พูดถึงพลังงานปรมาณูทีไร ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือคนชาติไหนๆ ก็ออกอาการหวาดกลัวไปหมด เลขาธิการ ปส.ชี้ เพราะคนยังติดภาพระเบิดปรมาณูในอดีตอยู่ แถมศึกษาน้อย เชื่อตามกันง่าย ส่วนนักนิวเคลียร์จุฬาฯ ชี้เพราะเรากลัวในสิ่งที่เราไม่คุ้นเคยมากกว่า
นายเชาวน์ รอดทองคำ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กล่าวว่า สาเหตุที่คนไทยตลอดจนคนชาติต่างๆ รู้สึกหวาดกลัวพลังงานปรมาณูเป็นเพราะสังคมยังติดภาพหายนะในอดีตอยู่ ยกตัวอย่างกรณีระเบิดปรมาณู 2 ลูกที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้มีคนเจ็บและตายนับแสนๆ คน ดังนั้นไม่ว่าจะพูดถึงปรมาณูเมื่อใด คนก็จะคิดถึงแต่ระเบิดนิวเคลียร์เพียงอย่างเดียว
ส่วนปัจจัยด้านการศึกษาและทำความเข้าใจตัวเทคโนโลยีก็เป็นจุดสำคัญที่ตัดสินว่าคนจะหวาดกลัวพลังงานปรมาณูหรือไม่ เลขาธิการ ปส.ยกตัวอย่างคนญี่ปุ่นที่นอกจากจะมีระเบียบวินัยแล้วยังมีการศึกษาหาความรู้ที่ดี ทำให้นำข้อเท็จจริงมาวิเคราะห์และตัดสินใจได้เอง แม้ว่าคนญี่ปุ่นน่าจะกลัวพลังงานปรมาณูกว่าใครๆ จนปัจจุบันญี่ปุ่นมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แล้ว 55 โรง มีที่กำลังสร้างเพิ่ม จนญี่ปุ่นเป็นชาติที่พึ่งพาไฟฟ้าจากพลังงานปรมาณูมากถึง 40%
ขณะที่คนไทยยังศึกษาพลังงานปรมาณูค่อนข้างน้อย สังเกตได้จากการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนที่มีแต่เรื่องไสยศาสตร์ -ความเชื่อ และเมื่อนำเสนอข่าวใดๆ คนก็มักจะเชื่อตามโดยไม่วิเคราะห์เพิ่ม ที่แม้ตัวสำนักงาน ปส.เอง คนไทยก็ยังรู้จักน้อยมากแม้จะก่อตั้งมานานถึง 45 ปี โดยได้ทำหน้าที่เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจด้านพลังงานปรมาณูมาตลอด แต่ก็ยอมรับว่าส่วนหนึ่งมาจากจุดอ่อนด้านการประชาสัมพันธ์ของ ปส.เองที่ต้องหาสาเหตุและแก้ไขต่อไป
ทั้งนี้ นายเชาวน์ เรียกร้องด้วยว่าอยากให้สื่อระมัดระวังในการเสนอข่าวมากขึ้น ตั้งใจเสนอข่าวทั้ง 2 ด้าน เสนอข่าวโดยเห็นแก่ประโยชน์ของประเทศชาติ หากสงสัยเรื่องใดก็ให้สอบถามมายัง ปส.ได้เพื่อการเสนอข่าวที่ถูกต้อง และควรแยกกันชัดเจนระหว่างข่าวที่นำเสนอข้อเท็จจริง และบทความวิเคราะห์ที่แสดงความคิดเห็น
ต่อประเด็นเดียวกัน รศ.นเรศ จันทร์ขาว หัวหน้าภาควิชานิวเคลียร์เทคโนโลยี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสริมว่า ที่คนกลัวพลังงานปรมาณูน่าจะเป็นเพราะธรรมชาติของมนุษย์ที่มักกลัวในสิ่งที่ตัวเองไม่รู้จักและไม่คุ้นเคย ซึ่งหากให้ตัวเองเลือกระหว่างการทำงานในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กับการนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ในกรุงเทพฯ แล้ว อย่างแรกดูจะปลอดภัยมากกว่า
อย่างไรก็ดี เพื่อทำให้ประชาชนรู้จักพลังงานปรมาณูมากขึ้น รศ.นเรศ แนะว่าควรจะต้องลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับประชาชนมากขึ้น และผลักดันสู่การเรียนการสอนในโรงเรียน ซึ่งก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องทำให้ไม่เป็นการโฆษณาชวนเชื่อ