช่วงคาบเกี่ยวรัฐบาลเก่า-รัฐบาลใหม่ การศึกษาเตรียมการก่อสร้าง "โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์" ถือเป็นมรดกชิ้นสำคัญที่รัฐบาล คมช.โยนเรื่องให้รัฐบาลใหม่ช่วยสานต่อ ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า พ.ศ.2550 -2564 (พีดีพี 2007) ได้กำหนดให้มีการผลิตไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์กำลังการผลิตรวม 4,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2564 เพื่อรองรับความต้องการของประเทศเมื่อถึงเวลานั้น

เมื่อวันที่ 27 ก.พ.51 คณะทำงานโครงสร้างพื้นฐาน คมนาคม และพลังงาน สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้จัดสัมมนาเวทีสาธารณะ "พลังงานนิวเคลียร์และพลังงานทางเลือก" ขึ้นที่โรงแรมเรดิสัน กรุงเทพฯ เพื่อเป็นตัวกลางระหว่างรัฐบาลทั้ง 2 ชุดต่อประเด็นดังกล่าว ทว่าการแลกเปลี่ยนส่วนใหญ่กลับเทน้ำหนักไปยังฝ่ายที่เห็นด้วยกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ จนภาคประชาชนต้องขอยกมือใช้สิทธิ์ท้วงติง

นายชาตวิทย์ มงคลแสน ผอ.สถาบันอิสานภิวัตน์ เผยว่า เขารู้สึกไม่ไว้ใจภาครัฐในเรื่องดังกล่าวเลย เพราะไม่ทราบว่าหากเกิดการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสีขึ้นมาเมื่อใด ใครจะให้หลักประกันในชีวิตและทรัพย์สินแก่ชาวบ้านรากหญ้า ตัวอย่างเช่น ฝนเหลืองในโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง ทำให้ลูกหลานที่เกิดมามีความพิการแขนและขา ซึ่งรัฐก็ทำได้แต่จ่ายค่าชดเชยให้เท่านั้น

ที่สำคัญ เขาชี้ว่า ภาครัฐได้ศึกษาเตรียมการและใช้งบประมาณเบื้องต้นไปแล้วถึง 150 ล้านบาท โดยไม่มีการทำประชาพิจารณ์หรือเปิดให้มีภาคประชาชนมีส่วนร่วมเลย ไม่ต่างจากนโยบายที่ผ่านๆ มาที่รัฐมักจะผูกขาดการกำหนดนโยบายจากบนลงล่าง ไม่เปิดโอกาสให้มีนโยบายจากล่างขึ้นบนบ้าง

"เท่าที่ฟังในฐานะภาคประชาชนรากหญ้า ข้อมูลที่นำมาพูดกันยังมีข้อกังขามาก เสนอแต่ตัวอย่างผลสำเร็จในประเทศพัฒนาแล้วซึ่งใช้เทียบกันไม่ได้ นักวิชาการและผู้บริหารที่มาพูดก็ยังไม่ได้มีการตกผลึกความคิดดี จะสื่อสารให้ชาวบ้านฟังเขาก็ไม่รู้เรื่อง ซึ่งรัฐก็ชอบเพราะควบคุมง่าย แต่พอเขาต่อต้านขึ้นมาก็ไปต่อว่าเขาอีก" ผอ.สถาบันอิสานภิวัตน์กล่าว

ขณะเดียวกัน ประเด็นเรื่องความเชื่อมั่นจากภาคประชาชนก็มีส่วนสำคัญ โดยนายปรีชา คุณะกฤดาธิการ ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาปัญหาสังคมไทย มองว่า สิ่งสำคัญที่สุดที่ภาครัฐต้องเร่งทำคือการสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นในภาคประชาชน จากตอนนี้ที่ไม่มีอยู่เลย เนื่องจากภาคประชาชนไม่เชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ใจของนักการเมืองและเกรงกลัวปัญหาคอรัปชั่น ยกตัวอย่างการสร้างสนามบินสุวรรณภูมิเพียงโครงการเดียวก็ยังเถียงกันไม่จบ

ขณะที่การก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการที่ดี มิฉะนั้นแล้วอาจซ้ำรอยกับประเทศฟิลิปปินส์สมัยประธานาธิบดีเฟอร์ดินาน มาร์กอส ที่ว่าจ้างเอกชนสหรัฐฯ สร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์จนเสร็จ แต่ทบวงการปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) ไม่ยอมให้เดินเครื่อง เพราะมีการทุจริตลดสเปกสินค้ามากจนไม่ได้มาตรฐาน ท้ายที่สุดจึงต้องปล่อยให้เป็นอนุสาวรีย์ของการคอรัปชั่นจวบจนทุกวันนี้

"ถ้าไทยเรามีมาตรฐานไม่ถึงก็จะเกิดความเสี่ยง แต่ถ้าควบคุมดีๆ ก็อยู่ในวิสัยที่ควบคุมได้ เวียดนามก็ลงมือสร้างแล้ว แต่ตอนนี้คนไทยไม่เชื่อกัน กลัวจะซ้ำรอยฟิลิปปินส์ แต่ถ้าไม่มองตอนนี้ก็ลำบาก เพราะจะหันไปใช้พลังน้ำก็มีการต่อต้าน พลังงานแสงอาทิตย์ก็มีต้นทุนสูง ส่วนพลังงานลมก็พึ่งพาไม่ได้ โดยเราควรต้องมองภาพรวมทั้งภูมิภาค อาจหาความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาวและเขมรเพื่อผลิตไฟฟ้าจากน้ำ แต่เราเองก็ต้องมีของเราเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานด้วย" ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาปัญหาสังคมไทยกล่าว

ขณะที่ รศ.ดร.วัฒนพงษ์ รักษ์วิเชียร ผอ.วิทยาลัยพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยนเรศวร หนึ่งในวิทยากรที่มีมุมมองต่างออกไปจากวิทยากรส่วนใหญ่เสนอว่า อนาคตอันใกล้นี้ การก่อสร้างโรงไฟฟ้าแบบรวมศูนย์ขนาดใหญ่ เช่น โรงไฟฟ้าพลังก๊าซธรรมชาติ โรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือการผลิตกระแสไฟฟ้าจากเขื่อนขนาดใหญ่จะมีแนวโน้มลดลง

แต่จะมีโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนขนาดเล็กจ่ายไฟใช้เองในชุมชน โดยใช้แหล่งพลังงานชีวมวล ลม แสงแดด หรือพลังน้ำตามความเหมาะสมเพื่อลดการสูญเสียพลังงานในระบบการสายส่งและจำหน่ายจำนวนมหาศาลเมื่อเทียบกับระบบเก่า

ส่วนตัวเลือกพลังงานของประเทศไทย เขามองว่า พลังงานแสงอาทิตย์เป็นตัวเลือกหนึ่งซึ่งไทยจะพึ่งพิงได้นอกเหนือจากพลังงานนิวเคลียร์เพราะไทยมีต้นทุนพลังงานแสงแดดมาก แต่ที่ผ่านมากลับมีการพัฒนาน้อยเกินไป โดยคาดการณ์กันว่าภายในปี 2563 นี้ กระแสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จะมีต้นทุนถูกลงจากปัจจุบันนับสิบๆ เท่าจึงอาจทดแทนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้อย่างไร้ปัญหา

สำหรับผลของการระดมความคิดเห็นครั้งนี้ ศ.นพ.ดร.วิจิตร บุณยะโหตระ คณะทำโครงสร้างพื้นฐาน คมนาคม และพลังงาน เผยว่าจะมีการนำเสนอต่อรัฐบาลเพื่อประกอบการพิจารณาภายในเวลา 2 เดือน



กำลังโหลดความคิดเห็น