ในปี 2374 (รัชสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) หนุ่มชาวอังกฤษคนหนึ่งได้ตัดสินใจเดินทางไกลไปกับเรือรบหลวงชื่อ Beagle เป็นเวลานาน 5 ปี อีก 28 ปีต่อมา เขาได้เรียบเรียงหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ Origin of Species (กำเนิดของสิ่งมีชีวิตพันธุ์ต่างๆ) ออกเผยแพร่ ซึ่งความคิดที่เขานำเสนอในหนังสือนั้นได้ปฏิวัติมุมมองของมนุษย์เรื่องธรรมชาติอย่างมโหฬาร เขาคนนั้นมีนามว่า Charles Robert Darwin
Charles Darwin เกิดเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2352 ที่เมือง Shrewsbury ในอังกฤษ บิดาเป็นแพทย์ที่ประสบความสำเร็จสูงและมีฐานะดี ส่วนปู่คือ นักธรรมชาติวิทยาชื่อดังที่มีนามว่า Erasmus Darwin ซึ่งได้เสียชีวิตไปก่อนที่หลานจะเกิด 7 ปี ส่วนมารดาเป็นบุตรสาวของ Josiah Wedgwood ผู้เป็นนักทำกระเบื้องดินเผาที่มีชื่อเสียงกระฉ่อนโลก ในวัยเด็ก Darwin ไม่ได้เป็นเด็กเรียนหนังสือเก่ง จนบิดาได้เอ่ยตำหนิว่า เขาเป็นคนไม่มีอะไรดีเลย อีกทั้งไม่เอาถ่าน และวันหนึ่งในอนาคตเขาจะทำให้ชื่อเสียงของวงศ์ตระกูลป่นปี้ ซึ่งก็ถูกพอประมาณในเบื้องต้น เพราะ Darwin ได้เข้าเรียนแพทย์ที่มหาวิทยาลัย Edinburgh เพื่อเจริญรอยตามบิดา แต่เรียนไม่ได้ เพราะทนฟังเสียงโอดครวญของคนไข้ยามถูกผ่าตัดโดยไม่มียาสลบใช้ไม่ได้ จึงลาออก แล้วตั้งใจว่าจะเป็นนักเทศน์
ดังนั้นจึงเข้าเรียนวิชาเทววิทยาที่ Christ’s College แห่งมหาวิทยาลัย Cambridge แต่ไม่ได้สนใจวิชาเทววิทยานัก เพราะใช้เวลาส่วนใหญ่เก็บสะสมตัวด้วง และแมลงต่างๆ ขณะเรียนที่ Cambridge Darwin มีครูและเพื่อนคนหนึ่งชื่อ John Henslow ซึ่งสอนวิชาพฤกษศาสตร์ และเมื่อได้ไปสำรวจภาคสนามที่ Wales ทางตอนเหนือ การได้เห็นธรรมชาติที่หลากหลายทำให้ Darwin ตัดสินใจเปลี่ยนเข็มทิศชีวิตอีก คราวนี้เขาต้องการเป็นนักธรรมชาติวิทยา และเมื่อ Henslow เขียนจดหมายรับรองให้ Darwin ไปทำงานเป็นนักธรรมชาติวิทยาบนเรือรบหลวง Beagle โดยไม่มีเงินเดือนให้ Darwin จึงตัดสินใจเดินทางไปพบกัปตันเรือ Beagle ทันที
ประวัติศาสตร์ได้บันทึกว่า ในฤดูใบไม้ร่วงของปี 2374 กัปตันเรือ Beagle ชื่อ Robert Fitzroy วัย 26 ปี ซึ่งมีประสบการณ์เดินเรือทะเลที่ช่ำชองได้พบและสัมภาษณ์ Charles Darwin วัย 22 ปี ผู้กำลังค้นหาความถนัดและความชอบของตนเอง ในการสนทนากันครั้งนั้น Fitzroy บอก Darwin ว่าเขาจะเดินทางไปสำรวจฝั่งของทวีปอเมริกาใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ มหาสมุทรแอตแลนติก และแปซิฟิก และเมื่อได้เห็นประวัติการเปลี่ยนใจของ Darwin เขาก็ได้เสนอว่า เมื่อใดก็ตามที่ Darwin เบื่อทะเล Fitzroy ก็จะให้ Darwin ขึ้นบกที่อยู่ใกล้ที่สุด พร้อมกับทิ้งปัจจัยต่างๆ ที่จำเป็นเพื่อให้ Darwin สามารถเดินทางกลับอังกฤษได้ทันที เมื่อได้รับข้อเสนอที่ยากจะปฏิเสธเช่นนี้ และทั้งๆ ที่บิดาก็ไม่เห็นด้วย แต่ Darwin ก็ตัดสินใจเดินทางไปกับเรือ Beagle
ในวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2374 เรือ Beagle ที่หนัก 235 ตัน และมีปืน ใหญ่ 6 กระบอก ได้ออกจากท่าที่เมือง Devonport โดยมี Darwin เดินทางไปด้วยในฐานะนักธรรมชาติวิทยา และเพื่อนคู่สนทนาของ Fitzroy ทั้งๆ ที่ตนมีความรู้ด้านธรรมชาติวิทยาน้อยมาก เช่นรู้วิชาพฤกษศาสตร์บ้างโดยการเรียนกับ John Henslow และรู้ธรณีวิทยาเล็กน้อยจากการเรียนกับ Adam Sedgwick ดังนั้น Darwin จึงนำตำรา Principles of Geology ของ Charles Lyell ที่เป็นตำราธรณีวิทยาที่ดีเด่นมากในสมัยนั้นไปด้วย
เมื่อเริ่มออกเดินทาง Beagle ถูกพายุพัดกระหน่ำอย่างรุนแรง จน Darwin ผู้ไม่เคยเดินทะเลมาก่อนรู้สึกเมาคลื่น จนแทบจะล้มความตั้งใจ กัปตัน Fitzroy จึงนำเรือกลับท่าที่เมือง Plymouth แล้วออกเดินทางใหม่ ซึ่งจะเป็นการเดินทางที่ไม่มีใครรู้ว่าจะยิ่งใหญ่กว่าการพบโลกใหม่ของ Columbus เมื่อปี 2035 เสียอีก
ในช่วงเวลาที่ Darwin ออกเดินทางนั้น ชาวโลกเพิ่งเห็นการปฏิวัติใหญ่ในฝรั่งเศส และชาวยุโรปส่วนใหญ่รวมทั้งนักวิทยาศาสตร์ด้วย ต่างก็พากันเชื่อตามคำสอนที่ปรากฏในคัมภีร์ไบเบิล เช่น เชื่อว่าพระเจ้าทรงสร้างสรรพสิ่งในเอกภพ เมื่อ 4,004 ปีก่อนคริสตกาล และแม้แต่นักชีววิทยาที่มีชื่อเสียงโด่งดัง เช่น Louis Agassiz และ Richard Owen (ผู้ตั้งชื่อสัตว์ดึกดำบรรพ์ขนาดใหญ่ว่า ไดโนเสาร์) ก็ยังเชื่อว่าสัตว์ต่าง ๆ มีรูปร่างดังที่พระเจ้าเนรมิตมาตั้งแต่ต้น และไม่มีวันกลายรูปร่างเป็นสัตว์พันธุ์อื่นได้เลย
แต่ก็มีนักวิทยาศาสตร์บางคน เช่น Charles Lyell ผู้เป็นนักกฎหมายและนักธรณีวิทยาที่ได้ศึกษาหิน และฟอสซิลของสิ่งมีชีวิตจำนวนมากมายจนได้พบว่าสัตว์บางชนิดมีการสูญพันธุ์ เพราะสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลง หรือเวลานักล่าอาณานิคมเดินทางสู่ดินแดนใหม่ สัตว์เลี้ยงที่พวกเขานำไปได้เข่นฆ่าสัตว์ท้องถิ่นจนสูญพันธุ์ เป็นต้น ส่วน Lyell ได้พบว่าปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยาบนโลกมักอุบัติและดำเนินไปอย่างช้าๆ จนโลกน่าจะมีอายุมากกว่า 6,000 ปีมาก
ดังนั้นในขณะที่ Darwin ออกเดินทาง ความรู้วิทยาศาสตร์เกี่ยวกับธรรมชาติบนโลกและของโลกจึงยังไม่มีการสรุป เพราะนักวิทยาศาสตร์ไม่มีหลักฐานและแนวคิดเชิงวิทยาศาสตร์มายืนยัน ดังนั้น Darwin จึงมุ่งมั่นจะเก็บรวบรวมหลักฐานต่างๆ ที่เขาพบเห็นในพื้นที่ต่างๆ ที่เขาเดินทางผ่านอย่างเปิดใจ และอย่างละเอียด เช่น เมื่อ Beagle เข้าเทียบฝั่งของทวีปอเมริกาใต้ เขาได้ศึกษาเหตุการณ์แผ่นดินไหว ใน Chile และ Darwin ได้เดินสำรวจเก็บหินบนเทือกเขา Andes ได้เห็นปลาหมึกเวลาโกรธจะเปลี่ยนสีของลำตัว เห็นทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ที่ไม่มีต้นไม้ขนาดใหญ่เลย เห็นกระดูกสัตว์ขนาดมโหฬารในลำธารที่แห้งขอด และได้ยินชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น อ้างว่าหลังจากที่สัตว์ตายไป กระดูกของมันจะมีขนาดใหญ่ขึ้นๆ เพราะน้ำสามารถทำให้กระดูกเจริญเติบโตได้
และเมื่อ Darwin ถามชาวบ้านว่าแถวนั้นมีขโมยชุกชุมหรือไม่ ชาวบ้านก็ตอบเลี่ยงๆ ว่า ขโมยจะมาเวลาต้นไม้หนาม (thistle) โตเต็มที่ ซึ่ง Darwin ก็ได้พบในเวลาต่อมาว่าต้นไม้หนามที่โตเต็มที่จะมีขนาดใหญ่ โจรจึงชอบหลบซ่อนหลังต้นไม้เหล่านั้นเพื่อลอบเข้ามาขโมยของชาวบ้าน เวลาชาวบ้านเผลอ Darwin ได้รวบรวมข้อมูลเหล่านี้มาประมวลจนรู้ว่า การเจริญเติบโตของพืชสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์ได้ หรือในกรณีสัตว์ เช่นแมว เมื่อถูกทำร้าย จะทำตัวโก่งและส่งเสียงขู่คู่ต่อสู้เพื่อการอยู่รอด นอกจากนี้ Darwin ยังสนใจศึกษาสัตว์รูปร่างประหลาดที่ชอบอาศัยอยู่ในที่ที่ไม่เอื้อต่อการดำรงชีวิตด้วย เช่น คางคกที่อาศัยอยู่กลางทะเลทรายจึงไม่สามารถว่ายน้ำได้เหมือนคางคกทั่วไป และการเคลื่อนที่ของหินในลำธาร รวมถึงการกัดเซาะและการแตกแยกของหินตามภูเขาด้วย เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้ Darwin มั่นใจว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และโลกมีอายุมากจริงๆ
สุทัศน์ ยกส้าน เมธีวิจัยอาวุโส สกว.