ในสายตาของคนทั่วไป Charles Darwin คือ นักชีววิทยาผู้ยิ่งใหญ่ที่ได้ศึกษาสิ่งมีชีวิตสปีชีส์ต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ จนสามารถสร้างทฤษฎีวิวัฒนาการได้สำเร็จ แต่นั่นเป็นการมอง Darwin เพียงด้านเดียว เพราะในความเป็นจริง เมื่อครั้งที่ Darwin เดินทางสำรวจโลกในปี 2374-2379 นั้น เขาใช้ชีวิตเป็นนักธรณีวิทยาควบคู่ไปกับการเป็นนักธรรมชาติวิทยาด้วย และเมื่อกลับถึงอังกฤษแล้ว การได้เก็บธรณีวัตถุมามากมายได้ช่วยให้เขาผลิตผลงานด้านธรณีวิทยาหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่อง การถือกำเนิดของปะการัง ซึ่งยังเป็นความรู้พื้นฐานที่สำคัญให้นักปะการังวิทยาได้ร่ำเรียนกันจนทุกวันนี้
ช่วงเวลาก่อนที่ Darwin จะออกเดินทางด้วยเรือ Beagle นั้น เขาได้วางแผนจะรวบรวมตัวอย่างของแมลงและสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพราะตนเป็นนักกีฏวิทยา “สมัครเล่น” ที่ได้ศึกษาสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังมาบ้าง จากการได้เรียนแพทย์ที่มหาวิทยาลัย Edinburgh แต่เมื่อได้พบกับ Robert Fitzroy ผู้เป็นกัปตันเรือ Beagle ซึ่งมีความสนใจเรื่องอัญมณีมาก โดย Fitzroy ได้บอก Darwin ว่า ที่ Tierra del Fuego ในอเมริกาที่ตนได้เคยไปเยือนน่าจะมีแร่มีค่าอย่างอุดมสมบูรณ์ แต่ในการไปสำรวจครั้งนั้น Fitzroy ไม่มีนักธรณีวิทยาไปด้วย ดังนั้น เขาจึงคาดหวังให้ Darwin ศึกษาแร่เพื่อจะได้นำกลับมาขายในประเทศอังกฤษ
ความต้องการของ Fitzroy นี้ มีส่วนทำให้ Darwin ผู้ไม่เคยคิดจะสนใจธรณีวิทยาเลย เพราะผิดหวังจากการได้เข้าเรียนวิชานี้กับ Robert Jameson ที่มหาวิทยาลัย Edinburgh ได้หันมาสนใจธรณีวิทยาอีก นอกจากนี้การได้ฝึกงานด้านนี้กับศาสตราจารย์ Adam Sedgwick แห่งมหาวิทยาลัย Cambridge เมื่อต้นปี 2374 ได้ยิ่งทำให้ Darwin รู้สึกว่าวิชาธรณีวิทยาเป็นวิทยาการที่ยังขาดทฤษฎีดี ๆ มาอธิบายสาเหตุของสภาพทางกายภาพของผิวโลกและแม้ Charles Lyell จะได้แบ่งยุคของโลกออกเป็นยุค Cambrian, Silurian และ Devonian แต่ก็ไม่มีใครรู้ว่า ยุคเหล่านั้นมีความสัมพันธ์กับเหตุการณ์ต่างๆ ในคัมภีร์ไบเบิลอย่างไรหรือไม่ Darwin เองถึงกับปรารภว่า ปรารถนาจะรู้เรื่องราว และประวัติความเป็นมาของหินทุกก้อนที่อยู่หน้าบ้านของตน
เมื่อเรือ Beagle เริ่มเดินทาง Darwin วัย 25 ปี รู้สึกหวาดหวั่นที่ได้ตั้งเป้าหมายว่า จะศึกษาธรรมชาติของสรรพสิ่งอย่างละเอียด แต่เพราะโลกมีสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตที่มากมาย จนไม่มีใครสามารถจะศึกษาได้หมด ดังนั้น เมื่อเรือ Beagle จอดเทียบท่าที่ Sao Tiago บนหมู่เกาะ Cape Verde ซึ่งมีภูมิประเทศที่แปลกตาและน่าสนใจหลายประเด็น Darwin จึงตัดสินใจจัดลำดับความสำคัญของกิจกรรมที่ต้องทำและในส่วนของความตั้งใจด้านธรณีวิทยา เขาคิดว่าเขาต้องเขียนตำราธรณีวิทยาของสถานที่ที่เขาไปเยือนทุกแห่ง และมุ่งหวังจะเขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้สมบูรณ์เท่าที่จะเป็นไปได้
ครั้นเมื่อ Darwin ได้อ่านตำรา Principles of Geology ของ Charles Lyell และ Personal Narrative ของ Alexander von Humboldt ซึ่งกล่าวถึง ความรู้ทางธรณีวิทยาของทวีปอเมริกาใต้ไว้มาก Darwin รู้สึกว่าหนังสือทั้งสองเล่มนี้ยังไม่สมบูรณ์ เพราะแทบไม่มีข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับบริเวณตอนใต้ของทวีปเลย Darwin จึงตั้งใจจะศึกษาภูเขาและหิน รวมถึงภูมิประเทศในทวีปอเมริกาใต้อย่างละเอียด และเมื่อไปถึง ความรู้สึกที่จริงจังมากนี้ ทำให้ Darwin ถึงกับเขียนลงในสมุดบันทึกส่วนตัวว่า I, a geologist
ณ วันนี้ บันทึกต่างๆ ของ Darwin ยังอยู่ที่ห้องสมุดของมหาวิทยาลัย Cambridge ซึ่งคนที่ได้อ่านจะพบว่า Darwin ดำเนินการเก็บวัตถุตัวอย่างทุกชนิดอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การบันทึกสิ่งที่เห็น ข้อสังเกตที่คิดได้ การเรียบเรียงและนำข้อเสนอข้อมูล รวมถึงการให้เลขกำกับสิ่งที่เก็บได้ พร้อมข้อมูลของสถานที่ที่เก็บสิ่งนั้นได้ จากนั้น Darwin ก็ได้ครุ่นคิดเรื่องความสำคัญของสิ่งที่เก็บได้ แล้วตั้งสมมติฐานเพื่อทดสอบความคิดนั้น เช่น Darwin ได้บันทึกว่า ในวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2375 เรือได้แวะหยุดพักที่เกาะ Quail (ปัจจุบัน คือ เกาะ Ilheu de Santa Maria) ซึ่งมีลักษณะเป็นรูปไข่ที่มีเส้นรอบวงยาวประมาณ 1 ไมล์ และตั้งอยู่โดดเดี่ยวใกล้เมือง Porto Praya ตัว Darwin ได้ศึกษาสภาพของหินบนเกาะและลักษณะการกัดเซาะชายฝั่งโดยไม่มีแว่นขยาย
นอกจากนี้เขายังได้ทดสอบความเป็นกรด – ด่างของดินบนเกาะด้วยน้ำกรด และใช้ตัวสูบเป่าไฟทดสอบการลุกไหม้ของหินด้วย สำหรับการวัดสนามแม่เหล็กบนเกาะนั้น Darwin ใช้ goniometer และเมื่อใดก็ตามที่เขาพบหินที่น่าสนใจ Darwin จะเอาฉลากปิดที่หินก้อนนั้นอย่างระมัดระวัง แล้วเขียนเลขกำกับพร้อมจดบันทึก ดังนั้น หินทุกก้อนที่ Darwin เก็บสะสมจึงยังสามารถใช้เป็นวัตถุอ้างอิงได้จนทุกวันนี้ ในการสำรวจ Darwin ไม่เพียงแต่บรรยายสภาพทั่วไปของหินเท่านั้น เขายังครุ่นคิดเรื่องแหล่งกำเนิดของหินด้วย เช่น ในกรณีเกาะ Quail Darwin ได้พบว่า เกาะเกิดจากการยกตัวขึ้นเหนือผิวน้ำทะเล เมื่อภูเขาไฟใต้น้ำระเบิด และลาวาได้ไหลทะลักปกคลุมผิวเกาะ (อ่านต่อวันศุกร์หน้า)
สุทัศน์ ยกส้าน เมธีวิจัยอาวุโส สกว.