กรรมาธิการวิทยาศาสตร์ฯ วุฒิสภาเยี่ยมงานกระทรวงวิทย์ ชี้วิทยาศาสตร์แก้ปัญหาได้หลายด้าน ไม่จำกัดแค่ในกระทรวง ยกตัวอย่างอาหารสำหรับนักกีฬาไทย ที่มุ่งเน้นราคาถูกแต่ลืมคำนึงถึงสารอาหาร แข่งอย่างไรก็แพ้ ต้องใช้วิทยาศาสตร์การกีฬาเข้ามาช่วย
คณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสารและโทรคมนาคม วุฒิสภา เข้าเยี่ยมกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในบ่ายวันที่ 2 ก.พ.52 ซึ่งภายหลังจากประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กว่า 2 ชั่วโมง นายประสิทธิ์ โพธสุธน ประธานคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ฯ ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และ ดร.นิลวรรณ เพชระบูรณิน โฆษกกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ฯ ได้ให้สัมภาษณ์แก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ "ASTV-ผู้จัดการออนไลน์" และสื่อมวลชนอีกหลายฉบับ
ทั้งนี้ นายประสิทธิ์กล่าวว่า การมาเยี่ยมกระทรวงวิทยาศาสตร์ครั้งนี้ ไม่ได้มาเพื่อจับผิด แต่มาเพื่อแสดงความคิด ที่ตรงกับนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่สนับสนุนให้มีการเชื่อมโยงงานวิจัยกับภาคเอกชน และพร้อมสนับสนุนการทำงานของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ รวมถึงการช่วยผลักดันให้กระทรวงวิทยาสาสตร์ได้รับงบประมาณมากขึ้น โดยปัจจุบันได้รับเพียง 0.26% ของจีดีพี ซึ่งน้อยมากเพื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ
"ประเด็นหลักที่มาวันนี้ คือเพื่อย้ำว่าเห็นตรงกันกับนายกฯ ทั้งนี้จะทำอย่างไรให้มีการต่อยอดงานวิจัยเพื่อเกิดประโยชน์ประเทศ โดยไม่ต้องห่วงว่าคนใดคนหนึ่งได้รับประโยชน์แต่อีกคนไม่ได้ เพราะอย่างไรก็เกิดการสร้างงาน-จ้างงานภายในประเทศ ทำให้เกิดรายได้และการเสียภาษีที่จะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม แทนที่จะวิจัยทุกเรื่องแต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรเลย นอกจากนี้ทราบว่ากระทรวงวิทย์มีแนวคิดออกเงินให้แก่เอกชนที่ร่วมวิจัยกับกระทรวงครึ่งหนึ่งของเงินลงทุนวิจัย นโยบายนี้ดีแน่นอน และจะผลักดันให้กระทรวงได้งบประมาณเพิ่มขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาได้น้อยมาก" นายประสิทธิ์กล่าว
ด้าน ดร.คุณหญิงกัลยาเสริมว่า ระเบียบข้าราชการบางข้อบังคับไม่ให้งานวิจัยกับเอกชนแค่รายใดรายหนึ่ง แต่ต้องให้หลายๆ ราย ซึ่งได้รับเสียงร้องเรียนจากภาคเอกชนว่า ไม่ได้รับประโยชน์จากการวิจัยเลย เนื่องจากการเผยแพร่งานวิจัยให้กับเอกชนทุกรายนั้น ทำให้ไม่เกิดการแข่งขันในทางธุรกิจ เพราะทุกคนทราบเหมือนกันหมด จึงต้องดูต่อไปว่าจะทำให้งานวิจัยเกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร
พร้อมกันนี้ ดร.นิลวรรณได้ให้ความเห็นว่า วิทยาศาสตร์ของไทยไม่ได้โดดเด่นอะไรมาก แต่ก็มีผลงานนวัตกรรมมากมาย เพียงแต่ติดที่กฎหมายหรือข้อบังคับซึ่งบางครั้งเป็นของกระทรวงอื่น เช่นการพัฒนารถยนต์พลังไฮโดรเจน ซึ่งไทยมีงานวิจัยด้านนี้หลายชิ้นแต่กรมขนส่งทางบกไม่รับจดทะเบียนให้กับรถประเภทนี้ เอกชนจึงไม่กล้าลงทุน ซึ่งวุฒิสภาและกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ต้องเข้าใจและแก้ปัญหาตรงนี้เพื่อให้เกิดการลงทุน
"วิทยาศาสตร์แก้ปัญหาได้หลายด้าน ไม่จำกัดแค่ในกระทรวง ยกตัวอย่างวิทยาศาสตร์การกีฬา ที่จะช่วยส่งเสริมนักกีฬาของเราได้ แต่ดิฉันเคยเห็นการรับเหมาทำอาหารให้กับนักกีฬาที่มุ่งเน้นราคาถูกอย่างเดียว ดิฉันเห็นแล้วก็คิดว่าแพ้แน่นอนเพราะนักกีฬาของเราได้รับสารอาหารไม่เพียงพอกับการแข่งขัน" โฆษกคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ฯ กล่าว
ทั้งนี้ ดร.นิลวรรณผู้เคยมีผลงานผลิตชุดตรวจเชื้อเอดส์จากน้ำลาย ชุดตรวจไข้หวัดนก รวมถึงข้าวกล้องงอกกล่าวว่า วิทยาศาสตร์เข้าได้กับทุกเรื่อง ซึ่งต้องให้ทุกส่วนตระหนักถึงวิทยาศาสตร์มากๆ หรือแม้แต่การแก้วิกฤติเศรษฐกิจตอนนี้ก็นำวิทยาศาสตร์มาแก้ปัญหาได้ เช่น ปัญหาข้าวโพดล้นตลาดเราสามารถแปรรูปเป็นน้ำตาลที่ไม่มีแคลอรีได้ หรือการแปรรูปนมดิบที่ล้นตลาดเพื่อแก้ปัญหาไม่ให้เกษตรกรออกมาประท้วงและเททิ้ง เป็นต้น
สำหรับคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ฯ มีทั้งหมด 14 คน รับผิดชอบดูแลกระวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ ทั้งนี้วุฒิสภามีคณะกรรมการดูกระทรวงต่างๆ ทั้งหมด 22 คณะกรรมาธิการ ซึ่งแต่ละคณะไม่ต่ำกว่า 9 คนและไม่เกิน 15 คน