ปลัดวิทยาศาสตร์ฯ ยันยังไม่ทราบตัว รมว.วิทย์คนใหม่ มั่นใจหากเปิดใจเรียนรู้งานไม่ว่าใครก็บริหารต่อได้ ด้านผู้ตรวจราชการชี้เทียบกับคน กระทรวงวิทย์ก็โตเป็นสาวแล้ว มีสรรพงานวิจัยพร้อมนำความรู้พัฒนาประเทศ วอนแรงผลักดันจากผู้นำใหม่หนุนนโยบาย ส่วนเอ็นจีโอชี้ไม่สนว่าใครจะมาว่าการ วท.เพราะเสียงเดียวไม่เคยมีอำนาจต่อรองใน ครม. ขณะที่คนวงในเผยบิ๊กไทยรักไทยทาบทาม "วุฒิพงศ์ ฉายแสง" นั่งว่าการ โดยเจ้าตัวก็ตอบรับแล้ว
วันนี้ (4 ก.พ.) แล้วที่คาดว่านายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชนและนายกรัฐมนตรีจะนำรายชื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้ง 35 คนทูลเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยให้มีการจัดตั้งรัฐบาลสมัคร 1 อย่างเป็นทางการ ทว่าฝุ่นควันจากการจัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรีก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะซัดซาลง เก้าอี้สำคัญเก้าอี้หนึ่งคือ เก้าอี้ รมว.วิทยาศาสตร์ฯ คนที่ 27 ของประเทศ
บรรยากาศภายในกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ณ เวลานี้ จึงมีการถกเถียงถึงผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่ง รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ค่อนข้างมาก โดยในวันที่ 1 ก.พ. 51 ดร.สุจินดา โชติพานิช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เปิดเผยว่า ยังไม่ทราบเลยว่าผู้ใดจะมานั่งว่าการกระทรวงดังกล่าว และส่วนตัวอยากได้คนที่พร้อมจะผลักดันงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศมาทำงาน ไม่จำเป็นต้องมีความรู้วิทยาศาสตร์เชิงลึกนักเพราะเป็นตำแหน่งที่เน้นการบริหารมากกว่า
นอกจากนี้ยังมั่นใจว่า การแถลงนโยบายของรัฐบาลใหม่จะมีเรื่องการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอยู่ด้วยแน่นอน เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 ได้กำหนดแนวทางไว้ชัดเจนแล้ว ไม่ว่านักการเมืองรายใดมาดำรงตำแหน่งนี้ก็น่าจะผลักดันต่อได้ ซึ่งการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นงานสำคัญต่อการพัฒนาประเทศไปสู่ฐานที่มั่นคงจนไม่อาจหนีพ้น
"ในช่วงที่ผ่านมาในสมัย ดร.ยงยุทธ (ยุทธวงศ์) การดำเนินงานต่างๆ ก็เป็นไปด้วยดี ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ท่านก็ผลักดันเต็มที่ ไม่น่าแปลกใจเลย แต่ถึงจะมีนักการเมืองเข้ามาก็เชื่อว่าจะให้ความสำคัญต่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเช่นกัน" ดร.สุจินดา ชี้และยืนยันว่าคนไทยจะสามารถตั้งความหวังกับผู้บริหารจากภาคการเมืองคนใหม่นี้ได้ โดยจะไม่มีปัญหาการทำงานใดๆ ตามมา
"แม้ว่าในอดีต นักการเมืองเหล่านี้อาจไม่รู้จักงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาก่อน ทำให้มองไม่เห็นความสำคัญ ที่แม้แต่หน้าหนังสือพิมพ์เองก็จัดกระทรวงวิทย์เป็นกระทรวงเกรดอะไรก็ไม่รู้ แต่เมื่อเขาได้เข้ามาสัมผัสเองแล้ว รัฐมนตรีจากภาคการเมืองที่ผ่านๆ มาทุกท่านก็บอกว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเรื่องสำคัญ เป็นอนาคตของประเทศ" ปลัด วท.ว่า
ด้านความคิดเห็นจากผู้ตรวจราชการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ นางกอบแก้ว อัครคุปต์ ซึ่งใช้ชีวิตวนเวียนอยู่ในกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มานานถึง 27 ปี กล่าวเช่นกันว่า ไม่รู้สึกกังวลใดๆ ว่าจะมีผู้ใดมานั่งว่าการกระทรวงดังกล่าว ทั้งนี้เพราะนับจากวันก่อตั้งกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เมื่อ 24 มี.ค.22 ถึงปัจจุบัน กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ก็เปรียบได้กับคนที่โตเป็นสาว แลพร้อมที่จะใช้ความรู้พัฒนาประเทศแล้ว
ผู้ตรวจราชการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เชื่อมั่นว่า องค์ความรู้ด้านการวิจัยพัฒนาต่างๆ ในกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เวลานี้มีพร้อมสรรพแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ฯลฯ จึงเหลือเพียงการมีผู้จัดทำนโยบายผลักดันไปสู่การใช้งานในระดับรากหญ้าเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคม ตลอดจนการนำงานวิจัยพัฒนาไปต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์เท่านั้น
ดังนั้นแล้ว ในสายตาของ นางกอบแก้ว จึงมองว่า ผู้ที่จะมานั่งว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จึงไม่จำเป็นต้องมีความรู้ลึกซึ่งในเชิงวิชการมากนัก ไม่จำเป็นต้องเรียนจบสายวิทยาศาสตร์ แต่ถ้ามีคุณสมบัติดังกล่าวก็ยิ่งดี จุดสำคัญที่สุดต้องเข้าใจงานวิทยาศาสตร์ให้ได้ ซึ่งการปูพื้นฐานงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศในรัฐบาลที่ผ่านมาก็ถือว่าประสบความสำเร็จมากมายทีเดียว
โดยเฉพาะการปลุกกระแสความสนใจในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผ่านผลงานอย่างการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ. ... และ ร่าง พ.ร.บ.วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. ... ซึ่งครม.ชุดพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้อนุมัติแล้ว และรัฐมนตรีใหม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มาก เพราะมีการพูดถึงนโยบายการส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการกำหนดเป้าหมายของการพัฒนาไว้ชัดเจน
"ทีแรก นักการเมืองเขาก็อาจจะไม่เข้าใจวิทยาศาสตร์ แต่เมื่อเข้ามาแล้วจะรู้สึกสนุก ยอมรับว่าเราอ่อนการประชาสัมพันธ์มาก ทำให้คนเห็นว่าเป็นเรื่องวิชาการ แต่นักการเมืองจะมีจุดเด่นที่คลุกคลีกับชาวบ้านมาก เขาก็จะมองเห็นโจทย์ความต้องการของชาวบ้าน และนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าไปเสริม"
"เช่นสมัยคุณพินิจ จารุสมบัติ ที่ผลักดันให้เกิดการสร้างเครือข่ายของกระทรวงกับมหาวิทยาลัยเพื่อนำผลงานไปช่วยเหลือชาวบ้านจนเกิดเป็นคลีนิกเทคโนโลยี ชาวบ้านก็นำงานวิจัยไปใช้ เช่น การผลิตปุ๋ยชีวภาพและการผลิตไวน์" ผู้ตรวจราชการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เสริม
แนวคิดดังกล่าวยังตรงกับโฆษกฝ่ายกิจการพิเศษของกระทรวง นางลัดดา หงส์ลดารมภ์ แสดงทรรศนะในวันเดียวกันว่า ต้องการผู้มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีซึ่งเป็นคนที่มีหัวก้าวหน้า ยกตัวอย่าง ดร.ประวิช รัตนเพียร อดีต รมว.วิทยาศาสตร์ฯ คนก่อน ซึ่งแม้จะไม่ได้เป็นนักวิทยาศาสตร์โดยตรง
แต่ก็นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปจับกับวิสัยทัศน์ด้านการค้า เช่น การนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาเข้าคู่กับภาคอุตสาหกรรมเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้อย่างลงตัว รวมถึงการชี้ให้สังคมเห็นว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเรื่องสำคัญ และกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ไม่ได้เป็นกระทรวงเกรดซีอย่างใครว่า
นางลัดดา พยายามทำความเข้าใจการทำงานสไตล์นักการเมืองซึ่งจะแตกต่างไปจากการทำงานของนักวิชการด้วยว่าต่างมีเงื่อนไขและสภาพแวดล้อมต่างกัน
ยกตัวอย่างการทำงานของ ศ.ดร.ยงยุทธ โฆษกฝ่ายกิจการพิเศษ วท. มองว่าเป็นการทำงานในมุมมองของนักวิชาการที่เข้าใจประเด็นวิทยาศาสตร์ดี และต้องการวางรากฐานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศในระยะยาว ซึ่งเป็นไปได้ยากกับรัฐมนตรีจากสายการเมือง ศ.ดร.ยงยุทธ จึงเลือกที่จะสร้างผลงานที่เห็นผลในระยะยาวมากกว่า เช่น การส่งเสริมผลิตกำลังคน ต่างจากรัฐมนตรีจากสายการเมืองที่มีเวลาค่อนข้างน้อยจึงเร่งผลงานระยะสั้นมากกว่า
ขณะที่ น.ส.ณัฐวิภา อิ้วสกุล ผู้ประสานงานด้านพันธุวิศวกรรม กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งข้อสังเกตว่า ไม่ว่าผู้ดำรงตำแหน่ง รมว.วิทยาศาสตร์ฯ คนใหม่จะเป็นผู้ใดก็ไม่สำคัญเท่ากับ ครม.ชุดใหม่โดยรวมจะมีวิสัยทัศน์เป็นอย่างไร
เพราะการผลักดันมติสำคัญใดๆ ออกมาลำพังเสียงของ รมว.วิทยาศาสตร์ฯ เพียงคนเดียวไม่มีอำนาจมากพอ และเมื่ออยู่ในที่ประชุม ครม.กระทรวงด้านเศรษฐกิจและการค้าอย่างกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง และกระทรวงอุตสาหกรรม ก็มักมีอำนาจต่อรองที่เหนือกว่ากระทรวงด้านวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อมอยู่ดี
ทั้งนี้ แหล่งข่าววงในกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ซึ่งมีความใกล้ชิดกับอดีตแกนนำพรรคไทยรักไทยเผยว่า ได้รับการยืนยันจากอดีตแกนนำไทยรักไทยว่าได้ทาบทามนายวุฒิพงศ์ ฉายแสง น้องชายนายจาตุรนต์ อดีตกรรมการบริหาร 111 คนของพรรคไทยรักไทย ให้มารับตำแหน่งดังกล่าว เนื่องจากตัวเองเคยมีประสบการณ์ทำงานในสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาก่อน เห็นว่าเป็นตำแหน่งที่ดีจึงอยากชักชวนให้มาทำงาน โดยนายวุฒิพงศ์ ซึ่งสนใจการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อไม้สักเป็นทุนเดิมอยู่แล้วก็มีท่าทีตอบรับ
อย่างไรก็ดี แหล่งข่าววงในคนเดิมเผยว่า โผดังกล่าวก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ เพราะเวลานี้ได้มีข่าวว่านายอนุสรณ์ วงศ์วรรณ คณะกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน อดีตรัฐมนตรีช่วย 3 กระทรวงคือ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ยังหาที่ลงใน ครม.สมัคร 1 ไม่ได้ และเป็นหนึ่งในตังเก็งผู้มาดำรงตำแหน่ง รมว.วิทยาศาสตร์ฯ คนที่ 27 ที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดคนหนึ่ง
ล่าสุด เมื่อวันที่ 4 ก.พ.51 ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยังนายวุฒิพงศ์ถึงการเข้ารับตำแหน่งดังกล่าว ได้รับคำตอบว่า เป็นที่ทราบกันดีในพรรคพลังประชาชนว่าเขาเองมีความสนใจในเรื่องวิทยาศาสตร์มาก
แม้ว่านายวุฒิพงศ์ไม่ได้ตอบรับหรือปฏิเสธต่อตำแหน่งดังกล่าว แต่เขาเผยว่าได้ลงนามในรายชื่อ ครม. ที่นายสมัคร หัวหน้าคณะรัฐบาลนำทูลเกล้าฯ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้งคณะรัฐบาลแล้ว ซึ่งตามมารยาทยังไม่ขอเปิดเผยอะไร
สำหรับนายวุฒิพงศ์ เป็นผู้คิดค้นวิธีเพาะกล้าไม้สักเรียกว่า " การเพาะกล้าสักด้วยตา" ซึ่งได้รับการจดสิทธิบัตร ซึ่งเป็นวิธีที่ประหยัดที่สุด และได้คุณภาพดีที่สุด
ที่สำคัญยังได้ทูลเกล้าฯ ถวายหนังสือสักใหญ่และถวายคำบรรยายเกี่ยวกับวิธีคิดการเพาะกล้าต้นสักที่มีอายุเก่าแก่ 1,500 ปี ซึ่งเป็นต้นสักที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นวิธีการใหม่อีกวิธีหนึ่งที่ค้นพบได้เองแด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้า กัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อ 10 ก.พ.43
ส่วนตำแหน่งทางการเมือง ปี 28 นายวุฒิพงศ์ เป็นเลขานุการส่วนตัว รมช.อุตสาหกรรม ปี 35 -39 เป็นผู้ช่วยดำเนินงานสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.ฉะเชิงเทรา ปี 39 -40 เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ จ.ฉะเชิงเทรา และปี 44 เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 4 จ.ฉะเชิงเทรา ก่อนย้ายมาสังกัดพรรคพลังประชาชนร่วมกับนางฐิติมา ฉายแสง น้องสาวคนเล็กในเขตเลือกตั้งที่ 2 จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งชนะการเลือกตั้งเมื่อ 23 ธ.ค.50 มาได้