xs
xsm
sm
md
lg

คนกระทรวงวิทย์ไม่มากเรื่อง รมต.คนไหนก็ทำงานได้ทั้งนั้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คนกระทรวงวิทย์เตรียมต้อนรับ รมต.คนใหม่ ปลัดหญิงยินดีใครเป็นเจ้ากระทรวงก็พร้อมร่วมทำงานด้วย ขณะที่รองปลัดทั้ง 2 เชื่อผู้บริหารนอกสายน่าจะนำความรู้นิติศาสตร์แก้ปัญหาที่ค้างคาได้ พร้อมสร้างความตระหนักวิทยาศาสตร์แก่เยาวชน ส่วน ผอ.สำนักนวัตกรรมฯ มั่นใจ รมต.ใหม่จะเชื่อมภาคความรู้และภาคการค้า ขณะที่ผู้ว่าการ วว. แนะต้องเชื่อมโยงการทำงานระหว่างกระทรวงด้วย

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ก็ได้เจ้ากระทรวงคนใหม่ภายใต้รัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวชไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 6 ก.พ.51 ซึ่งก็คือ "นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง" น้องชายของนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ท่ามกลางการรอคอยนายใหม่ภายในกระทรวงซอยโยธีตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

น.ส.สุจินดา โชติพานิช ปลัด วท. ยอมรับว่า ยังไม่มีโอกาสรู้จัก รมว.วิทยาศาสตร์ฯ คนใหม่อย่างเป็นการส่วนตัวเลย เพียงรับรู้ผ่านสื่อเท่านั้น แต่ก็ยังคงยืนยันว่าไม่ว่าใครจะมาเป็น รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ก็น่าจะช่วยผลักดันงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไปได้

อย่างไรก็ตามแม่บ้านกระทรวงวิทย์กล่าวว่า ทางกระทรวงยินดีที่จะมีส่วนในการผลักดันนโยบายต่างๆ ไปกับ รมว.วิทยาศาสตร์ฯ คนใหม่ด้วยดี เบื้องต้นได้นำเสนอข้อมูลของหน่วยงานต่างๆ ในสังกัดให้นายวุฒิพงศ์ ทราบภาพใหญ่ไปบ้างแล้ว คาดว่าจะสามารถทำงานร่วมกันได้โดยไม่มีปัญหา


ขณะที่พิธีรับมอบงานจะทำโดย ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รมว.วิทย์คนก่อนที่เวลานี้ติดภารกิจอยู่ ณ ต่างประเทศ

ด้านความกังวลว่านายใหม่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ไม่ใช่ผู้ที่มีพื้นความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มากมายนัก นายพูลสุข พงษ์พัฒน์ รองปลัดและโฆษกกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จากสายสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ชี้ว่า แม้นายวุฒิพงศ์จะไม่ได้จบวิทยาศาสตร์มาก็ไม่น่าจะมีปัญหาต่อการบริหารกระทรวงวิชาการนี้ เพราะงานที่ต้องทำคืองานนโยบายและสามารถขอความช่วยเหลือด้านวิชาการเชิงลึกจากทีมที่ปรึกษาได้

ในอีกมุมมองหนึ่ง นายพูลสุขมองว่า การได้คนนอกสายมาทำงาน น่าจะทำให้ได้มุมมองใหม่ๆ จากบัณฑิตนิติศาสตร์ รั้วมหาวิทยาลัยรามคำแหงรายนี้ด้วย

โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่กำลังมีการศึกษาเตรียมการ ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดย ปส. มีหน้าที่ด้านการกำกับดูแลความปลอดภัยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.พลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ.2504 ฉบับแก้ไขปรับปรุงใหม่ยังไม่มีผลบังคับใช้

นอกจากนั้นนายพูลสุขชี้ว่าจากความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายนี้ยังสามารถนำไปใช้กับเรื่อง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพเพื่อรับมือกับประเด็นพืชดัดแปลงพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) หรือแม้แต่การสืบสวนสอบสวนความไม่ชอบมาพากลโครงการก่อสร้างศูนย์วิจัยนิวเคลียร์องครักษ์ จ.นครนายก ได้ด้วย

ส่วนรองปลัดวิทยาศาสตร์ฯ อีกคนจากรั้วมหาวิทยาลัยมหิดล ศ.ดร.ชัยวัฒน์ ต่อสกุลแก้ว ชี้ว่าอีกจุดหนึ่งที่ รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ควรสานต่อจาก รมว.วิทยาศาสตร์ฯ คนก่อนคือ การสร้างความตระหนักทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้แก่เยาวชน ผ่านโครงการต่างๆ เช่น ห้องเรียนวิทยาศาสตร์ ค่ายวิทยาศาสตร์ โรงเรียนเทคโนโลยีฐานวิทย์ ซึ่งจะเป็นวางรากฐานการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ประเทศได้

พร้อมกันนี้ ศ.ดร.ชัยวัฒน์ ยังหวังว่า ยังควรผลักดัน พ.ร.บ.ส่งเสริมวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ. ... และ พ.ร.บ.วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. ... ซึ่งคณะรัฐมนตรีชุดที่ผ่านมาเห็นชอบไปสู่ภาคปฏิบัติจนเห็นผลด้วย

ขณะที่ผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดอย่างสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) นายศุภชัย หล่อโลหการ ผอ.สนช.ดูจะเป็นผู้ที่รู้จักกับนายวุฒิพงศ์มากกว่าคนอื่นๆ โดยนายศุภชัย เผยว่า นายวุฒิพงศ์ เคยทำโครงการขอการสนับสนุนตามรายการ "นวัตกรรมดี...ไม่มีดอกเบี้ย" กับ สนช.เมื่อ 2 ปีแล้ว เพื่อขยายสายการผลิตนวัตกรรม "การแปรรูปเศษไม้สักเป็นไม้ปาเกต์ที่มีลวดลายสวยงาม" โดยผลงานดังกล่าวได้จดสิทธิบัตรคุ้มครองสิทธิ์ในสหรัฐอเมริกาแล้ว

นายศุภชัยชี้ว่าจากการพบปะกับนายวุฒิพงศ์ ทำให้ทราบว่านายวุฒิพงศ์มีความรู้เรื่องสิทธิบัตร การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และเรื่องของนวัตกรรมเป็นอย่างดี จึงน่าจะเป็น รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ที่เชื่อมประสานภาคการผลิต ภาคการค้า และภาคผู้ประกอบการ กับภาคความรู้ที่มีอยู่ในกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จนเกิดมีธุรกิจใหม่ๆ ตามมาได้ควบคู่กับการสร้างระบบการบริหารจัดการใหม่ๆ อันจะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศตามมา

ส่วน ดร.นงลักษณ์ ปานเกิดดี ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ออกตัวว่า ยังต้องอาศัยเวลาศึกษาเพื่อทำความเข้าใจนโยบายใหม่ของ รมว.วิทยาศาสตร์ฯ คนล่าสุดสักระยะหนึ่งก่อนดำเนินการใดๆ แต่ก็หวังว่า รมว.วิทยาศาสตร์ฯ คนใหม่จะมีความมุ่งมั่นพัฒนาชาติ ดังที่มีหลายประเทศเป็นตัวอย่างเช่น เกาหลีใต้และไต้หวัน

ทั้งนี้จุดสำคัญที่ ดร.นงลักษณ์อยากเห็นคือ การเชื่อมประสานการทำงานของหน่วยงานในกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และกระทรวงอื่นๆ เข้าหากัน ซึ่งแม้ว่าปัจจุบันจะพอมีบ้างแล้วแต่ก็ยังไม่มากพอที่จะทำให้เกิดการทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งอยากได้แรงสนับสนุนจากผู้มีอำนาจทางการเมืองเพื่อเพิ่มศักยภาพจากจุดนี้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศ





กำลังโหลดความคิดเห็น