xs
xsm
sm
md
lg

อัดบลูชอปเดินผิดทาง"ลีเวอร์"เมิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – เอกชนอัดแหลกแผนร้านบลูชอปของกระทรวงพาณิชย์ เดินผิดทาง ควรให้เอกชนลงทุน หวั่นเป็นตัวสร้างปัญหากระทบร้านโชวห่วย ด้านยูนิลีเวอร์เมินเข้าร่วมโครงการ เหตุกลัวกระทบกับคู่ค้า

แหล่งข่าวจากวงการค้าปลีก กล่าวให้ความเห็นกับ “ASTVผู้จัดการรายวัน” ถึง โครงการร้านบลูชอปของกระทรวงพาณิชย์ ว่า โครงการดังกล่าวถือเป็นแผนงานการเดินเกมที่ไม่ถูกต้องในฐานะที่เป็นรัฐบาลเพื่อที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะโครงการดังกล่าวเท่าที่พิจารณาดูแล้วไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาให้กับระบบเศรษฐกิจหรือว่าจะช่วยเหลือผู้บริโภคหรือชาวบ้านแต่อย่างใด กลับจะเป็นการก่อปัญหาตามมาด้วย
“ผมว่ารัฐบาลเดินผิดทางแล้ว ไม่ใช่เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องมาลงทุนเปิดร้านบลูชอปหรือร้านอะไรที่ว่านี้เลย รัฐบาควรจะส่งเสริมหรือเปิดทางให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนเปิดร้านบลูชอปจะดีกว่าเสียอีก เพราะไม่ต้องเสียงบประมาณ อีกทั้งระบบข้าราชการที่ล่าช้านั้นก็จะส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจของร้านบลูชอปเองด้วย”
ทั้งนี้ แนวทางที่รัฐบาลควรจะทำก็คือ ควรพยายามหาพื้นที่หรือสถานที่ที่มีความเหมาะสมเพื่อทำเป็นตลาดนัดขนาดใหญ่แล้วให้พ่อค้าแม่ค้าหรือผู้ประกอบการรายย่อยมาเช่าพื้นที่เพื่อขายสินค้าจะดีกว่า เป็นการเข้าถึงชุมชนโดยตรง และจัดให้มีกิจกรรม การแสดงต่างๆ เพื่อเป็นการสร้างสีสันและกระตุ้นการจับจ่ายจะดีกว่า เป็นการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดมากกว่า
แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า การเปิดร้านบลูชอปก็ยิ่งไปกระทบและสร้างความเดือดร้อนให้กับบรรดาร้านโชวห่วยที่ทำธุรกิจอยู่ตามชุมชนอยู่แล้ว สวนทางกับรัฐบาลที่พยายามจะปกป้องร้านโชห่วยที่เป็นธุรกิจดั้งเดิมของคนไทย
ส่วนกรณีทีจะตั้งราคาสินค้าในร้านบลูชอปเป็นราคาเดียวคือ ชิ้นละ 60 บาทนั้น ไม่รู้ว่ากระทรวงพาณิชย์เอาเกณฑ์อะไรมาคำนวนว่าต้องขายราคา 60 บาท ซึ่งมันมีความเหมาะสมหรือไม่ ความจริงแล้ว ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น กะปิ น้ำปลา น้ำมัน ผงซักฟอก สบู่ ยาสีฟัน ก็มีเรทราคามากมาย ส่วนใหญ่ไม่ถึง 60 บาทด้วยซ้ำไปซึ่งตรงนี้รัฐบาลควรจะตอบให้ชัดเจนว่าทำไมต้องราคา 60 บาท หรือเป็นแค่เพียงกลยุทธ์ในการทำที่เลียแบบร้าน 100 เยนขายสินค้าราคาเดียวของญี่ปุ่น
“สินค้าที่จะมาขาย ก็ไปคุยกับทางซัปพลายเออร์เพื่อให้ผลิตให้ ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าจะออกมาในรูปแบบใดคือ ให้ซัปพลายเออร์ผลิตสินค้าแบรนด์ตัวเองเหมือนเดิมแล้วมาวางขายที่ร้านบลูชอป หรือให้ซัปพลายเออร์ผลิตสินค้ามาเป็นอีกแบรนด์หนึ่งหรือแบรนด์บลูชอปก็ได้ แล้วมาจำหน่ายที่ร้าน ยุคนี้ที่ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นซัปพลายเออร์คงจะเดือดร้อนหากต้องมาผลิตสินค้าที่มีต้นทุนคงเดิมแต่ขายได้ราคาต่ำ และสินค้าที่ไม่มีแบรนด์ก็จะขายได้ยาก เพราะคนไทยยึดติดกับแบรนด์อย่างมาก เหมือนเมื่อครั้งในอดีตที่รัฐบาลยุคหนึ่งเคยผลิตสินค้าแบรนด์ สินไทย ออมาจำหน่าย สุดท้ายก็ไปไม่รอด”
โครงการนี้เท่าที่รู้มาเกิดขึ้นในสมัยที่นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และเริ่มมีการประชุมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนไม่กี่ครั้ง ก็มีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรี สุดท้ายก็มีการเปลี่ยนรัฐบาล ซึ่งโครงการดังกล่าวก็ยังไม่มีความคืบหน้า กระทั่งล่าสุด ก็มีโครงการเกิดขึ้นอีกในรัฐบาลสมัยนี้

**ยูนิลีเวอร์ออกอาการเมิน
นางพงษ์ทิพย์ เทศะภู ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ กลุ่มบริษัทยูนิลีเวอร์ในประเทศไทย ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค กล่าวว่า ทางกระทรวงพาณิชย์ไม่ได้ส่งรายละเอียดเพื่อขอให้บริษัทเข้าร่วมโครงการธงฟ้า”ร้านบลูชอป” แต่หากมีการขอความร่วมมือ บริษัทคงต้องพิจารณาถึงความเหมาะสม ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปรายละเอียดได้ เพราะต้องพิจารณาว่าโครงการดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อช่องทางจำหน่ายร้านค้าปลีกรายย่อยหรือโชวห่วย ซึ่งมีกว่า 2-3 แสนรายทั่วประเทศมากน้อยแค่ไหน ตลอดจนกระทบต่อศูนย์จำหน่ายของบริษัทเองด้วยหรือไม่
สำหรับการจำหน่ายสินค้าราคา 60 บาท ต้องพิจารณาว่าเป็นสินค้าอย่างไร ของกินหรือของใช้ มีความคุ้มค่าคุ้มราคาสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคมากน้อยแค่ไหน เพราะผู้บริโภคมีหลากหลาย ซึ่งนโยบายทางการตลาดของยูนิลีเวอร์ปีนี้ เพิ่มความถี่การทำโปรโมชันในทุกช่องทางห้างสรรพสินค้าจนถึงร้านโชวห่วย เพื่อรองรับกับวิกฤตเศรษฐกิจ และกระตุ้นการซื้อสินค้าของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น ซึ่งในทางกลับกันผู้บริโภคก็ได้ซื้อสินค้าราคาถูกลงอยู่แล้ว
“บริษัทไม่มีแผนที่จะผลิตสินค้าในขนาดใหม่ เพื่อจำหน่ายราคา 60 บาท ให้กับร้านบลูชอป เนื่องจากการผลิตขนาดใหม่ เป็นการเพิ่มต้นทุนโดยเฉพาะในด้านบริหารการจัดการ นอกจากนี้เราคงไม่มีหน่วยงาน เพื่อช่วยกระจายสินค้าตามสาขาต่างๆ ของร้านบลูชอปอีกด้วย”

**สหพัฒน์ชี้แค่จิตวิทยา
นายบุญฤทธิ์ มหามนตรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคในเครือสหพัฒน์ เปิดเผยว่า ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างเจรจาโครงการธงฟ้าภายใต้ “บลู ชอป” ร้านจำหน่ายราคาสินค้า 60 บาท ทั้งร้าน แต่ยังไม่ได้สรุปรายละเอียดแต่อย่างใด สำหรับในเครือสหพัฒน์เรายินดีที่จะเข้าร่วมโครงการบลู ชอป หากภาครัฐขอความร่วมมือ ซึ่งอาจจะจัดรายการสินค้ากลุ่มของใช้ในครัวเรือน อาทิ ผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน น้ำยาปรับผ้านุ่ม เป็นต้น โดยคงต้องมีการทำขนาดพิเศษภายใต้กรอบที่คุ้มทุนกับต้นทุนออกมาเพื่อจำหน่ายผ่านทางร้านบลู ชอป
ทั้งนี้ การจำหน่ายสินค้าราคา 60 บาท ทั้งร้าน นับว่าเป็นคอนเซปต์ที่ดี ช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องคิดมาก เพราะจำหน่ายราคาเดียว และช่วยในแง่จิตวิทยาของผู้บริโภค ซึ่งเป็นคอนเซปต์เดียวกับที่ต่างประเทศพัฒนาโมเดลการดำเนินธุรกิจมาแล้วในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวนับว่ามีส่วนช่วยผู้บริโภคท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย ทำให้มีความระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย และมั่นใจว่าบลู ชอป จะไม่ส่งผลกระทบต่อสินค้าขนาดอื่นๆ ของซัปพลายเออร์ เนื่องจากสินค้าแต่ละขนาดมีกลุ่มเป้าหมายและความต้องการแตกต่างกัน เช่น ขนาดใหญ่ สำหรับครอบครัว เป็นต้น.
กำลังโหลดความคิดเห็น