หลังจากที่ได้สำรวจทวีปอเมริกาใต้นานพอสมควรแล้ว เรือ Beagle ก็ได้เดินทางข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก มุ่งสู่หมู่เกาะ Galapagos ที่ตั้งอยู่บนเส้นศูนย์สูตร และอยู่ห่างจากฝั่งตะวันตกของทวีปอเมริกาใต้ 960 กิโลเมตร เกาะเหล่านี้ในอดีตเคยเป็นที่หลบซ่อนของบรรดาโจรสลัด และมีเต่ายักษ์ซึ่งกินใบตะบองเพชรเป็นอาหาร มีนก mocking bird ที่ไม่กลัวคนเลย เช่น จะบินมาจับที่ขอบเหยือกน้ำ แล้วก้มหัวลงจิบน้ำ และเมื่อ Darwin ยกเหยือกขึ้นมันก็ไม่บินหนี Darwin ยังได้เห็นฝูงตะกวดทะเลที่มีลำตัวยาว 1 เมตร ซึ่งชอบนอนผึ่งแดดบนหาด แต่ไม่ชอบลงทะเล เพราะทะเลมีศัตรูที่คอยจ้องกินมัน ส่วนที่บนเกาะ Falkland Darwin ได้เห็นสุนัขจิ้งจอกที่กลัวคน และห่านที่บินไม่ได้ บรรดาสัตว์ที่มีพฤติกรรม “ประหลาด” เหล่านี้ ทำให้ Darwin เห็นด้วยกับ Lyell ว่า มันต้องใช้เวลานานมาก จึงเปลี่ยนพฤติกรรมได้ ทั้งนี้ก็เพื่อให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมของมันนั่นเอง
หลังจากที่ Darwin เดินทางกลับถึงอังกฤษ เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2379 เขาก็ได้เข้าพิธีสมรสกับ Emma Wedgwood ผู้เป็นหลานของ Josiah Wedgwood และเริ่มนำข้อมูล หลักฐาน และข้อสังเกตตำราว่าที่ได้พบเห็นมาประมวล และสังเคราะห์ให้เป็นทฤษฎีที่จะสามารถอธิบายที่มาของความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตบนโลกได้ และ Darwin ก็พบว่า ยิ่งคิดและยิ่งศึกษา เขาก็ยิ่งรู้ว่าสิ่งที่ตนได้พบ ได้เห็นนั้น ขัดต่อคำสอนที่ปรากฏในไบเบิลมากมาย เขาจึงแยกตัวจากสังคมมาทำงานตามลำพัง และเมื่อดินฟ้าอากาศใน London ไม่ดี Darwin จึงล้มป่วยบ่อย เช่น มีอาการปวดศีรษะ เหนื่อย และอาเจียนเป็นระยะๆ Darwin ได้อพยพครอบครัวมาพำนักที่ Down House ซึ่งเป็นคฤหาสน์ของตระกูลที่ตั้งอยู่ใกล้เมือง Orpington ใน Kent การมีบุคลิกเป็นคนขี้กลัวและชอบระแวง ทำให้ Darwin มีอาการจิตตก และรู้สึกเกลียดการเดินทางไกล โดยจะไปไหนมาไหนก็ตามความจำเป็นเท่านั้น เช่น ไปหาหมอประจำตัว หรือไปเยี่ยมเพื่อนสนิทบ้าง
และในช่วงเวลานั้น Darwin เลิกไปโบสถ์ เพราะพบว่าสิ่งที่ตนกำลังรู้นั้น ขัดต่อคำสอนในคัมภีร์ไบเบิลแทบทุกประเด็น ดังนั้น เพื่อปกป้องตนเองให้รอดพ้นจากการถูกโจมตีโดยคนที่จะไม่เห็นด้วย Darwin จึงได้ทุ่มเทความคิด และหาเหตุผลมาสนับสนุนอย่างเต็มที่ ขณะเรียบเรียงความคิดเหล่านี้ Darwin ก็ได้บอกภรรยาว่าให้นำผลงานเขียนของเขาทั้งหมดออกตีพิมพ์ หลังจากที่เขาได้เสียชีวิตไปแล้ว
Darwin ได้พำนักที่ Down House เพื่อฟูมฟักความคิดเรื่องที่มาของความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต นานถึง 40 ปี คือตั้งแต่ปี 2385 จนกระทั่งปี 2425 ที่เขาเสียชีวิต
เพราะครอบครัว Darwin มีฐานะดี ดังนั้น Darwin จึงไม่มีความจำเป็นจะต้องทำราชการ หรือการค้าใด ๆ และได้เรียบเรียงตีพิมพ์บทความสั้นๆ เกี่ยวกับการเดินทาง และสิ่งที่เห็น เช่น เรื่องปะการัง และเรื่อง The Formation of Vegetable Mould through the Action of Worms เป็นต้น เมื่ออายุได้ 30 ปี Darwin ได้รับเลือกเป็น Fellow of the Royal Society (F. R. S.) อันทรงเกียรติของอังกฤษ โดยการรับรองจาก Lyell ผู้เป็นเพื่อนที่ Darwin ไว้ใจ
การได้เห็นความแปลกประหลาด และความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตจำนวนมากมายบนหมู่เกาะ Galapagos ทำให้ Darwin ต้องยอมรับว่าหมู่เกาะเหล่านี้คือห้องปฏิบัติการทางชีววิทยาที่มีหลักฐานประเสริฐที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ทั้งนี้เพราะเกาะแต่ละเกาะมีพืชและสัตว์ที่แตกต่างกัน เช่น นก finch จะมีรูปร่างและขนาดของจะงอยปากแตกต่างกัน ทั้งๆ ที่เกาะที่มันอยู่ใกล้กันไม่เกิน 100 กิโลเมตร Darwin จึงคิดว่า นี่คงไม่ใช่ฝีพระหัตถ์ของพระเจ้าที่ทรงบันดาลทุกสิ่งทุกอย่างภายในเวลา 6 วันแน่ๆ
ณ วันนี้ วงการชีววิทยามีความมั่นใจว่า การไปเยือนหมู่เกาะ Galapagos ในครั้งนั้นได้เป็นแรงดลใจให้ Darwin คิดหากลไกที่ทำให้เกิดกระบวนการวิวัฒนาการซึ่งว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตโดยอิทธิพลของสิ่งแวดล้อม ถึงแม้ Darwin เองจะไม่ได้ยอมรับในประเด็นนี้อย่างชัดเจน ทั้งนี้คงเป็นเพราะ Darwin ก็เหมือนกับนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่คนอื่นๆ คือจำไม่ได้ว่า ได้ความคิดที่ล้ำเลิศนี้จากที่ใด และเมื่อใด
อย่างไรก็ตามหลังจากที่ได้เห็นสิ่งต่างๆ บนหมู่เกาะ Galapagos แล้ว Darwin ก็ได้นำข้อมูลมาประกอบกับข้อมูลอื่นๆ จนเข้าใจเรื่องต่างๆ เป็นวงกว้างอย่างแจ่มชัดในที่สุด เช่น นำความคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของสิ่งมีชีวิตที่ Erasmus Darwin ได้เคยนำเสนอ มาผนวกกับความคิดของ Chevalier de Lamarck ซึ่งได้เสนอความคิดว่า กระบวนการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความคิดของ Chales Lyell ที่ระบุว่าโลกมีอายุดึกดำบรรพ์มากกว่าที่คิดมาก และสภาพแวดล้อมบนโลก เช่น ลม น้ำ ดิน สามารถทำให้สิ่งมีชีวิตเปลี่ยนแปลงรูปร่างได้ Darwin จึงนำข้อมูล และหลักฐานต่างๆ ที่เขาเก็บรวบรวม ได้จากการเดินทางรอบโลกมาเสนอเป็นทฤษฎีการคัดเลือกสิ่งมีชีวิตโดยธรรมชาติ และได้เรียบเรียงออกมาเป็นบทความ ที่มีความยาว 35 หน้า แล้วส่งให้ Asa Grey นักชีววิทยาแห่งมหาวิทยาลัย Harvard อ่าน แต่ Darwin ไม่คิดจะตีพิมพ์เผยแพร่ในวงการวิชาการอย่างแพร่หลาย เพราะเนื้อหาในบทความนั้น “จาบจ้วงพระเจ้ามาก”
จนกระทั่งวันหนึ่งในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2401 Darwin ได้รับจดหมายพร้อมเอกสารจาก Alfred Russel Wallace วัย 35 ปี ที่แทบไม่มีใครในโลกวิชาการรู้จัก ซึ่งขณะนั้น Wallace กำลังทำงานเก็บสิ่งมีชีวิตตัวอย่างอยู่ที่ Malay Archipelago ในอินโดนีเซียเพื่อส่งไปขายให้นักสะสมที่ร่ำรวย ในรายงานฉบับนั้น Wallace ได้เล่าว่าตนมีการศึกษาน้อย เพราะเลิกเรียนตั้งแต่อายุ 14 ปี และกำลังป่วยเป็นไข้มาลาเรีย แต่สนใจเรื่องวิวัฒนาการ จึงได้เรียบเรียงความคิดนี้และส่งมาให้ Darwin อ่านเพื่อขอความเห็นและคำวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งนี้ เพราะ Wallace เห็นว่า Darwin เป็นคนมีชื่อเสียงอีกทั้งเป็นคนที่เห็นอกเห็นใจและเข้าใจคนที่ด้อยความสามารถกว่า แล้ว Wallace ก็ได้บอกว่า หาก Darwin เห็นคุณค่าของบทความก็ขอให้ส่งบทความต่อไปให้ Sir Charles Lyell ตีพิมพ์
ทันทีที่อ่านบทความของ Wallace จบ Darwin รู้สึกตกใจมากเพราะสิ่งที่ Wallace เขียน คือความคิดหลักที่ Darwin ได้มีมาเป็นเวลานานถึง 20 ปีแล้ว Darwin จึงตกอยู่ในสภาพกลืนไม่เข้า คายไม่ออก ว่าจะส่งบทความนั้นต่อไปให้ Lyell ตีพิมพ์แล้วยอมให้ Wallace ผู้เป็นลูกของนักกฎหมายที่ยากจน และไม่เป็นนักชีววิทยาเต็มรูปแบบ ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้พบทฤษฎีวิวัฒนาการแต่เพียงคนเดียว แล้วตนก็วางมือจากทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งๆ ที่ Lyell และ Joseph Hooker ก็ได้รู้มานานแล้วว่า Darwin เองได้ค้นคว้าเรื่องนี้มานาน และมีข้อมูลมากกว่า Wallace ราว 1,000 เท่า
(อ่านต่ออังคารหน้า)
สุทัศน์ ยกส้าน เมธีวิจัยอาวุโส สกว.