กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ วท. - โฆษกวิทย์ฯ พบสื่อ เผยความพร้อมหน่วยงานขานรับนโยบาย รมว. เร่งนำงานวิจัยลงพื้นที่ 4 ภาค ลุยสานต่อโครงการ 9 หมู่บ้านเทคโนโลยีเฉลิมพระเกียรติในภาคอีสาน เตรียมจัดงานยิ่งใหญ่ด้านพลังงานทางเลือก พร้อมรับสมัครเลือกตั้งนายกสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์ให้แล้วเสร็จเร็วๆ นี้
ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) และโฆษกประจำกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เปิดเผยต่อสื่อมวลชนถึงความก้าวหน้าการดำเนินงานของกระทรวงตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2552 ณ อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ดร.วีระพงษ์ กล่าวถึงความก้าวหน้าการดำเนินงานของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ หลายประเด็น ได้แก่ การเตรียมความพร้อมของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ที่จะดำเนินงานตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ ซึ่งประกอบด้วย นโยบายร่วมพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ การจัดค่ายวิทยาศาสตร์สานใจไทยสู่ใจใต้ การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลและถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กลุ่มแม่บ้านในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ โครงการในพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์
การวิจัยพัฒนาร่วมกับกระทรวงกลาโหม นโยบายใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก้ไขปัญหาความยากจน เพื่อให้สามารถนำผลงานไปประยุกต์ใช้เพิ่มคุณภาพชีวิต สร้างงานสร้างรายได้ ได้แก่ โครงการไอทีรีเทรนนิง (IT Retraining) การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยโครงการเกี่ยวกับดิน น้ำ เขื่อน เซรามิก การวิจัยพัฒนาด้านสาธารณสุข การเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร การปรับปรุงมาตรฐานสินค้า การพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพและชีวมวล การวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นต้น
โฆษกกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวถึงประเด็นที่ 2 ว่า โครงการหมู่บ้านเทคโนโลยีเฉลิมพระเกียรติ 9 หมู่บ้านในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจัดตั้งขึ้นสมัยนายบัญญัติ บรรทัดฐาน เป็น รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ประมาณปี 2528 โดย ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมว. คนปัจจุบัน มีนโยบายจะสานต่อโครงการดังกล่าว จึงมอบหมายให้สำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยีลงสำรวจสถานภาพปัจจุบัน ของทั้ง 9 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านโพนงามท่า อ.โพนนาแก้ว จ.สกลนคร, บ้านหนองแวง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย, บ้านโคกล่าม อ.กมลไสย จ.กาฬสินธุ์, บ้านป่าน อ.จังหาร จ.ร้อยเอ็ด, บ้านสะอาด อ.เมืองเก่า จ.ขอนแก่น, บ้านแก่งโก อ.แก้งสนามนาง จ.นครราชสีมา, บ้านใคร่นุ่น อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม, บ้านโนนเจดีย์ อ.ภูเขียว และบ้านท่าหว้า อ.เนินสง่า จ.ชัยภูมิ
เบื้องต้นพบว่าแต่ละพื้นที่มีความต้องการได้รับการสนับสนุนเทคโนโลยีจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ในเรื่องการลดต้นทุนผลิตผลทางการเกษตร การแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร การบริหารจัดการน้ำ และการผลิตไฟฟ้าในชุมชน จากปัญหาความต้องการดังกล่าว จะนำเสนอต่อ รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ในวันที่ 19 ก.พ. จากนั้น รมว. จะลงไปสำรวจพื้นที่ด้วยตัวเองอีกครั้ง และทำการคัดเลือกหมู่บ้านเข้มแข็งมากที่สุด และเข้มแข็งน้อยที่สุด 2 หมู่บ้าน เป็นหมู่บ้านนำร่อง โดยวิเคราะห์ศักยภาพของทั้งสองหมู่บ้านว่าควรนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปช่วยเหลือในระดับใดเขาจึงจะสามารถครองตนต่อไปได้ และเปลี่ยนชื่อเป็นหมู่บ้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งนี้ ความคืบหน้าการดำเนินงานจะรายงานสื่อมวลชนทราบเป็นลำดับต่อไป
ประเด็นที่สาม สรุปผลการประชุมบูรณาการงานด้าน ว และ ท สู่กลุ่มจังหวัด ซึ่งในปี 2552 สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีแผนจัดประชุม 4 ครั้ง ดำเนินการไปแล้ว 2 ครั้ง คือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.อุดรธานี และภาคเหนือ จ.เชียงราย ผลจากการประชุมทางจังหวัดต้องการให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ สนับสนุนครอบคลุมการพัฒนาสินค้าเกษตร การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน และพัฒนาแหล่งเรียนรู้ด้าน ว และ ท รวมทั้งหมด 46 เรื่อง ซึ่งทางกระทรวงได้พิจารณามอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปจัดทำแผนดำเนินการเพื่อให้บังเกิดผลโดยเร็ว ทั้งนี้ มีตัวอย่างการดำเนินการตอบสนองความต้องการจังหวัด ได้แก่ ให้ความรู้เรื่องสารกรองสนิมเหล็ก การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์หลามหมูยอ พร้อมพัฒนาบรรจุภัณฑ์ส่งทางไปรษณีย์ได้สำเร็จ เป็นต้น สำหรับการจัดประชุมบูรณาการครั้งที่ 3 กำหนดจัดเดือนมีนาคม จ.เพชรบุรี และเดือนพฤษภาคม จ.นครศรีธรรมราช
ประเด็นที่สี่ การจัดนิทรรศการของหน่วยงานกระทรวงวิทย์ฯ ในงานประชุมและนิทรรศการพลังงานทางเลือกนานาชาติ โดยจะคัดผลงานที่สอดคล้องกับภาพรวม คือพลังงานทางเลือก ตัวอย่างผลงานที่จะนำมาแสดง เช่น เครื่องผลิตถ่านอัดแท่ง ชุดผลิตไบโอดีเซลแยกกลีเซอรอล ซึ่งกลีเซอรอลเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง เครื่องกลั่นน้ำพลังงานแสงแดดแบบใหม่ ข้อมูลดาวเทียมสำรวจพืชพลังงาน เครื่องผลิตแก๊สชีวภาพจากเศษอาหาร เป็นต้น ผู้สนใจจะได้สัมผัสในงานดังกล่าวที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-8 มีนาคม 2552 ณ อิมแพค เมืองทองธานี
ส่วนประเด็นสุดท้าย ดร.วีระพงษ์ ได้ขอความร่วมมือช่วยเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ การรับสมัครเลือกตั้งนายกสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและกรรมการตามมาตรา 21 (2) ซึ่งต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 16 มี.ค. 2552 โดยผู้ประสงค์จะสมัครรับเลือกตั้ง ต้องมีคุณสมบัติเบื้องต้นเป็นสมาชิกแห่งสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี