xs
xsm
sm
md
lg

ไทยจับมือปากีฯ หวังรับถ่ายทอดเทคโนทางทะเล-นิวเคลียร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไทยวางกรอบความร่วมมือวิทยาศาสตร์ 9 ด้านกับปากีสถาน เน้นแลกเปลี่ยนความเชี่ยวชาญแบบ 2 ฝ่าย ไทยหวังรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีนิวเคลียร์และวิทยาศาสตร์ทางทะเลที่ปากีฯ ก้าวหน้ามากกว่า ส่วนปากีฯ หวังพึ่งไทยถ่ายทอดเทคโนโลยีการวิเคราะห์ทดสอบ ไบโอเทคโนโลยี และจัดสร้างพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งแรกของประเทศ

แม้ว่าประเทศไทยและปากีสถานจะไดัมีการลงนามความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาตั้งแต่ 29 เม.ย.47 แล้ว อย่างไรก็ดี ความร่วมมือในโครงการต่างๆ ก็ยังไม่สู้ชัดเจนนัก โดยล่าสุดก็ได้มีการประชุมครั้งแรกร่วมกันขึ้นเมื่อวันที่ 14 ก.พ.51 ณ ห้องประชุมกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กรุงเทพฯ

ดร.สุจินดา โชติพานิช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เปิดเผยภายหลังเข้าหารือร่วมกับ ดร.จาเวด อาร์แชด มีร์ซา (Javed Archad Mirza) ประธานสภาวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมปากีสถาน พร้อมผู้แทนจากปากีสถานราว 30 คนว่า ผลการประชุมครั้งนี้ ไทยและปากีสถานได้มีความคืบหน้ามาก โดยได้กำหนดกรอบความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีถึง 9 ด้านด้วยกัน

ความร่วมมือสาขาต่างๆ ดังกล่าวได้แก่ ด้านมาตรฐานและการรับรอง ด้านมาตรวิทยา ด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลสารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านพลังงานทางเลือก ด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ด้านการวิจัยไอโซโทป ด้านพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ และด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล

ดร.สุจินดา กล่าวว่า สำหรับความร่วมมือดังกล่าวจะออกมาในลักษณะโครงการแลกเปลี่ยนข้อมูล ผู้เชี่ยวชาญ การจัดอบรมสัมมนา และทำงานวิจัยร่วมกัน โดยเฉพาะการถ่ายทอดความเชี่ยวชาญที่แต่ละประเทศมีไม่เท่ากันสู่ประเทศที่มีน้อยกว่า โดยเม็ดเงินในโครงการใดๆ ผู้ที่ได้ผลประโยชน์จากโครงการจะต้องเป็นผู้จ่าย

ทั้งนี้ จากการที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปดูงานยังปากีสถานเมื่อปี 2550 ที่ผ่านมาแล้ว ก็พอจับคู่หน่วยงานของปากีสถานที่ต้องการไปร่วมโครงการได้บ้าง ซึ่งเทคโนโลยีด้านรังสีนิวเคลียร์เป็นด้านหนึ่งที่ปากีสถานมีความก้าวหน้ามากและไทยจะสามารถรับการถ่ายทอดจากปากีสถานได้ รวมถึงด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลที่ปากีสถานซึ่งมีชายฝั่งทะเลมากกว่าไทยได้ก้าวล้ำมากกว่าไทยมาก

ขณะที่ในการมาดูงานครั้งนี้ของ ดร.มีร์ซา และคณะก็จะมีโอกาสชมหน่วยวิจัยต่างๆ ของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ของไทยเช่นกัน อาทิ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นด้านที่ปากีสถานยังมีศักยภาพน้อยกว่าไทย และขอความช่วยเหลือจากไทยมากที่สุด

"ข้อดีที่ไทยจะได้รับ เช่น เราสามารถปรับมาตรฐานสินค้าของทั้ง 2 ประเทศให้ตรงกันได้ การส่งออกก็ไม่ต้องมีการทดสอบซ้ำเพราะผลการทดสอบจะไม่ต่างกัน อย่างอาหารฮาลาลของไทยก็ส่งไปขายได้สะดวกขึ้น ส่วนปากีสถานก็จะได้แนวคิดการจัดทำพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ซึ่งตอนนี้เขามีเพียงพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์เท่านั้น" ปลัดวิทยาศาสตร์ฯ กล่าว โดยการประชุมครั้งต่อไปจะจัดขึ้น ณ กรุงอิสลามาบัด ประเทศปากีสถานในปีหน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น