xs
xsm
sm
md
lg

ฟังน้องๆ เล่าประสบการณ์ ในงานมหกรรมวิทย์ 51

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้คนล้นหลามในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2551 ไม่จำเป็นต้องเรียนวิทยาศาสตร์ก็มาร่วมเปิดประสบการณ์ในโลกวิทยาการได้ทุกเพศทุกวัย แล้วจะได้พบกับสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่เคยรู้ ไม่เคยเห็นมาก่อน
งานมหกรรมวิทย์ปีนี้มีเรื่องน่ารู้น่าสนใจมากมาย และชวนให้ค้นหาพร้อมเปิดจินตนาการสู่โลกแห่งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ก้าวไปอย่างไม่หยุดยั้ง หากใครยังไม่ได้เข้าชมงาน ลองไปฟังเรื่องเล่าจากเยาวชนและประชาชนที่ไปทดลองสัมผัสมาแล้วเป็นการเรียกน้ำย่อยกันก่อน แล้วค่อยรีบหาโอกาสไปเปิดประสบการณ์แปลกใหม่ด้วยตัวเองให้ทันก่อนวันที่ 22 ส.ค. นี้

ระหว่างที่สังเกตการณ์ในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำปี 2551 ที่ไบเทค บางนา ในช่วง 2 วันแรก ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้มีโอกาสพูดคุยกับน้องๆ นักเรียนและประชาชนบางส่วนที่มาเที่ยวชมงาน ซึ่งแต่ละคนก็ได้รับความรู้และประสบการณ์ใหม่ๆ แตกต่างกันไป

นายเกษบดินทร์ เนตรภักดี ชั้น ม.5 โรงเรียนศรีสะเกษวิทยาลัย อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ ที่วันนี้มาพร้อมกับน้องชาย ด.ช.เกษเทวินทร์ เนตรภักดี ชั้น ม.1 โรงเรียนเดียวกัน เผยกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า ช่วงนี้โรงเรียนหยุดเนื่องจากมีการแข่งขันกีฬานักเรียน นักศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ ปีการศึกษา 2551 ตั้งแต่วันที่ 6-15 ส.ค. และในวันที่ 10 ส.ค. ตนเองต้องมาเข้าร่วมกิจกรรมเปิดรั้วโรงเรียนแพทย์ ครั้งที่ 6 ที่โรงพยาบาลราชวิถี แต่เห็นโฆษณาในโทรทัศน์ว่ามีการจัดงานมหกรรมวิทย์ฯ จึงตั้งใจมาชมงานนี้ก่อน

"พอดีเพิ่งมาถึงได้ไม่นาน จึงยังไม่ค่อยได้ชมงานสักเท่าไหร่ แต่ปกติก็ชอบและสนใจวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว และไม่รู้ว่าวันนี้จะเดินทั่วหรือเปล่า แต่ก็คิดว่าจะหาโอกาสมาอีกวันหนึ่งหากมีเวลาว่าง และส่วนหนึ่งผมก็จะมาดูงานเพื่อหาแนวคิดกลับไปทำโครงงานวิทยาศาสตร์ที่โรงเรียนด้วย" นายเกษบดินทร์กล่าว ซึ่งเขาและน้องชายพักอยู่กับญาติแถวพระราม 3

ส่วนที่โซนนิทรรศการของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ (สดร.) ผู้จัดการวิทยาศาสตร์เห็น 2 สาว กำลังสนุกกับการทดลองส่องกล้องโทรทรรศน์ของจริงเพื่อสังเกตดวงดาวจำลองที่ถูกแขวนไว้ในมุมสูงของห้องจัดงาน เลยเข้าไปถามไถ่ได้ความว่าทั้ง 2 คน คือ น.ส.ลักษิกา โกชิน และ น.ส.จุฑาทิพย์ อาจเอื้อม นักเรียน ปวช. ปี 1 จากโรงเรียนพาณิชยการบางนา ที่ชักชวนกันมาเที่ยวงานมหกรรมวิทย์หลังเลิกเรียน เพราะโรงเรียนและบ้านอยู่ในละแวกนี้

น.ส.ลักษิกา บอกว่า วิทยาศาสตร์เป็นความรู้พื้นฐานและเป็นสิ่งรอบตัวเรา ถึงแม้จะไม่ได้เรียนสายวิทย์ แต่ก็สนใจเรื่องราวในโลกวิทยาศาสตร์ และในงานมหกรรมวิทย์ก็ให้ความรู้มากมายกว่าที่มีอยู่ในหนังสือเรียน และยังได้เห็นของจริง ได้สัมผัส ได้ทดลองด้วยตัวเอง เป็นประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้นและหาไม่ได้ในห้องเรียน เช่น การใช้กล้องโทรทรรศน์ ได้เห็นหุ่นยนต์เล่นดนตรี

"แต่ที่ตื่นเต้นและประทับใจมากที่สุดก็คือได้เห็นหิ่งห้อยของจริงที่ยังมีชีวิตอยู่ หิ่งห้อยกะพริบแสงสวยมากเลย ตั้งแต่เกิดมาหนูยังไม่เคยเห็นหิ่งห้อยมาก่อนเลย และยังได้รู้อีกว่าหิ่งห้อยตัวไหนเป็นตัวผู้ ตัวไหนเป็นตัวเมีย ดูได้จากปล้องที่กะพริบแสง ถ้ากระพริบ 2 ปล้อง เป็นตัวผู้ แต่ถ้ากะพริบปล้องเดียว แสดงว่าเป็นตัวเมีย" น.ส.ลักษิตา เล่าอย่างตื่นเต้น ส่วน น.ส.จุฑาทิพย์ เองก็ไม่เคยเห็นหิ่งห้อยมาก่อนเช่นกัน จึงรู้สึกไม่ต่างไปจากเพื่อน

"ปัจจุบันสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป ต้นไม้และแหล่งน้ำลดน้อยลง แต่อาคารบ้านเรือนมีมากขึ้น ทำให้หิ่งห้อยลดจำนวนลง และกลายเป็นสัตว์หายาก จึงอยากให้ทุกคนช่วยกันอนุรักษ์หิ่งห้อยและรักษาสิ่งแวดล้อม ไม่ตัดไม้ทำลายป่า เชื่อว่าในอนาคตหิ่งห้อยน่าจะกลับมาเยอะขึ้นได้" น.ส.จุฑาทิพย์ ฝากบอกถึงทุกคน

ที่ด้านหน้าทางเข้าเกาะกาลาปากอส (จำลอง) ในโซนนิทรรศการความหลากหลายทางชีวภาพ ด.ช.นิพนธ์ คชน่วม ชั้น ม.1 โรงเรียนเพ็ญพัฒนา จ.สุพรรณบุรี กำลังสนใจเรื่องราวของเปลือกไข่ของสัตว์ต่างๆ ซึ่งเป็นหนึ่งในของสะสมสุดโปรดของชาร์ลส์ ดาร์วิน เจ้าของทฤษฎีวิวัฒนาการสมัยใหม่

ด.ช.นิพนธ์ เล่าให้ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ฟังอีกทอดหนึ่งว่า ไข่นกกระจอกเทศมีความแข็งแรงและมีรูปทรงที่เหมาะเจาะมาก ในต่างประก็มีการนำเอาไปทำเป็นเครื่องประดับด้วย และเมื่อวางไว้ในแนวตั้ง ไข่นกกระจอกเทศสามารถรับน้ำหนักได้มากอย่างน่าอัศจรรย์ ซึ่งเราสามารถขึ้นไปยืนอยู่บนไข่ได้ เพราะมีโครงสร้างคล้ายโดมที่แข็งแรง แต่หากวางในแนวนอนจะรองรับน้ำหนักไม่ได้มากเหมือนในแนวตั้ง และอาจแตกได้ จากนั้นน้องนิพนธ์ก็ทดลองขึ้นไปยืนอยู่บนไข่นกกระจอกเทศแล้วให้เพื่อนถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึก ก่อนจะขอตัวออกเดินทางไปสู่เกาะกาลาปากอส (จำลอง)

อีกมุมหนึ่งของนิทรรศการความหลากหลายทางชีวภาพ 4 หนุ่มน้อย ด.ช.สุรชาติ สว่างดี, ด.ช.ธรรมชนะ ตะบูนพงษ์, ด.ช.พงศกร โพธิ์อาศัย และ ด.ช.ภานุพงศ์ สุขมาก ชั้น ป.4 โรงเรียนวิทยาศึกษา จ.สุพรรณบุรี กำลังฟังเรื่องราวของโลกดึกดำบรรพ์ แมมมอธ ไดโนเสาร์ และการสูญพันธุ์พวกมันอย่างตั้งอกตั้งใจ พร้อมกับซักถามพี่ๆ เจ้าหน้าหน้าที่อย่างสนุกสนาน และบอกผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า มาเที่ยวงานนี้สนุกมาก ได้เห็นหุ่นยนต์ รถยนต์อัจฉริยะ สัตว์ต่างๆ และเรื่องราวของไดโนเสาร์ โดยจะเอาความรู้เรื่องไดโนเสาร์นี้ไปทำเป็นการบ้านส่งคุณครูด้วย

ด้าน ด.ช.วายุภัทร ทัตเศษ อายุ 9 ขวบ ที่ดูสนุกกับงานมหกรรมวิทย์ฯ มาก เพราะเห็นดูบูธนั้นบูธนี้อย่างสนใจใฝ่รู้ เมื่อผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้พูดคุยกับ นางลำพึง ทัตเศษ คุณแม่ของน้องวายุภัทร ก็ทราบว่า คุณแม่เป็นคุณครูสอนภาษาอังกฤษอยู่ที่โรงเรียนนาสนุ่นวิทยาคม อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งพาคณะนักเรียนที่โรงเรียนมาชมงานมหกรรมวิทย์ จึงพาน้องวายุภัทรมาเที่ยวด้วยติดต่อกัน 2 ปีแล้ว เพราะอยากให้ลูกได้เรียนรู้สิ่งใหม่ที่เป็นประโยชน์

"งานปีนี้ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี แม้จะดูเหมือนบูธนิทรรศการน้อยกว่าปีก่อน แต่ก็มีอะไรใหม่ๆ ให้ชมเยอะ ถ้ามีโอกาสก็จะพาลูกมาเที่ยวทุกปี โชคดีว่าที่โรงเรียนมีงบประมาณให้ และส่วนหนึ่ได้รับงบประมาณจาก อบต. ทำให้โรงเรียนสามารถพานักเรียนบางส่วนมาชมงานนี้ได้ แต่น่าเสียดายที่ยังมีโรงเรียนในต่างจังหวัดอีกหลายแห่งที่ยังขาดโอกาสในส่วนนี้อยู่ จึงอยากให้ภาครัฐจัดสรรงบประมาณ อย่างน้อยๆ ก็ค่าเดินทางให้เด็กๆ ได้มีโอกาสมาชมนิทรรศการดีๆ อย่างนี้กันอย่างทั่วถึง" คุณครูลำพึง กล่าว

ส่วน น.ส.บุศรินทร์ ต่ายเพชร ที่พาครอบครัวมาชมงานนี้ เล่าให้ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ฟังหลังจากเพิ่งสัมผัสนิทรรศการชุดบทเรียนในความมืดมาหมาดๆ ว่า ตอนแรกเข้าไปในห้องมืดก็รู้สึกสนุกดี แต่พอเริ่มเจอสิ่งที่เราเดาไม่ออกว่าคืออะไร กำลังอยู่ที่ไหน ก็เริ่มรู้สึกกลัวขึ้นมาบ้าง ที่สำคัญคือทำให้เราเกิดความเห็นใจและเข้าใจความรู้สึกของผู้พิการทางสายตามากขึ้น และเชื่อว่าทุกคนที่ได้เข้ามาที่นี่มีความรู้สึกอย่างเดียวกัน

สำหรับนิทรรศการส่วนอื่นๆ น.ส.บุศรินทร์ บอกว่ายังดูไปไม่มาก เพราะเพิ่งเข้างานได้ไม่นาน แม้ส่วนตัวอาจไม่ค่อยได้สนใจหรือติดตามเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์มากนัก แต่คิดว่ากลับจากงานนี้ไปคงได้ความรู้เพิ่มขึ้นหลายอย่าง ได้รู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อน เหมือนได้มาเปิดหูเปิดตา และหากมีโอกาสก็จะมาเที่ยวงานนี้อีกในปีต่อๆ ไป

สิบปากว่า ไม่เท่าตาเห็น ใครอยากสัมผัสเรื่องราวแปลกใหม่ ได้ความรู้และความตื่นเต้นเหมือนพวกเขาเหล่านี้ รีบไปเปิดโลกจินตนาการกันได้ในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2551 ที่ไบเทค บางนา 8-22 ส.ค. นี้เท่านั้น
จากซ้าย ด.ช.เกษเทวินทร์ และนายเกษบดินทร์ เนตรภักดี 2 พี่น้อง ที่สนใจเรื่องในโลกวิทยาศาสตร์เป็นทุนเดิม
จากซ้าย น.ส.ลักษิกา โกชิน และ น.ส.จุฑาทิพย์ อาจเอื้อม
ด.ช.นิพนธ์ คชน่วม
ด.ช.วายุภัทร ทัตเศษ กำลังฟังเรื่องราวของแมมมอธในโซนนิทรรศการความหลากหลายทางชีวภาพ
4 หนุ่มน้อย (จากซ้าย) ด.ช.สุรชาติ สว่างดี, ด.ช.ธรรมชนะ ตะบูนพงษ์, ด.ช.พงศกร โพธิ์อาศัย และ ด.ช.ภานุพงศ์ สุขมาก ชื่นชอบเรื่องราวของไดโนเสาร์มากเป็นพิเศษ
น.ส.บุศรินทร์ ต่ายเพชร (ที่ 2 จากซ้าย) และครอบครัว ที่หน้าบริเวณนิทรรศการ บทเรียนในความมืด
กำลังโหลดความคิดเห็น