xs
xsm
sm
md
lg

อยู่มาเงียบๆ "กรมวิทย์บริการ" สืบตำนาน "ศาลาแยกธาตุ" 118 ปีแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บรรยากาศการทำงานของกรมวิทยาศาสตร์บริการในอดีต (ภาพกรมวิทยาศาสตร์บริการ)
หลายคนคงรู้จัก "กรมวิทย์บริการ" ที่รับบริการทดสอบทางด้านวิทยาศาสตร์ บางคนอาจจะแค่คุ้นหู แต่เชื่อว่าหลายคนคงประหลาดใจเมื่อทราบว่า หน่วยงานที่อยู่มาอย่างเงียบๆ ใต้เงากระทรวงวิทย์นี้อายุเกือบ 120 ปีแล้ว

"คนในกระทรวงวิทย์ยังไม่รู้เลยว่าเรา 118 ปีแล้ว" นายปฐม แหยมเกตุ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กล่าวถึงความรู้สึกของข้าราชการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเมื่อทราบว่า กรมฯ มีอายุเกินร้อยมาสิบกว่าปีแล้ว ขณะที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ซึ่งเป็นต้นสังกัดของกรมวิทยาศาสตร์บริการเพิ่งจะเตรียมฉลองครบ 30 ปีในอีก 2-3 เดือน ข้างหน้า

กรมวิทยาศาสตร์บริการมีประวัติอันยาวนานและมีการเปลี่ยนผ่านหน่วยงานต้นสังกัดมาหลายครั้ง แรกเริ่มเดิมทีก่อตั้งเป็นหน่วยงานเล็กๆ ชื่อ "สถานปฏิบัติการวิเคราะห์แร่" หรือห้องแยกแร่ เมื่อปี 2434 ในสังกัดกรมราชโลหกิจและภูมิวิทยา กระทรวงเกษตราธิการ ต่อมาได้ปรับเป็น "กองแยกธาตุ" แล้วเปลี่ยนไปสังกัดกรมกระษาปณ์สิทธิการ กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ในปี 2444 แล้วย้ายไปสังกัดกรมพาณิชย์และสถิติพยากรณ์ ในปี 2460 ก่อนปรับสถานะเป็น "ศาลาแยกธาตุ" ในสังกัดเดิมเมื่อปี 2461

จากนั้นศาลาแยกธาตุได้ยกระดับเป็นกรมแล้วย้ายไปสังกัดกระทรวงพาณิชย์และคมนาคมในปี 2466 จนกระทั่งปี 2475 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "กรมวิทยาศาสตร์" ในสังกัดกระทรวงเกษตรพาณิชยการ และอีก 1 ปีต่อมาได้ย้ายไปสังกัดกระทรวงเศรษฐการ และปี 2484 สังกัดกระทรวงเศรษฐกิจ จากนั้นย้ายมาสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมในปี 2485 และกว่าจะได้เข้ามาสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็ปี 2522 ซึ่งขณะนั้นยังเป็นกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและพลังงาน และเปลี่ยนชื่อเป็น "กรมวิทยาศาสตร์บริการ" อย่างที่รู้จักกันในทุกวันนี้

"กรมวิทย์มีประวัติยาวนาน แม้จะเปลี่ยนชื่อและเปลี่ยนสังกัดมาหลายครั้ง แต่เราก็ยังคงอยู่ นั่นแสดงถึงความมีคุณภาพของเรา งานหลักของเราคือ วิเคราะห์ทดสอบและสอบเทียบ และรับรองห้องปฏิบัติการตามมาตรฐาน ISO17025 หน่วยงานของเราเกิดขึ้นจากที่สมัยก่อนไทยส่งแร่ธาตุเป็นสินค้าออก จำพวก ดีบุก ตะกั่ว ทองคำ ซึ่งชื่อศาลาแยกธาตุก็ตรงตัวคือทำหน้าที่แยกดูว่ามีอะไรบ้าง แต่ต่อมาวิทยาศาสตร์ไม่ได้มีแค่เคมี ยังมีฟิสิกส์ ชีวะ เรื่องอาหาร โรคภัยต่างๆ ก็ได้มีการพัฒนาหน้าที่มาเรื่อย" นายปฐมกล่าว

อธิบดีกล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์บริการจะสร้างตัวเองให้เป็นองค์กรที่ได้การยอมรับระดับโลก โดยในระดับประเทศมีเอกชนหลายรายที่ให้บริการวิเคราะห์ทดสอบ แต่เมื่อเปรียบเทียบแล้วทางกรมให้บริการในราคาที่ถูกกว่า และบางบริการก็เป็นหนึ่งของประเทศ เช่น การตรวจสอบ "พลาสติกไซเซอร์" ซึ่งเป็นสารผสมในการผลิตปะเก็นพลาสติกชนิดพีวีซี (PVC) สำหรับใช้กับฝาโลหะของขวดแก้วเพื่อให้ปิดสนิท ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์บริการเป็นหน่วยงานแรกที่ทำได้

ทั้งนี้ นายปฐมระบุว่าทางกรมวิทยาศาสตร์บริการให้บริการวิเคราะห์ทดสอบในราคาที่ถูกมาก ยกตัวอย่างการวิเคราะห์นั้นคิดการทดสอบต่อเรื่อง 500 บาท จึงมีผู้มาใช้บริการจำนวนมากจนทำงานไม่ทัน เนื่องจากที่ผ่านมาทำงานระบบราชการและคิดค่าบริการราคาถูก อีกทั้งยังไม่มีแผนการตลาด ดังนั้นจึงอยากปรับเปลี่ยนเป็น "องค์การมหาชน" เพื่อให้สามารถทำงานได้มากขึ้น แต่ยืนยันว่าค่าบริการจะไม่แพงขึ้น

"ค่าบริการไม่แพงขึ้นเพราะเราทำงานมากขึ้นให้ได้ แต่รัฐต้องหาเครื่องมือมาให้เรา ซึ่งการทำงานได้มากขึ้นจะทำให้เราเลี้ยงตัวเองได้มากขึ้น หากเราทำงานได้เต็มเวลามากกว่านี้ เพราะถ้าทำงานเต็มเวลา เครื่องมือต่างๆ จะไม่เสียหายเพราะทำงานได้ต่อเนื่อง และเราได้ใช้ประโยชน์เต็มที่ การวิเคราะห์จะมากขึ้น รายได้มากขึ้นด้วย" นายปฐมระบุ โดยได้เริ่มดำเนินการเพื่อเปลี่ยนเป็นองค์การมหาชนตั้งแต่ปี 2540

ในส่วนของงานวิจัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการกล่าวว่า หน่วยงานมีผลงานเด่นๆ ทางด้านยางและเซรามิก ทั้งนี้ปกติงานวิจัยจะพิสูจน์กันด้วยผลงานที่ได้รับการตีพิมพ์หรือที่เรียกกันว่า "เปเปอร์" (paper) ซึ่งทางกรมวิทยาศาสตร์มีผลงานวิจัยตีพิมพ์ค่อนข้างน้อยคือปีละประมาณ 7 เรื่อง โดยส่วนใหญ่จะเน้นเรื่องการถ่ายทอดความรู้ และปัจจุบันมีกำลังคนประมาณ 600 คน โดยเป็นกำลังคนในส่วนวิเคราะห์ทดสอบ 300 คน และมีนักวิชาการระดับปริญญาเอก 21 คน

"ผลงานเด่นๆ ของเราคือเรื่องยางและเซรามิก และอีกผลงานที่น่าจะคุ้นเคยกันดีคือ "ถ่าน" ที่เรานำเศษวัสดุเหลือใช้มาเผาเป็นผงถ่านแล้วอัดเป็นแท่งมีรูตรงกลาง เป็นถ่านที่ไร้ควัน หรืองานวิจัยทางด้านสมุนไพร ซึ่งเรามีผลงานที่ถ่ายทอดให้ชุมชนได้ อาทิ น้ำยาล้างจาน ยาสระผม เป็นต้น" นายปฐมกล่าว และเผยว่ามีรายได้จากการให้บริการปีละ 30 ล้านบาท แต่ลงทุนไปมากกว่านั้น อย่างไรก็ดีการที่ภาคอุตสาหกรรมนำผลงานจากการบริการไปต่อยอดแล้วมีรายได้กลับเข้าประเทศก็ถือเป็นความสำเร็จ

นอกจากนี้กรมวิทยาศาสตร์บริการยังเป็นหน่วยงานตั้งต้นของหลายๆ หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.), สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.), สถาบันมาตรวิทยา (มว.), และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)

แม้ว่ากรมวิทยาศาสตร์บริการจะมีอายุเกือบ 120 ปีแล้ว แต่ที่ผ่านมาแทบจะไม่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปนัก ซึ่งอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการยอมรับว่าที่ผ่านมา อยู่กันเงียบๆ จึงอยากจะเปิดตัวให้เป็นที่รู้จัก โดยการจัดงาน "118 ปี ศาลาแยกธาตุ-กรมวิทยาศาสตร์บริการ" ระหว่างวันที่ 29-31 ม.ค.52 ณ บริเวณกรมวิทยาศาสตร์บริการ

สำหรับงานดังกล่าวเป็นการจัดงานขึ้นเนื่องในโอกาสคล้ายวันสถาปนากรมวิทยาศาสตร์บริการ ตามพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการสำนักงานและกรมในกระทรวงเศรษฐการ ซึ่งตรงกับวันที่ 30 ม.ค.ของทุกปี โดยผู้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการคนแรกคือ ดร.ตั้ว พลานุกรม ซึ่งได้กล่าวไว้ว่า "ชาติจะเจริญโดยไม่มีวิทยาศาสตร์เป็นหลักไม่ได้"

ภายในงาน 118 ปีศาลาแยกธาตุ-กรมวิทยาศาสตร์บริการมีการจัดแสดงนิทรรศการผลงานของกรมวิทยาศาสตร์ฯ อาทิ หมวกยางจากยางธรรมชาติสำหรับบล็อกคอนกรีต ยางธรรมชาติสำหรับลู่-ลานกรีฑา เป็นต้น, เปิดบ้านสำหรับเยี่ยมชมการทำงานของกรม, การรับปรึกษาปัญหาทางวิทยาศาสตร์โดยจัดมุมให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการวิจัย, การบรรยายพิเศษและเสวนา
อาคารศาลาแยกธาตุเมื่อปี 2461 (ภาพจากกรมวิทยาศาสตร์บริการ)
อาคารกรมวิทยาศาสตร์บริการในปัจจุบัน (ภาพจากกรมวิทยาศาสตร์บริการ)
นายฐม แหยมเกตุ (ขวา) มอบของที่ระลึกซึ่งเป็นเซรามิกที่พํฒนาโดยกรมวิทยาศาสตร์บริการให้กับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เนื่องในโอกาสเปิดงาน 118 ปี ศาลาแยกธาตุ-กรมวิทยาศาสตร์บริการ (ภาพกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ)
ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เปิดนิทรรศการภายในงาน 118 ปี ศาลาแยก-กรมวิทยาศาสตร์บริการ โดยใช้เทคนิคทางเคมีเทสารให้เปลี่ยนจากไม่มีสีเป็นสีแดง เป็นสัญลักษณ์ของการเปิดงาน หลังนายกรัฐมนตรีกล่าวเปิดงานดังกล่าวแล้ว (ภาพกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ)
ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ชมนิทรรศการและผลงานที่จัดแสดงในงาน 118 ปี ศาลาแยกธาตุ-กรมวิทยาศาสตร์บริการ โดยในส่วนดังกล่าวเป็นการให้บริการทดสอบค่า SPF ในสารกันแดด (ภาพกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ)
นายปฐม แหยมเกตุ
กำลังโหลดความคิดเห็น