กรีนพีช - กรีนพีซเรียกร้องรัฐบาลชุดใหม่ที่นำโดยพรรคพลังประชาชนให้ยุบสำนักงานพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ (Nuclear Power Development Office) และใช้เงิน 1.38 พันล้านบาท ในการเพิ่มศักยภาพของประสิทธิภาพทางพลังงาน การจัดการความต้องการใช้ไฟฟ้า (DSM) และการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน
“ท่ามกลางการด่วนตัดสินใจของรัฐบาลชุดก่อน การอนุมัติงบประมาณ 1.38 พันล้านบาทไปกับการศึกษาพลังงานนิวเคลียร์ในวันสุดท้ายของการดำรงตำแหน่งของ ดร.ปิยะสวัสดิ์ อมรนันท์ ในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานนั้นเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ เนื่องจากนิวเคลียร์ไม่ใช่ทางออกที่ปลอดภัยและไม่ใช่การแก้ปัญหาเรื่องความมั่นคงทางพลังงานที่แท้จริง” นายธารา บัวคำศรี ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว
งบประมาณ 1.38 พันล้านบาท ได้จัดสรรให้กับสำนักงานพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อทำการศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้น การเลือกทำเลที่ตั้งโครงการ แผนงานการยอมรับของสาธารณชน และการพัฒนาทักษะเชิงเทคนิคที่จำเป็นให้กับบุคลากรในประเทศ ในการเร่งรุดแผนการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทย
“ข้อดีต่างๆ ของนิวเคลียร์ที่ผู้ผลักดันทั้งหลายยกขึ้นมาพูดนั้นเป็นเพียงแค่โวหารมากกว่าความเป็นจริง หลายแห่งทั่วโลกพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าพลังงานนิวเคลียร์คือหายนะทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นรัฐบาลชุดใหม่จึงไม่ควรใช้งบประมาณ 1.38 พันล้านบาท เพื่อหาข้อสรุปในเรื่องที่รู้กันอยู่แล้ว งบประมาณดังกล่าวควรนำไปใช้เพื่อรับมือกับความเร่งด่วนของภาวะโลกร้อนและความมั่นคงทางพลังงานที่ถูกทิศทาง” นายธารา กล่าวเสริม
จากข้อมูลในรายงานสถานภาพของอุตสาหกรรมนิวเคลียร์โลกปี 2550 (The World Nuclear Industry Status Report 2007) โดยไมเคิล ซไนเดอร์, แอนโทนี ฟรอกแกท (Greens EFA group in European Parliament) จำนวนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วโลกมีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัด ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งหมด 439 แห่งทั่วโลกที่ยังคงใช้การอยู่ ซึ่งลดลงจากเดิม 5 แห่งเมื่อเทียบกับ 5 ปี ที่ผ่านมา อีก 32 แห่ง
สำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ระบุว่ายังอยู่ใน “ยังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง” ซึ่งจำนวนนี้ได้ลดลงไปจากที่มีอยู่ในช่วงปี 2533 ถึง 20 แห่ง สหภาพยุโรปมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ใช้งานอยู่ทั้งสิ้น 146 แห่ง ซึ่งลดลงจากในปี 2532 ถึง 20 แห่ง
รายงานสถานภาพของอุตสาหกรรมนิวเคลียร์โลกปี 2550 ระบุอีกว่า นอกเหนือจากผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมแล้ว การขาดกำลังแรงงานที่ได้รับการฝึกฝน การสูญเสียขีดความสามารถอย่างมหาศาล อุปสรรคปัญหาที่มีอย่างรุนแรงในเชิงของการผลิต การขาดความมั่นใจของสถาบันทางการเงินระหว่างประเทศ และผู้แข่งขันจากระบบก๊าซธรรมชาติและพลังงานหมุนเวียน ยังได้ทำให้อุตสาหกรรมนิวเคลียร์ไม่อาจโงหัวขึ้นได้
“พลังงานนิวเคลียร์คือฝันร้ายที่น่ากลัว มันไม่เพียงแต่ทำลายความสงบสุขและความมั่นคงของภูมิภาค ผู้คนที่อาศัยอยู่ใกล้กับที่ตั้งของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะต้องหวาดระแวงถึงอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นเหมือนกับเหตุการณ์เชอร์โนบิลในประเทศรัสเซีย” นายนารุดดิน อะมิน (Naruddin Amin) ประธาน Nahdhatul Ulamma แห่งเกาะชวา เมืองเจปารา ประเทศอินโดนีเซียกล่าว
“ผู้คนในเมืองเจปาราได้ต่อสู้กับการเข้ามาของโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในบริเวณภูเขาไฟมูเรีย (Mount Muria) ซึ่งเป็นภูเขาไฟที่พร้อมปะทุได้ทุกเมื่อ หลังจากได้รับฟังความคิดเห็นของประชาชนและคำแนะนำจากนักวิชาการหลากหลายสาขา ในวันที่ 1 กันยายน 2550 คณะ Nahdhatul Ulama แห่งเมืองเจปารา ได้ตัดสินใจให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในเมืองเจปาราเป็นสิ่งต้องห้าม เนื่องจากผลกระทบอันเลวร้ายของโครงการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อันตรายของการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสีและกากนิวเคลียร์นั้นมีมากกว่าผลประโยชน์ที่จะได้รับ และถือเป็นการคุกคามการอยู่รอดของประชากรในพื้นที่” นายนารุดดินกล่าวสรุป