xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ตรวจ วท.ยัน "องครักษ์ภาค 2" ไร้ปัญหา เรื่องฉาวที่ผ่านมาไม่มีเจตนาทุจริต "แค่เสียค่าโง่"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้ตรวจราชการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ยันไร้ปัญหาเดินหน้า “เตาปฏิกรณ์วิจัยองครักษ์ภาค 2” เผยเจ้ากระทรวงทราบเรื่องทุกแง่ทุกมุมแล้ว เชื่อ “องครักษ์” เกิดเพราะบริหารจัดการไม่ดี จึงเสีย “ค่าโง่” ไม่มีเจตนาทุจริต หายห่วงหากคนกลุ่มเดิมร่วมสานภาค 2 อีกรอบ ด้านเอ็นจีโอตั้งข้อสังเกตไม่แน่ใจที่บอกว่าไม่มีการทุจริต เหตุเพราะมีความพยายามเอื้อประโยชน์ให้จีเอหลายจุด

นางกอบแก้ว อัครคุปต์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ในฐานะประธานคณะทำงานสืบสวนสอบสวนความไม่ชอบมาพากลโครงการก่อสร้างศูนย์วิจัยนิวเคลียร์องครักษ์ จ.นครนายก ให้สัมภาษณ์ตอบรับการเดินหน้าสรรหาเอกชนรายใหม่เพื่อเข้าสานต่อโครงการก่อสร้างเตาปฏิกรณ์วิจัยเดิมที่สะดุดลงและค้างคามานานกว่า 18 ปีว่า เป็นเรื่องที่สามารถทำได้ตามระเบียบพัสดุของทางราชการโดยไม่มีปัญหาใดๆ

ทั้งนี้ นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ได้รับการรายงานจากตัวนางกอบแก้วเองถึงความไม่ชอบมาพากลในโครงการอย่างละเอียดทุกแง่ทุกมุมแล้ว

ก่อนหน้านี้ ระหว่างการเยี่ยมชมการทำงานและมอบนโยบายให้แก่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) เมื่อวันที่ 28 ก.พ.51 นายวุฒิพงศ์ ในฐานะ รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ได้สั่งการให้ สทน.เริ่มเดินหน้าโครงการดังกล่าวอีกครั้งโดยไม่ต้องรอให้การสืบสวนสอบสวนความไม่ชอบมาพากลในโครงการแล้วเสร็จก่อน เนื่องจากเขามองว่าประเทศไทยได้สูญเสียโอกาสการใช้งานรังสีนิวเคลียร์ในด้านการแพทย์ การเกษตร และการฉายรังสีอัญมณีเพิ่มมูลค่าปีละนับหมื่นล้านบาทเป็นเวลาต่อเนื่องมานับสิบปีแล้ว

ทว่า การสั่งเดินหน้าดังกล่าวก็สร้างให้เกิดความกริ่งเกรงกันมากว่าจะซ้ำรอยโครงการเดิมที่ล้มลง ทำให้รัฐสูญเสียเงินไปกว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งยังไม่สามารถฟันธงไปได้ว่าความล้มเหลวของโครงการเกิดขึ้นโดยมีเจตนาทุจริตของข้าราชการระดับสูงของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ แอบแฝงอยู่หรือไม่ และจะมีการสะสางคดีความอย่างไร ยิ่งการเดินหน้าโครงการรอบใหม่ที่นางกอบแก้วยอมรับว่าอาจเลี่ยงไม่พ้นผู้บริหารหน้าเดิมๆ มาร่วมทำงานด้วยแล้ว ก็ทำให้ความเชื่อมั่นลดน้อยลงไปอีก

อย่างไรก็ดี นางกอบแก้ว ซึ่งได้สอบสวนกรณีการว่าจ้างบริษัท อิเล็กทรอวัตต์ คอนซัลติง เซอร์วิสเซส (อีดับเบิลยูอี) บริษัทที่ปรึกษาโครงการซึ่งรับเงินค่าจ้างไป 247 ล้านบาท โดยเนื้องานไม่มีความคืบหน้าจริง เผยอย่างมั่นใจว่า ความไม่ชอบมาพากลที่เกิดขึ้นไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับการทุจริตใดๆ ในโครงการก่อสร้างเตาปฏิกรณ์วิจัยแห่งที่ 2 ขนาด 10 เมกะวัตต์นี้แน่นอน

พร้อมกันนั้น ผู้ตรวจราชการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เชื่อว่า เหตุดังกล่าวน่าจะเป็นผลมาจากการบริหารจัดการที่บกพร่องมากกว่า และการสรรหาเอกชนรายใหม่จะไม่มีความติดขัดใดๆ เช่นกัน โดยเร็วๆ นี้การสอบสวนกรณีบริษัท เจเนรัล อะตอมมิกส์ (จีเอ) บริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างเตาปฏิกรณ์วิจัย ระบบผลิตไอโซโทป และระบบกำจัดกาก ที่ไม่เริ่มงานก่อสร้างตามสัญญาก็น่าจะแล้วเสร็จ

"อีก 4 ปี เตาปฏิกรณ์ถึงจะสร้างเสร็จ เมื่อถึงเวลานั้น คนกลุ่มเดิมๆ นี้ก็จะเกษียณกันไปหมดแล้ว เปิดโอกาสให้เด็กรุ่นใหม่มาทำหน้าที่แทน เพราะที่ผ่านมา ปส.ส่งคนไปเรียนต่อต่างประเทศนับสิบๆ คน ถึงแม้ว่าจะมีคนกลุ่มเดิมอยู่ด้วยก็ไม่เป็นไร อย่างที่สืบสวนกรณีอีดับเบิลยู โดยส่วนตัวก็เชื่อว่าไม่น่าจะมีการทุจริต แต่เป็นการบกพร่องด้านการบริหารจัดการมากกว่า"

ส่วนความคืบหน้าของการสืบสวนสอบสวนความไม่ชอบมาพากล ผู้ตรวจราชการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เผยว่า ขณะนี้ ดร.สุจินดา โชติพานิช ปลัดวิทยาศาสตร์ฯ ได้ส่งเรื่องการสืบสวนสอบสวนไปยังกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เพื่อดำเนินการความผิดทางละเมิดแล้ว ส่วนการเอาผิดทางวินัยและความผิดด้านการละเลยการปฏิบัติหน้าที่นั้น ได้ส่งเรื่องไปยังนายเชาวน์ รอดทองคำ เลขาธิการ ปส.ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการเพื่อเร่งดำเนินการแล้ว

ขณะที่นายสันติ โชคชัยชำนาญกิจ เจ้าหน้าที่กลุ่มศึกษาพลังงานทางเลือกเพื่ออนาคต ซึ่งติดตามเรื่องดังกล่าวมาโดยตลอด กล่าวถึงการสานต่อโครงการอีกครั้งของนายวุฒิพงศ์ว่า อยากให้ทบทวนอีกครั้งเนื่องจากเตาปฏิกรณ์วิจัยถือเป็นอุปกรณ์ที่ล้าสมัย ต้นทุนสูงถึง 4,000-5,000 ล้านบาท และมีกากกัมมันตภาพรังสีให้ต้องกำจัด

อีกทั้งการสร้างเตาปฏิกรณ์ขนาดใหญ่ยังเป็นการรวมศูนย์ที่ไม่จำเป็น แต่ควรสนับสนุนงบประมาณให้มีการใช้งานรังสีนิวเคลียร์ที่กระจายไปอยู่ตามจุดที่มีการใช้งานจริงด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและประหยัดกว่า เช่น เครื่องไซโคลตรอน โดย ปส.มีหน้าที่กำกับดูแลความปลอดภัยในการใช้งานก็เพียงพอแล้ว

ส่วนที่ผู้ตรวจราชการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เชื่อว่าไม่มีการทุจริตในโครงการนั้น นายสันติ เผยว่า อยากตั้งข้อสังเกตว่าในโครงการดังกล่าวมีหลายจุดที่สังเกตได้ถึงการเอื้อประโยชน์ให้แก่จีเออย่างเห็นได้ชัด ตั้งแต่การล็อคสเปกให้จีเอเข้าร่วมประกวดราคาเพียงบริษัทเดียว เมื่อมีการท้วงติงจากคณะทำงาน ผู้บริหารก็ไม่ยอมรับฟัง จนดูเป็นการดันทุรัง จึงไม่แน่ใจว่าต่างมีความบริสุทธิ์ใจกันมากน้อยแค่ไหน

กำลังโหลดความคิดเห็น