xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนเส้นทางชีวิต "ชาร์ลส์ โรเบิร์ต ดาร์วิน"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชาร์ลส์ ดาร์วิน ในวัยหนุ่มที่หันเหชีวิตจากนักเรียนแพทย์ไปเป็นนักธรรมชาติวิทยา (ภาพจากแฟ้ม/สุทัศน์ ยกส้าน)
เกิดเป็นทายาทตระกูลผู้ดีมีการศึกษาและฐานะร่ำรวยในชนบทของอังกฤษ แต่ชีวิตของ "ชาร์ลส์ ดาร์วิน" ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบอย่างที่ควรจะเป็น ทั้งปู่และพ่อผู้เป็นแพทย์ที่มีชื่อเสียง และหวังจะให้ "ดาร์วิน" เดินตามรอย ด้วยการส่งเข้าเรียนในโรงเรียนแพทย์ ซึ่งที่นี่กลายเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการเปลี่ยนแปลงชีวิตของเขา และเปลี่ยนแนวคิดของคนทั่วโลก

เส้นทางชีวิตของ "ชาร์ลส์ ดาร์วิน" นักธรรมชาติวิทยาผู้ยิ่งใหญ่ของโลก และผู้ให้กำเนิด "ทฤษฎีวิวัฒนาการ" เป็นอย่างไรบ้าง ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ จะพาผู้อ่านย้อนอดีตกลับไปเมื่อ 200 ปีก่อน ชนิดปีต่อปี

1809 : เด็กชาย ชาร์ลส์ โรเบิร์ต ดาร์วิน (Charles Robert Darwin) ถือกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 12 ก.พ. ในครอบครัวที่มีฐานะร่ำรวย ในเมืองชูรว์สเบอรี (Shrewsbury) ทางตะวันตกของเกาะอังกฤษ

1825-27 : พ่อของดาร์วินส่งเขาไปเรียนด้านการแพทย์ที่มหาวิทยาลัยเอดินบะระ (Edinburgh University) ซึ่งดาร์วินเรียนอยู่ที่นั่นได้เพียง 2 ปี ก็ต้องออก เนื่องจากรับไม่ได้กับการเรียนวิชาผ่าตัด

1827-31 : เมื่อออกจากโรงเรียนแพทย์ ดาร์วินจึงย้ายไปเรียนทางด้านศาสนาและเทววิทยาที่ไครสต์ส คอลเลจ (Christ's College) ในเมืองเครมบริดจ์ เพื่อเตรียมตัวที่จะไปเป็นนักบวชในคริสตศาสนานิกายแองกลิแคน (vicar) ซึ่งเขาเองก็ไม่ได้ชอบเท่าใดนัก แต่ก็ต้องอดทนเรียนให้มันผ่านไป

1831-36 : ด้วยความที่เป็นคนสนใจใฝ่รู้เกี่ยวกับพืช สัตว์ และธรรมชาติรอบตัว ทำให้มีผู้เห็นแววความเป็นนักธรรมชาติวิทยาในตัวดาร์วิน และชักชวนให้เขาร่วมเดินทางไปกับเรือหลวงบีเกิล (HMS Beagle) ในฐานะนักธรรมชาติวิทยา ซึ่งเป็นการเดินทางรอบโลก โดยใช้เวลาทั้งสิ้นเกือบ 5 ปี (ประมาณ 57 เดือน) โดยในระหว่างนั้นดาร์วินได้พบเห็นความหลากหลายในธรรมชาติ และบันทึกสิ่งเหล่านั้นเอาไว้ทั้งหมดรวมแล้วกว่า 770 หน้า และเก็บรวบรวมตัวอย่างสิ่งมีชีวิตเอาไว้กว่า 5,400 ตัวอย่าง อาทิ เต่าหลากชนิดจากหมู่เกาะกาลาปากอส

1838 : ดาร์วินวิเคราะห์ข้อมูลจากสิ่งที่เขาพบเห็น และบันทึกไว้ จนได้ข้อสันนิษฐานว่าสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิด มีลักษณะแตกต่างกันไปตามถิ่นที่อยู่อาศัย ซึ่งธรรมชาติมีอิทธิพลต่อการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตเหล่านั้น สิ่งมีชีวิตชนิดไหนที่ปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ก็มีโอกาสอยู่รอดต่อไป ส่วนสิ่งมีชีวิตไหนที่ปรับตัวไม่ได้ก็ค่อยๆ ตายจากไป

1839 : ดาร์วินสมรสกับญาติห่างๆ ที่ชื่อ เอมมา เวดจ์วูด (Emma Wedgwood) และมีบุตรด้วยกัน 10 คน ซึ่งมี 3 คน ที่เสียชีวิตตั้งแต่ยังเด็ก

1840 : ดาร์วินตีพิมพ์หนังสือเรื่อง "ซูโอโลจี ออฟ เดอะ วอยเอจ ออฟ เดอะ บีเกิล" (Zoology of the Voyage of the Beagle)

1842 : ดาร์วินรวบรวมข้อมูลจากสิ่งที่เขาพบเห็น ระหว่างเดินทางไปกับเรือบีเกิลและจากที่ค้นคว้าเพิ่มเติม สังเคราะห์ออกมาเป็น "ทฤษฎีวิวัฒนาการ" (theory of evolution) ซึ่งเขายังไม่คิดตีพิมพ์ออกไป แต่ฝากฝังภรรยาให้ตีพิมพ์หลังจากที่เขาได้เสียชีวิตไปแล้ว โดยในระหว่างนั้นเขาก็ทำการทดลองต่างๆ อยู่ที่บ้านของเขาเองเพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติมมาอธิบายแนวความคิดของเขา

1858 : ดาร์วินได้รับจดหมายจากอัลเฟรด รัสเซล วอลเลซ (Alfred Russel Wallace) นักธรรมชาติวิทยาหนุ่ม ที่ทำงานอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเขียนจดหมายมาขอคำปรึกษาจากดาร์วินเกี่ยวกับแนวความคิดของเขา เรื่องทฤษฎีวิวัฒนาการโดยมีธรรมชาติเป็นตัวคัดสรร หรือการคัดสรรโดยธรรมชาติ (Natural selection) บังเอิญว่าแนวคิดของวอลเลซนั้น เหมือนกับสิ่งที่ดาร์วินคิด และปิดเป็นความลับไว้มานานแล้ว เขาจึงตัดสินใจเปิดเผยความลับที่เก็บงำมานานกว่า 20 ปี

1859 : หนังสือ "ออน ดิ ออริจิน ออฟ สปีชีส์" (On the Origin of Species) ได้รับการตีพิมพ์สู่สาธารณะเป็นครั้งแรก ซึ่งได้อธิบายถึงการวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต โดยมีธรรมชาติเป็นตัวกำหนดอย่างละเอียด และทันทีที่หนังสือเล่มนี้ได้รับตีพิมพ์ออกไป ก็ก่อให้เกิดประเด็นขัดแย้งในสังคมขึ้นอย่างใหญ่หลวง และสั่นคลอนความเชื่อทางศาสนา จนทำให้เขาถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกนอกรีต เป็นคนนอกศาสนา

1860 : นักบวชฝ่ายศาสนาและผู้ที่ต่อต้านแนวความคิดทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วิน กับนักวิทยาศาสตร์และฝ่ายที่สนับสนุนดาร์วิน ได้มาเผชิญหน้ากันในการประชุมครั้งสำคัญที่มหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด (Oxford University) และเกิดการโต้แย้งถกเถียงกันอย่างดุเดือด ถึงเรื่องการกำเนิดและวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต

1871 : ดาร์วินตีพิมพ์หนังสือเรื่อง "เดอะ เดสเซนต์ ออฟ แมน" (The Descent of Man) ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับวัฒนาการของมนุษย์ โดยที่ดาร์วินอธิบายไว้ว่า มนุษย์ และ ลิงไม่มีหาง (ape) สืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษร่วมกัน เป็นผลให้ดาร์วินถูกดูหมิ่นเหยียดหยามอย่างรุนแรง จากฝ่ายศาสนาและผู้ต่อต้าน

1872-81 : ผลงานของดาร์วิน ได้รับการตีพิมพ์อย่างต่อเนื่องออกมาอีกหลายเรื่องด้วยกัน เช่น การแสดงออกทางอารมณ์และความรู้สึกของมนุษย์และสัตว์, การสืบพันธุ์ของพืช, พฤติกรรมของหนอน เป็นต้น ซึ่งเหล่านี้เป็นผลที่ได้จากการทดลองของดาร์วิน ที่เกิดขึ้นทั้งหมดภายในบริเวณบ้านและสวนของเขาเองที่ดาวน์ เฮาส์ (Down House) ในเมืองเคนท์ (Kent) ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอังกฤษ

1882 : ดาร์วินในวัย 73 ปี เสียชีวิตลงอย่างสงบภายในบ้านของเขา เมื่อวันที่ 19 เม.ย. ด้วยอาการป่วยที่สั่งสมมานานหลังกลับจากการเดินทางกับเรือบีเกิล ศพของดาร์วินถูกฝังไว้ที่มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ (Westminster Abbey) ในกรุงลอนดอน ใกล้กับหลุมฝังศพของไอแซ็ค นิวตัน (Isaac Newton), ไมเคิล ฟาราเดย์ (Michael Faraday) และนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งเกาะอังกฤษอีกหลายคน
ดาร์วินในวัยชรา หลังจากที่ประกาศให้โลกรู้ว่าสิ่งมีชีวิตมีวัฒนาการอยู่ตลอดเพื่อปรับตัวให้อยู่รอดได้ในสภาวะแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลง (ภาพโดย J. Cameron)
ภาพล้อเลียนดาร์วินว่าวิวัฒนาการมาจากลิง อันเป็นผลหลังจากที่ดาร์วินตีพิมพ์หนังสือ The Descent of Man ที่เขาอธิบายว่าคนกับลิงวิวัฒนาการมาจากบรรพบุรุษร่วมกัน (ภาพจาก Hornet magazine)
นักแสดงแต่งกายเลียนแบบชาร์ลส์ ดาร์วิน เป็นแบบให้ช่างภาพถ่ายภาพขณะยืนมองหลุมฝังศพของดาร์วิน ภายในมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ กรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 52 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการเฉลิมฉลองครบ 200 ปี วันเกิดดาร์วินในวันที่ 12 ก.พ. 52 (เอเอฟพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น