xs
xsm
sm
md
lg

ไอซีทีเผยความสำเร็จ ส่งดาวเทียมร่วมมือไทย-จีนพัฒนาระบบ Ka-Band

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

งานแถลงข่าวความสำเร็จในการส่งดาวเทียมเอสเอ็มเอ็มเอสของกระทรวงไอซีที
ไอซีทีแถลงความสำเร็จ ส่งดาวเทียม "SMMS" ร่วมกับจีน เมื่อ 6 ก.ย. เผยเป็นความร่วมมือในการพัฒนาระบบสื่อสาร "Ka-Band" ระบบเดียวกับไอพีสตาร์ ความถี่สูง-ส่งข้อมูลได้มาก แต่ถูกรบกวนจากสภาพบรรยากาศได้ง่าย จึงต้องศึกษาเพื่อพัฒนาอุปกรณ์รับสัญญาณ

นายสือ ล้ออุทัย ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) แถลงข่าวความสำเร็จของโครงการร่วมสร้างดาวเทียมเอนกประสงค์ขนาดเล็กหรือเอสเอ็มเอ็มเอส (Small Multi-Mission Satellite: SMMS) ณ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เมื่อวันที่ 11 ก.ย.51 ซึ่งผู้จัดการวิทยาศาสตร์พร้อมด้วยสื่อมวลชนอื่นๆ ได้เข้าร่วม

ทั้งนี้นายสือ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กระทรวงไอซีที คณาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่ร่วมพัฒนาอุปกรณ์สำหรับประกอบในดาวเทียมเอสเอ็มเอ็มเอส ร่วม 16 คน ได้เดินทางไปร่วมพิธีส่งดาวเทียม­ขึ้นสู่วงโคจรเมื่อวันที่ 6 ก.ย.ที่ผ่านมา ณ ฐานปล่อยจรวด เมืองไทหยวน สาธารณรัฐประชาชนจีน

สำหรับดาวเทียมเอสเอ็มเอ็มเอส เป็นดาวเทียมที่เกิดจากความร่วมมือพหุภาคีด้านเทคโนโลยีอวกาศและการประยุกต์ใช้ประโยชน์ในภูมิภาคและเอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific Multilateral Cooreration in Space Technology and Application: AP-MCSTA) ซึ่งประเทศสมาชิก 6 ประเทศได้แก่ เกาหลีใต้ จีน มองโกเลีย ปากีสถาน บังคลาเทศและอิหร่าน ได้ลงนามความร่วมมือกันเมื่อวันที่ 1 ก.ค.40 แต่ภายหลังเกาหลีใต้ได้ถอนตัว ขณะที่เปรู ตุรกี พร้อมด้วยอินโดนีเซียได้ขอเพิ่มชื่อเข้าเป็นสมาชิกภาคี

สำหรับการพัฒนาดาวเทียมดวงนี้ ปลัดกระทรวงไอซีที แจกแจงภายในงานแถลงข่าวว่า ประเทศไทยเป็นผู้รับผิดชอบจัดสร้างอุปกรณ์สื่อสารระบบ Ka-Band สำหรับบรรจุภายในดาวเทียมเอสเอ็มเอ็มเอส พร้อมสร้างสถานีภาคพื้นดินประจำที่ สถานีภาคพื้นดินเคลื่อนที่ อุปกรณ์รับ-ส่งสัญญาณและระบบควบคุมติดตามดาวเทียม ส่วนจีนรับผิดชอบสร้างอุปกรณ์รีโมตเซนซิง (Remote Sensing) การทดลองทางวิทยาศาสตร์ จรวดส่งดาวเทียม รวมทั้งสถานีติดตามและควบคุมดาวเทียม

ด้านนายไชยันต์ เพียงเกียรติไพโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวถึงเงินลงทุนสร้างดาวเทียมครั้งนี้ว่า ใช้เงินลงทุนราว 1,800 ล้านบาท โดยไทยรับผิดชอบในส่วนระบบ Ka-Band ซึ่งใช้งบประมาณ 125 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจีนเป็นผู้รับชอบ

สำหรับดาวเทียมเอสเอ็มเอ็มเอสเป็นดาวเทียมวงโคจรต่ำ (Low Earth Orbit) มีน้ำหนักประมาณ 510 กิโลกรัม ขึ้นสู่วงโคจรในแนวเหนือ-ใต้ (Sun-Synchonous polar orbit) มีอายุการใช้งาน 3 ปี และเป็นส่วนหนึ่งของโครงการดาวเทียมหวน จิ้ง 1เอ-2บี (Huan Jing 1A-1B) ซึ่งมีโครงการพัฒนาดาวเทียมทั้งหมด 8 ดวง โดยได้ส่งขึ้นสู่วงโคจรแล้วพร้อมกัน 2 ดวงคือดาวเอสเอ็มเอ็มเอสและดาวเทียมอีกดวงที่จีนพัฒนาขึ้นเอง

ส่วนของคุณสมบัติการถ่ายภาพของดาวเทียมเอสเอ็มเอ็มเอสนั้น รศ.ดร.มงคล รักษาพีชรวงศ์ ผู้จัดการโครงการ KABES/SMMS ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาระบบ Ka-band สำหรับดาวเทียมเอสเอ็มเอ็มเอสของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แจงกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า ดาวเทียมดวงนี้มีระบบถ่ายภาพสีแบบซีซีดี (CCD) ความละเอียด 30 เมตร และกล้องไฮเปอร์-สเปคตรัม (Hyper-Spectrum) ความละเอียด 100 เมตร

ทั้งนี้ กล้องประเภทหลังนั้นไม่เน้นความละเอียด แต่เน้นการมองเห็นที่แตกต่าง โดยสามารถ่ายภาพด้วยย่าน 128 ย่าน ที่เปรียบเสมือนดวงตา 128 ดวงมองเห็นสีที่แตกต่างกัน 128 สี

"กล้องซีซีดี ไม่สามารถแยกความแตกต่างความเขียวของทุ่งหญ้าและนาข้าวได้ แต่กล้องไฮเปอร์-เสปกตรัม สามารถถ่ายภาพและคำนวณเพื่อเปรียบเทียบข้อมูลได้  ซึ่งคุณสมบัตินี้เบื้องต้นอาจนำไปประยุกต์เพื่อใช้คำนวณอายุป่า เพื่อดูการดูดซับคาร์บอนได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งจะเชื่อมโยงกับเรื่องการค้าคาร์บอนเครดิตได้" รศ.ดร.มงคล

สำหรับระบบ Ka-Band ของดาวเทียมเอสเอ็มเอ็มเอสนั้น มีความถี่ในการส่งข้อมูล 20 กิกะเฮิร์ซ และความถี่ในการรับข้อมูล 30 กิกะเฮิร์ธ ซึ่งระบบการสื่อสารในย่านนี้ รศ.ดร.มงคล ระบุว่ามีข้อดีตรงที่มีความถี่สูงทำให้ส่งข้อมูลได้มาก แต่ก็ข้อด้อยตรงที่ถูกรบกวนจากสภาพอากาศได้มาก ดังนั้น จึงจำเป็นต้องศึกษาทำความเข้าใจ เพื่อพัฒนาระบบรับสัญญาณให้มีขนาดเล็กลง ซึ่งจะนำไปประยุกต์ใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ในอนาคต

ทั้งนี้ จีนจะไม่ใช้ประโยชน์จากระบบสื่อสาร Ka-Band จากดาวเทียมเอสเอ็มเอ็มเอส เนื่องจากดาวเทียมเคลื่อนที่ตลอดเวลา ไม่เป็นดาวเทียมค้างฟ้าเช่นเดียวกับดาวเทียมไอพีสตาร์ (IPStar) ซึ่งใช้ระบบสื่อสารย่านนี้ แต่ไทยจะได้ประโยชน์จากการศึกษาและพัฒนาระบบสื่อสารย่านนี้ รวมถึงการเข้าถึงข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมจากอุปกรณ์ถ่ายภาพอื่นๆ ของดาวเทียม

อย่างไรก็ดี ผลจากการร่วมพัฒนาดาวเทียมเอสเอ้มเอ็มเอสนี้ รศ.ดร.มงคล เผยกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า จีนได้รับประโยชน์จากการพัฒนาอุปกรณ์สื่อสารย่าน Ka-Band ของไทย และได้นำองค์ความรู้นี้ไปพัฒนาดาวเทียมค้างฟ้า สำหรับใช้งานเชิงพาณิชย์ให้กับไนจีเรียซึ่งได้ส่งขึ้นสู่วงโคจรแล้ว และเวเนซูเอลาซึ่งกำลังจะส่งดาวเทียมขึ้นไป

ทั้งนี้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้พัฒนาระบบ Ka-Band โดยการวิจัยของภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและภาควิชาวิศวกรรมการบินและอวกาศ และได้มีการติดตั้งสถานีรับสัญญาณบนอาคารคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นตึกสูง 13 ชั้น

นอกจากดาวเทียมเอสเอ็มเอ็มเอส ที่เป็นความร่วมมือระหว่างไทยและจีนแล้ว ไทยยังมีดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติชื่อ "ธีออส" (THEOS) ซึ่งอยู่ระหว่างการรอส่งขึ้นสู่วงโคจรและล่าช้ากว่ากำหนดเป็นเวลาเกือบปีแล้ว โดยดาวเทียมธีออสมีอุปกรณ์ในการถ่ายภาพขาวดำความละเอียด 2 เมตร และกล้องซีซีดีบันทึกภาพสีความละเอียด 20 เมตร.
นายสือ ล้ออุทัย ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

ชมภาพการนำส่งดาวเทียม SMMS จากช่อง CCTV



นายไชยันต์ เพียงเกียรติไพโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ
รศ.ดร.มงคล รักษาพีชรวงศ์
แบบจำลองดาวเทียมเอสเอ็มเอ็มเอส
กำลังโหลดความคิดเห็น