ศูนย์ข่าวภูเก็ต - สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำภูเก็ตฯ ปล่อยปลาฉลามกบหวังเพิ่มจำนวนในทะเลหลังพบในธรรมชาติมีจำนวนลดน้อยลงอย่างน่าเป็นห่วงเหตุมีการลักลอบจับเพื่อนำไปขาย เชื่อหลังจากปล่อยปลาฉลามกบแล้วจะช่วยเพิ่มความหลากหลายให้กับแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล
วันนี้ (14 ส.ค.) ที่บริเวณสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำภูเก็ต ต.วิชิต อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายวรรณเกียรติ ทับทิมแสง ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นประธานเปิดโครงการปล่อย “ฉลามกบคืนสู่ทะเล ครั้งที่ 2” ซึ่งสถานแสดงพันธ์สัตว์น้ำภูเก็ต สถาบันวิจัย ฯจัดขึ้น
โดยมีนักดำน้ำจากน่วยงานต่างๆ นักเรียน นักศึกษาและประชาชนตัวไปเข้าร่วมจำนวนมาก ซึ่งก่อนที่จะปล่อยฉลามกบลงสู่ทะเลนั้นเจ้าหน้าที่ได้ร่วมกับประชาชนและเด็กนักเรียนปล่อยกุ้งทะเลจำนวน 99,999 ที่บริเวณชายหาดหน้าสถานแสดงพันธ์สัตว์น้ำ หลังจากนั้นได้เดินทางไปปล่อยฉลามกบจำนวน 39 ตัว และปลาการ์ตูนส้มขาวจำนวน 199 ตัว ที่บริเวณเกาะไม้ท่อน ต.วิชิต อ.เมือง จ.ภูเก็ต
ดร.สมชัย บุศราวิช หัวหน้ากลุ่มพิพิธภัณฑ์และสถานแสดงพันธุ์สัตว์และพืชทะเล กล่าวว่า สำหรับการจัดกิจกรรมปล่อยปลาฉลามกบคืนสู่ทะเลนั้น เป็นการจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 เพื่อที่จะเพิ่มจำนวนประชากรปลาฉลามกบในทะเลให้มีจำนวนมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันนี้ปลาฉลามมีจำนวนลดน้อยลงและกลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญ และเป็นที่ต้องการของตลาด ทำให้มีการจับเพื่อนำไปขายมากขึ้น จึงจำเป็นที่จะต้องเพิ่มจำนวนประชากรปลาฉลามให้มากขึ้น ซึ่งเริ่มต้นจากปลาฉลามกบที่ทางสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำภูเก็ตสามารถเพาะขยายพันธุ์ได้ ส่วนสาเหตุที่เลือกปล่อยที่บริเวณเกาะไม้ท่อนก็เนื่องจากเกาะไม้ท่อนนั้นมีแนวปะการังที่สมบูรณ์สามารถเป็นแหล่งหลบภัยให้กับปลาฉลามกบได้เป็นอย่างดี ซึ่งปลาฉลามกบนั้นเป็นปลาที่หากินหน้าดินและไม่ย้ายถิ่นทำให้การติดตามตรวจสอบทำได้ง่าย
ขณะที่ นายวรรณเกียรติ ทับทิมแสง ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า การปล่อยปลาฉลามคืนสู่ทะเล เพื่อเพิ่มจำนวนฉลามกบในทะเลว่า ที่ผ่านมาทางสถานแสดงพันธ์สัตว์น้ำภูเก็ตได้ทำการเพาะขยายพันธุ์ปลาฉลามกบจนประสบความสำเร็จ ซึ่งเป็นผลงานจากการศึกษาวิจัยชีววิทยาและพฤติกรรม โดยเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์เพื่อจัดแสดงในสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำภูเก็ต จนมีการผสมพันธุ์และวางไข่ จากนั้นเก็บไข่มาเพาะฟัก อนุบาล และเลี้ยงจนโต จนสามารถปล่อยคืนสู่ทะเลได้ ซึ่งการจัดกิจกรรมปล่อยฉลามกบกลับสู่ทะเลในครั้งนี้เป็นการดำเนินการครั้งที่ 2 โดยปล่อยฉลามกบอายุตั้งแต่ 3 เดือน ถึง 2 ปี จำนวน 39 ตัว
นายวรรณเกียรติกล่าวต่อไปว่า การปล่อยปลาฉลามกบในครั้งนี้นอกจากจะเป็นการเพิ่มจำนวนปลาฉลามกบในธรรมชาติแล้วยังเป็นการเพิ่มความหลากหลายให้แก่แหล่งท่องเที่ยวในภูเก็ตด้วย ซึ่งปลาฉลามจะเป็นจุดขายที่สำคัญอย่างหนึ่งให้กับแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่จะสามารถดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาชมมากขึ้น ซึ่งปลาฉลามกบนั้นเป็นปลาฉลามที่ไม่ดุร้ายและไม่เคยมีข่าวว่าฉลามกบเคยกัดคน
สำหรับปลาฉลามกบ (Indonesian Bamboo Shark) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Chiloscyllium hasselti เป็นฉลามหน้าดินที่มีขนาดเล็ก ขนาดโตเต็มที่มีความยาวประมาณ 60 เซนติเมตร รูปร่างลักษณะมีลำตัวเรียวยาว ส่วนหัวและลำตัวใหญ่ จะงอยปากกว้าง มีตาขนาดเล็ก ครีบหางแฉกบนโค้งเรียวยาวกว่าแฉกล่าง ในลูกปลาวัยอ่อนจะมีสีดำและลายเส้นสีขาวรูปวงกลม และกลายเป็นแถบสีขาวสลับดำคาดตามขวางลำตัวและจะค่อยๆ จางลงเมื่อโตขึ้น นิสัยชอบอยู่นิ่งๆ และหลบซ่อนตามกองหินบริเวณหน้าดินและกินสัตว์หน้าดินเป็นอาหาร