xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัยปลง "เสาไฟฟ้า" ก็เป็น รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักวิจัยท้อ ได้นักการเมืองคนไหนมาว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ก็เหมือนๆ กัน เสาไฟฟ้าก็ยังเป็น รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ได้ ชี้ไม่ขอโทษใคร ถ้าจะโทษต้องโทษระบบการเมืองทั้งดุ้น ยอมรับความจริง -ความฝันมันคนละเรื่อง

ผศ.ดร.จำนง สรพิพัฒน์ นักวิจัยจากบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) แสดงความคิดเห็นหลังทราบข่าวผู้มาดำรงตำแหน่ง รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) คนล่าสุดว่า ตัวเขาไม่ได้ติดตามข่าวเลยว่าผู้ใดจะมาดำรงตำแหน่งดังกล่าว ซึ่งมองว่าไม่ว่าใครมาเป็นก็ได้ทั้งนั้น แม้แต่เสาไฟฟ้ายังมาเป็น รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ได้เลย
 
ทั้งนี้ เขามองว่า การได้นักการเมืองนอกสายวิทยาศาสตร์มาดำรงตำแหน่ง รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ก็ไม่เห็นเป็นปัญหา และถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของการเมืองไทยอยู่แล้ว ดังนั้นไม่ควรซีเรียสหรือน่าตื่นเต้นอะไร ซึ่งรัฐบาลชุดไหนๆ ก็ทำเหมือนๆ กัน ต้องเข้าใจว่าความจริงและความฝันมันเป็นคนละเรื่อง

ผศ.ดร.จำนง ชี้ว่า ต้นเหตุของปัญหาก็เนื่องมาจากระบบการเมืองไทย หากเปรียบเทียบกับ ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ที่เพิ่งอำลาตำแหน่งจากรัฐบาลคณะปฏิวัติ ย่อมจะทำให้เห็นธรรมชาติของรัฐบาลแต่งตั้งที่ต่างไปอีกแบบ ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะแต่งตั้งตัวบุคคลที่มีความรู้ความสามารถในสายการทำงานนั้นๆ มารับตำแหน่ง ขณะที่รัฐบาลจากนักการเมืองย่อมจะเน้นการจัดสรรตำแหน่งไปที่การประสานผลประโยชน์ร่วมกันของกลุ่มคนต่างๆ ในรัฐบาลร่วม

"ผมว่าเราต้องโทษระบบ ไม่ได้โทษรัฐบาลหรือโทษตัวบุคคล หากเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว หรือประเทศใกล้ๆ อย่างจีน แต่ละนโยบายจะมีการจัดการที่เป็นระบบ หากเปลี่ยนรัฐบาลไป นโยบายก็ยังอยู่ แต่จะมีการประเมินว่าควรปรับปรุง หรือเสริมเพิ่มเติมตรงไหนให้มันดียิ่งขึ้น แต่ของเราไม่อยากเรียกว่าเป็นนโยบาย แต่อยากเรียกว่าเป็นความอยากของผู้ที่มาเป็นรัฐบาลมากกว่า" ผศ.ดร.จำนง กล่าว

ปัญหาที่ระบบการทำงานที่กล่าวถึง ผศ.ดร.จำนง อธิบายว่าคือ ระบบการคัดสรรบุคคลเข้ามาดำรงตำแหน่งบริหารสำคัญ ซึ่งประชาชนในท้องถิ่นเป็นผู้เลือกผู้แทนขึ้นมาเพื่อช่วยพัฒนาท้องถิ่น แต่ในความเป็นจริง หากผู้แทนคนนั้นได้เป็นผู้แทนครบ 3 สมัย อย่างน้อยๆ ก็จะต้องได้ตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยไปครอง จึงไม่ได้ทำงานพัฒนาท้องถิ่นอย่างที่ประชาชนต้องการ

ผศ.ดร.จำนง ยกตัวอย่างการจัดสรรตำแหน่งบริหารที่สำคัญในประเทศค่ายคอมมิวนิสต์อย่าง "จีน" ว่า ผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีจะต้อง เป็นผู้มีผลงานเด่นชัด มีบารมีในสายงานที่มารับหน้าที่ชัดเจน เช่นมีตำแหน่งสำคัญในราชบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีนจึงมาดำรงตำแหน่ง รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ได้

ขณะที่ประเทศเสรีประชาธิปไตยทุนนิยมอย่างอังกฤษและสหรัฐฯ แม้ว่าจะมีนักการเมืองดำรงตำแหน่ง รมว.วิทยาศาสตร์ฯ แต่ก็ต้องมีความรู้ความเข้าใจวิทยาศาสตร์อย่างดี ที่สำคัญมีทีมนักวิชาการคอยสนับสนุน ซึ่งนักการเมืองจะเป็นผู้มองเห็นโจทย์ความต้องการของประชาชนแล้วกำหนดนโยบายให้ทีมวิชาการช่วยหาทางออกของปัญหาหลายๆ ทางเพื่อให้รัฐสภาซึ่งเป็นตัวแทนประชาชนให้ความคิดเห็น ก่อนส่งให้รัฐบาลรับรองและประกาศใช้

"ดังนั้น รัฐมนตรีจะเป็นผู้ประสานงานกำหนดนโยบายมากกว่า แล้วส่งให้ทีมวิชาการสร้างตัวนโยบายขึ้นมา แต่ของไทยในความจริงแล้ว นโยบายมันไม่มี แล้วแต่ว่าผู้บริหารที่เข้ามาจะมองวิทยาศาสตร์กันอย่างไร ซึ่งตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2475 มา ผมก็ไม่เคยเห็นฉบับไหนที่กำหนดให้ ส.ส.ไปพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งที่จิรงแล้ว อย่างน้อยๆ ต้องมีผลงานดีชัดเจนจึงจะขยับไปสู่ตำแหน่งระดับประเทศได้ เช่น ไต้หวันที่อย่างน้อยต้องมีผลงานอย่างผู้ว่าการมาก่อน" ผศ.ดร.จำนง กล่าว

"มันเป็นของมันอย่างนี้มานานแล้ว คงไม่เลวไปกว่านี้แล้วหละ ถ้าแก้ก็ต้องแก้ที่ระบบการเมือง ไม่ใช่ที่ตัวคน ต้องเปลี่ยนวิธีคิดของคน แก้โครงสร้างการเมือง ซึ่งคนไทยยังไม่เข้าใจระบบการกระจายอำนาจ ระบบการตรวจสอบ รู้แต่ว่ามีหน้าที่ไปหย่อนบัตรเลือกตั้งเท่านั้น ซึ่งมันไม่ใช่" ผศ.ดร.จำนง ทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น