ความหวังนาซาเลือนราง หลังพยายามติดต่อ “สปิริต” ที่เงียบหายไปนานเป็นปี หากเดือนหน้ายังไม่มีสัญญาณตอบกลับจากยานสำรวจดาวอังคารที่เดี้ยงท่ามกลางพายุทรายบนดาวแดง
องค์การบริหารการบินอวกาศหรัฐฯ (นาซา) พยายามติดต่อยานสปิริต (Spirit) ยานสำรวจดาวอังคาร ที่เงียบหายไปหลังติดอยู่ท่ามกลางพายุทรายบนดาวแดงเมื่อเดือน เม.ย.2009 ตัวยานติดหล่มจนไม่อาจขยับตัวทำมุมรับแสงอาทิตย์เพื่อให้แผงเซลล์อาทิตย์ผลิตพลังงานได้เพียงพอในช่วงฤดูหนาวบนดาวอังคาร แล้วแน่นิ่งไปเมื่อเดือน มี.ค.2010
หากแต่ความหวังที่จะติดต่อยานได้สำเร็จริบหรี่ลง เมื่อผ่านช่วงครีษมายัน (summer solstice) หรือดวงอาทิตย์โคจรไปถึงจุดเหนือสุด ในซีกใต้ของดาวอังคารที่ผ่านมาในเดือน มี.ค. โดยไม่มีอะไรขึ้น ซึ่งเอพีระบุว่า ในช่วงนั้นเป็นช่วงที่แสงแดดแรงกล้าที่สุด และวิศวกรคาดหวังว่า ยานสปิริตจะถูกปลุกขึ้นมาจากอาการแน่นิ่งได้
หากจนถึงเดือน เม.ย.แล้ว ยังไม่มีสัญญาณตอบกลับจากยานสปิริต ทางนาซาก็จะลดความพยายามในการติดต่อยานลำนี้ และหันไปให้ความสนใจยานออพพอร์จูนิตี (Opportunity) ซึ่งเป็นยานคู่แฝดของสปิริตที่ยังทำงานได้ดีมากขึ้น
จอห์น คัลลัส (John Callas) ผู้จัดการโครงการยานสปิริต จากห้องปฏิบัติการจรวดขับเคลื่อนความดัน (Jet Propulsion Laboratory) ของนาซากล่าวว่า การที่ยานสปิริตไม่ติดต่อกลับโลกนั้น เป็นสิ่งบ่งชี้ว่า มีบางอย่างผิดปกติมากกว่าแค่ปัญหาเรื่องพลังงาน
เรย์ อาร์วิดสัน (Ray Arvidson) จากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน (Washington University) ในเซนต์หลุยส์ สหรัฐฯ ผู้อยู่เบื้องหลังความพยายามติดต่อยานสปิริต ให้ความเป็นไปได้ที่จะได้ยินสัญญาณตอบรับกลับมาว่ามีโอกาส 50-50 และบอกว่าเขาจะแปลกใจมากหากสามารถสื่อสารกันได้อีกครั้ง
“ผมคงสุขใจ แต่ก็คงแปลกใจ มันนานเกินไปแล้ว” อาร์วิดสันกล่าว
เจ้าหน้าที่ควบคุมภาคพื้นดิน พยายามส่งสัญญาณเรียกยานสปิริตในหลายความถี่ และในช่วงเวลาที่ต่างกันตลอดทั้งวัน เผื่อในกรณีที่นาฬิกาภายในหยุดทำงาน และสูญเสียความสามารถในการติดตามเวลา และพวกขายังให้คำสั่งยานเปิดระบบสั่งสัญญาณวิทยุสำรองในกรณีที่ระบบส่งสัญญาณวิทยุหลักไม่ทำงาน
ในอีกกรณี นาซาอาจจะประกาศการสูญเสียยานสปิริตอย่างเป็นทางการ หากไม่มีสัญญาณใดตอบกลับมา หากเป็นเช่นนั้นคัลลัสระบุว่า นาซาจะลดความพยายามเหลือเพียงการรอฟังสัญญาณจากยานเป็นครั้งคราวไปจนถึงสิ้นปีนี้
ยานสปิริตลงจอดบนดาวอังคารแบบทิ้งตัว ลงด้วยร่มชูชีพเมื่อปี 2004 โดยยานออพพอร์จูนิตีก็ลงจอดในลักษณะเดียวกันแต่อยู่คนละฟากของดาวเคราะห์ ซึ่งยานทั้งสองได้ปฏิบัติภารกิจหลักนาน 3 เดือนเป็นที่เรียบร้อยและได้พบหลักฐานทางภูมิศาสตร์ที่แสดงถึงน้ำบนดาวอังคาร
ขณะที่เครื่องมือวัดระยะทางของยานสปิริตหยุดอยู่ที่ 7.7 กิโลเมตร ยานแฝดอย่างออพพอร์จูนิตีได้สำเร็จภารกิจสำรวจขอบหลุมซานตามาเรีย (Santa Maria crater) บนดาวอังคาร และกำลังมุ่งหน้าสู่หลุมอื่นๆ และทำสถิติปฏิบัติภารกิจเป็นระยะทางไกล 26.7 กิโลเมตร
จิม เบลล์ (Jim Bell) นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแอริโซนาสเตท (Arizona State University) สหรัฐฯ กล่าวว่า การสูญเสียการสื่อสารระหว่างยานสปิริตนั้นมาในช่วงเวลาที่แย่ที่สุด เพราะยานกำลังสร้างผลงานที่มีคุณค่ายิ่งในช่วงที่ขาดการติดต่อไป ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าผิดหวังที่ต้องเสียปฏิบัติการนี้ไป แต่เขาก็ยังมองในแง่ดีว่าเหตุการณ์นี้ทำให้เราได้ผจญภัยไปกับยานสำรวจดาวอังคารด้วย