xs
xsm
sm
md
lg

ยุงลาย: พาหะนำโรคไข้เลือดออก

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

ยุงลาย (Aedes aegypti)
ยุงเป็นแมลงขนาดเล็ก ที่มักทำให้เรารู้สึกรำคาญเวลาเห็นหรือได้ยินเสียงมันบินไปมาใกล้ๆ ทั้งนี้เพราะ เรารู้ว่าถ้าถูกยุงกัด นอกจากจะรู้สึกคันแล้ว เราอาจเป็นมาลาเรีย ไข้เลือดออก ไข้สมองอักเสบ หรือไข้เหลืองได้

โลกมียุงกว่า 3,000 ชนิด ยุงส่วนมากไม่นำโรคใดๆ สู่มนุษย์ จะมีประมาณ 100 ชนิดเท่านั้นที่สามารถฆ่าคนได้ นักชีววิทยาพบว่า ยุงที่กัดคนเป็นยุงตัวเมียเท่านั้น เพราะมันต้องการเลือดยามจะวางไข่ เวลากัด มันจะใช้จะงอยปากที่แหลมเหมือนเข็มฉีดยาเจาะเข้าไปในเส้นเลือดใต้ผิวหนัง แล้วปล่อยน้ำลายออกมาเพื่อไม่ให้เลือดที่มันกำลังดูดแข็งตัว และถ้ายุงตัวนั้นเป็นพาหะนำโรค เชื้อโรคที่แฝงอยู่ในน้ำลายก็จะเข้าสู่ร่างกายคน ส่วนสารเคมีที่มีในน้ำลายจะทำให้คนที่ถูกยุงกัดรู้สึกคัน จนบางคนมีอาการแพ้ หรือรู้สึกหน้ามืดจนหายใจไม่ออก เป็นต้น

นักชีววิทยาสนใจที่จะรู้ว่า ยุงหาอาหารอย่างไร เหตุใดบางคนจึงถูกยุงกัดบ่อย แต่บางคนยุงไม่ยุ่งด้วยเลย เหตุใดยุงก้นปล่อง (Anopheles gambiae) จึงชอบกัดบริเวณเท้าและข้อเท้าของคน แต่ยุง Anopheles atroparous กลับชอบกัดบริเวณใบหน้า และเราจะป้องกันไม่ให้ยุงกัดได้อย่างไร เป็นต้น นักชีววิทยายังพบอีกว่า ในสายตายุง คนแต่ละคนมีโอกาสในการถูกกัดไม่เท่ากัน ทั้งนี้เพราะร่างกายเรามีอุณหภูมิแตกต่างกัน อีกทั้งเวลาหายใจออกจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาในปริมาณไม่เท่ากัน และมีกลิ่นตัวที่แตกต่างกัน สำหรับวิธีป้องกันยุงกัด โดยทั่วไปอาจใช้สารเคมี N, N-diethyl-3-methyl-benzamide หรือครีม calamine และ caladril ทาตามผิวหนังเพื่อไล่ยุง และพร้อมกันนั้นเราก็ควรแต่งตัวให้มิดชิดเพื่อปกป้องผิวหนังไม่ให้ถูกยุงกัด

ยุงลาย (Aedes aegypti) เป็นยุงที่ร้ายกาจและน่ากลัวรองจากยุงก้นปล่อง มันมีชื่อ ยุงลาย เพราะลำตัวมีลายขาวสลับดำ ยุงลายอยู่ในอันดับ Diptera ที่มีหลายวัฏจักรชีวิต โดยในแต่ละวัฏจักร รูปร่างและวิธีหาอาหารของมันจะไม่เหมือนกัน กล่าวคือ ยุงลายจะเริ่มชีวิตในสภาพไข่ เมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 24 ชั่วโมง ไข่ที่ลอยที่ผิวน้ำจะฟักเป็นลูกน้ำ และใช้อวัยวะสำหรับหายใจที่อยู่ที่ปลายหางแตะผิวน้ำตลอดเวลา ลูกน้ำใช้ 95 เปอร์เซ็นต์ของเวลาในช่วงนี้หาอาหาร ซึ่งได้แก่ ไรน้ำ บักเตรี และพืชขนาดเล็ก ที่มีอุดมในน้ำที่สกปรก การกินอาหารอย่างต่อเนื่องและตลอดเวลา ทำให้ลูกน้ำเจริญเติบโตเร็วจนมีขา ปีก และปากปรากฏ จากนั้นก็เข้าสู่สภาพดักแด้ ซึ่งถ้าไม่มีอะไรมารบกวน มันก็จะลอยติดใต้ผิวน้ำตลอดไป แต่เวลามีเงามืดมาทาบ มันก็จะดำน้ำทันที ในช่วงเวลานี้มันจะไม่กินอาหารหรือขับถ่ายเลย จนกระทั่งกลายสภาพเป็นยุงลายอย่างสมบูรณ์ แม้ในระยะเริ่มต้นจะมีน้ำหวานจากดอกไม้มาวางอยู่ใกล้ๆ มันก็ไม่สนใจ แต่อีก 20-24 ชั่วโมงต่อมา ยุงหนุ่มหรือสาวจะเริ่มหิว โดยตัวผู้จะโผบินหาน้ำหวานดอกไม้ และจะไม่กัดคน แต่ชอบคลานไปบนผิวหนัง ส่วนยุงตัวเมียถ้าให้เลือกระหว่างน้ำหวานกับเลือด มันจะเลือกเลือด

ยุงลายที่โตเต็มมีสายตาแหลมคม และใช้หนวดในการดมกลิ่นคน ดังนั้นถ้าหนวดของยุงลายตัวเมียถูกตัด แม้จะหิวสักเพียงใด มันก็ไม่กัดคน ตามปกติมันชอบกัดคนในบ้านมากกว่านอกบ้าน ชอบแฝงตัวอยู่ตามผ้าสีทึบ และยุงตัวเมียไม่กัดคนตอนกลางคืน และถ้ามีมือที่อุ่นกับเย็นให้ยุงเลือกเกาะ มันจะเลือกมือที่อุ่น แต่ถ้ามีมือเย็นให้เลือกเพียงตัวเดียว มันก็เกาะมือเย็นอย่างไม่ยินดีนัก ยุงลายชอบเกาะมือที่แห้งมากกว่ามือที่เปียก ถ้าให้ยุงลายบินหาเหยื่อในภาชนะปิดที่มีปริมาตร 27,000 ลูกบาศก์เซนติเมตร มันจะใช้เวลาตั้งแต่ 5-30 วินาทีในการบินถึงเหยื่อ ในกรณีแขนคน เมื่อบินเกาะผิวหนังแล้ว มันจะเดินอีกสองสามก้าวก่อนจะใช้จะงอยปากกดเอียงทำมุม 75 องศากับผิวหนัง ใช้ขาทั้งหกยันบนผิวหนัง แล้วใช้เวลาอีกประมาณ 50 วินาที ในการใช้ปากเจาะผ่านผิวหนัง 2.30 นาทีในการดูดเลือด และเพียง 5 วินาทีในการถอนจะงอยปากออก ดังนั้นในการดื่มเลือดครั้งหนึ่ง ยุงลายจะได้เลือดประมาณ 3 มิลลิกรัม และขณะดื่มเลือดเชื้อโรคต่างๆ ที่มีในตัวยุงลายก็จะเล็ดลอดเข้าสู่ร่างกายของคนที่ถูกยุงลายนั้นกัดทันที และแม้ท่อน้ำลายของยุงลายจะถูกตัด มันก็ยังสามารถดูดเลือดได้ แต่ถ้าขาทั้งหกถูกตัด แม้มันจะยังบินได้ แต่ก็ไม่สามารถกัดคนได้ เพราะมันต้องการขาอย่างน้อยสามขาในการทรงตัวเวลากัดคน ส่วนเส้นประสาทที่เรียกว่า ventral nerve cord ที่ท้องยุงลาย ก็มีหน้าที่ควบคุมปริมาณการดื่มเลือด เพราะถ้าเส้นประสาทนี้ถูกตัดยุงลายจะดื่มเลือดจนท้องแตกตาย หรือถ้าไม่ตาย มันก็จะสลบ และจะตายในอีก 24 ชั่วโมงต่อมา

ยุงลายเป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออก (Dengue Haemorrhage Fever-DHF) มาสู่คน การที่แพทย์เรียกโรคชนิดนี้ว่า ไข้เลือดออก เพราะมันเป็นเชื้อโรคที่ทำให้ผู้ป่วยมีไข้สูงและมีเลือดออก คำว่า dengue มาจากคำ Danga ในภาษา West Indies และ Swahili ในแอฟริกาตะวันออก เพราะดินแดนแถบนั้นในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 18 และ 19 ถูกโรคที่ชาวบ้านเรียก Danga คุกคามหนัก ดังในปี 2336 แพทย์อเมริกันชื่อ Benjamin Rush ได้รายงานว่า มีการระบาดของโรคไข้เลือดออกในเมืองฟิลาเดลเฟีย ซึ่งเป็นเมืองหลวงของสหรัฐอเมริกาด้วย

แพทย์ปัจจุบันตระหนักดีว่า โรคไข้เลือดออกเกิดจากไวรัส dengue และผู้ป่วยอาจแสดงอาการของโรคได้สามแบบ คือ แบบแรก ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายเป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ มีน้ำมูกไหล เจ็บคอ ปวดกระดูก และที่ผิวหนังมีผื่นขึ้น แต่ในที่สุดอาการเหล่านี้ก็จะหายเมื่อผู้ป่วยเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีได้ยา สำหรับแบบที่ 2 มักเกิดในหนุ่มสาวและผู้ใหญ่ โดยผู้ป่วยจะมีไข้สูง คือ มีอุณหภูมิร่างกายสูงประมาณ 39-41 องศาเซลเซียส เป็นเวลานาน 4-5 วัน ใบหน้าแดง ตัวแดง รู้สึกปวดเมื่อยตามตัว กระวนกระวาย ปวดศีรษะ อาเจียน ปวดกระดูก เจ็บคอ รู้สึกเพลีย มีอาการซึม เบื่ออาหาร ปัสสาวะน้อย ปวดท้อง คลื่นไส้ หรือมีเลือดออกตามไรฟัน จากนั้นไข้ก็จะลดเป็นเวลาสองวัน แล้วไข้ก็จะขึ้นสูงอีก 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยจะมีผื่นหรือจุดเลือด (petechiae) ตามผิวหนัง และจุดจะเริ่มปรากฏที่หลังมือหรือหลังเท้าก่อน จากนั้นจะแผ่บริเวณไปที่แขน ขา ลำตัว และคอ ตามปรกติผื่นอาจปรากฏนาน 2 ชั่วโมงหรือหลายวันก็ได้ ส่วนแบบที่ 3 นั้น ผู้ป่วยจะมีเลือดออกในลำไส้และกระเพาะ หรืออาจอาเจียนเป็นเลือดสีกาแฟ และถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ นอกจากนี้จุดเลือดที่เกิดจากการตกเลือดใต้ผิวหนังก็จะปรากฏตามตัวทั่วร่าง เช่น บนเพดานปาก กระพุ้งแก้ม และลิ้นไก่ ซึ่งเป็นผลจากการที่ไวรัส dengue ทำให้น้ำเหลืองซึมออกจากเส้นเลือด จนเลือดที่ไหลเวียนในร่างกายมีปริมาณน้อยลงๆ และถ้าการรั่วซึมนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ผู้ป่วยจะมีความดันเลือดต่ำ จนช็อกได้

ขั้นตอนการรักษาเบื้องต้น แพทย์แนะนำว่า ทันทีที่รู้ตัวว่าเป็นโรคไข้เลือดออก ให้ผู้ป่วยกินยาลดไข้พาราเซตามอล ห้ามกินยาแอสไพริน เพราะแอสไพรินนอกจากจะทำให้เลือดออกมากขึ้นแล้ว ยังสามารถทำให้กระเพาะอาการอักเสบได้ด้วย จากนั้นให้ดื่มน้ำมากๆ เพื่อชดเชยกับการสูญเสียเลือด แล้วนำส่งโรงพยาบาลทันที หากแพทย์รักษาไม่ทัน 50 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยจะช็อกตาย เพราะอวัยวะของร่างกาย เช่น หัวใจ สมอง ไต ไม่มีเลือดหล่อเลี้ยงอย่างเพียงพอ

สำหรับวิธีป้องกันการเป็นโรคไข้เลือดออก วิธีที่ดีคือ หลีกเลี่ยงไม่ให้ยุงลายกัดด้วยการนอนกางมุ้ง หรือติดมุ้งลวดที่หน้าต่างและประตูบ้าน กำจัดแหล่งน้ำขังนิ่งซึ่งเป็นที่ที่ยุงลายชอบวางไข่ หรือเลี้ยงปลาหางนกยูงเพื่อให้กินลูกน้ำของยุงลาย

ณ วันนี้โลกยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก ดังนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจที่จะรู้ว่า ประชากรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดีย แปซิฟิกตะวันตก อเมริกาใต้ ประมาณปีละ 5 แสนคน ล้มป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก สถิติการสำรวจขององค์การอนามัยโลกแสดงให้เห็นว่า จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกในแต่ละปีตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมานี้ ได้เพิ่มขึ้นถึง 30 เท่าตัว ดังนั้นโรคไข้เลือดออกจึงรุนแรงพอๆ กับโรคเอดส์ วัณโรค และไวรัสตับอักเสบสำหรับผู้คนในทวีปอเมริกาใต้ และร้ายกาจพอๆ กับมาลาเรียสำหรับผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แม้แพทย์จะมีวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ มากมายก็ตาม แต่การพัฒนาสร้างวัคซีนสำหรับโรคไข้เลือดออกก็ดำเนินไปได้ช้า ทั้งนี้เพราะไวรัส dengue มี 4 ชนิด แต่ละชนิดต่างสามารถทำให้คนล้มป่วยได้ ถึงคนไข้จะได้รับการรักษาด้วยยาจนหายจากไวรัส dengue ชนิดแรกแล้ว แต่เมื่อถูกไวรัสชนิดที่ 2 คุกคาม เขาก็มีสิทธิ์ป่วยได้อีก โดยอาการป่วยครั้งหลังนี้จะรุนแรงกว่าเดิมหลายเท่า เพราะ antibody ที่ร่างกายใช้ในการต่อสู้กับไวรัสชนิดที่ 2 จะไม่สามารถฆ่าให้ไวรัสตายได้ ดังนั้นไวรัสที่ยังมีชีวตอยู่จะไปทำร้ายเซลล์ภูมิคุ้มกันจนมีผลทำให้คนไข้ป่วยหนักยิ่งขึ้นไปอีก และนี่คือเหตุผลที่ว่า เหตุใดเด็กจำนวนมากที่ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกจึงตาย ทั้งนี้เพราะเด็กที่กินนมแม่ ร่างกายอาจมี antibody สำหรับไวรัสชนิดหนึ่ง แต่เมื่อเด็กคนนั้นรับไวรัสต่างชนิดเข้าไป อาการไข้เลือดออกจึงรุนแรงมาก เมื่อเหตุและผลเป็นเช่นนี้หนทางหนึ่งที่แพทย์ผู้กำลังมุ่งมั่นสร้างวัคซีนไข้เลือดออกคิดจะทำ คือ ผลิตวัคซีนที่สามารถป้องกันไวรัส dengue ทั้ง 4 ชนิดได้พร้อมกัน ไม่ใช่ป้องกันชนิดหนึ่งชนิดใดแต่เพียงชนิดเดียว

แต่ปัญหาจึงมีต่ออีกว่า แพทย์ไม่มีสัตว์ที่จะใช้ทดลองวัคซีน เพราะหนูก็ไม่เคยป่วยเป็นโรคชนิดนี้และลิงก็ไม่ตกเลือด ดังนั้นแพทย์จึงต้องนำวัคซีนไปทดลองใช้กับคนโดยตรง และเมื่อตัวแปรในการทำให้คนล้มป่วยมีมากมาย ความสำเร็จในการผลิตวัคซีนโรคไข้เลือดออกจึงต้องใช้เวลาอีกนาน

ส่วนวิธีต่อสู้อีกหนทางหนึ่ง คือ เปลี่ยนแปลงพันธุกรรมของยุงลายมิให้มันเป็นพาหะนำเชื้อโรคไข้เลือดออก แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่มั่นใจว่า ยุงที่ได้รับการตัดต่อยีนจะมีชีวิตอยู่ได้นานพอที่จะแพร่พันธุ์ เพราะถ้ายุงตัวนั้นตายก่อน ปัญหาก็ไม่จบไม่สิ้น เพราะยุงที่เหลือมีมากนับอสงไขยตัว ดังนั้นวิธีที่ง่ายและมีราคาถูก คือ พยายามอย่าให้ยุงใดๆ กัด และทันทีที่รู้สึกว่าเป็นไข้ควรรีบไปหาหมอ

เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ที่ผ่านมานี้ สถาบัน Institute of Medical Research (IMR) แห่งมาเลเซีย ได้ทดลองปล่อยยุงลาย 6,000 ตัวที่ได้รับการตัดต่อยีน ในบริเวณที่ไร้ผู้คนทางตอนกลางของแคว้นปะหัง เพื่อศึกษาลักษณะการแยกย้ายของยุงไปในพื้นที่ต่างๆ และดูอายุชีวิตของยุงลายเหล่านั้นด้วย

การทดลองนี้ได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2554 และคณะผู้ทดลองกำลังวิเคราะห์ผลที่ได้อยู่ ท่ามกลางเสียงต่อต้าน ที่ไม่เห็นด้วยจากบรรดานักนิเวศวิทยา ซึ่งให้เหตุผลว่า นักวิทยาศาสตร์ยังมีความรู้เกี่ยวกับยุงลายไม่เพียงพอ และไม่รู้เลยว่ายุงแฟรงเกนสไตน์เหล่านี้มีอิทธิพลอย่างไรหรือเพียงใดกับยุงธรรมดา และถ้ามีปฏิสัมพันธ์กัน ยุงธรรมดาจะกลายพันธุ์หรือไม่

ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ก็อ้างว่า การทดลองนี้ไม่มีพิษ ไม่มีภัยใดๆ และยุ่งเหล่านี้ก็ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนแปลงยีนจนทำให้มันมีชีวิตได้ไม่เกิน 3 วัน ซึ่งข้อมูลที่ได้จากการทดลองนี้ จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์มีวิธีกำจัดยุงลายในอนาคต

สุทัศน์ ยกส้าน เมธีวิจัยอาวุโส สกว.
กำลังโหลดความคิดเห็น