xs
xsm
sm
md
lg

6-8 ก.พ.เปิดมหกรรมศึกแข่งขันไอซีที "แสงสีแห่งอนาคต"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช (กลาง) ถ่ายรูปร่วมกับเยาวชนที่เข้าร่วมการประกวดมหกรรมไอซีทีในปีที่ผ่านมา
เนคเทคเตรียมเปิดมหกรรมศึกแข่งขันไอซีที "แสงสีแห่งอนาคต" 6-8 ก.พ.นี้ นำเสนอ 161 ผลงานเยาวชนที่ผ่านคัดเลือกและตัดสินด้วยระบบอินเตอร์ ส่งกรรมการแทรกซึมเป็นผู้ชมงานซักถามเพื่อให้คะแนนตัดสิน

ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เตรียมเปิดมหกรรมประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Thailand ICT Contest Festival) ครั้งที่ 8 ภายใต้แนวคิด "แสงสีแห่งอนาคต" (Future Spectrum) วันที่ 6-8 ก.พ.52 ณ สยามพารากอน โดยทีมข่าววิทยาศาสตร์ "ASTV-ผู้จัดการออนไลน์" ได้เข้าร่วมงานแถลงข่าวการเปิดมหกรรมดังกล่าวเมื่อวันที่ 29 ม.ค. ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ทั้งนี้ ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกะรทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ต้นสังกัดเนคเทคกล่าวว่า มหกรรมประกวดไอซทีจัดมา 8 ปี ซึ่งที่ผ่านมาๆ รู้สึกทึ่งเมื่อได้ทราบถึงผลงานการประกวด ซึ่งการแข่งขันนี้ไม่เหมือนการประกวดอื่นๆ โดยใช้เวลาหลายเดือน และต้องเข้าอบรมก่อนส่งผลงานประกวด ผู้เข้าประกวดจึงต้องมีความอดทนและความตั้งใจสูง รวมถึงความคิดสร้างสรรค์ และในวันที่ 7-8 ก.พ.นี้จะเป็นการประกวดของจริง

"ทำไมกระทรวงวิทย์มาจัดงานทางด้านไอซีทีนั้น จริงๆ แล้วกระทรวงไอซีที (กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ) เป็นลูกของกระทรวงวิทย์ ซึ่งหลังปฏิรูประบบราชการเรารู้สึกเหมือนมีลูกออกไป 3-4 คนแล้วจากกระทรวงนี้ ตอนนี้ซิป้า (สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ) ซึ่งไปอยู่กระทรวงไอซีทีแล้วก็ยังมาร่วมงานกับเราอยู่" ดร.คุณหญิงกัลยากล่าว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ระบุด้วยว่า เยาวชนที่ชนะเลิศจากการประกวดในเวทีจะได้รับการต้อนรับจากสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ ซึ่งบางแห่งเปิดให้เข้าศึกษาโดยไม่ต้องสอบเข้า พร้อมมอบทุนการศึกษาให้ นับเป็น "รางวัลชีวิต" ที่ได้ศึกษาโดยมีทุนให้

ด้าน รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้แจกแจงการแข่งขันภายในงานดังกล่าวว่ามีทั้งหมด 4 การประกวดคือ การแข่งขันโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 11 (NSC 2009) การประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ การแข่งขันประกอบวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ในโครงการค่ายนักอิเล็กทรอนิกส์รุ่นเยาว์ และการแข่งขันระบบปฏิบัติการลีนุกซ์

"สำหรับเยาวชนที่เข้าร่วมการแข่งขันนี้ ตราบใดที่เขาสนใจเรื่องเป็นนักวิจัยและอยากทำวิจัย เราพร้อมดูแลและให้การสนับสนุนเขาไปตลอด" รศ.ดร.ศักรินทร์กล่าว

ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้อำนวยการเนคเทค กล่าวถึงการประกวดในงานมหกรรมนี้ว่า จากที่ได้สังเกตมาหลายๆ ปี พบว่าหลายคนที่เข้าประกวดจะค่อยๆ ไต่อันดับในการรับรางวัลจากการเข้าร่วมแข่งขันหลายปีจนได้รางวัลชนะเลิศ ทั้งนี้การตัดสินของคณะกรรมการใช้หลักการเดียวกับเวทีแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับโลกอินเทลไอเซฟ (IntelISEF) ซึ่งคณะกรรมการจะแฝงตัวเป็นผู้ชมงานเข้าไปซักถามเยาวชนเจ้าของผลงาน ซึ่งต้องตอบให้ได้ทุกคำถาม
ดร.พันศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ (ภาพประกอบจากเนคเทค)
กำลังโหลดความคิดเห็น