xs
xsm
sm
md
lg

"วุฒิพงศ์" กร้าวกลืนรัฐบาลปฏิวัติไม่ลง รับหนักใจปรับตัวเข้าหาคนวิทย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“วุฒิพงศ์” กร้าวหลังรับตำแหน่งไม่เคยติดตามการทำงานของรัฐบาลเก่า เหตุทนกลืนจากคณะปฏิวัติไม่ลง แต่พร้อมรับความรู้จาก รมต.คนเก่า ย้ำยังไม่มีวาระพิเศษจากส่วนกลาง ยันจะเปลี่ยนคนไทยให้ใส่ใจวิทย์หนีปัญหาความยากจน เพิ่มงบวิจัยเป็น 2% ของจีดีพี ส่วนปัญหาร้อนๆ ของกระทรวงวิทย์ยังต้องใช้เวลาทำความเข้าใจ–ยังไม่เผยโฉมคณะทำงาน ชี้ปรับตัวทำงานกับนักวิจัยยากสุดๆ

หลังเข้าว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ได้วันแรก (7 ก.พ.51) ของนายวุฒิพงศ์ ฉายแสง ซึ่งไม่เคยนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงใดๆ มาก่อนได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนประจำกระทรวงวิทยาศาสตร์ครั้งแรกหลังเข้ารับตำแหน่งว่า เช้าวันนี้เขาได้เดินทางมากระทรวงมาพร้อมกับนายอนันต์ ฉายแสง ผู้เป็นพ่อ อดีต ส.ส.ฉะเชิงเทราและอดีตรัฐมนตรีหลายสมัยด้วยเพื่อให้นายอนันต์ให้คำแนะนำและเป็นกำลังใจ

โดยเฉพาะคำแนะนำจากนายอนันต์ ที่ให้หาผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาทำงานด้วย ซึ่งสมัยที่เป็นเลขานุการส่วนตัว รมช.อุตสาหกรรม เมื่อปี 2528 ตัวนายวุฒิพงศ์ เองก็มีทีมทำงานด้านวิทยาศาสตร์อยู่เช่นกัน เพราะกระทรวงอุตสาหกรรมจำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและการแข่งขันของประเทศ

ส่วนสาเหตุที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชาชน เลือกเขาให้ดำรงตำแหน่ง รมว.วิทยาศาสตร์ฯ เขาเผยว่า คนในพรรคพลังประชาชนต่างทราบกันดีว่า เขามีความสนใจวิทยาศาสตร์มาก และได้เรียนสายวิทยาศาสตร์มาในชั้น ม.ปลาย ถึงแม้ต่อมาจะเรียนจบคณะนิติศาสตร์ ม.รามคำแหง แต่ก็ติดตามความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์มาตลอด และเคยมีผลงานนวัตกรรมพื้นไม้ปาเกต์จากเศษไม้สักตัดสางร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) เมื่อปี 47 ด้วย ทว่านวัตกรรมดังกล่าวยังไม่ได้ขยายกำลังการผลิตในเชิงอุตสาหกรรมเท่านั้น

ต่อคำถามของผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการสานต่อนโยบายของ ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รมว.วิทยาศาสตร์ฯ คนก่อนอย่างไรบ้าง นายวุฒิพงศ์ ปฏิเสธว่า ต้องดูก่อนเพราะไม่ทราบว่าคนเก่าทำอะไรไปบ้าง เพราะสมัยที่รัฐบาลจากคณะปฏิวัติมีอำนาจ เขาไม่สน ไม่ชอบ และไม่เคยติดตามความเป็นไปในรัฐบาลชุดดังกล่าวเลย เพราะไม่ใช่รัฐบาลของประชาชน ไม่เว้นแม้แต่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เนื่องจากรู้สึกรับไม่ได้กับคณะปฏิรูปการปกครองฯ และแม้จะรับทราบไปก็ทำอะไรไม่ได้ แม้รมว.วิทยาศาสตร์ฯ คนก่อนจะเป็นคนดีมีความรู้ความสามารถก็ตาม

แต่ถ้าคุยกันเพื่อให้ประเทศชาติเจริญ ผมก็ยินดีที่จะพูดให้ท่านให้ความรู้ผม แต่ที่ผมไม่ตามสักกระทรวงเลย ก็เพราะว่าผมรับไม่ได้ ตามไปก็ทำอะไรไม่ได้ เช่น ถ้าเขามีทุจริต เราไปโวยวาย เราก็โดนยิงตาย... ระบบแบบนี้มันไม่ได้จริงๆ ปากกระบอกปืนมันไม่เหมือนธรรมดา เราไม่อยากยุ่ง รู้ไปก็ปวดหัวเปล่าๆ ถ้าเป็นผู้แทนมีปัญหาอะไรก็ยังไปพูดในสภาได้ แต่นี่เราพูดไม่ได้เลย เลยอยู่ข้างนอกไป” นายวุฒิพงศ์ กล่าว

ส่วนแนวทางการบริหารงานวิทยาศาสตร์ของประเทศขณะอยู่ในตำแหน่ง นายวุฒิพงศ์ เผยว่า ยังไม่มีวาระพิเศษใดๆ จากส่วนกลางลงมา โดยต้องรอให้มีการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาก่อน แต่ได้มีการหารือรายละเอียดต่างๆ กับเจ้าหน้าที่กระทรวงไปบ้างแล้ว

ทั้งนี้ เขาต้องการส่งเสริมให้เยาวชนไทยคิดอย่างวิทยาศาสตร์ จากตอนนี้ที่สังคมไทยยังคิดไม่เป็นวิทยาศาสตร์นัก ทำให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ได้ ประชาชนจึงยากจนอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องมีนโยบายออกมารองรับว่าจะทำอย่างไร โดยร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ

อีกทั้งยังได้รับคำร้องเรียนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยตั้งแต่ยังไม่ได้รับตำแหน่งว่า งานวิจัยของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ยังมีอยู่น้อยเกินไป ตัวเขาเองจึงอยากผลักดันให้งบวิจัยเพิ่มเป็น 2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งเพื่อนบ้านของไทยแซงไทยในจุดนี้ไปหมดแล้ว

ขณะเดียวกันยังเห็นว่ามีปัญหาของชาติอีกหลายเรื่องที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยได้ ซึ่งต้องดูว่าทำอย่างไรได้บ้าง เช่น ปัญหาภาวะโลกร้อนและวิกฤติพลังงานที่ต้องเร่งผลักดัน โดยในปัญหาภาวะโลกร้อนจะต้องนำเทคโนโลยีมาสร้างให้เกิดสมดุลระหว่างป่าเศรษฐกิจและป่าอนุรักษ์ที่ทำกันอย่างจริงจัง ทำให้ฝนตกในที่ที่ควรตก เป็นการรักษาหน้าดินไปในตัว

ส่วนปัญหาพลังงาน นายวุฒิพงศ์ เผยว่าควรแก้ปัญหาพลังงานโดยการปลูกไม้โตเร็ว อาทิ ยูคาลิปตัส มาผลิตพลังงานด้วยเทคโนโลยีการเผาไหม้แบบไม่ใช้ออกซิเจน ขณะที่การผลิตไบโอดีเซลนั้น นายวุฒิพงศ์ มองว่า ไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาได้ เพราะมีผลตอบแทนไม่คุ้มค่าการลงทุน ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกได้รับความเดือดร้อน

อย่างไรก็ดี ผู้สื่อข่าวซักต่อถึงการสะสางหรือการสร้างความชัดเจนต่อปัญหาหลายเรื่องที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีส่วนเกี่ยวข้อง อาทิ การสืบสวนสอบสวนความไม่ชอบมาพากลโครงการก่อสร้างศูนย์วิจัยนิวเคลียร์องครักษ์ จ.นครนายก การผลักดันร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพเพื่อรับมือกับประเด็นพืชดัดแปลงพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) และการตัดสินใจก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ นายวุฒิพงศ์ กล่าวว่า ตัวเองยังเป็นคนนอกอยู่ พอรู้เรื่องบ้าง แต่ต้องใช้เวลาศึกษาข้อมูลเพิ่มก่อนจะเริ่มเคลื่อนไหวได้ในสัปดาห์หน้า

พร้อมกับจะตั้งคณะที่ปรึกษาในเวลาไล่เลี่ยกัน โดยจะดึงคนวิทยาศาสตร์ที่รู้จักเป็นการส่วนตัว และที่มีผู้แนะนำมาร่วมงาน ซึ่งอาจไม่ใช่คนที่จบสายวิทยาศาสตร์ก็ได้ แต่ขอให้มีความคิดอย่างนักวิทยาศาสตร์ก็พอ

ขณะที่ประเด็นการส่งดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติดวงแรกของประเทศ หรือ"ธีออส" ที่ยังไม่สามารถส่งไปอวกาศได้ เพราะอยู่ระหว่างการเจรจาของรัสเซียและอุซเบกิสถาน นายวุฒิพงศ์เผยว่า ทราบเรื่องแล้ว แต่เป็นเรื่องที่ต้องตกลงกันระหว่างประเทศ ดังนั้นจึงไม่สามารถไปบีบบังคับอะไรได้ คงทำได้แต่รอไปก่อน

นอกจากนั้น ต่อการปรับตัวเพื่อเข้าทำงานกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ซึ่งเป็นกระทรวงวิชาการที่มีนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์อยู่มาก นายวุฒิพงศ์กล่าวว่า ต้องสัมผัสดูก่อน แต่ยอมรับว่าเรื่องคนเป็นปัญหาที่ยากที่สุด จิตใจคนเป็นเรื่องยากแท้หยั่งถึง จึงต้องค่อยๆ ดูและหาวิธีกันไป ไม่สามารถจะบอกว่าเราทำได้ เพราะมันจะไม่ได้แน่นอน






กำลังโหลดความคิดเห็น