หาก "ผลแอปเปิล" ที่ร่วงหล่นจากต้นเป็นแรงบันดาลใจให้ "นิวตัน" ศึกษาค้นคว้าจนค้นพบกฎแรงโน้มถ่วง "หมู่เกาะกาลาปากอส" ก็คือแอปเปิลผลนั้นของ "ดาร์วิน" ที่เป็นแรงบันดาลใจให้เขาพยายามทำความเข้าใจกับความแตกต่างของสิ่งมีชีวิต จนเกิดเป็น "ทฤษฎีวิวัฒนาการ"
เมื่อพูดถึง "ชาร์ลส์ ดาร์วิน" (Charles Darwin) ก็ต้องนึกถึง "กาลาปากอส" (Galapagos Islands) หมู่เกาะภูเขาไฟในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออก แต่อยู่ทางทิศตะวันตกของชายฝั่งประเทศเอกวาดอร์ ห่างออกไปประมาณ 970 กิโลเมตร
"กาลาปากอส" เป็นหมู่เกาะที่เปรียบเสมือนห้องปฏิบัติการในธรรมชาติของดาร์วิน และเป็นหมู่เกาะแห่งประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เพราะไม่เพียงเป็นแรงบันดาลใจให้ดาร์วินสร้างทฤษฎีแห่งวิวัฒนาการ แต่ยังปฏิวัติความเข้าใจของมวลมนุษย์เกี่ยวกับโลกและสิ่งมีชีวิตโดยสิ้นเชิง
บทความจากสำนักข่าวเอเอฟพีระบุว่า หลังออกเดินทางจากอังกฤษในเดือน ธ.ค. 2374 เรือหลวงบีเกิล (HMS Beagle) ก็พาคณะและดาร์วินมาถึงหมู่เกาะกาลาปากอสในปี 2378 ขณะที่เขายังหนุ่มยังแน่นด้วยวัยเพียง 26 ปี และได้พบเจอกับสิ่งมีชีวิตหลากหลายสปีชีส์ ที่มีอยู่เฉพาะบนหมู่เกาะแห่งนั้น
ระหว่างที่พำนักอยู่ที่นั่น ดาร์วินทุ่มเทเวลาส่วนใหญ่ไปกับการศึกษาธรรมชาติที่แปลกใหม่โดยมีพืชและสัตว์นานาชนิดเป็นสิ่งดึงดูดใจ อาจเรียกได้ว่าเป็นก้าวแรกที่นำไปสู่ผลงานชิ้นโบว์แดงในอีกหลายปีต่อมา ที่ดาร์วินถ่ายทอดแนวคิดออกมาเป็นหนังสือเรื่อง "ออน ดิ ออริจิน ออฟ สปีชีส์" (On the Origin of Species)
"หากนิวตัน (Isaac Newton) ได้แรงบันดาลใจจากผลแอปเปิลที่ร่วงหล่นลงมา และนำไปสู่การค้นพบกฎแรงโน้มถ่วง (principle of gravity) ก็อาจกล่าวได้เช่นเดียวกันว่า หมู่เกาะกาลาปากอสก็นำดาร์วินสู่การค้นพบทฤษฎีวิวัฒนาการ" คำกล่าวเปรียบเทียบการค้นพบครั้งสำคัญของ 2 นักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่โดยคาร์ลอส วัลเล (Carlos Valle) ผู้เชี่ยวชาญด้านสรรพสัตว์แห่งกาลาปากอส และหัวหน้าแผนกชีววิทยา มหาวิทยาลัยซานฟรานซิสโกแห่งกีโต (Universidad San Francisco de Quito) ในเอกวาดอร์
ที่กาลาปากอสนี้ ทำให้ดาร์วินได้พบหลักฐานชิ้นเยี่ยมที่สุด สำหรับการพัฒนาทฤษฎี ที่มีธรรมชาติเป็นตัวคัดเลือกสิ่งมีชีวิต ผ่านกระบวนการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมโดยอาศัยเวลานับล้านปี
หมู่เกาะกาลาปากอส ประกอบด้วยเกาะขนาดใหญ่ 13 เกาะ และเกาะแก่งน้อยใหญ่อีกจำนวนมาก ดาร์วินสังเกตเห็นว่า ธรรมชาติแวดล้อมของแต่ละเกาะนั้น มีความผันแปรต่อกันเล็กน้อย ทว่ามีอิทธิพลต่อขนาดของจงอยปากในนกสปีชีส์เดียวกัน แต่อาศัยอยู่คนละเกาะ ซึ่งเป็นผลมาจากความแตกต่างของเมล็ดพืช ที่เป็นอาหารของนกชนิดนั้นบนเกาะนั้นๆ
นอกจากนั้นในบริเวณพื้นที่เล็กๆ ใกล้เคียงกัน ดาร์วินยังพบว่า มีนกสปีชีส์เดียวกัน แต่มีลักษณะแตกต่างกันไปถึง 14 แบบ ซึ่งความแปรผันที่เกิดขึ้น เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมบริเวณที่นกพวกนั้นอาศัยอยู่
"ดาร์วินเดินทางแวะเวียนสถานที่หลายแห่งรอบโลก แต่สถานที่ที่เขาพบเห็นถึงความแปลกใหม่ไม่เหมือนใครคือกาลาปากอส ที่ซึ่งนกสปีชีส์เดียวกัน แต่มีลักษณะแตกต่างกันในรายละเอียดที่ขึ้นกับบริเวณที่อยู่อาศัย กาลาปากอสไม่ใช่แก่นของเรื่องในหนังสือ ออน ดิ ออริจิน ออฟ สปีชีส์ แต่เป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ดาร์วินเข้าใจกฏแห่งวิวัฒนาการ" คำอธิบายของแมทเธียส วอล์ฟ (Matthias Wolff) ผู้อำนวยการมูลนิธิ ชาร์ลส์ ดาร์วิน แห่งหมู่เกาะกาลาปากอส หรือซีดีเอฟ (Charles Darwin Foundation for the Galapagos Islands: CDF)
สำหรับหมู่เกาะกาลาปากอสนั้น ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก จากองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO) เมื่อปี 2521 ด้วยสภาพธรรมชาติที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัวอย่างน่าทึ่ง มีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตสูง และส่วนใหญ่ก็ล้วนเป็นสปีชีส์ที่มีเฉพาะบนหมู่เกาะกาลาปากอสเท่านั้น
ทว่าปัจจุบันนี้ สิ่งแวดล้อมของกาลาปากอสกำลังเสื่อมโทรมลงเรื่อยๆ จนเกือบเข้าขั้นวิกฤติ โดยมีชนิดพันธุ์พืชเฉพาะถิ่นกว่า 20% และพันธุ์สัตว์เฉพาะถิ่นที่อยู่ในกลุ่มสัตว์มีกระดูกสัตว์กว่า 50% เข้าข่ายเป็นสิ่งมีชีวิตที่ถูกคุกคามอย่างน่าเป็นห่วงว่าอาจสูญพันธุ์ได้ในไม่ช้า ซึ่งมนุษย์เป็นสาเหตุอย่างไม่ต้องสงสัย ทั้งปัญหาสั่งสมมายาวนานแล้ว เช่น การล่ามากเกินพอดีทั้งบนบกและในทะเล และการบุกรุกที่อยู่อาศัยของสัตว์เพื่อใช้เป็นพื้นที่กสิกรรม
ส่วนปัญหาใหม่ที่เพิ่งก่อตัวในช่วง 50 ปีหลังมานี้ เกิดจากการที่ประชากรในท้องถิ่นและเศรษฐกิจขยายตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งสวนทางกับการบริหารจัดการพื้นที่ให้เป็นระบบอย่างยั่งยืนโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ที่มีผู้คนจากทั่วโลกมุ่งหน้าไปสัมผัสความสวยงามของธรรมชาติแปลกตาที่กาลาปากอส เป็นจำนวนมากเกินกว่าที่ธรรมชาติจะสามารถรองรับได้จริง
เมื่อมนุษย์ใช้สอยธรรมชาติมากเกินไป ย่อมส่งผลกระทบต่อพืชและสัตว์ท้องถิ่นในบริเวณนั้น ประกอบกับปัญหามลพิษ และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่คอยซ้ำเติมให้ย่ำแย่ลงทุกวัน
ปี 2549 ซีดีเอฟได้เริ่มดำเนินโครงการแผนกลยุทธ์ 10 ปี ในการแยกแยะอุปสรรคสำคัญ ที่ต้องเอาชนะให้ได้สำหรับกาลาปากอส หมู่เกาะที่ได้ชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์สำคัญ หรือ ไอคอน ทางประวัติศาสตร์การวิวัฒนาการและการอนุรักษ์ของโลก ทั้งนี้ก็เพื่อรักษาความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติให้คงไว้และจัดการด้านการท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือน มิ.ย. 2550 ยูเนสโกได้ประกาศ ขึ้นบัญชีหมู่เกาะกาลาปากอสให้เป็นมรดกโลกที่กำลังถูกคุกคาม เนื่องจากการรุกรานของมนุษย์ ทั้งจากการท่องเที่ยวที่ขยายตัวมากขึ้น การสัญจรไปมาระหว่างเกาะ และการอพยพย้ายถิ่นฐานของประชากร
แม้ช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ซีดีเอฟและอุทยานแห่งชาติกาลาปากอส (Galapagos National Park) ได้พยายามจัดการกับเรื่องดังกล่าวแล้วก็ตาม แต่ปัญหาก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะบรรเทาลงได้ และยังคงเป็นเรื่องที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน หากยังหวังให้ธรรมชาติของกาลาปากอสอยู่รอดไปถึงศตวรรษหน้า.
หมู่เกาะกาลาปากอส ประกอบด้วยเกาะน้อยใหญ่จำนวนมาก โดยมีเกาะหลักๆ อยู่ 13 เกาะ ได้แก่
เกาะเฟอร์นาดินา (Fernandina Island)
เกาะอิซาเบลา (Isabela Island)
เกาะพินซอน (Pinzón Island)
เกาะซานติเอโก (Santiago Island)
เกาะราบิดา (Rábida Island)
เกาะซานตาครูซ (Santa Cruz Island)
เกาะซานตาเฟ (Santa Fe Island)
เกาะฟลอเรียนา (Floreana Island)
เกาะเอสปาโนลา (Española Island)
เกาะซานคริสโตบัล (San Cristóbal Island)
เกาะเจโนเวซา (Genovesa Island)
เกาะมาร์เคนา (Marchena Island)
เกาะพินตา (Pinta Island)