เลขาธิการ ปส.ระบุต้นเดือนหน้า ผู้ประกอบไม่ต้องขอใบอนุญาตนำเข้า-ส่งออกเครื่องกำเนิดรังสีอีกแล้ว ยอมรับการปรับปรุง พ.ร.บ.ปรมาณูเพื่อสันติต้องอาศัยรัฐบาลต่อไปช่วยสานต่อหากยังสนใจโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
นายเชาวน์ รอดทองคำ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กล่าวว่า ในวันที่ 13 ก.พ.51 กฎกระทรวงซึ่งมีเนื้อหากำหนดเงื่อนไขการขออนุญาตและขอใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ.2504 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2508 และมีการแก้ไขเนื้อหาล่าสุดจะมีผลบังคับใช้ กำหนดให้การนำเข้า-ส่งออกเครื่องกำเนิดรังสีสามารถทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาต แต่ต้องขออนุญาตใช้เครื่องผลิตรังสี
ก่อนหน้านี้ กฎกระทรวงฉบับปี 46 ได้กำหนดให้การนำเข้าเครื่องกำเนิดรังสีต้องขอใบอนุญาตอ้างตามมาตรา 13 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการนำเข้าวัสดุนิวเคลียร์พิเศษ วัสดุพลอยได้ หรือวัสดุต้นกำลัง ทั้งที่ พ.ร.บ.ไม่ได้ให้อำนาจไว้ ซึ่งเจตนารมย์ของการแก้ไขกฎกระทรวงครั้งใหม่มองว่าข้อกำหนดดังกล่าวเป็นการเพิ่มภาระให้แก่ผู้ประกอบการโดยไม่จำเป็น เพราะเครื่องกำเนิดรังสีมีลักษณะเหมือนเครื่องใช้ไฟฟ้า หากไม่ให้พลังงานไฟฟ้าเข้าไปเครื่องจะไม่ทำงาน และไม่มีการผลิตรังสี
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีการใช้ประโยชน์จากรังสีนิวเคลียร์ในหลายวงการ เช่น การฉายรังสีพืชผลการเกษตรเพื่อยืดอายุผักผลไม้ การฉายรังสีอาหารเพื่อชะลอการเน่าเสีย การฉายรังสีอัญมณีเพื่อเปลี่ยนสีและเพิ่มมูลค่า โดยเครื่องกำเนิดรังสีที่เป็นที่รู้จักมากที่สุด คือ เครื่องฉายรังสีเอ็กซ์เรย์ตามโรงพยาบาล
ทั้งนี้ นายเชาวน์ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าล่าสุดของการปรับปรุง พ.ร.บ.พลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ.2504 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2508 ว่า ยังต้องใช้เวลาแก้ไขอีกพอสมควรจึงส่งกลับ ครม.ได้ ทำให้ไม่ทันต่อ ครม.ชุดปัจจุบันแล้ว จึงขึ้นอยู่กับรัฐบาลชุดต่อไปว่าจะยังคงสนใจการศึกษาการผลิตไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ต่อไปหรือไม่ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้จะมีบทบาทสำคัญ
สำหรับกฎหมายดังกล่าว คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 พ.ย.50 เห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.ที่มีการปรับปรุงให้ทันต่อสถานการณ์มากขึ้นแล้ว ซึ่งครอบคลุมถึงการควบคุมการผลิต การนำเข้า–ส่งออกวัสดุนิวเคลียร์ การทำอาวุธนิวเคลียร์ การก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ตลอดจนการควบคุมการใช้รังสีนิวเคลียร์ไม่ให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลสาธารณะ สิ่งแวดล้อม และกำหนดการรับผิดชอบความเสียหาย