xs
xsm
sm
md
lg

"คุณหญิงกัลยา" แย้มนโยบาย "โรงไฟฟ้านิวเคลียร์" ยังไม่ใช่เรื่องด่วน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นโยบายเจ้ากระทรวงวิทย์คนใหม่ เผยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยังไม่ใช่เรื่องด่วน
แม้มีดีกรีเป็น "ด็อกเตอร์" ทางด้าน "นิวเคลียร์ฟิสิกส์" แต่ "คุณหญิงกัลยา" รัฐมนตรีกระทรวงวิทย์คนใหม่ได้แย้มนโยบายด้านพลังงานว่า "โรงไฟฟ้านิวเคลียร์" ยังไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน พร้อมแนวทางพัฒนาพลังงานทดแทน และเตรียมผลักดันโครงการพระราชดำริด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมผลงานกระทรวงสร้างรายได้ให้คนจนและผู้ด้อยโอกาส

ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผยแนวนโยบายบริหารกระทรวงคร่าวๆ กับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า จะนำโครงการตามพระราชดำริทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีการวิจัยพัฒนาและทดลองมากมาย ผลักดันให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน รวมถึงผลงานของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ซึ่งตลอด 10-20 ปีที่ผ่านมามีผลงานมากมาย แต่คนยังไม่รู้จัก

"วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต้องทำให้คนมีรายได้เพิ่ม จะหยิบยกผลงานเหล่านั้นมาส่งเสริมเพื่อสร้างงาน เพิ่มรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน โดยเฉพาะคนด้อยโอกาสและคนยากจน โดยต้องเป็นผลงานที่ใช้ได้ทันที ทั้งนี้เชื่อว่าว่าคนกระทรวงวิทยาศาสตร์มีความพร้อมมากกว่ากระทรวงอื่นๆ มีผลงานโดดเด่น เพียงแต่ไม่มีคนหยิบยกมาเผยแพร่ สบายใจมากที่ได้มาอยู่ตรงนี้" คุณหญิงกัลยากล่าว

พร้อมกันนี้ได้ยกตัวอย่างผลงานของกระทรวงและโครงการตามพระราชดำริที่ได้นำไปเผยแพร่แก่ประชาชนและเกิดประโยชน์แล้ว เช่น เครื่องสูบน้ำไฟฟ้าซึ่งมีการติดตั้งที่ จ.พิษณุโลก ทำให้เกษตรกรมีน้ำใช้สำหรับที่นาและไร่ และมีรายได้เพิ่มขึ้น และมีองค์การบริหารส่วนตำบลรับไปดูแลต่อ หรือโครงการเผยแพร่ความรู้ผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอซีที) ช่วยให้อยู่ที่ไหนก็เรียนได้ เป็นต้น

ทางด้านนโยบายพลังงานทดแทน รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เผยว่าจะทำเป็นกลุ่มคลัสเตอร์ โดยร่วมมือกับกระทรวงพลังงานและกระทรวงเกษตรและสหรัณ์ ซึ่งแนวคิดในการทำงานแบบเป็นคลัสเตอร์นี้ยังไม่ได้เผยให้ทางพรรคได้ทราบ โดยจะพัฒนาพลังงานจากชีวมวล ขยะพลาสติก น้ำเสียจากโรงงาน เป็นต้น

ส่วนนโยบายทางด้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ คุณหญิงกัลยาเผยว่ายังไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน แต่การศึกษาทางด้านนิวเคลียร์ ส่งเสริมให้ทันเทคโนโลยีและสร้างคนเป็นสิ่งทีทำได้ ทั้งนี้ต้องใช้เวลา 10-20 ปีจึงจะมีความพร้อม ซึ่งหากตัดสินใจสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ตอนนี้ต้องเข้าคิวซื้อเทคโนโลยีไปอีก 15 ปี แต่วันนี้ไทยยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเอาหรือไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

"ตอนนี้น้ำมันถูกลงคนก็คิดว่ายังไม่จำเป็น และพลังงานทดแทนก็มีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ อย่างที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีก็โรงไฟฟ้าต้นแบบที่ใช้พืชเป็นวัตถุดิบ สามารถสร้างไฟฟ้าให้แก่ 200 ครัวเรือนด้วยต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ถูกลง 50% กระทรวงวิทยาศาสตร์น่าจะหยิบยกตรงนี้มาส่งเสริมเพื่อสร้างงานให้ชุมชน เมื่อไฟฟ้าเหลือก็ขายเข้ากริด อีกทั้งชุมชนก็จะมีต้นไม้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ที่มีการความก้าวหน้าไปมาก แม้จะยังไม่คุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจ สำหรับนิวเคลียรืก็ศึกษาได้ แต่ยังไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน" คุณหญิงกัลยากล่าว
คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช
กำลังโหลดความคิดเห็น